งาน “ตุ้มโฮมฮักแพง เบิ่งแญงป่า อำนาจเจริญ” ครั้งที่ 4 ชวนเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฮีตกับป่า องค์ความรู้ท้องถิ่นสู่การรักษาป่าของชุมชน นักวิชาการชี้สภาพแวดล้อมบีบให้คนต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องเท่าทันด้วย
รายงานโดย: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
งาน “ตุ้มโฮมฮักแพง เบิ่งแญงป่า อำนาจเจริญ” ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าภูไทบ้านคำเดือย ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2560 เป็นการรวมเครือข่ายป่าชุมชน สถาบันวิชาการ หน่วยงาน และภาคประชาสังคม ที่มาร่วมกันจัดกิจกรรมจากการทำงานเพื่อสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการอนุรักษ์ป่าชุมชน สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน และบันทึกวัฒนธรรมภูมิปัญญาตามหลักวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้ดำเนินงานในพื้นที่มากว่า 5 ปี ปัจจุบันมีเครือข่ายป่าชุมชน เข้าร่วมสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์ป่าเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 100 ป่าชุมชน
อุทัย บางเหลือ ประธานชมรมฮักแพงป่าอำนาจเจริญ เล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างฮีตกับป่านั้น ปู่ย่าเคยว่าไว้การตั้งบ้านของคนอีสาน จะกำหนดป่าไว้ 3 ป่า 1) ป่าช้า ใช้ประกอบพิธีความตาย 2) ป่าดอนปู่ตา เป็นป่าที่เกี่ยวกับความเชื่อชุมชน และ 3) ป่าทำเล คือป่าทำมาหากินของชุมชน เมื่อกำหนด 3 ป่าแล้ว ก็ต้องกำหนดฮีตทั้ง 12 เดือน และยังต้องกำหนดข้อขลำต่างๆ ตามมา
จะสังเกตได้ว่า อาหารนั้นจะสัมพันธ์กับฮีตแต่ละฮีต หรือฤดูกาล เครื่องปรุงอาหารก็สัมพันธ์กับอาหารชนิดนั้นเช่นกัน อย่างลาบเทา มีอะไรประกอบปรุงก็มีช่วงนั้น หรือก้อยกะปอม ก็จะกินตอนหน้ามีมะม่วง แต่ปัจจุบันมะม่วงมีทุกฤดู จนกะปอมจะหมดป่าแล้ว หรืออย่างบุญกฐินก็จะผูกโยงกับพืชพันธุ์ และการทำเกษตร การเอากล้วย อ้อย พืชพันธุ์ต่างๆ มาทำบุญ ด้านหนึ่งก็เพื่อให้มีผลผลิตที่สมบูรณ์ และแบ่งปันพันธุ์กันไปในตัว
จากฮีตสู่การสืบทอด ป่าต้นน้ำ ภูเขา ถ้ำแสงเพชรแสงแก้ว เป็นสันปันน้ำของอำนาจเจริญ แบ่งเป็นห้วยแซว ไปเซบก ห้วยปลาแดก ไปเซบาย ก่อนลงน้ำมูล สู่น้ำโขง แต่ก็กำลังถูกทำลายด้วยสารเคมีจากสวนยาง ไร่ นา ที่ลงสู่สายน้ำ ฝนตกสารเคมีก็ไหลลงที่ต่ำ ปลาที่จะมาวางไข่ อาจกระทบขึ้นมาวางไข่ไม่ได้ ทุกอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง ป่าทุกป่า ลำน้ำทุกลำน้ำ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงคนอำนาจเจริญจากอดีตสู่ปัจจุบัน
ณ ขณะนี้ มีความร่วมมือกับทางมหิดลพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ฮีต 12 ที่เป็นความต้องการของชาวบ้านที่อยากให้ลูกหลานตนเองได้เรียน โดยร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรในการศึกษาของลูกหลาน ต่อไปควรจะมีการจัดวิพากษ์วิจารณ์เพื่อปรับปรุงให้ดีในการจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนอำนาจเจริญได้สืบต่อ
สตพร ศรีสุวรรณ บ้านกุดปลาดุก จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ในอดีตเมื่อก่อนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันเหลือประมาณหนึ่งพันกว่าไร่ ใน 12 หมู่บ้าน ของ ต.กุดปลาดุก มีป่าชุมชน 10 ป่า โดยมีฮีตยึดโยงกับป่าไม้ในวิถีการดำเนินชีวิต เพราะคนเราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อากาศ อาหาร สุขภาพ เป็นสวัสดิการที่เราให้กับป่า ป่าก็ให้สวัสดิการกับเรา อย่างตอนนี้เห็ดออก เห็ดปลวกก็กิโลกรัมละ 400 ตีมูลค่า ผลจากการเก็บข้อมูล ปีหนึ่งชาวบ้านมีรายได้จากป่า 3-4 ล้านบาท ที่มาจากเห็ด หน่อไม้ แมลงต่างๆ อย่างแมงอีนูนอุดมสมบูรณ์มาก บางรู บางรังมีนับร้อยตัว แต่ตอนนี้ก็ยังพอมี เนื่องจากพี่น้องไปบุกบั่นทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลง
อย่างฮีตในเดือน 8 บุญเข้าพรรษา ถ้าเราจะเอาต้นไม้ไปถวายวัด ทำบุญเสร็จแล้วก็ปลูกต้นไม้คนละต้น หลายร้อยคนก็หลายร้อยต้น เราไปปลูกไม้ใส่ป่า ไม่ต้องเอารถไปไถเบิกดิน แล้วจึงค่อยปลูก แต่เราปลูกแซม ซึ่งบุญทุกบุญเอื้อต่อธรรมชาติ ต่อสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่า ถ้าเราช่วยกันรักษาต้นไม้คนหนึ่งปีละ 10 ต้น ก็ได้ความสมบูรณ์แล้ว
อิศรา แก้วดี สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำปลีก ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำเซบาย กล่าวว่า ลำน้ำเซบาย จากร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยาวกว่า 200 กิโลเมตร ลำเซบายช่วง ต.น้ำปลีก ช่วงหน้าแล้งน้ำก็จะแห้ง เพราะมีการสูบไปใช้เพื่อประปา และการเกษตร ปี 2557 น้ำแห้งลงมากจนพบเรือโบราณ เราจะแก้ความแห้งแล้งของลำเซบายอย่างไร มีการไปพบหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เพื่อจะฟื้นฟูลำเซบาย
ต่อจากนั้น เมื่อปีกลาย ก็มีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมาตั้ง และจะมาขอใช้น้ำด้วยปีละ 1 ล้านลูกบาตรเมตร พวกเราก็พากันเป็นห่วง เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของคน พืช สัตว์ เราจึงพากันลุกขึ้นมาปกป้อง เพราะอย่างไรก็ตามถ้าโรงงานมาใช้ร่วมจะทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน จึงมีการพากันไปยื่นหนังสือตามที่ต่างๆ แต่หลายคนก็ว่าเราเป็นพวกถ่วงความเจริญ ทั้งที่อยากให้คนส่วนรวมได้มีน้ำพอใช้ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเราต้องเป็นคนที่กำหนดอนาคตของคนอำนาจเจริญเอง ไม่ใช้ให้คนภายนอกมาเป็นคนกำหนด คนอำนาจเจริญต้องร่วมกันปกปักษ์รักษา
ผศ.เกษม กุลประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คน วิถี ธรรมชาติ เกษตรกรรม เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ วิถีคนอำนาจ นั้นมีนักปราชญ์ ที่รู้ฟ้ารู้ฝน สามารถพยากรณ์สภาพอากาศได้แม่นยำ โดยฟังเสียงตุ๊กแก และสังเกตธรรมชาติ การอ้อมข้าวของตะวัน คนอำนาจอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จนสามารถคาดการณ์ฝนฟ้าในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ
แต่วิถีปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เพราะสภาพแวดล้อม จนคนอำนาจต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมเปลี่ยนไปด้วย แต่ภูมิปัญญาความคิดที่ดีงามไม่เปลี่ยน เราจำเป็นที่ต้องมองเห็นรากเหง้าของตนเอง 1) ป่าไม้ ทรัพยากรฐานใหญ่ของชุมชน 2) ภูมิปัญญาของชุมชน ที่เราจะร่วมกันรักษา ในการเปลี่ยนแปลงของคน ธรรมชาติ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอาชีพเกษตรกรรม เราต้องเท่าทัน รับรู้ให้เข้าใจจึงจะปรับตัวได้ทัน ไม่ให้เป็นกบในหม้อน้ำร้อน
อย่างไรก็ตาม เกษมย้ำว่า วิถีที่ดีของคนอำนาจเจริญต้องคงอยู่ แต่ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติให้เข้ากับชีวิต แม้หลายอย่างเปลี่ยนไปแต่วิถีของคนอำนาจเจริญต้องไม่เปลี่ยน และที่จะทำให้ก้าวข้างหน้าได้ต้องอาศัยความเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้