แก้โจทย์กะเหรี่ยงบางกลอย ใช้แค่กฎหมายอุทยานไม่ได้ แนะตั้งวงหารืออัยการ กฤษฎีกา และหน่วยงานดูแลที่ดิน

แก้โจทย์กะเหรี่ยงบางกลอย ใช้แค่กฎหมายอุทยานไม่ได้ แนะตั้งวงหารืออัยการ กฤษฎีกา และหน่วยงานดูแลที่ดิน

ชี้แก้โจทย์ชาวบางกลอย เลือกใช้แค่กฎหมายอุทยานไม่ได้  แนะตั้งวงหารืออัยการ กฤษฎีกา และหน่วยงานดูแลที่ดิน เพื่อใช้กฎหมายให้ตรงเจตนารมณ์ ยันชาวกะเหรี่ยงและชาวเลคือชุมชนดั้งเดิม  สิทธิวัฒนธรรมได้เกิดและมีมาก่อนสิทธิตามเอกสารหรือตามกฎหมาย

สังคมกำลังพยายามช่วยกันคิดมีข้อเสนอต่อความตึงเครียดในกรณี ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่เดินกลับขึ้นไปที่บริเวณใจแผ่นดิน-บางกลอยบน  ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมก่อนถูกบังคับอพยพจากป่าแก่งกระจาน  และมีข้อกังวลจะถูกดำเนินคดีหรือเกิดโศกนาฎกรรม เนื่องจากมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปในบ้านบางกลอยล่างจำนวนมาก   โดยวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 วงเสวนาออนไลน์ที่พูดประเด็นนี้คือวง “สิ้นสิทธิในไร่หมุนเวียน ฤาจะสิ้นวิถีกะเหรี่ยง” โดยมีตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยง นักวิชาการ เครือข่ายคนทำงานด้านชุมชนชาติพันธุ์ ร่วมกันแลกเปลี่ยน สะท้อนมุมมองต่อเหตุการณ์นี้ กับข้อมูลเพื่อความเข้าใจใหม่ต่อสิทธิ์ในไร่หมุนเวียนกับวิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง    โดยมี น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ดำเนินรายการ การเสวนานี้จัดขึ้นภายใต้โดยความร่วมมือขององค์กรพันธมิตรสื่อ ได้แก่ เพจ The Reporters สำนักข่าวชายขอบ : transbordernews เพจ Forest book  พร้อมด้วยเพจนักข่าวพลเมือง เพจ The North องศาเหนือ เว็บไซต์ The Citizen plus ไทยพีบีเอส

จวกข้าราชการบางส่วนใช้กฎหมายผิดเจตนา  แนะตั้งวงหารืออัยการ กฤษฎีกา และหน่วยงานดูแลที่ดิน

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชนเผ่ากะเหรี่ยงและชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนกะเหรี่ยงอยู่มาก่อนตั้งสมัยกรุงสุโขทัย ในสมัย ร.5 เสด็จประพาสยุโรปได้บอกกับชาวโลกว่ามีประเทศสยาม สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายที่ดิน ไม่มีกฎหมายป่าสงวน คนกะเหรี่ยงอยู่ตั้งแต่เชียงรายถึงประจวบฯ ส่วนชาวเลอยู่ใน 5 จังหวัดฝั่งอันดามัน กฎหมายไทยร่างขึ้นเพราะรู้ว่ามีคนในป่า ในกฎหมายจึงบอกว่าไม่มีผลย้อนหลังไปทำลายสิทธิที่มีอยู่เดิม การทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นสิทธิของชุมชนกะเหรี่ยง เมื่อเป็นพื้นที่ภูเขาจึงต้องทำไร่เว้นรอบ 7 ปี แล้วกลับมาทำที่เดิม ต่างจากการทำไร่ซ้ำๆทุกปี ต้นไม้ตาย ดินจะถล่ม หญ้าขึ้น แมลงมา ปุ๋ยไม่มี การหมุนเวียนเป็นรอบ 7 ปี ถือเป็นการทำประโยชน์ที่ดินต่อเนื่อง เหมือนกับการจัดกีฬาโอลิมปิกจัด 4 ปีครั้งก็มีความต่อเนื่อง

“คนกะเหรี่ยงบ้านเราทำไร่หมุนเวียน ทำให้ไทยสามารถให้สัมปทานทำไม้ได้ถึง 3 รอบ ถ้าไม่มีไร่หมุนเวียนจะทำไม้ได้เพียงรอบเดียว กฎหมายได้ให้สิทธิอยู่แล้ว แต่ข้าราชการไม่ยอม กันพื้นที่ออก เพราะเมื่อกันที่ออกจะทำให้ตัวเลขพื้นที่ป่าไม้ลดลง ทำให้งบประมาณในการจัดการดูแลบริหารพื้นที่ลดน้อยลงไปด้วย เป็นการไม่ซื่อของข้าราชการ ในหลวง ร.9 เคยตรัสไว้เมื่อ 27 มิ.ย.2516 ว่าการนำกฎหมายพื้นราบไปใช้บนภูเขานั้นไม่เป็นไปตามความจริง”  

พลเอกสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ถ้าไม่มีกะเหรี่ยงประเทศไทยจะเหลือพื้นที่แคบลง เมื่อคนกะเหรี่ยงอยู่มาก่อนจึงมีสิทธิตนเป็นคนเพชรบุรี  รู้จักใจแผ่นดินมาก่อนเพราะเห็นกะเหรี่ยงเดินมา 2 วันเพื่อลงมาขายพริกที่เมืองเพชรบุรี ปู่คออี้ตายเมื่ออายุ 107 ปี เขาอยู่มาก่อนกฎหมายที่ดินเขาจึงมีสิทธิ ตนศึกษาเรื่องนี้มา 30 กว่าปี อยากเสนอให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันทั้ง อัยการสูงสุด กฤษฎีกา สภาทนายความ หน่วยงานที่มีที่ดินทั้งหลาย กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมอุทยานฯ มาพร้อมกัน  เพื่อใช้กฎหมายให้ตรงเจตนารมณ์ อ่านให้ครบ  ไม่เลือกใช้เพียงบางส่วน

“เคยเชิญทุกฝ่ายมาถกเห็นตรงกันว่าชาวบ้านมีสิทธิ แต่ข้าราชการปกปิดข้อเสนอบางส่วน เสนอกฎหมายปล้นสิทธิของคนกะเหรี่ยง ลองคิดดูว่าจากชายแดนภาคเหนือถึงตะวันตกมีภูเขาอะไรที่เป็นภาษาไทย มีแต่ชื่อกะเหรี่ยง เพิ่งแปลเป็นไทยไม่กี่ปี เหมือนกับกรณีชาวเล” พลเอกสุรินทร์ กล่าว

อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชนเผ่ากะเหรี่ยงและชาวเล เสนอว่า การแก้ปัญหาเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินซึ่งกะเหรี่ยงและชาวเลอยู่มาก่อนการประกาศกฎหมายนั้น ต้องให้ทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่มีที่ดินกรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมป่าไม้ กรมอุทยาน โดยมีอัยการสูงสุด มีกฤษฎีกา สภาทนายความร่วมพิจาราณา

“เราก็ยังจะแก้ปัญหาไม่ได้ถ้าทำกันคนละที แต่ต้องทำไปพร้อม ๆ กันทุกหน่วยงาน เพราะต้นเหตุจริง ๆ ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถ้าใช้กฎหมายตามความเป็นจริงเพื่อความเป็นธรรมและสงบสุข”  

เงื่อนไขสำคัญไร่หมุนเวียนอยู่หรือไป  อยู่ที่เราจะไล่ถาวรหรือไม่ ?
ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีวิถีดั้งเดิมเหมือนกันหมด แค่ถ้าเขาเลือก เขาควรมีสิทธิ์

ชิ สุวิชาน หรือ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ แห่งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เสนอว่า ไร่หมุนเวียนไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้น  ระบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบกสิกรรมเชิงวัฒนธรรมของชนเผ่าปกาเกอะญอ และชนเผ่าอื่น เราสามารถพบเจอระบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลนับ 3,000 เมตร เช่น ในประเทศจีน อินเดีย นากาแลนด์ หรือกระทั่งพื้นที่ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตรอย่างอินโดนีเซีย และยังพบในทวีปอื่น เช่น อเมริกาใต้

“ไร่หมุนเวียนไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายที่ต้องจำกัด หลายประเทศยังให้การยอมรับการทำไร่หมุนเวียนข้ามดินแดนในประเทศของตนด้วยซ้ำไป ในอเมริกาใต้บางประเทศ มีข้อตกลงร่วมกันว่าชนพื้นเมืองเขาสามารถหมุนเวียนการพื้นที่ข้ามประเทศที่อยู่ในภูมิวัฒนธรรมเดียวกันได้”

ทั้งนี้ สุวิชาน ตั้งข้อสังเกตว่า การจะสิ้นสุดไร่หมุนเวียนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า หากเราไม่ “ไล่” หมุนเวียนหรือไม่ “ไล่”ถาวร ระบบการหมุนเวียนก็จะยังอยู่ เพราะทำให้วิถีวัฒนธรรมมันเต็มวงจร เป็นระบบการเกษตรซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า agri-culture ซึ่งคือระบบการเกษตรกับระบบวัฒนธรรมมันก่อเกิดซึ่งกันและกัน ถ้าระบบการเกษตรแบบนี้ถูกตัด วิถีวัฒนธรรม พิธีกรรม ความเชื่อและอะไรหลายอย่างก็ถูกตัดไปด้วย นี่คือเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการล่มสลายทางวัฒนธรรม  

“ผมไม่ได้หมายความชุมชนกะเหรี่ยงทั้ง 15 จังหวัด 5 แสนกว่าคนจะต้องดำรงวิถีดั้งเดิมหรือไร่หมุนเวียนทั้งหมด แต่ชุมชนไหนที่ยังคงมีจิตวิญญาณ หรือต้องการจะเลือกเส้นทางแบบนี้ เขาควรจะมีสิทธิที่จะเลือก ยกตัวอย่าง เช่น มีการระบุว่า พี่น้องโป่งลึก บางกลอยล่างที่อยู่ด้านล่าง บางกลุ่มยังอยู่ได้ มีรายได้เดือนละแสน ทำไมอีกกลุ่มถึงอยู่ไม่ได้ แบบนี้เป็นตัวอย่างของการตัดสินอย่างเหมารวม ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมกับคนที่เลือกต่างออกไป”

“คนควรจะมีสิทธิเลือกในการใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม หรือตามพื้นที่บรรพบุรุษของตัวเอง และตามสิทธิทางวัฒนธรรมที่พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง พูดมาตลอดว่าสิทธิวัฒนธรรม มันเกิดและมีมาก่อนสิทธิตามเอกสารหรือตามกฎหมาย”

ชิ สุวิชาน กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ามีการรองรับและให้สิทธิในการเลือก ชุมชนไหนไม่เลือกก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าชุมชนโป่งลึก บางกลอย กลุ่มหนึ่งประมาณ 70 คนที่เลือกจะใช้สิทธิทางวัฒนธรรม เขาย่อมสามารถกระทำได้ แต่เมื่อไหร่ที่เราเลือกไล่โดยใช้กฎหมายหรือสิทธิทางเอกสารมันจะทำให้เกิดการสูญสิ้น

ก้าวข้ามขัดแย้ง เสนอเป็นมรดกโลกด้านธรรมชาติคู่วัฒนธรรม สาธารณะไม่ปล่อยอุทยานทำเรื่องนี้เพียงคนเดียว

ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เสนอว่าต่อประเด็นข้อถกเถียงเรื่องคนอยู่กับป่าและข้อถกเถียงจากกรณีการเสนอชื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติว่า ยูเนสโก มีการจัดประเภทมรดกโลกประเภททางธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม กรณีพื้นที่ป่าแก่งกระจานมีการหารือกันมาตลอดว่าควรผสานมรดกทั้ง 2 ประเภทนี้ไว้ด้วยกัน เพราะโลกปัจจุบันมักไม่ค่อยแบ่งแยกธรรมชาติและวัฒนธรรมออกจากกันแล้ว กรณีที่มีชนพื้นเมืองซึ่งมีวัฒนธรรมที่ดีงาม สัมพันธ์กับระบบนิเวศที่ดี ความเห็นส่วนตัว กะเหรี่ยงบางกลอยจึงไม่ได้เป็นตัวขัดขวางการเป็นมรดกโลก เพียงแต่เป็นมรดกโลกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการรับรองสิทธิชุมชน ที่อยู่บนพื้นฐานการรับรองวิถีชีวิตของเขา เพราะชุมชนก็ได้แสดงออกแล้วว่าวัฒนธรรมของเขานั้นเกื้อกูลต่อธรรมชาติอย่างยั่งยืน

“กรณีไร่หมุนเวียน ป่าอนุรักษ์และกะเหรี่ยงมีการพูดคุยมานานแล้ว ผ่านคณะทำงานไร่หมุนเวียนจากมติครม. 3 สิงหาคม 2553 หรือเวทีอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น นับรวม 20 ปี จากการสังเกตที่ได้เข้าไปร่วมพูดคุย พบว่ากลับไม่มีความคืบหน้า สิ่งที่เราคุยกันตรงนี้ทั้งหมดได้คุยกับกรมอุทยาน เจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายความมั่นคงทั้งหมดแล้ว แต่ถ้ายังจัดการภายใต้ระบบเดิมมันก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลง”

“ผมเดาได้ว่าการชุมนุมของพี่น้องตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. เป็นต้นไป พี่น้องก็จะได้คำตอบที่ไม่ต่างหรือมากไปกว่าเดิม ดังนั้นเราอย่าปล่อยให้เรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า เรื่องไร่หมุนเวียน เป็นเรื่องเฉพาะกรมอุทยาน แต่หลาย ๆ ฝ่ายต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานด้านวัฒนธรรมทั้งหมดต้องเข้ามาร่วมสนับสนุนในมิติทางวัฒนธรรม หากระบบเกษตรทำให้เกิดความยั่งยืน หรือสร้างความมั่นคงทางอาหารมีระบบการผลิตอาหารที่ดี หน่วยงานของรัฐด้านนี้ เช่น สาธารณสุขต้องเข้ามา หรือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับชีวิตชาวบ้านเข้ามาสนับสนุนด้วย”

“ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกรมอุทยานอย่างเดียว เพราะความสัมพันธ์แบบนี้ไปไม่รอด ต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะและมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ดร.กฤษฎา กล่าวอีกว่า ระบบไร่หมุนเวียนมีคุณค่าอย่างมากในระดับโลก ทั่วโลกมีชนพื้นเมืองทั่วโลกที่พึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า 300 ล้านคน จัดการป่าได้ดีมากกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่ป่าทั่วโลก นี่เป็นโมเดลที่แสดงให้เห็นชัดในระดับโลกว่า ถ้าเราอยากให้โลกมีพื้นที่สีเขียวที่ดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความมั่นคงทางอาหาร และช่วยลดภาวะโลกร้อน เราจะต้องร่วมกันทำความเข้าใจและส่งเสริมให้ระบบเหล่านี้มีความมั่นคง พัฒนา เอางานวิชาการเข้าไปสนับสนุน เพื่อให้วิถีวัฒนธรรมเขาเข้มแข็งและอยู่ต่อไปได้

สิ่งเหล่านี้เราต้องเปิดประเด็นใหม่ ๆ อาจจะเห็นอุทยานแห่งชาติที่เป็นอุทยานร่วมกันของรัฐและชุมชนพื้นเมือง ไม่ใช่อุทยานของรัฐ หรือเป็นเพียงอุทยานในมิติธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่มีมิติอื่น ๆ อยู่ในอุทยานนั้น นี่เป็นโจทย์ใหญ่ ๆ ที่ต้องการตอบคำถามในอนาคตอีกมากมาย แต่ดูเหมือนกลไกของรัฐปิดกั้น ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการด้านอื่น ๆ

“ไร่หมุนเวียนไม่ได้สะท้อนแค่มิติชุมชนต่อการหาอยู่หากิน อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ยังหมายถึงสิทธิต่อธรรมชาติในความสัมพันธ์ที่เคารพนอบน้อม ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก และสุดท้ายคือสิทธิของตัวธรรมชาติเอง ซึ่งโลกกำลังพูดถึง rights of nature ซึ่งเป็นข้อถกเถียงในระดับสากล และเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไป”

“วิถีของกะเหรี่ยงและวิถีไร่หมุนเวียนจึงเป็นสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่าและต้องช่วยกันขับเคลื่อน”

ต้องเปลี่ยนกรอบคิดการอนุรักษ์ โมเดลทางเลือก คนอยู่กับป่า มีทั่วโลก

ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กล่าวว่า สิ่งที่เราพยายามพูดในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ คือ เรื่องการเปลี่ยนกรอบคิด mind set ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อนุรักษ์ สิ่งที่เราเข้าใจได้ดีว่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นเรือธงที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมถอยไม่ได้ แต่การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ พบว่ามีโมเดลมีอยู่สองโมเดล ระหว่างโมเดลอเมริกา เยลโลว์สโตนหรือโมเดลของโลกเก่าที่มีวัฒนธรรมของยุโรปและเอเชียที่มีคนอยู่มาอย่างยาวนาน เก่าแก่ไม่แพ้ยุโรป เช่น อุทยานแห่งชาติคาคาดู (Kakadu National Park) รัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ประเทศออสเตรเลีย ก็มีชาวอะบอริจินที่อยู่มานานกว่า 40,000 ปี หรือกรณีคุจูของญี่ปุ่นก็มีหมู่บ้านที่เขาทำนา อนุรักษ์ในอุทยานแห่งชาติ แล้วดำรงชีวิตมีวัฒนธรรมที่งดงามตามแบบของคนญี่ปุ่น มีนักท่องเที่ยวเข้าไป

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มนุษย์หรือชนเผ่าที่มีวิถีปฏิบัติที่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ชาร์ล วาร์ตัน (CHARLES WHARTON) นักสำรวจชาวตะวันตกที่เข้าไปศึกษากัมพูชาตอนบนในปี 2500 เขาพบว่า มีบรรดากระทิง กรูปรี วัวแดง อาศัยและหากินอยู่ไร่หมุนเวียน มาโดยตลอด จนพบเหลือกรูปรีตัวสุดท้ายในช่วงของการปราบเขมรแดง ดังนั้นไร่หมุนเวียนมีสัตว์มากมาย เช่น นกแซงแซวหางบวก มีนักนางแอ่นเข้ามาโฉบแมลง และข้าวที่ร่วงหล่นจากการเกี่ยวข้าวก็เป็นอาหารของหมูป่า เป็นต้น วิถีปฏิบัตินี้เขียนอยู่ใน article  ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพให้อนุรักษ์เอาไว้

“ผมคิดว่ากระบวนทัศน์หรือกรอบความคิดของสิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนได้ และสุดท้ายวัฒนธรรมมันไม่ได้อยู่ในห้องสมุดหรือในตำรา แต่อยู่ในวิถีชีวิตของคน ซึ่งต้องอนุรักษ์เอาไว้”

นายประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาคือวาทกรรมและอคติต่อไร่หมุนเวียนที่สร้างขึ้นมาโดยรัฐ ซึ่งต้องมีการรื้อถอน เริ่มจากข้างในรัฐ เช่น การศึกษากันใหม่เพื่อเปลี่ยนทัศนคติ ไร่หมุนเวียนทั้งระบบเป็นการสร้างป่า สร้างนิเวศและในที่สุด ดังจะเห็นว่าพื้นที่ป่าตะวันตกทั้งหมดเป็นถิ่นที่ตั้งและไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานและมีการจัดการ

“บางกลอย ใจแผ่นดินชัดเจนมาก เขาอยู่กันมาเป็นร้อยปี ทำไมป่าไม่โล้น เพราะระบบไร่หมุนเวียนเป็นกลไกที่อนุรักษ์ สร้างป่าและรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ คณูปการสำคัญของไร่หมุนเวียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนกะเหรี่ยง แต่ให้กับสังคมและประเทศ แต่คนทำไร่หมุนเวียนกลับถูกกล่าวหาเป็นจำเลยของสังคมตลอด นี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันใหม่”

ระบบไร่หมุนเวียนมีความเป็นพลวัตรและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไร่หมุนเวียนในปัจจุบันไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ลดลงและมีการจัดการพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ GIS ช่วยทำให้ชัดขึ้น และทางออกในเรื่องนี้เห็นด้วยกับโมเดลที่อ.สมศักดิ์ได้กล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นและชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ และกลายเป็นที่รับรู้ที่ชุมชนอยู่ในป่าอุทยานอย่างกลมกลืน และมีจารีตในการยอมรับฐานเดิม และแนวโน้มเรื่องการเปิดกว้างเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ นี่เป็นกระแสของโลก แต่บ้านเราไม่ก้าวไปไหน

ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เสนอทิ้งท้ายว่า “รัฐบาลจะแก้ปัญหาแก่งกระจานบางกลอย ก็ด้วยการมีส่วนร่วมและการยอมรับชนพื้นถิ่น พื้นเมืองที่อยู่ตรงนั้นในฐานวิถีวัฒนธรรม ซึ่งจะได้ภาพลักษณ์ การยอมรับและประกาศเป็นมรดกโลกได้”

สำหรับเหตุผลและความรู้สึกของชาวกะเหรี่ยงที่เดินเท้าอพยพกลับขึ้นไปบนถิ่นฐานเดิมตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.64จำนวนประมาณ 70-80 คน ซึ่งมีคนท้อง 8 เดือนด้วย   จากคำอธิบายของ  “จอแบ” ที่โทรศัพท์พูดคุยในวงเสวนาช่วงต้นระบุว่า เหตุผลหลักคือไม่อาจทนต่อความลำบากไม่มีกิน เมื่อก่อนชาวบ้านเคยทำไร่หมุนเวียน หาผัก หาปลา แต่ตอนนี้ไม่สามารถดำเนินชีวิตเช่นเดิมได้ พื้นที่ข้างบนที่บางกลอย-ใจแผ่นดินอุดมสมบูรณ์กว่า สามารถทำไร่หมุนเวียน ไม่มีการเกษตรเชิงเดี่ยว เมื่อชาวบ้านเคยอยู่ที่นั่นมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ การกลับเข้าไปคือกลับไปทำไร่ซากเก่าที่พ่อแม่บรรพบุรุษเคยทำมาก่อน ไม่ได้ไปเปิดพื้นที่ป่าใหม่

“ตอนนี้อยู่กันสบายดี กังวลอย่างเดียวว่าเจ้าหน้าที่จะมาคุกคามหรือไม่ ส่วนเจ้าหน้าที่เข้าไปพบชาวบ้านได้ขอให้ชาวบ้านลงมาเจรจากันก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 20 กว่าปี ทำให้ชาวบ้านหมดความเชื่อถือในเจ้าหน้าที่แล้ว ต้องการผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมาเจาจากันมากกว่า อยากให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ รองนายก ภาคประชาชน พีมูฟ สภาทนายความร่วมกันแก้ปัญหา”

“การที่เขากลับขึ้นไปเกี่ยวกับปากท้องที่อยู่ไม่ได้จริงๆ แค่ต้องการทำไร่หมุนเวียนมีข้าวให้ลูกกินอิ่มครบ 3 มื้อ ทำไร่แบบวิถีเดิมที่เคยทำ และจะกลับตายที่เดิมที่เคยอยู่ ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน จะไม่มีข้าวให้ลูกหลานกิน วิถีกะเหรี่ยงทุกอย่างอยู่ในไร่ทั้งหมด ไม่ว่าความเชื่อ ความสามัคคี ความสัมพันธ์ พี่น้องถ้าไม่ได้ทำไร่ วิถีอัตลักษณ์จะสูญสลายไปเรื่อยๆ สำหรับผมเองตอนเด็ก ป.2-3 แม่ถูกอพยพลงมาอยู่ข้างล่าง ตอนป่วยหนักได้ขอให้พี่ๆ พากลับไปอยู่ใจแผ่นดิน ไม่นานแม่ผมกลับไปก็ตาย จึงเป็นความผูกพัน ที่อยากกลับไปอยู่ที่นั่น ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน จะไม่มีข้าวให้ลูกหลานกิน วิถีกะเหรี่ยงทุกอย่างอยู่ในไร่ทั้งหมด ไม่ว่าความเชื่อ ความสามัคคี ความสัมพันธ์ พี่น้องถ้าไม่ได้ทำไร่ วิถีอัตลักษณ์จะสูญสลายไปเรื่อยๆ” จอแบ๊ะ กล่าว

หมายเหตุ : ยังมีรายละเอียดความรู้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับไร่หมุนเวียนในมิติความเป็น วนเกษตร วิถีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และสิทธิอีกจำนวนมากจากเวที “สิ้นสิทธิในไร่หมุนเวียน ฤาจะสิ้นวิถีกะเหรี่ยง” นี้ The Citizen จะทยอยเรียบเรียงนำเสนอต่อไป โปรดติดตาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ