The North องศาเหนือ คือ แบรนด์สื่อออนไลน์สำหรับคนเหนือ ที่สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส พัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่ผลิตสื่อและเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนประเด็นในภาคเหนือเพื่อสะท้อนสถานการณ์ และแสวงหาทิศทางพัฒนาที่เหมาะสมกับความต้องการของคนพื้นที่ภาคเหนือ (17 จังหวัดภาคเหนือ) โดยเชื่อมโยงการทำงานกับภาคประชาสังคมในภาคเหนือ ผ่านการร่วมผลิตเนื้อหาและสร้างกิจกรรมด้านการสื่อสารในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2561
ในปี 2564 สถานการณ์ของภาคเหนือมีวาระที่จะต้องสื่อสารขับเคลื่อนต่อเนื่อง The North องศาเหนือ จึงเปิดรับผู้ผลิตสื่อที่สนใจร่วมเป็นทีมงานในการสื่อสารประเด็นของภาคเหนือ เสนอประเด็นเพื่อสมัครร่วมเป็นทีมผู้ผลิตสื่อตามรายละเอียดดังนี้
1.VISION : เข้าใจความหลากหลาย เห็นคุณค่า และปรับตัวต่อยอด
The North องศาเหนือ จะทำหน้าที่สร้างสรรค์สื่อและเป็นพื้นที่เเลกเปลี่ยน เพื่อให้คนเหนือเข้าใจความหลากหลายของภาคเหนือ เห็นคุณค่า และปรับตัวต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ได้ พร้อมทั้งร่วมแสวงหาทิศทาง และทางออก ที่เหมาะสมกับความต้องการของคนเหนือด้วยความรู้
2.วิธีการทำงาน
The North องศาเหนือ มีวิธีการทำงานร่วมกับระหว่าง ทีมผลิตสื่อ กับทีมงานของสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส และเครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือ เพื่อกำหนดประเด็นและออกแบบสื่อสารในหลากหลายแพลทฟอร์ม โดยมี ผลผลิตสื่อเป็นชุดแบบ Transmedia ประกอบด้วย
- สื่อ Online ลักษณะ Clip CL สารคดีข่าว เผยแพร่ทางเพจ The Northองศาเหนือ
- อินโฟกราฟิก แบนเนอร์ หรือชุดภาพ เผยแพร่ทางเพจ The Northองศาเหนือ
- บทความ เรื่องเล่า บทสัมภาษณ์ พร้อมภาพประกอบ เผยแพร่ทางเว็บ The Citizen Plus
- ปักหมุดพิกัดพร้อมภาพและเรื่องเล่า ในประเด็นที่นำเสนอทาง C-Site Report
- On Ground ขับเคลื่อนประเด็นร่วมกับเครือข่ายฯ ตามแผนงาน เช่น จัดเวทีในพื้นที่ FB LIVE ขยายบางประเด็น
- อื่นๆ
3.กลุ่มเป้าหมาย : คนเหนือ (เป็นหลัก) วัย 24-45 ปี ที่สนใจความเป็นพื้นถิ่น ชอบสาระ และติดตามสถานการณ์สังคม
4. วาระเพื่อการสื่อสาร 2564 : กำหนดวาระหลักไว้ 3 กรอบใหญ่ คือ แก้โจทย์ปากท้อง สร้างการเรียนรู้ สะท้อนสถานการณ์พื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้ 3 ความเปลี่ยนแปลงใหญ่คือ โลกไร้พรมแดน โควิดและความปั่นป่วนของเทคโนโลยี
5.กรอบเนื้อหาเพื่อการผลิตใน ไตรมาส 1-2 /2564
5.1 แก้เกมท่องเที่ยวเหนือ : การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับชีวิต เศรษฐกิจปากท้องของคนเหนือทั้งในการท่องเที่ยวกระแสหลัก หรือการท่องเที่ยวแบบชุมชน ทางเลือก และยังมีงานที่เกี่ยวโยงทั้งภาคบริการ ร้านค้า พัฒนกรรมและแรงงาน เขาและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเหล่านี้จะอยู่อย่างไรเมื่อโควิด 19 พลิกโฉมหน้าพฤติกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก ความพยายามหาทางออกจากความยากลำบากของภาคการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร การจะ reskill/up skill คนในแวดวงจะไปในทิศทางไหน มีข้อมูล หางานวิจัย หรือ trend เพื่อแก้โจทย์นี้หรือไม่ ?
5.2.สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร : 2 ไตรมาสแรกของปี คือช่วงเวลาเผชิญเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญของภาคเหนือคือฝุ่นควัน และความแห้งแล้ง สาเหตุทั้งจากสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และแหล่งกำเนิดทั้งไฟไหม้ป่า การปรับพื้นที่เกษตรเพื่อเตรียมเพาะปลูก การเผาอ้อย ตลอดจนฝุ่นควันข้ามพรมแดน อะไรคือสิ่งที่คนเหนือจะต้องเข้าใจเพื่อสร้างความตระหนัก และคนเหนือมีรูปธรรมการจัดการ ฝุ่น ดิน น้ำ ป่า เมือง อะไรที่เป็นภูมิปัญญา นวัตกรรม และเป็นโมเดลที่พื้นที่ชุมชนจัดการเองได้ หรืออะไรที่จะต้องฝ่าไปถึงนโยบาย?
5.3. เศรษฐกิจฐานรากของคนเหนือ : ตัวอย่างการผุดขึ้น หรือปรับตัวของเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย คนหนุ่มสาวที่เข้าใจการเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก จากต้นทุนของพื้นที่ จากของดีของชุมชน และสะท้อนให้เห็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปเสริมพลังท้องถิ่น หรือมีงานวิจัย ความรู้ใหม่จากวิชาการ สถาบันการศึกษา อะไร? ที่จะเป็นไอเดียหรือทางออกของปัญหาปากท้อง และอยู่รอดไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
5.4. วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นเหนือ : ความหลากหลาย และภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า วิถีวัฒนธรรมของภาคเหนือที่ยังคงมีสืบทอดและต่อยอดให้ร่วมสมัย หรือเรื่องราวที่ต้องบันทึกไว้ให้เห็นคุณค่าก่อนจะสูญสลาย โดยมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายฯที่เกี่ยวข้อง
5.5 Current สถานการณ์ความเป็นไป หรือ Movement ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือขับเคลื่อน เช่น ภัยพิบัติ ผลกระทบจากนโยบาย เช่น แม่น้ำโขง เหมือง การศึกษา
คอนเซ็ปท์เนื้อหา : ไม่ใช่แค่เพียงการบอกเล่าถึง “ปัญหา” หรือ “ปรากฏการณ์” แต่นำเสนอให้เห็นถึง Solution หรือแนวทางที่จะรอดไปด้วยกัน ทั้งการถอดบทเรียนความพยายาม ความสำเร็จ ความล้มเหลว ผ่านปฏิบัติการหรือรูปธรรมจริงของคนในพื้นที่
6.คุณสมบัติผู้ยื่นเสนอเป็นทีมร่วมผลิตและขับเคลื่อนประเด็นภาคเหนือ
6.1 เป็นผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการผลิตสื่อกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ หรือหน่วยงานอื่นของไทยพีบีเอส
6.2 มีทักษะและประสบการณ์ผลิตสื่อวีดิโอ และออกแบบสื่อสารอื่นได้หลายลักษณะ เช่น งานวีดิโอ คลิป CL อินโฟกราฟิก งานเขียน หรือการสื่อสารรูปแบบอื่นที่หลากหลาย มีทักษะการติดตามสถานการณ์ทางสังคม สามารถหาข้อมูลและเคสที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ถ่ายภาพ ตัดต่อ เล่าเรื่องได้
6.3 มีประเด็นหรือไอเดียเนื้อหาเกี่ยวกับ “ภาคเหนือ” ที่อยากนำเสนอ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเข้าใจคอนเซ็ปต์รายการ รูปแบบ วิธีการนำเสนอ และ Mood&tone ของ “TheNorth องศาเหนือ” อย่างชัดเจน
6.4 แสดงถึงความพร้อมของทีมงานและอุปกรณ์ผลิตงานสื่อ เช่น กล้องระบบ HD คอมฯ และโปรแกรมตัดต่อหรือโปรแกรมออกแบบที่เกี่ยวข้อง
6.5 มีความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นร่วมกับหน่วยงาน เครือข่าย และองค์กรต่างๆ โดยสามารถเข้าร่วมประชุมออกแบบการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ทีมสำนักฯ และลงพื้นที่ผลิตงานตามแผนงานที่ตกลงกัน
7. เงื่อนไขการพิจารณา
7.1 ผู้ยื่นเสนอเป็นทีมร่วมผลิตและขับเคลื่อนประเด็นภาคเหนือ เข้ารับฟังการประกาศคอนเซ็ปต์ ประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อน และแนวทางการทำงานของ TheNorth องศาเหนือ ในวันศุกร์ ที่ 19 ก.พ. 2564 เวลา 14.00 – 17.00 น. เพื่อรับทราบเป้าหมายและกรอบประเด็นที่จะนำเสนอ
7.2 การคัดเลือกทีมพิจารณาจากความเข้าใจในคอนเซ็ปต์ ข้อมูลประเด็นที่เสนอ และการแสดงความพร้อมในการร่วมปฏิบัติงาน โดยขอสงวนสิทธิ์การตัดสินของทีมสำนักฯ และที่ปรึกษา ถือเป็นที่สิ้นสุด โดยแจ้งผลการพิจารณาวันพฤหัสบดี ที่ 25 ก.พ.2564 ทางเพจ The Northองศาเหนือ
7.3 ผู้ผลิตสื่อฯ ที่ผ่านการคัดเลือก สามารถทำสัญญาได้เพียง 1 สัญญาในแต่ละรอบเท่านั้น ไม่สามารถทำสัญญาซ้ำซ้อนในแพลทฟอร์มอื่นของสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะได้
8. การรับฟังการประกาศคอนเซ็ปต์และส่งใบสมัคร
8.1 ผู้สนใจเข้ารับฟังการประกาศคอนเซ็ปต์ The Northองศาเหนือ ในวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. 2564 เวลา 13.30 –16.30 น. ให้แจ้งความประสงค์มาที่ อีเมล์ thenorththaipbs@gmail.com ตั้งแต่วันนี้ – วันพฤหัสบดีที่ 18 ก.พ. 2564 ภายในเวลา 17.00 น. เพื่อการจัดส่งรหัส Zoom เข้ารับฟัง
8.2 หลังการรับฟังการประกาศคอนเซ็ปต์ ผู้สนใจฯ ต้องจัดส่งเอกสารสมัครเป็นทีมเพื่อร่วมผลิตสื่อกับ The North องศาเหนือ โดยส่ง
– เอกสารแสดง Profile ประวัติส่วนตัว และประสบการณ์ผลิตงาน และข้อมูลยืนยันการเคยเข้าฝึกอบรมพัฒนาทักษะการผลิตสื่อกับสำนักฯ หรือหน่วยงานอื่นของไทยพีบีเอส
– ส่งแบบเสนอประเด็นพร้อมข้อมูลที่สอดคล้องกับคอบเซ็ปต์รายการ โดยจะเสนอ 1 ตอน หรือเป็นชุดรายการก็ได้ ส่งมาที่ thenorththaipbs@gmail.com ภายในวันเสาร์ที่ 27 ก.พ. 2564
สอบถามเพิ่มเติม : 02-790-2634 หรือ 065-0479777 (อักษรสิริ) 092-4898252 (วิชุดา)
(หมายเหตุ : สามารถจัดทำในรูปแบบที่ทีมถนัดเพื่อให้เห็นไอเดียและข้อมูลที่ต้องการผลิตได้ตามอิสระ )
กิจกรรม | วัน /เดือน /ปี |
ประกาศรับผู้สนใจร่วมโครงการ | วันจันทร์ ที่ 15 ก.พ. 2564 |
กำหนดวันเข้ามาฟังทาง Zoom | วันศุกร์ ที่ 19 ก.พ. 2564 เวลา 13.30 –16.30 น. |
ส่ง Profile พร้อมแบบเสนอประเด็นและข้อมูล | ภายในวันเสาร์ ที่ 27 ก.พ. 2564 ส่งมาที่ tpbsnorth.c@gmail.com |
แจ้งผลพิจารณาทีมร่วมผลิต | วันอังคาร ที่ 2 มี.ค. 2564 ทางเพจ TheNorth องศาเหนือ |
ประชุมทีมเริ่มแผนผลิต | วันศุกร์ ที่ 5 มี.ค. 2564 |