คนอำนาจเจริญ ร่วม “ตุ้มโฮมฮักแพง เบิ่งแญงป่า” ขยายผลการเรียนรู้ป่าชุมชน

คนอำนาจเจริญ ร่วม “ตุ้มโฮมฮักแพง เบิ่งแญงป่า” ขยายผลการเรียนรู้ป่าชุมชน

ส่งมอบข้อมูลงานวิจัยชุมชนสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนและบันทึกวัฒนธรรมภูมิปัญญา อพ.สธ. ร่วมมหิดล หนุนชาวบ้านเป็นผู้วิจัยหาความรู้จากป่า จับพิกัดขอบเขต นำข้อมูลมาดูแลป่าของของชุมชน ผ่าน 5 ปี ขยายผลการเรียนรู้ป่าชุมชนใน 7 อำเภอ กว่า 100 แห่ง

รายงานโดย: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

27 พ.ค. 2560 งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ตุ้มโฮมฮักแพง เบิ่งแญงป่า อำนาจเจริญ” ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าภูไทบ้านคำเดือย ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ที่จัดโดย ชมรมฮักแพงป่าอำนาจเจริญ และเครือข่ายป่าชุมชน ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ สู่ชุมชนอย่างบูรณาการ กรณีศึกษา จ.อำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในงานนี้ขบวนองค์กรชุมชน จ.อำนาจเจริญ ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน จัดแสดงนิทรรศการงานบุญกฐิน จัดชุดการแสดงของเยาวชนเมืองธรรมเกษตร และดำเนินการจัดเสวนา

งานตุ้มโฮมฮักแพง เบิ่งแญงป่า อำนาจเจริญ เป็นหนึ่งในการทำงานเพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการอนุรักษ์ป่าชุมชน สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน และบันทึกวัฒนธรรมภูมิปัญญาตามหลักวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการทำงานของคน 3 วัย ซึ่งมีองค์ประกอบ บ้าน วัด โรงเรียน ภายใต้ความร่วมมือของโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ สู่ชุมชนอย่างบูรณาการ กรณีศึกษา จ.อำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายป่าชุมชน และชมรมฮักแพงป่าอำนาจเจริญ ที่ได้ดำเนินงานในพื้นที่มากว่า 5 ปี ปัจจุบันมีเครือข่ายป่าชุมชน เข้าร่วมสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้นกว่า 100 แห่ง

นายอุทัย บางเหลือ ประธานชมรมฮักแพงป่าอำนาจเจริญ กล่าวว่า การดำเนินงานวิจัยภายใต้กรอบคิดของ อพ.สธ. เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 โดยใช้พื้นที่ป่าชุมชนเป็นพื้นที่ดำเนินงานในการอนุรักษ์ฯ และขยายผลการเรียนรู้ป่าชุมชนใน 7 อำเภอ กว่า 100 ป่า ที่เกิดจากความร่วมมือของบ้าน วัด โรงเรียน และท้องถิ่น การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการรายงานผล ส่งมอบข้อมูลจากนักวิจัยมหิดลและชาวบ้าน ที่เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่าย โดยอาศัยวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ฮีต 12 เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ป่าชุมชน ที่เป็นแหล่งต้นน้ำและปัจจัยในการดำรงวิถีชีวิต เนื่องจากประเพณีมีความเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับทรัพยกรธรรมชาติ

นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าว่า โครงการนี้ทำมา 5 ปี สนองตามพระราชดำริฯ ป่าที่อำนาจเจริญมีพื้นที่ป่าไม่มากนัก แต่ป่าเป็นหย่อมๆ มีมาก แต่การเตรียมพร้อมป่าชุมชน ถือว่าอยู่ในลำดับต้นๆ บางจังหวัดมีแต่ป้ายไม่เข้มแข็ง นี่เป็นเรื่องน่าภูมิใจ

ป่าชุมชน พี่น้องอย่าปลูกแต่ต้นไม้อย่างเดียว สิ่งที่ทำมาคงไม่ใช่เรื่องต้นไม้ แต่ควรจะคิดถึงสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย เสนอให้มีการปล่อยสัตว์อนุรักษ์อึ่ง กบ ในป่าด้วย เพราะเราล่ามันอย่างเดียว แล้วมันจะเหลือหรือไม่การทำมาหากิน ควรอนุรักษ์สัตว์ทำให้ครบวงจร ให้สอดคล้องกับวิถีที่หาอยู่หากิน

นายสิริรัฐ กล่าวด้วยว่า โครงการรักป่าเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์เมืองธรรมะเกษตร อำนาจเจริญมีกลุ่มประชาสังคมที่หลากหลาย มาร่วมประชุมกับส่วนราชการร่วมกันตั้งวิสัยทัศน์ “อำนาจเจริญ เมืองธรรมเกษตร เขตเศรษฐกิจพอเพียง เส้นทางการค้าสู่สากล” มาใหม่ๆ ก็ยังงงกับเรื่องวิสัยทัศน์ ตัวชี้วัด แม้กระทั่งในเพลงประจำจังหวัดก็มีคำว่าเมืองธรรมเกษตร ตนเลยโทรถามกับผู้ว่าฯ คนเดิม ซึ่งสรุปสั้นๆ ให้ฟังว่า 1) ธรรมะ คือการดำเนินชีวิตโดยใช้หลักธรรม 2) ธรรดา ไม่วิ่งตามเทคโนโลยีจนมากเกิน 3) ธรรมชาติ อาศัยอยู่ด้วยกันกับธรรมชาติ

อีกทั้งได้คิดเรื่องยุทธศาสตร์ 3 ดี คือคนดี สุขภาพดี รายได้ดี เพื่อเดินสู่เมืองธรรมเกษตร นั่งทำตัวชี้วัด 3 เดือน คนดี 7 สุขภาพดี 7 และรายได้ดี 7 โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ อย่างที่ต้องทำทุกหมู่บ้าน คือ งานศพปลอดเหล้าและการพนัน ซึ่งจะทำไปเรื่อยๆ พร้อมตัวไหนทำตัวนั้นแต่ทำแล้วห้ามละทิ้ง ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วเลิก นโยบายเปลี่ยนแล้วเลิก เปลี่ยนผู้ว่าฯ เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็เลิก

พระครูบริหารคณาธร เจ้าคณะอำเภอปทุมราชวงศา ที่ปรึกษาชมรฮักแพงป่าอำนาจเจริญ เล่าให้ฟังว่า สังคมคนอีสานทุกวันนี้ จากยุคหาอยู่หากิน สู่ยุคซื้ออยู่ซื้อกิน ที่หาอยู่หากินก็อาศัยโคกอาศัยป่าในอดีตที่สมบูรณ์ ปัจจุบัน จ.อำนาจเจริญยังเหลือผืนป่าอยู่ประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่รู้ว่าในภาพภ่ายทางอากาศนั้นได้นับรวมป่ายางร่วมหรือไม่ เมื่อก่อน คนกับป่า ป่ากับคนอยู่ร่วมพึ่งพากัน แต่เมื่อมีการออกกฏหมายก็แยกคนออกจากป่า ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล

พระครูบริหารคณาธร ให้ความเห็นว่า ถ้าชาวบ้านไม่เป็นผู้ดูแลป่าเอง ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดูแล ถึงจะมีเจ้าหน้าที่มากขนาดไหน ป่าก็ไม่มีทางเหลือ อย่างเช่นที่นี่ที่บ้านคำเดือย ไม่มีใครรักป่าเท่าคนที่นี่ แต่กฏหมายไม่ให้สิทธิให้ชาวบ้านได้ดูแล เลยทำให้คนหันหลังให้ป่า เพราะป่าไม่ใช่ของชาวบ้าน เมื่อหันหลังให้ป่า ชาวบ้านก็หันหน้าไปหาบิ๊กซี จริงหรือที่ป่าจะเลี้ยงคนอำนาจไม่ได้

เมื่อ คพ.สธ. และมหิดล เข้ามาหนุนให้ชาวบ้านเป็นผู้วิจัย หาความรู้จากป่า จับพิกัดขอบเขต อะไรอยู่ตรงไหน รู้ว่าป่ามีอยู่เท่าไหร่ เขาจะได้มีข้อมูลที่จะมาดูแลป่าของเขาเอง ป่า 100 กว่าป่า ทั้ง 2 หน่วยงานได้สร้างนักวิจัยชาวบ้าน จะได้มาบริหารจัดการฐานทรัพยากรด้วยชาวบ้านเอง ถ้าชาวบ้านไม่ดูแล ต่อให้มีเจ้าหน้าที่มากแค่ไหนก็ดูแลไม่ได้ โดยใช้กรอบในการทำงานตามศาสตร์พระราชา ที่จะปกปักรักษามูลมัง ทรัพยากรมากมายมีให้เห็น แต่สิทธิประชาชนในการดูแลและใช้ประโยชน์จากป่า ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องตาม

ทั้งนี้ ในการจัดงานนอกจากจะมีการมอบประกาศเกียรติบัตรให้กับป่าชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ ปกป้องอนุรักษ์ผืนป่าให้อยู่คู่ชุมชน ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ การแสดงทางวัฒนธรรม การจัดแสดงฮีต 12 งานบุญประเพณีใน 12 เดือนของคนอีสาน รวมทั้งการเสวนาทางวิชาการอีกด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ