คอลัมน์: ไม่ใช้อารมณ์ เรื่อง: สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์ ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์
ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลงในช่วงปี 2556-2557 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาพรวมการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญหลายรายการของไทย ให้มีทิศทางที่ไม่สดใสนัก จากปัจจัยกดดันสำคัญด้านราคา จึงนับเป็นความท้าทายที่อาจต้องเร่งปรับตัวด้านการบริหารจัดการอุปทานที่จะออกสู่ตลาด ตลอดจนด้านการทำตลาด อันจะเป็นการผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรไทย บนย่างก้าวที่สินค้าเกษตรไทยยังคงมีศักยภาพ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2558 คาดการณ์ว่า อาจมีความเสี่ยงในหลายภูมิภาคที่ยังคงต้องจับตา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่มีต่อสินค้าเกษตรของไทยได้
ในขณะที่เป้าหมายของ AEC ในปี 2558 ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือโดยเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน รวมทั้งลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการรวมตัวกับประชาคมโลกของอาเซียน ประเทศไทย โดยเฉพาะนักธุรกิจ และนักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน และวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ในราคาที่ถูกลง และสามารถย้ายฐานการผลิตหรือการลงทุนไปได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสขยายการค้าและบริการได้กว้างขวางมากขึ้นโดยการสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการในประเทศอื่นเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันและอำนาจการต่อรองร่วมกัน ตลาดจนสามารถใช้ระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกและถูกลงด้วย ทั้งนี้ คนไทยก็มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าและใช้บริการที่มีคุณภาพและหลากหลายในราคาที่เป็นธรรม เนื่องจากมีการแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ สินค้าการเกษตร
จากข้อมูลดัชนีภาคเกษตรของไทย ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ซึ่งจากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2558 ของกระทรวงการคลังรายงานว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2558 พบว่า การลงทุนภาคเอกชนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรประเภท ยางพารา เป็นสำคัญ”
ปัญหาหลักเกษตรไทย
1.ภาคเกษตรในประเทศขาดการพัฒนาและนวัตกรรมมายาวนาน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าประเทศอื่น และขาดการยกระดับความสามารถแก่ประชากรเกษตรอย่างจริงจังต่อเนื่อง รวมทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุกับขาดแคลนทั้งแรงงานและผู้สืบทอดอาชีพเกษตร ทำให้ธุรกิจเกษตรต้นน้ำมีปัญหา
2.นโยบายภาครัฐขาดความแน่นอนและต่อเนื่อง อีกทั้งนโยบายการแทรกแซงระบบตลาดทำให้สินค้าเกษตรขาดศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งต้นทุนการผลิต ค่าแรงงาน ราคาพลังงาน และค่าขนส่งล้วนสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ธุรกิจเกษตรกลางน้ำและปลายน้ำเสียเปรียบเชิงแข่งขันกับประเทศอื่น
3.นักลงทุนอื่นๆ จากทั้งในอาเซียนและนอกภูมิภาคเข้ามาแสวงประโยชน์ในภาคเกษตรไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น กว้านซื้อที่ดินแล้วจ้างทำเกษตร หรือ ทำสัญญาจ้างผลิตสินค้าเกษตร หรือทำธุรกิจแบบ Joint Venture หรือแบบ Nominee ทำให้เกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินและอาชีพมากขึ้น
เปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันของภาคเกษตรไทยกับในอาเซียน
นอกจากการเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันของภาคเกษตรไทยกับในอาเซียนแล้ว ยังมีการมีการวิเคราะห์กันว่า ในปี 2558 ภาพรวมสินค้าเกษตรหลักของไทย อาจมีทิศทางการขยายตัวในกรอบจำกัด ตามภาวะตลาดโลกที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และผลทางด้านอุปทานโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งทิศทางการอ่อนตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ล้วนส่งผลกดดันราคา ซึ่งคาดว่าสินค้าเกษตรที่อาจปรับตัวได้ในกรอบจำกัด คือ ข้าว และยางพารา ขณะที่สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีคือ มันสำปะหลัง โดยมีแนวโน้มการขยายตัว จากความต้องการของจีนที่ยังมีรองรับ เพื่อนำไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพลังงานทดแทนอย่างเอทานอล
วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยกับคู่แข่งในอาเซียน
วิเคราะห์ TCM : Thailand Competitiveness Matrix
- พิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยที่สร้างความน่าสนใจให้กับสินค้านั้น
(Attractiveness Factors) และปัจจัยด้านการแข่งขันของแต่ละสินค้า
(Competitiveness Factors) ตามแนวนอน
- เพื่อให้ทราบถึงตำแหน่งของสินค้า และกำหนดแนวทางพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพ
รวม 7 กลุ่ม 23 ชนิดสินค้า ได้แก่
- กลุ่มสินค้าประมง (กุ้ง ปลาทูน่า ปลานิล และกุ้งก้ามกราม)
- กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ (ไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคนม โคเนื้อ และสุกร)
- กลุ่มสินค้าผลไม้ (ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง และสับปะรด)
- กลุ่มสินค้าข้าว
- กลุ่มสินค้าไม้ยืนต้น (ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ยางพารา และกาแฟ)
- กลุ่มสินค้าพืชไร่ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน)
- กลุ่มสินค้าไหม
กลุ่มสินค้าที่มีโอกาส
- ปศุสัตว์ เช่น ไก่ สุกร นมโคและผลิตภัณฑ์
- โคเนื้อและผลิตภัณฑ์
- อ้อยโรงงาน /น้ำตาลทราย
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
- ผลไม้ เช่น มังคุด ลำไย มะม่วง
- อาหารแปรรูป
กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับคู่แข่ง
- ข้าว
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- กุ้ง
- ไหม
กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ
- เมล็ดกาแฟ
- น้ำมันปาล์ม
- มะพร้าว
ภาคเกษตรไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวในยุคเศรษฐกิจเสรีอาเซียน โดยการสร้างโอกาสและลดข้อเสียเปรียบของเกษตรกร ด้วยการรวมกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกรให้เข้มแข็งในรูปของวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้ ต้องอาศัยรวมกลุ่มองค์ความรู้จากงานวิจัยและภูมิปัญญาโดยสถาบันวิชาการกับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือ การประสานความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยโดยเร่งพัฒนาระบบข้อมูลของเกษตรกรทุกสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอแนวทางนโยบายที่รองรับผลกระทบจาก AEC
นอกจากนั้น ยังต้องเน้นการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกร รวมทั้งควรกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจให้ชัดเจน ที่สอดคล้องกับแผนการผลิตและการตลาดพร้อมทั้งมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรไม่ให้ถูกนำไปใช้เพื่อการอื่น ในขณะเดียวกัน ก็ควรปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านขนส่งสินค้าเกษตรสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น
AEC จะนำมาซึ่งโอกาสทั้งการค้าและการลงทุนและจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจในภาพรวมให้ไทยและอาเซียนมีความโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจของโลก ทั้งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ดังนั้น จำเป็นต้องใช้จุดเด่นที่มีอยู่ สร้างความเข้มแข็งให้เเก่สินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการต้องร่วมมือกันเตรียมความพร้อมและเร่งปรับตัวรองรับการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ
********************
ข้อมูลอ้างอิง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
- สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ/สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- วารสารเศรษฐกิจเกษตร
- การปรับตัววิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับ AEC นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ
- สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร