“ทุเรียน … ไม่ใช่แค่คำบอกเล่า” เปิดหลักฐาน กลางใจแผ่นดิน

“ทุเรียน … ไม่ใช่แค่คำบอกเล่า” เปิดหลักฐาน กลางใจแผ่นดิน

ภาพต้นทุนเรียนสูงใหญ่ อายุนับร้อยปี ณ พิกัดที่ 47P 0522161 1455007  คือหมุดหมายของที่ชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน-บางกลอยบน  ระบุว่า  นี่คือ “ใจแผ่นดิน”  ถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกเขาที่บรรพบุรุษอยู่มานับร้อยกว่าปี

ทุเรียนที่ใจแผ่นดิน
ความร่มรื่นในผืนป่าใจแผ่นดิน
ลำธารระหว่างเดินทางเข้าสู่พื้นที่ใจแผ่นดิน

นอกจากทุเรียนจะอร่อยมากแล้ว ….ที่นี่ยังมี มะม่วง  มะขาม มะนาว ขนุน ส้มโอ หมาก แทรกอยู่โดยรอบ  พวกเขาปลูกกระต๊อบอยู่เป็นหย่อมบ้าน  มีลำธารอยู่ไม่ไกล  และทำไร่ปลูกข้าว ความอุดมสมบูรณ์และวิถีที่อยู่กับป่าเหล่านี้เอง คือเหตุผลที่แม้จะถูกบังคับอพยพลงมากว่า 20 ปีแล้ว  แต่ก็มีความพยายามกลับเข้าไปหาแผ่นดินแม่  และล่าสุด  14 มกราคม 2564  ชาวกะเหรี่ยง 62 ชีวิต ทั้งเด็กและผู้หญิง  ตัดสินใจเดินเข้าป่า กลับไปยัง “ใจแผ่นดิน”

ต้นหมากที่มีมากมายในพื้นที่คือผลผลิตของชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน นอกเหนือจากทำไร่

นอกจากหลักฐานเชิงประจักษ์บนพื้นที่ใจแผ่นดินที่เห็นนี้  ยังมีความพยายามพิสูจน์และยืนยันว่า  ที่ใจแผ่นดินแห่งนี้  คือ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ของชาวกะเหรี่ยง

ขนุน ที่ใจแผ่นดิน

ถ้านับแต่หลักฐานทางเอกสาร  ชื่อใจแผ่นดิน มีปรากฏชัดเจนอยู่ในแผนที่ทหาร พ.ศ.2455   ขณะที่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็เพิ่งเมื่อ พ.ศ. 2524 หรือ 69 ปีให้หลัง   หรือภาพแผนที่ทำมือ  ที่นักวิจัยฯ จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปถอดความทรงจำจากชาวบ้าน ก็สอดคล้องต้องกัน และชัดเจนที่ทำให้สังคมรู้ว่า  เขามีวิถีชีวิตแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันกับผืนป่า

ต้นสะดือ ในป่าสะดือ ที่ใจแผ่นดิน

พ.ศ. 2539 และ  2554  ชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินและบางกลอยบน ถูกบังคับอพยพลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก บางกลอยล่าง   นับจากนั้น แผ่นดินเกิดของพวกเขา กลายเป็นดินแดนต้องห้ามในนามของเขตอุทยานแห่งชาติฯ  

แม้จะมีการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านบางส่วน แต่สภาพดินและหินและการเพาะปลูกบนสภาพแตกต่างกับที่เคยทำกินทำให้ได้ผลผลิตไม่เพียงพอ  เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาติพันธุ์ทั่วประเทศได้ระดมข้าวบริจาคทุกปี  และแม้บางส่วนจำเป็นต้องปรับตัวไปทำงานรับจ้าง รายได้ก็ไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตในพื้นราบที่ทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อ และยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด 19 ยิ่งยากลำบาก  และที่สำคัญยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่าไม่ได้รับการจัดสรรให้มีพื้นที่ทำกิน  รวมไปถึงเหตุผลทางวัฒนธรรม ที่จะขึ้นไปประกอบพิธีส่งดวงวิญญาณปู่คออี้ และปลูกข้าวในไร่ซากดั้งเดิมของชุมชนก่อนถูกอพยพ

พื้นที่สวนกล้วยที่ชาวบ้านบางกลอยล่างต้องพยายามปรับวิถีจากการการอยู่ป่า ปลูกข้าวมาเป็นการปลูกกล้วยยังชีพ บันทึกเมื่อ มกราคม 2564
แปลงข้าวโพดแห้งตายในสภาพดินที่เพาะปลูกไม่ขึ้น บันทึกเมื่อ มกราคม 2564
ผืนนา ที่บ้านบางกลอยล่าง ปี 2564 พื้นที่ทำกินที่ไม่สอดคล้องกับวิถี

การบังคับอพยพชาวบ้านออกจากเขตป่าให้มาเผชิญชีวิตในบริบทที่ไม่คุ้นชิน  เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และเรื่องราวของกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน ไม่ได้เป็นกรณีเดียว  และอนาคตจะเป็นอย่างไร  เพราะยังคงมีชุมชนในเขตป่าที่สำรวจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ  3,973  ชุมชน พื้นที่รวม  4.7 ล้านไร่

และแม้จุดเกิดเหตุ  จะอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตามแง่ของกฏหมายที่ประกาศออกมา  แต่การจะแก้โจทย์ชีวิตและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ต่อกรณีนี้   กรมอุทยาน ฯ จะยึดกฎหมายอุทยานเพียงอย่างเดียวได้หรือ ? ในเมื่อมีข้อเท็จจริง  แนวคิดที่ต้องทำความเข้าใจและเงื่อนไขอื่นโดยเฉพาะด้านนโยบายของประเทศเกี่ยวข้อง      

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนากล่าวว่าปัญหาที่หลักอยู่ 2 ประเด็น คือเรื่อง “สิทธิชุมชน” กับเรื่อง “คนอยู่กับป่า” ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางความคิด  ฝ่ายหนึ่งมองเห็นป่าเป็นสิ่งที่ปราศจากคน  ส่วนอีกฝ่ายมองเห็นว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้  ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเฉพาะคนที่บางกลอยเท่านั้น แต่ชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ก็ล้วนเผชิญกับความขัดแย้งของความคิดนี้เหมือนกัน

“ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจในการอธิบายความสัมพันธ์ของคนที่อยู่กับป่าได้น้อยกว่าฝ่ายที่ถืออำนาจตามกฎหมายและอำนาจทางวิชาการซึ่งสามารถสถาปนาอำนาจในการอธิบายความสัมพันธ์ได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นทั้งสองประเด็นนี้จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งกรณีของบางกลอยนั้นสามารถสังคมมองเห็นได้ชัดเจน”

ช่วง พ.ศ. 2500  ทรัพยากรเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเมือง และมองว่าพื้นที่บนที่สูงโดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้จะต้องมีวิธีการจัดการ  หลังจากที่รัฐให้สัมปทานป่าไม้เป็นเวลาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ก่อนปี 2500 รัฐบาลสยามให้สัมปทานป่าไม้กับบริษัทเอกชนต่างชาติ  และต่อมาก็อนุญาตให้สัมปทานโดยบริษัทเอกชนภายในประเทศ แนวคิดตอนนั้นมองว่าป่าไม้เป็นทรัพยากรที่จะทำประโยชน์ด้านรายได้ขึ้นมาได้  ไม่ได้คิดว่าเป็นทุนทางธรรมชาติที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อทำให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา ต่อมามีความพยายามในเปลี่ยนพื้นที่สูงและป่าไม้ให้เป็นพื้นที่เพื่อการผลิตพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งถูกมองว่าเป็นพืชเสพติดที่มีความอันตรายเป็นภัยต่อความมั่นคง  จุดเริ่มต้นของการปราบปรามยาเสพติดหรือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่มีวิถีชีวิตแบบที่พึ่งพาอยู่ร่วมกับป่าอย่างที่ไม่ได้ทำลายล้าง ถูกกีดกันออกไปจากพื้นที่ผ่านการออกกฎหมายฉบับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ป่าสงวนฯ หรือพ.ร.บ.อุทยานฯ ก็ทำให้พื้นที่ป่าเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่รัฐเข้ามาครอบครอง ละความคิดที่จะมองเห็นว่าคนอยู่กับป่าและมีสิทธิ์ใช้ทรัพยากร ในตอนนั้นจึงไม่ได้รับการยอมรับขึ้นมาก

ช่วงปี พ.ศ.2520 เริ่มมีการทบทวนว่าการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงแบบ ไร่หมุนเวียนของชาวลัวะป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง มีรูปแบบที่ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย  ทำให้มีการนำความคิดเรื่องไร่หมุนเวียนมาศึกษาต่อ แต่ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมาเราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐ  โดยเฉพาะกรมป่าไม้ที่จะขยายพื้นที่จากเขตป่าสงวนให้เป็นเขตป่าอุทยานขึ้นมา โดยที่ไม่มองถึงรูปแบบการทำการเกษตรแบบที่ชาวบ้านได้ทำมา ทำให้ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับไร่หมุนเวียน และมองว่าวิธีการทำไร่ที่ทำหนึ่งปีแล้วหยุดพักไประยะหนึ่ง  5-10 ปี ก็ยังเป็นการทำการเกษตรแบบโค่นและเผา มองว่าไม่ใช่วิธีการที่จะทำเกษตรบนพื้นที่สูงที่จะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา  

ช่วงหลังปี พ.ศ. 2530 เริ่มเห็นความขัดแย้งของกลุ่มพี่น้องที่เคยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเพื่อการดำเนินชีวิต โดยที่ไม่ได้เป็นการทำการเกษตรแบบโค่นและเผา ทำให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มทำการวิจัย ศึกษา “รูปแบบการจัดการทรัพยากรโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ท้องถิ่น” คนที่อยู่บนพื้นที่สูงมีความรู้ในการจัดการทรัพยากรแตกต่างจากการจัดการทรัพยากรแบบใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากโรงเรียนป่าไม้ในตะวันตก จึงทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัย ศึกษาถึงความรู้พื้นบ้าน ความรู้ท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร กฎระเบียบที่ชุมชนได้ใช้กำหนดถึงวิธีการในการจัดการไฟ การทำแนวกันไฟ รวมถึงสิทธิของผู้ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพื่อการทำไร่หมุนเวียน  10 ปีจากนั้น เป็นช่วงเวลาของความพยายามที่จะอธิบายให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้ท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร” 

ช่วงปี 2539-2540 แนวคิดนี้ตกผลึกขึ้นนำมาสู่ข้อเสนอเรื่อง “สิทธิชุมชน” สิทธิของชาวบ้านหรือของประชาชนในการจัดการในการใช้ทรัพยากรบนฐานของความรู้ท้องถิ่นและกฎจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา และผลักดันให้เป็นที่ยอมรับบนฐานที่โดยนำเสนอแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540  และแม้แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนนี้ จะมีการยอมรับและบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ได้รับการต่อต้านหรือคัดค้านจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมาก  และตั้งใจจะนำ ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ฉบับประชาชนเสนอเป็นกฏหมายลูกของรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะแรก ขณะเดียวกันก็มีการร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนโดยพรรคการเมืองและโดยกรมป่าไม้เสนอในรัฐสภา และออกมาในลักษณะที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความต้องการของภาคประชาชนอย่างที่เคยเป็นมาเลย

ระยะหลัง ภาคประชาสังคมเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเป็นแนวคิด “โฉนดชุมชน” แนวคิดนี้รัฐบาลก็ยอมที่จะออกเป็นระเบียบสำนักนายกที่จะอนุญาตให้ชุมชนที่มีข้อตกลงร่วมกันในการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่เป็นโฉนดใช้ร่วมกัน ซึ่งรูปแบบของโฉนดชุมชนนี้ก็คือประชาชนเป็นเจ้าของในการจัดการทรัพยากรได้ แต่ไม่สามารถที่จะนำเอาผืนที่ดินนี้ไปจำหน่ายในฐานะที่เป็นสินค้า หรือเป็นสิทธิให้กับคนอื่นได้  แต่สามารถจะสืบทอดการใช้ประโยชน์หรือสืบทอดสิทธิในการใช้โฉนดชุมชนโดยลูกหลานของชุมชนนั้นเองได้  แต่ความพยายามเสนอให้ออกโฉนดชุมชนทำได้แค่เพียง 5-6 พื้นที่เท่านั้น  ถึงแม้ว่าหลายชุมชนเตรียมข้อมูลและมีความพร้อมที่จะเสนอพื้นที่ของตนให้ประกาศเป็นโฉนดชุมชน แต่ทางราชการก็ยังไม่ได้เอื้ออำนวยให้แนวคิดนี้ไปสู่ความเป็นจริงได้อย่างที่ต้องการ

“พ.ร.บ.ชุมชนก็ยังไม่ไปถึงไหน ถึงแม้จะมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้มาแล้ว แต่ก็ยังมีการระบุว่าไม่สามารถจะเอาไปใช้ในเขตป่าอนุรักษ์ได้ พ.ร.บ.ระเบียบว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชนก็มีการต่อรองจนกระทั่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ทำได้เพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้น”

ช่วงปี 2555 หลังการต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิชุมชนผ่านการเสนอร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนมาแล้ว มีความพยายามหาวิธีการที่จะให้มีการยอมรับสิทธิของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอต่อครม. ออกมาเป็น มติ ครม. 3 สิงหา 2553 ว่าด้วย “เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ”  โดยมติ ครม.จะคุ้มครองให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมของตนเองขึ้นมา แต่ไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายที่ชัดเจน  เพียงแต่บอกว่ารัฐยอมรับที่จะคุ้มครองการปฏิบัติวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง กลุ่มกะเหรี่ยง แล้วก็มีการประกาศพื้นที่เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ในภาคเหนือคือที่บ้านหินลาดใน  บ้านมอวาคี และที่กาญจนบุรี และอุทัยธานีแต่หลังจากมี มติ ครม.2553 มานานถึง 10 ปี ทางรัฐก็ไม่ได้ยอมรับหรือประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่บางพื้นที่ที่องค์กรพัฒนาเอกชนได้ประกาศขึ้นมาเอง เช่นที่ บ้านแม่หยอด จ.เชียงใหม่บ้านกลาง จ.ลำปาง  ป่าแป๋ จ.ลำพูน และภูเหม็น จ. อุทัยธานี

แต่ประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษนี้ ถึงแม้ว่าจะมีนัยยะของการยอมรับสิทธิชุมชน  แต่ว่าก็ไม่ได้มีการอธิบายให้ชัดเจนว่าประชาชนจะมีสิทธิอย่างไร ในการที่จะออกกฎระเบียบที่เป็นที่ยอมรับของทางหน่วยงานก็ไม่มีความชัดเจน กลายเป็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมกลับพยายามจะไปมองหาลักษณะพิเศษของทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมในการแสดงออก  ร้องเพลง เต้นรำ หรือวัฒนธรรมพิเศษอื่น ๆ ขึ้นมา  กลายเป็นถูกตีความไปว่า เป็นการมองหาจุดเด่นทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะให้ประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์และดูแลไว้ไม่ให้สูญหาย ให้เกิดเป็นอัตลักษณ์พิเศษขึ้นมา และในบางกรณีก็ถูกตีความไปว่ากลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้น ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ

“สิ่งที่เรียกว่า เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ คงไม่ใช่ความพิเศษทางวัฒนธรรม แต่เป็นการยอมรับถึงหรือการตระหนักถึงลักษณะที่ที่เป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การนำเอาวัฒนธรรมมาใช้เป็นกลไกในการอนุรักษ์ทรัพยากร หรือทำให้เห็นความสำคัญว่าวิถีปฏิบัติของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ทำให้เข้าใจพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง เพราะกลุ่มปกาเกอะญอนี้มีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติเฉพาะที่นำไปสู่กับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นมิตร และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  เป็นสิ่งที่พวกเราพยายามที่จะผลักดันทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมา  เราจึงพยายามที่จะเรียกร้องให้เกิดการทบทวนถึงคุณค่าและวิถีปฏิบัติของคนในพื้นที่ที่อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร”

“พี่น้องปกาเกอะญอที่บางกลอยเป็นตัวอย่างที่ดีที่ว่า ที่ผ่านมาเราก็รู้ว่าเขาเคยอยู่ในบ้านบางกลอยบน ที่เป็นป่าลักษณะค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ แต่ว่าวิถีชีวิตของคนที่บางกลอยบนไม่ได้เป็นวิถีชีวิตที่ทำลายล้าง  เขาอยู่ด้วยความเคารพธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ได้เป็นการเบียดเบียนธรรมชาติขึ้นมา อยู่ได้อย่างพอเพียง มีข้าว ถ้าใช้วิถีชีวิตแบบเขา เขาจะมีข้าวเพียงพอและขณะเดียวกันก็สามารถจะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน กาแฟ เพื่อหาเป็นรายได้ขึ้นมา เป็นรูปแบบของการอยู่กับธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง ที่ควรจะมีการยอมรับแล้วก็ อาจจะเรียกว่าให้ความคุ้มครอง  แล้วก็ถือว่านี่เป็นรูปแบบของการของวิถีชีวิตที่ไม่ควรจะไปถูกเบียดขับหรือว่าปิดกั้นขึ้นมา ต้องควรจะยอมรับให้กลุ่มพี่น้องเหล่านี้สามารถจะเลือกปฏิบัติวัฒนธรรมของเขาได้”

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ชาวบ้านที่บางกลอยถูกอพยพจากบางกลอยบนลงมาอยู่บางกลอยล่างมาอยู่ในพื้นที่ที่เขาไม่สามารถจะปรับตัวได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่เอื้ออำนวยให้เขานำเอาวิถีชีวิตแบบเดิมมาใช้ได้ จึงเป็นโศกนาฏกรรมที่เรามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าจะมีโอกาสที่ได้ทำความเข้าใจกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในเชิงความคิดของทางผู้ที่มีบทบาทในการจัดการทรัพยากรที่มีความขัดแย้งและไม่ลงตัวกับชาวบ้าน” อ.ชยันต์กล่าว

“พอเกิดกระแสที่ชาวบ้านบางกลอยเขากลับไปในพื้นที่ของเขาอยู่ตอนนี้  ก็ไม่ควรใช้กฏหมายไปจับเขา เหมือนเราเคยอยู่ที่บ้านดีดีแล้วมีคนบอกว่า คุณกลับไปอยู่ตรงบ้านคุณไม่ได้นะ  จะจับคุณ แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน  ก็ที่นี่เป็นบ้านเก่าของเขา  ที่ดินเก่าของเขามันเป็นความจริง เขาลำบากจริง และเขาก็อยู่แบบปกป้องธรรมชาติตามวิถีของเขา  แต่ถ้าไม่มั่นใจ มีผู้ชำนาญการมากมายในประเทศไทย นักวิชาการ นักกฏหมาย นักสิทธิมนุษยชน รัฐบาล ก็ลองมาคุยกัน ตอบคำถามให้ได้ทั้งหมด หาทางออกให้เขา  แต่ตอนที่เราคุยกันยังไม่ลงเอย ก็ไม่ควรให้คนอีกกลุ่มไปตะเพิดให้เขาต้องมีคดีตามที่เขาเสียเปรียบและทำกับเขามานาน” พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบอก

“แผนที่นี้บอกชัดเจน เขาอยู่ที่ไหน เขามีวิถีชีวิตอย่างไร กระบวนการที่ง่ายที่สุดคือการเข้ามาพิสูจน์หาความจริงว่าคนเหล่านี้เขาอยู่ที่นี่และร่วมกันคืนสิทธิในชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมให้เขา สังคมจะได้คลี่คลายบนพื้นฐานของความรู้” อ.มาลี สิทธิเกรียงไกร กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ