ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง ในมิติป้องกัน ปราบปราม และคุ้มครอง

ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง ในมิติป้องกัน ปราบปราม และคุ้มครอง

20142807110535.jpg

 

“ทางการไทยประเมินว่าในระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2556 มีหนังสือเดินทางไทยและต่างประเทศที่ได้รับรายงานว่าถูกขโมยหรือสูญหายในประเทศไทยจำนวนกว่า 60,000 เล่ม”[1]

ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นทั้งดินแดนสวรรค์ของนักเดินทางและ “นักปลอมหนังสือเดินทาง” ซึ่งดำเนินธุรกิจปลอมหนังสือเดินทางให้แก่คนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง โดยในหลายกรณีเป็นการลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมาย แต่ในบางกรณีมิได้เป็นการลักลอบให้คนต่างด้าวเข้ามาดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการหลอกลวงคนต่างด้าวให้เข้ามา “ติดกับ” เพื่อเรียกเอาทรัพย์จากบุคคลเหล่านั้น เช่น การลวงให้ผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทยด้วยหนังสือเดินทางปลอม[2] แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บุคคลต่างด้าวเข้ามาในประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม การปลอมหนังสือเดินทางคือภัยอันตรายที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและสิทธิของบุคคลผู้ถือหนังสือเดินทางที่แท้จริง ประเทศจึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดอาญานี้ และเพื่อป้องกันการกระทำความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่แฝงเข้ามา

อย่างไรก็ดี นับแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปลอมและแปลงหนังสือเดินทางไว้เป็นการเฉพาะ (มาตรา 269/8 – 269/15) จวบจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเวลาถึง 7 ปี ความท้าทายของประเทศในการปราบปรามการกระทำความผิดอาญานี้มิได้มีความเบาบางเลย ทั้งนี้กลับมีความเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังคงถูกนานาอารยะประเทศโจมตีว่าเป็นแหล่งของขบวนการปลอมหนังสือเดินทางเช่นเดิม โดยในวันที่ 9 มีนาคม 2557 ภายหลังหนึ่งวันที่เครื่องบินสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH 370 หายไปอย่างลึกลับ ตำรวจสากล (INTERPOL) รายงานว่าพบว่ามีผู้โดยสารในเที่ยวบินสวมใช้หนังสือเดินทางสัญชาติออสเตรียและอิตาลีซึ่งถูกลักไปในประเทศไทย[3] หรือในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานก่อการร้ายข้ามชาติโดยชาวอิหร่านที่ระเบิดซอยสุขุมวิท 71 สามจุด พบว่ามีการใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อกระทำความผิด[4] หรือย้อนหลังไปจนถึง ปี พ.ศ. 2548 ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ…. (ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง) ให้มีอัตราโทษสูงกว่าการปลอมแปลงเอกสารทั่วไปครั้งแรกนั้น ก็สืบเนื่องจากความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบต่อชื่อเสียงและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากจะกระทบต่อภาพลักษณ์และความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาทับซ้อนอื่นๆ ที่ตามมาโดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ปัญหาขบวนการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารากฐานความคิดในการเพิ่มเติมบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยในฐานปลอมหนังสือเดินทาง หลักการป้องกันและปราบปรามความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางที่เป็นสากล และข้อเสนอแนะเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาตินี้

 

ก. หลักการและรากฐานความคิดของประเทศไทย

ไม่มีหลักฐานใดแสดงหลักการและรากฐานความคิดเกี่ยวกับความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางได้อย่างชัดเจนเท่ากับ “บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ….” [5] ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 มีนาคม 2548 โดยกระทรวงยุติธรรมแสดงหลักการของกฎหมายไว้สามประการคือ

1. กำหนดความหมายของหนังสือเดินทาง ให้ชัดเจนว่าหมายถึงเอกสารประจำตัวที่รัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศออกให้แก่พลเมืองชาติของตนและ ให้ครอบคลุมรวมถึงหนังสือเดินทางราชการ การลงตราหรือวีซ่า

2. กำหนดให้ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง เป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรที่ต้องให้ได้รับผิดในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดประเภทหนึ่งในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ

3. กำหนดโทษสำหรับความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางให้ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าฐานความผิดปลอมเอกสารทั่วไป

นอกจากนี้ ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังได้แสดงสาระสำคัญของเหตุผลของกฎหมายหลายประการ โดยประการที่สำคัญซึ่งผู้เขียนสามารถจำแนกออกเป็นสองประการ

ประการแรก คือ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติเนื่องจาก อาชญากรรมข้ามชาติมักจะใช้หนังสือเดินทางปลอมเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ซึ่งส่งผลกระทบทั้งความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความปลอดภัยของสังคมระหว่างประเทศ โดยประเทศในกลุ่ม G8 ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาการปลอมหนังสือเดินทางในประเทศ และในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาดังกล่าวจะสอดคล้องกับหลักการของปฏิญญากรุงเทพ (หรือ ปฏิญญาอาเซียน) ในเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อป้องกันการก่อการร้ายอีกด้วย[6]

ประการที่สอง คือ เพื่อให้สอดคล้องกับการ(เตรียม)เข้าเป็นภาคีสมาชิกในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Protocol against the Smuggling of Migrants by Land, Sea, and Air, Supplementing the United Nations Convention against Transnational Organized Crime)

อย่างไรก็ดี เมื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการพิจารณาโดยหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรากฏว่าเหตุผลของกฎหมายของร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ถูกตัดทอนให้สั้นไปจากเดิม และไม่ปรากฏร่องรอยของหลักฐานที่สำคัญเกี่ยวกับพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทะเล และอากาศฯ ไว้อยู่เลย คงไว้เพียงแต่เหตุผลทางด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภัยของการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติเพียงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2550 จึงไม่ปรากฏร่องรอยของรากฐานความคิดเกี่ยวกับพิธีสารฉบับดังกล่าว[7] กฎหมายอาญาในฐานความผิดปลอมหนังสือเดินทางของประเทศไทยจึงมีเพียงมุมมองเดียวคือ การปราบปรามการกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางเพื่อเป็นการป้องกันการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ปราศจากมิติของ “การป้องกัน” การกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง และขาดมิติของ “การคุ้มครองเหยื่อ” ของการกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง ซึ่งสอดแทรกอยู่ในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทะเล และอากาศฯ ไว้อย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

 

ข. หลักการและแนวคิดของสากล

หากจะกล่าวถึงกฎหมายเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นสากล คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime) และพิธีสารเสริมอนุสัญญาอีกสามฉบับ กล่าวคือ

  • พิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้าหญิงและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress, and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children)
  • พิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ (Protocol against the Smuggling of Migrants by Land, Sea, and Air) และ
  • พิธีสารเพื่อต่อต้านการผลิตและลักลอบค้าอาวุธ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และเครื่องกระสุนโดยผิดกฎหมาย (Protocol against the Illicit Manufacturing of and Trafficking in Firearms, Their Parts and Component and Ammunition)

ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้าหญิงและเด็ก ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ส่วนพิธีสารที่เหลืออีกสองฉบับ ประเทศไทยยังมิได้เข้าเป็นภาคี คงไว้เพียงการลงนาม และรอการเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพียงเท่านั้น[8]

ซึ่งโดยหลักการของพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ที่สำคัญนอกเหนือไปจากการปราบปรามการกระทำความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งรวมถึงการปลอมหนังสือเดินทางให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังมีหลักการของกฎหมายในมิติด้านการป้องกันการกระทำความผิดและการคุ้มครองผู้เสียหายจากอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าวอีกด้วย โดยพิธีสารฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐภาคี ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิด ในฐานความผิด “ลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” ดังต่อไปนี้

  1. การกระทำที่ก่อให้เกิดการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (การจัดให้มีการลักลอบเข้าเมืองของบุคคลอื่นเข้าไปในประเทศภาคีสมาชิกของพิธีสารฉบับนี้ ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้มีสัญชาติหรือมิได้มีสิทธิอาศัยถาวร เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือวัตถุตอบแทน) [ข้อ 3 (ก) และข้อ 6 อนุ 1 (ก) ของพิธีสารฯ]
  2. การปลอม การจัดหา การจัดให้ หรือการใช้หนังสือเดินทางปลอมหรือเอกสารประจำตัวปลอมในขณะที่กระทำความผิดเพื่อให้มีการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน [ข้อ 6 อนุ 1 (ข) ของพิธีสารฯ]
  3. การช่วยให้บุคคลอยู่ในประเทศซึ่งบุคคลนั้นมิได้มีสัญชาติหรือสิทธิอาศัยถาวรโดยฝ่าฝืนกฎหมายภายในของประเทศด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย [ข้อ 6 อนุ 1 (ค) ของพิธีสารฯ]
  4. การจัดให้มีหรือการกำกับการกระทำส่วนหนึ่งส่วนใดของฐานความผิดดังกล่าว [ข้อ 6 อนุ 2 (ค) ของพิธีสารฯ]
  5. การพยายามกระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว [ข้อ 6 อนุ 2 (ก) ของพิธีสารฯ]
  6. การมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว [ข้อ 6 อนุ 2 (ข) ของพิธีสารฯ]
  7. การกระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้รับการทรมานหรือทารุณกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องได้รับโทษที่หนักขึ้น [ข้อ 6 อนุ 3 ของพิธีสารฯ]

นอกจากนี้ พิธีสารฯ ยังได้จำแนก “ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” ที่ถือได้ว่าเป็น “ผู้เสียหาย” ออกจากการกระทำความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดย ข้อ 5 แห่งพิธีสารฯ กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานต้องได้รับโทษทางอาญาภายในพิธีสารฉบับนี้สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้โยกย้ายถิ่นฐานเป็นผู้ถูกกระทำ[10]  ในฐานความผิดที่กำหนดไว้ในข้อ 6 แห่งพิธีสารฯ นี้”

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เห็นว่า นอกจากใน “มิติด้านการปราบปราม” การกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการอาชญากรรมระหว่างประเทศ ประเภทการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังมี “มิติด้านการคุ้มครอง” ผู้เสียหายที่นอกเหนือไปจากรัฐและประชาชนทั่วไป กล่าวคือ ผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยนั่นเอง ซึ่งการคุ้มครองที่นอกเหนือไปจากการคุ้มครองทางกฎหมายมิให้ต้องได้โทษฐานปลอมหนังสือเดินทางแล้ว ยังมีการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นผู้เสียหายในด้านต่างๆ อีก อาทิ การให้การคุ้มครองต่อชีวิต[11] การคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐาน[12] และการช่วยเหลือด้านการส่งกลับประเทศต้นทาง[13] (ในกรณีที่มิใช่ผู้ลี้ภัย) เป็นต้น

ส่วนใน “มิติทางด้านการป้องกัน” ข้อ 10 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะ วิธีการและข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในฐานการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ข้อ 11 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคีกำหนดวิธีการโดยกฎหมายเพื่อป้องกันการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยผู้ประกอบกิจการขนส่งพาณิชย์ ข้อ 12 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคีมีมาตรการความปลอดภัยมิให้ทำปลอมหนังสือเดินทางแห่งรัฐตนได้โดยง่าย ข้อ 13 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคียืนยันความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทางแห่งรัฐตนโดยไม่ชักช้า เมื่อรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่งร้องขอ ข้อ 14 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้มีการฝึกอบรมและการร่วมมือทางด้านเทคนิคแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐภาคี

หลักการและแนวคิดที่เป็นสากลในการต่อต้านการปลอมหนังสือเดินทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติที่ลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติประเภทอื่น ที่ปรากฏใน พิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งเดิมปรากฏอยู่ในเหตุผลของ“บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ….”ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 มีนาคม 2548 แต่ในตอนหลังถูกตัดตอนออกไป จึงมิได้มีเพียงแต่มิติของการ “ปราบปราม” การกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติของการ “คุ้มครอง” ผู้เสียหายของการกระทำความผิดของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ดำเนินธุรกิจปลอมหนังสือเดินทางเพื่อลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และดำเนินกิจกรรมข้ามชาติอื่นที่ผิดกฎหมายในลักษณะอาชญากรกลุ่ม อีกทั้งขาดมิติของการ “ป้องกัน” การกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งตัวบทบัญญัติของกฎหมายอาญาที่มีอยู่ก็ดี การใช้การตีความกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เองก็ดี ล้วนแล้วแต่มุ่งปราบปรามผู้กระทำความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอย่างแข็งทื่อ มิได้ปรับใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอย่างเป็นระบบ[14] จึงทำให้หลายคดีแทนที่จำเลยจะเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ กลับกลายเป็น “เหยื่อขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติตกเป็นจำเลย” [15] เสียเอง

และที่สำคัญที่สุด ใน ปี พ.ศ. 2557 นี้ ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับโดยประเทศสหรัฐอเมริกาในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ให้อยู่ในลำดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นลำดับสำหรับประเทศที่มีมาตรการการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานระดับแย่ที่สุด โดยก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะถูกจัดให้อยู่ลำดับที่ 3 ประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ในรายงานว่าประเทศไทยควรต้องปรับปรุงการคัดแยกและการคุ้มครองผู้เสียหายหรือผู้อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เนื่องจากยังมีผู้เสียหายหรือผู้อาจเป็นผู้เสียหายจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมือง ทั้งที่ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายภายในที่ใช้เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไว้เป็นการเฉพาะแล้วเป็นเวลากว่า 6 ปี และนอกจากนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าแท้จริงแล้วข้อแตกต่างระหว่างการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการค้ามนุษย์อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจนในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว “การลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” อาจกลายสภาพไปเป็นการ “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” [16] ต่อตัวผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ได้ทุกเมื่อหากมีพฤติการณ์ที่ “บังคับ” อันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้การค้ามนุษย์มีความแตกต่างจากลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การใช้และการตีความกฎหมายอาญาที่มุ่งประสงค์แต่การปราบปรามการปลอมและการใช้หนังสือเดินทางปลอมต่อตัวผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยมิได้พิจารณาถึงมิติของการ “คุ้มครองผู้เสียหายจากขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ” และ “การป้องกันขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ” อย่างเป็นระบบซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องหรือเป็นกลุ่มเดียวกันกับขบวนการค้ามนุษย์ก็ยิ่งอาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรักษาความมั่นคงภายในรัฐและอาจถูกโจมตีโดยสังคมระหว่างประเทศ กลับกลายเป็นว่าขัดต่อเจตนารมณ์แห่งกฎหมายของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2550 ฐานปลอมหนังสือเดินทางเสียอีก

 

ค. สรุปผลและเสนอแนะ

หากพิจารณาให้รอบด้านแล้ว นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่นอกจากกฎหมายอาญาของประเทศไทยในฐานความผิดปลอมหนังสือเดินทางจะไม่ปรากฏหลักการของพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศแล้ว ประเทศไทยยังมิได้เข้าเป็นภาคีหรือนำหลักการในพิธีสารฉบับดังกล่าวมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายใน จึงทำให้ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางขาดมิติด้านการป้องกันการกระทำความผิดดังกล่าว และมิติด้านการคุ้มครองบุคคลที่ถือเป็นเหยื่อของขบวนการปลอมหนังสือเดินทาง ซึ่งนอกเหนือจากรัฐผู้เป็นเจ้าของสัญชาติหนังสือเดินทางปลอม รัฐที่เป็นเจ้าของดินแดนที่อธิปไตยที่ถูกละเมิด และเจ้าของหนังสือเดินทางที่แท้จริง (กรณีที่ใช้สวมหนังสือเดินทาง) แล้ว ยังมีคนเข้าเมืองที่บางส่วนมิได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติแต่เป็นเพียงผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยที่ถูกหลอกโดยขบวนการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ให้ใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อไปลี้ภัยในประเทศที่สาม เมื่อกฎหมายมิได้แยก “อาชญากรที่แท้จริง” กล่าวคือ อาชญากรข้ามชาติที่ใช้หนังสือเดินทางปลอมเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ออกจาก “เหยื่อ” กล่าวคือ “ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัย” จึงมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีและถูกศาลตัดสินให้ต้องรับโทษฐานปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอม ซึ่งมีอัตราโทษที่สูง ทั้งที่บุคคลดังกล่าวมีเหตุจำเป็นที่จะต้องกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมืองเพื่อปกป้องชีวิตของตน และทั้งที่แท้จริงแล้วบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เสียหายของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ พิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ยังกำหนดหลักการของกฎหมาย ในมิติของการ “ป้องกัน” การกระทำความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานซึ่งรวมถึงความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางด้วย และเมื่อการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน มีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ การตัดตอนพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศออกไปจากหลักคิดของการดำเนินคดีอาญาฐานปลอมหนังสือเดินทางจะทำให้เกิด “ความอยุติธรรม” ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในด้าน “การปราบปรามการกระทำความผิด” (เนื่องจากผู้กระทำความผิดจริง – ผู้ปลอมหนังสือเดินทางตัวจริง ยังคงลอยนวล) “การคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำความผิด” (ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ถูกหลอกให้ใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อลี้ภัย) และ “การป้องกันการกระทำความผิด” (ซึ่งรวมถึงการศึกษาทำความเข้าใจขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติในภาพรวมอย่างเป็นระบบ) ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น

ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใช้บังคับกฎหมายอาญา ควรใช้และตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเป็นระบบ และคุ้มครองผู้เสียหายจากอาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวคือ ประเทศไทยควรเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Protocol against the Smuggling of Migrants by Land, Sea, and Air, Supplementing the United Nations Convention against Transnational Organized Crime) ตามเจตนารมณ์ที่มีแต่เดิมและปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับหลักการอันเป็นสากลในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินคดีในความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง มีความบริบูรณ์พร้อมทั้งในมิติด้านป้องกัน ปราบปราม และการคุ้มครอง

________________________

[1] Stastna, Kazi (12 March 2014). “Malaysia Airlines Affair Raises Security Concerns Over Passport Trafficking.” CBC News (Online). Retrieved from http://www.cbc.ca/m/touch/news/story/1.2568491. [Accessed 12 March 2014].

[2] โปรดดู Achara Ashayagachat (27 March 2014). “Refugees Thwarted En Route to Sweden.” Bangkok Post (Online). Retrieved from http://m.bangkokpost.com/topstories/402116. [Accessed 25 July 2014]., Paritta Wangkiat (11 July 2014). “LCT Calls for Action on Trafficking Gangs.” Bangkok Post (Online). Retrieved from http://www.bangkokpost.com/news/local/419960/lct-calls-for-action-on-trafficking-gangs. [Accessed 27 July 2014]., Kohnwilai Teppunkoonngam (24 April 2014). “‘Don’t Lose Hope’ – Law, Policy and Syrian Refugees in Thailand.” Prachathai (Online). Retrieved from http://www.prachatai.com/english/node/3935. [Accessed 25 July 2014]. และ กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม (2557). “ผู้ลี้ภัยทางอากาศจากซีเรีย : เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่,” ThaiNGO.Org (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.thaingo.org/thaingo/node/2812. [สืบค้น 25 ก.ค. 2557].

[3] INTERPOL. (9 March 2014). “INTERPOL Confirms At Least Two Stolen Passports Used By Passengers on Missing Malaysian Airlines flight 370 were Registered in Its Databases.” Retrieved http://www.interpol.int/News-and-media/News/2014/N2014-038. [Accessed 25 July 2014].

[4] จำนง ศรีนคร (10 มีนาคม 2557). “เที่ยวบิน มาเลย์ ล่องหน ไทย แดนสวรรค์พาสปอร์ตปลอมจริงหรือ.” สำนักข่าวอิศรา (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.isranews.org/isranews-article/item/27788-plan.html. [สืบค้น 25 ก.ค. 2557].

[5] โปรดดูเอกสารประกอบมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 มีนาคม 2548 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ…. (ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง)

[6] “ด้วยการควบคุมพรมแดนและการออกเอกสารแสดงตัวและเอกสารเพื่อใช้ในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการปลอมหรือการใช้เอกสารแสดงตัวและเอกสารเพื่อใช้ในการเดินทางปลอม” โปรดดู ข้อ 6.1.ง แห่งปฏิญญาอาเซียน (Declaration on the Establishment of the Association of South-East Asian Nations)

[7] โดยหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ กำหนดว่า “โดยที่ในปัจจุบันการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติได้ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และได้มีการใช้หนังสือเดินทางเป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมควรขยายขอบเขตของการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางให้กว้างขวางขึ้น สมควรขยายขอบเขตของการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางให้กว้างขึ้นและสมควรกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสมกับความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

[8] ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นฐานโดยทางบก ทางทะเล และอากาศ เมื่อดำเนินกระบวนการภายในเป็นที่สำเร็จเรียบร้อย

[9] United Nations Office on Drugs and Crime (2010). “Toolkit to Combat Smuggling of Migrants. Tool 5 Legislative Framework” p. 5.

[10] “ถูกนำพาโดยลักลอบ” หรือมิได้มีส่วนในการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานคนอื่น

[11] ข้อ 16 ของพิธีสารฯ

[12] ข้อ 24 ของพิธีสารฯ

[13] ข้อ 18 ของพิธีสารฯ

[14] เช่น มิได้นำบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กในคดีอาญามาใช้ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเด็ก มิได้นำบทบัญญัติใน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาใช้คุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มิได้ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น มาใช้แก่กรณีของผู้ลี้ภัยที่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อลี้ภัยและรักษาชีวิตของตนให้รอดพ้นจากภัยสงคราม เป็นต้น

[15] โปรดดู Achara Ashayagachat (27 March 2014), Paritta Wangkiat (11 July 2014), Kohnwilai Teppunkoonngam (24 April 2014) และ กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม (2557) อ้างแล้ว

[16] เช่นการหลอกให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัย มอบตัวบุตรให้แก่นายหน้าในประเทศไทยในระหว่างที่ถูกจับกุมตัว และดำเนินคดีเพื่อขูดรีดเงินจากผู้โยกย้ายถิ่นฐานและญาติเป็นค่าเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น โปรดดู Achara Ashayagachat (27 March 2014), Paritta Wangkiat (11 July 2014), และ กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม (2557) อ้างแล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ