จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ อีสานใต้ แยกตัวออกจากจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2536 แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ 63 ตำบล คือ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน อำเภอพนา อำเภอลืออำนาจ และอำเภอปทุมราชวงศา
แม้ว่าจังหวัดอำนาจเจริญได้แยกการปกครองออกจากอุบลราชธานีมามากกว่า 20 ปีแล้ว และมีโอกาสในการบริหารจัดการและพัฒนาจังหวัดตามศักยภาพ แต่ 20 กว่าปีที่ผ่านมายังพบว่าการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของจังหวัดอำนาจเจริญยังล้าหลังกว่าจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างยโสธร และหากเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทยแล้วพบว่า จังหวัดอำนาจเจริญจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยมาโดยตลอด
ฐานะทางเศรษฐกิจของอำนาจเจริญขึ้นอยู่กับการผลิตในภาคการเกษตรเป็นหลัก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพืชที่ปลูกในระบบเชิงเดี่ยว พึ่งพาฝนฟ้าอากาศเป็นหลัก หากปีใดฝนฟ้าอากาศแปรปรวน ฝนแล้งหรือฝนทิ่งช่วง จะทำให้ผลผลิตเสียหาย ยิ่งทำให้รายได้ของชาวอำนาจเจริญลดลงไปอีก
เกษตรกรอำนาจเจริญส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าวได้เพียงปีละ 1 ครั้ง หลังจากทำนาปีแล้ว ไม่ได้ทำการผลิตพืชอื่น ๆ เพิ่มเติมเนื่องจากขาดแคลนน้ำ แรงงานบางส่วนอพยพไปทำงานต่างจังหวัด ทำให้ผลผลิตมวลรวมของจังหวัดอำนาจเจริญมีมูลค่าน้อยและขึ้นอยู่กับพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิด
“น้ำตาลโตนดแห่งบ้านโพนขวาว”
แม้ว่าพืชส่วนใหญ่จะเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง และอ้อย แต่พืชที่สร้างรายได้ในช่วงหลังการทำนาอีก 1 อย่างก็คือตาลโตนด ที่หมู่บ้านโพนขวาว ต.จิกดู่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ
จำนงค์ สง่าพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านโพนขวาว หมู่ที่ 10 ต.จิกดู่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เล่าให้ฟังว่า “บ้านโพนขวาวก่อตั้งมาตั่งแต่ปี พ.ศ.2225 ประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา หลังจากทำนาก็จะมีอาชีพเสริมคือการทำน้ำตาลโตนดซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถึงแม้ปัจจุบันชาวบ้านจะไม่ได้ทำน้ำตาลโตนดเยอะเหมือนในอดีต แต่ก็ยังมีบางครอบครัวที่ยังคงยึดอาชีพการทำน้ำตาลโตนดสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอยู่”
“ขั้นตอนการทำน้ำตาลโตนด”
ทองกาญจน์ สมสร้าง ชาวบ้านโพนขวาว ผู้มีประสบการณ์ในการทำน้ำตาลโตนด เริ่มทำมาตั้งแต่อายุ 15 ปี เพราะเห็นพ่อทำและได้ทดลองทำตามและทำต่อมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันทำมาได้ประมาณ 30 ปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จก็จะเริ่มมาทำน้ำตาลโตนดมาตลอด
“ในช่วงเดือนตุลาคม จะเริ่มมัดทะลายตาล พอตาลออกรวงจะเริ่มนวดทะลายตาล เพื่อให้ได้น้ำตาลออกมา พอมีน้ำตาลไหลออกมา ก็จะใช้กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ไปรองน้ำตาลช่วง เช้าและเย็น นำน้ำตาลที่ได้มากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปต้มด้วยไฟแรง ต้มเคี่ยวน้ำตาลจนเป็นก้อน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำตาลโตนดที่เข้มข้น เมื่อเคี่ยวน้ำตาลจนได้ที่ ก็จะยกกระทะออกจากเตามาตั้งพักไว้และใช้ไม้พายเล็ก ๆ กวนน้ำตาลต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำตาลแห้งและจับตัวกัน”
“สารกันบูดจากธรรมชาติ”
ในการทำน้ำตาลโตนดเพื่อให้ได้รสชาติที่หอมหวาน และต้องการที่จะเก็บให้น้ำตาลอยู่ได้นานไม่ให้น้ำตาลที่ได้บูดง่าย พ่อทองกาญจน์ เล่าว่าจะต้องใช้ “แก่นต้นพะยอม”เป็นไม้เนื้อแข็งมีสีเหลืองอ่อนถึงน้ำตาล นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในประบอกไม้ไผ่ตอนไปรองน้ำตาลจากต้นตาล แก่นพะยอมจะทำหน้าที่เป็นสารกันสารกันบูด ป้องกันไม่ให้น้ำตาลที่ได้มาบูดเร็วและยังช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้กับน้ำตาลอีกด้วย ถ้าไม่ใส่แก่นต้นพะยอมก็จะไม่หอม และทำให้น้ำตาลบูดเร็ว เป็นสารกันบูดจากธรรมชาติ และไม่มีสารอย่างอื่นเจือปนในน้ำตาล เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัย ปู่ย่า ตายาย พาทำมา”
“สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านหลังฤดูทำนา”
สำหรับชาวบ้านที่ทำน้ำตาลโตนดขาย จะมีรายได้ประมาณวันละ 400 บาทเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าบางครอบครัวที่ทำเยอะ ก็จะได้ประมาณวันละ 600-800 บาท บางคนก็จะน้ำตาลออกไปขายตามจังหวัดใกล้เคียงโดยจะเหมารถไปตามพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยกันออกค่าน้ำมัน บางคนก็จะเร่ขายตามหมู่บ้านใกล้เคียง เพราะหมู่บ้านใกล้เคียงไม่มีน้ำตาล ก็จะซื้อไว้กิน เป็นรายได้วันละ 500-600 บาท สำหรับคนที่ออกไปขาย
เป็นการสร้างรายได้หลังจากการทำนา เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านโพนขวาวได้เป็นอย่างดี และยังคงรักษาภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในการทำน้ำตาลโตลดไว้อีกด้วย