คดีโลกร้อน รังแกคนจน… เวลาผ่านไปคนบ้านป่าก็เจ็บปวดเช่นเดิม

คดีโลกร้อน รังแกคนจน… เวลาผ่านไปคนบ้านป่าก็เจ็บปวดเช่นเดิม

20152304093852.jpg

ตั้งแต่ พ.ศ.2553 ได้เกิดคดีแปลกๆ เกษตรกรรายย่อย ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฟ้องร้องดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 97 ข้อหา “ทำให้โลกร้อน”

คดีนี้แปลก เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า เกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีวิถีการผลิตแบบยั่งยืน ถูกควบคุมด้วยกติกาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ น่าจะเป็น “ผู้ทำให้โลกเย็น” แต่กลับถูกฟ้องร้องว่า “เป็นผู้ทำให้โลกร้อน” ถูกเรียกค่าเสียหายเรือนแสนเรือนล้าน

20152304093946.jpg

ในทางตรงกันข้ามภาคอุตสาหกรรม (เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน นิคมอุตสาหกรรม) ซึ่งได้รับการยืนยันจากองค์กรระดับโลก (เช่น สหประชาชาติ) โดยมีงานวิชาการรองรับว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน กลับไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น มิหนำซ้ำยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ขยายพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มเติมมิรู้จบสิ้น

มายุครัฐบาลทหาร คดีโลกร้อนยังคงรังแกคนจน และดูเหมือนว่าจะมีการพิจารณาคดีเร็วขึ้น กรณีนายอุทัย ชูทิ่ง (ในภาพนางชฎา ชูทิ่ง ภรรยา) ชาวสวนยางบ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ถูกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ประกาศทับซ้อนพื้นที่ชุมชน ต่อมาชุมชนดังกล่าวได้รับการพิจารณาให้เป็นพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชน จากคณะกรรมการโฉนดชุมชน และรัฐบาลอภิสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ปลายปี พ.ศ.2557 นายอุทัย ชูทิ่ง ได้ถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องร้องในเนื้อที่ 12 ไร่ ต่อมาในเดือน ก.พ. 2558 ศาลจังหวัดตรังพิพากษาให้ชำระเงิน จำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี (นับตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 59) แต่กรมอุทยานฯ มองว่า ค่าเสียหายจำนวนนั้นมันน้อยไป จึงอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดตรัง โดยคิดค่าเสียหาย จำนวน 898,861 บาท รวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,468,652.68 บาท

ในยุคนี้เกณฑ์การคิดค่าเสียหายโลกร้อนมีการปรับเปลี่ยนไป เช่น จากทำให้อากาศร้อนมากขึ้น เปลี่ยนเป็นทำให้อากาศสูญเสียความเย็น หลังจากได้เกิดกระแสโต้กลับจากนักวิชาการ และภาคประชาสังคม เมื่อหลายปีที่ผ่านมา

โดยในเอกสารอุทธรณ์ของกรมอุทยานฯ กรณีนายอุทัย ชูทิ่ง มีการคำนวณค่าเสียหาย ดังนี้

1.การทำลายป่าจะทำให้ธาตุไนโตรเจนสูญเสียออกไปคิดเป็นมูลค่า 48,959 บาท

2.การทำลายป่าจะทำให้เกิดการสูญเสียธาตุฟอสฟอรัสไปคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,234 บาท

3.การทำลายป่าทำให้สูญเสียโปรแตสเซียมไปคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,428 บาท

4.การทำลายป่าทำให้สูญเสียน้ำในดินไปคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 383,702 บาท

5.การทำลายป่าทำให้เกิดการสูญเสียดินคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 111,742 บาท

6.การทำลายป่าทำให้อากาศสูญเสียความเย็นไปคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 348,796 บาท

รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 898,861 บาท

ในขณะที่เกณฑ์การคิดค่าเสียหายเดิม เป็นดังนี้

1.ทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย คิดค่าเสียหาย 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี

2.ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี

3.ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี

4.ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี

5.ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี

6.ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี

7.มูลค่าความเสียหายทางจากป่า 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี

รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาทต่อไรต่อปี แต่เพื่อความสะดวก คิดค่าเสียหาย 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี

อย่างไรก็ตาม คนบ้านป่าก็เจ็บเช่นเดิม เพราะรัฐบาลไม่ได้คืนความสุขให้ประชาชน หากแต่คืนความสุขให้นายทุน และข้าราชการ ใช่หรือไม่ ???

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ