ชวนมองเรื่องราวหมู่บ้านดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู ผ่าน “คนรุ่นใหม่ไทบ้าน” เมื่อการกลับบ้านถาวรต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไปของทรัพยากรชุมชน
เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านิยามคำว่า การพัฒนาที่หลายคนเคยรู้จักและได้ยินมานั้น มันมักจะมาพร้อมการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนในที่นี้ไม่ใช่การเปลี่ยนที่คนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์นั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม การต่อสู้ของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้จากหน้าสื่อในประเทศไทย เป็นการต่อสู้มาอย่างยาวนาน ทั้งการชุมชนเรียกร้องสิทธิ การต่อสู้ด้วยเหตุและผล มาสู่การต่อสู้ด้วยระบบพรรคการเมือง หลายต่อหลายครั้งในหลายพื้นที่เรื่องราวการต่อสู้มักจบลงด้วยความสูญเสีย และเรื่องราววันนี้ผู้เขียนขอเชิญชวนเดินทางกันไปที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู พื้นที่ที่มีข้อพิพาทการสัมปทานโรงโม่หินทำเหมืองหินมาอย่างยาวนานมากกว่า 26 ปี
13 สิงหาคม 2563 ชาวบ้านในพื้นที่ภูผายา เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ในนามกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได มากกว่า 300 คน ประกาศชุมชนปิดทางเข้าเหมืองหิน ซึ่งในเวลานั้นเหลือเวลาไม่กี่เดือนโรงโม่หินเหมืองหินแห่งนี้จะหมดอายุสัมปทานทำเหมืองหินและมีความพยายามต่ออายุสัมปทานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในการทำเหมืองออกไปอีก ชาวบ้านปักหลักชุมชนทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ต่างขนย้ายข้าวของมายังทางเข้าเหมืองหินที่ตั้งอยู่บริเวณ “ผาฮวก” ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
4 กันยายน 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เดินขบวนธงเชิงสัญลักษณ์เข้ายึดพื้นที่เหมืองหินบน “ผาฮวก” โดยมีชาวบ้านมากกว่า 300 คน พร้อมสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ มีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญบริเวณที่เคยมีการทำเหมืองหินก่อนหน้านี้ ธงสีแดงที่ถูกปักบนยอดภูผาฮวกถูกเปลี่ยนเป็นธงสีเขียวของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้พบกับคนต้นเรื่องเรา
ชวนทำความรู้จักกับ อร มณีนุด อุทัยเรือง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานในหมู่บ้านนาเจริญ บริเวณที่มีการทำเหมืองหิน ซึ่งในพื้นที่โดยรอบจะประกอบไปด้วยทั้งหมด 6 ชุมชน คือ บ้านผาซ่อน บ้านผาซาง หมู่ที่8 และ หมู่ที่ 12 บ้านนาเจริญ บ้านนาไร่ และบ้านโนนมีชัย
ทำไมได้เข้ามาร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได
“เมื่อก่อนไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ทำธุรกิจส่งออกผลไม้กับเพื่อน ทุกครั้งที่อยู่ที่นั่น มักจะได้ยินแม่ที่อยู่ที่บ้านเล่าให้ฟังเสมอว่า ไปยื่นหนังสือฯ ไปทำนั่นทำนี่ อยู่ตลอดเวลา เราเลยถามแม่คำหนึ่งว่า แม่…จะสู้เขาได้หรือ สู้แล้วจะได้อะไร จะมีความหมายหรือไม่ จะเหนื่อยเปล่าไหม พอกลับมาบ้านเราจึงเห็นได้ว่าอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง”
เริ่มต้นพูดคุยกันด้วยประเด็นที่แน่นอก ภายในบริเวณที่ชุมชนของชาวบ้านทางเข้าอดีตเหมืองหินในร่มต้นไม้สีเขียวริมทาง เธอบอกเล่าถึงที่ไปที่มาก่อนเราจะได้พบกันในวันนี้ว่า บ้านเกิดที่จริงของเธออยู่ที่ จ.ขอนแก่น พ่อและแม่จำเป็นต้องย้ายไปทำงานที่ภาคตะวันออก เธอและครอบครัวจึงย้ายไปเพื่อทำสวนทุเรียนที่นั่น เธอเล่าว่าเธอใช้ชีวิตในสวนทุเรียนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มีบ้านหลังเล็กอยู่กลางสวน ใช้ชีวิตกับพ่อแม่เป็นส่วนมาก ต่อมาเมื่ออายุได้สัก 10 ขวบปี ชีวิตต้องเดินทางอีกครั้ง เธอและครอบครัวเดินทางย้ายมาอยู่กินที่บ้านนาเจริญซึ่งเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน
“พี่จำได้ว่ามีความรู้สึกที่ดีมากที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ เพราะไม่เคยอยู่สังคมแบบนี้เลย บ้านรั้วติดกันมีอะไรก็แบ่งกันกิน และจำได้ว่าตอนนั้นบรรยากาศที่นี่อุดมสมบูรณ์มากเลย มีต้นไม้เต็มไปหมด ไม่เคยขึ้นภูเขาก็ได้ขึ้น ไปหาเก็บหน่อไม้ได้ทีละถุงปุ๋ย ความทรงจำที่สวยงามของพี่ยังจำได้ดี มีครั้งหนึ่งได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า มีคนจะมาเอาภูเขาเราไป พี่ก็ไปกับพ่อแม่นะ คนเยอะมากไปปิดถนนกลางเต้น จะได้ว่ามีคนเอาไม้มาไล่ตี หลายคนวิ่งหนี เด็กๆบางคนตกน้ำข้างคลอง พี่ก็ยังวิ่งหนีกับแม่พ่อเลย ก็เห็นความรุนแรงตั้งแต่นั้นมา แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะยังเด็ก หลังจากนั้นชีวิตก็ต้องออกจากบ้านไปเรียน ทำงานหาเงิน หลังจากกลับมาตอนนี้ เราจึงเห็นได้ว่า มันทำไมเปลี่ยนไปมากขนาดนี้” เธอเล่าประสบการณ์ในวัยเด็กถึงจุดเริ่มต้นเรื่องราวของอุดมการณ์ปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เธออาศัยอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มาสู่วันที่ต้องกลับบ้านด้วยความจำเป็นหลายอย่าง และความคิดถึงอ้อมกอดของบ้านและครอบครัวในวันที่สามารถยืนได้ด้วยความมั่นคงและพอดี ข้อเรียกร้องของชาวบ้านมี 3 ข้อ คือ 1.ปิดเหมืองหินและโรงโม่ 2.ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ 3.พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว
“ในฐานะของคนรุ่นใหม่ อยากให้ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมา และสร้างที่นี่เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะเชื่อว่าหากมีคนรุ่นใหม่อย่างพี่ หรือมีใครสักคนอยากกลับบ้าน อย่างน้อยก็สามารถมีรายได้โดยการขายของ”
เธอบอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่มีซึ่งตอนนี้ทำได้แล้วในข้อที่ 1 ถึงแม้จะยังมีความพยายามอยู่ก็ตามแต่ในการต่ออายุสัมปทานก็ตาม การกลับบ้านครั้งนี้เธอตั้งใจที่จะนำความรู้ที่เคยไปทำงานในบริษัทโลจิสติกส์มาปรับใช้ ซึ่งก็มองว่าพื้นที่ดงมะไฟมีดีพอที่จะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะเนื่องจากที่นี่มีทั้งแหล่งโบราณคดีอย่างถ้ำเขียนสีภูผายา วัดถ้ำผาโขง ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี มีความสวยงามของหินงอกหินย้อยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
เปิดร้านขายสินค้าชุมชน “ฮักผาฮวก”
“เริ่มจากที่ไปเห็นมา ก็ลองเขียนแบบอย่างที่ไปเจอมา พอดีมีน้อง ๆ จากมหาวิทยาลัยฯ ที่ลงมาฝึกงานกับชุมชนในพื้นที่จึงได้นำความคิดไปพูดคุยกันกับชาวบ้านและน้อง ๆ จึงตกลงทำร้านค้าชุมชนลองดู ก็ไปตัดไม้ไผ่ของชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุม พอไปตัดมาเริ่มสร้างร้านชาวบ้านก็ต่างบอกว่า ไปเอาไม้ไผ่ที่สวนยางออกให้ทีเพราะมันขึ้นเยอะไปหมด ตอนนี้เลยได้วัตถุดิบเยอะเลย เป็นคนตัดไม้ไผ่ไปแล้ว”
ร้านค้าถูกสร้างขึ้นด้วยการร่วมมือกันของชาวบ้าน โดยที่เธอมองเห็นว่า งานฝีมือที่พ่อแม่พี่น้องในที่ชุมนุมก็ต่างมีให้เห็น แต่กลับไม่ถูกทำให้เกิดตลาดซื้อขายใหม่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะสร้างร้านค้าขึ้นโดยการตั้งชื่อร้านว่า “ฮักผาฮวก” ซึ่งมาจาก “ผาฮวก” ที่เป็นภูเขาที่มีพันธุ์ “ไผ่ฮวก” หรือ ไผ่ลวกในภาษากลางเกิดขึ้นเยอะ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกร้านนี้
ขายสินค้าจากชาวบ้าน แบ่งรายได้เป็นทุนต้านเหมืองหินต่อ
“ชาวบ้านมีงานฝีมือที่ทำไว้อยู่แล้ว ผ้าพันคอที่ถักเอง ตะกร้าสานเอง สวิงสานเอง มีแก้วเซรามิกที่ลูกหลานทำโรงงานเซรามิกก็เอามาฝากขาย สร้างรายได้ตอนมาชุมนุมซึ่งก็เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่มาอยู่ที่นี่ และไม่มีรายได้ก็เอามาขายร่วมกัน” สินค้าจากชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าทำมือ ถูกรวบรวมนำมาไว้ในร้านค้าที่ถูกสร้างด้วยไม้ไผ่จากชาวบ้าน เป็นร้านค้าซุ้มเล็ก ๆ หน้าหมู่บ้านที่ชาวบ้านเรียกกันใหม่ว่า หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ขายให้กับคนที่สัญจรไปมาและผู้ที่สนใจผ่านออนไลน์ เป็นการสร้างรายได้จากของที่มีในชุมชน อีกทั้งผู้ที่นำสินค้ามาลงขายจะได้ขายสินค้าของตัวเองและได้ช่วยแบ่งเงินส่วนหนึ่งเป็นกองทุนในการขับเคลื่อนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ด้วย
เวลา 26 ปีมันยาวนานมากกับการอดทนจนถึงวันนี้
“เพราะเป็นบ้านของเราถึงได้ออกมาแบบนี้ พี่เคยถามชาวบ้านนะว่าทำไมออกมาลำบากอย่างนี้ นอนกลางดินกินกลางทราย นอนเปียกนอนชุ่มแบบนี้ทั้งที่ก็มีบ้านอยู่สบาย เขาก็บอกว่าเขารักเขาหวง หินส่วนเล็ก ๆ กว่าจะงอกขึ้นมาได้ใช้เวลาหลายปี เขาอยากให้คนข้างนอกมาเห็น ถึงแม้ไม่มีใครอยากมาเห็นเขาก็อยากคงไว้ให้ลูกหลานได้เห็น ได้พึ่งพิงทรัพยากรนี้” คำบอกเล่าที่ดูเหมือนจะมาจากการพูดคุยกับพ่อแม่พี่น้องถึงการต่อสู้ในบ้านเกิดของพวกเขา ระยะเวลากว่า 26 ปี ตั้งแต่วันเริ่มต้นคัดค้านการทำเหมืองหินจนถึงวันนี้ที่เป็นก้าวแรกของชัยชนะ แต่ระหว่างทางนั้นไม่ง่ายเลยในการออกมาเรียกร้องสิทธิชุมชนจึงทำให้นี่ยังคงเป็นเหตุผลที่ยังเห็นชาวบ้านอยู่กันบริเวณปากทางเข้าเหมืองหินทุกวันนี้
คนรุ่นใหม่คือความหวัง สร้างพลังในชุมชนที่เรียกว่า “บ้าน”
“เด็กน้อยลูกหลานที่อยู่ในบริเวณนี้มีบางคนที่เป็นไกด์นำเที่ยวได้ด้วยนะ ถามว่าทำไมต้องให้เยาวชนมาเรียนรู้ เพราะอยากให้เขาอนุรักษ์สืบทอดต่อไปในอนาคต ถ้าหากเรื่องราวทั้งหมดจบลงที่รุ่นพี่ คิดว่าจะมีเรื่องราวไปอีกได้ไม่เกิน 30-40 ปี แต่ถ้าเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรื่องราวจะถูกพูดถึงไปอีกเป็น 100-200 ปี ซึ่งสิ่งที่มันเกิดขึ้นในบ้านเรา มันมีมานานแล้ว พี่ไม่อยากให้มันหายไป ในฐานะคนรุ่นใหม่ในบ้านสิ่งที่พอจะทำได้ หลายอย่างก็ลงมือแล้ว ลองดูสุดกำลังสักครั้ง เผื่อว่าแรงน้อย ๆ ที่มีอาจจะทำอะไรเกิดขึ้นดี ๆ ได้บ้าง”
เป็นคำพูดทิ้งท้ายการพูดคุยของเราในวันนี้กับบรรยากาศบ้าน ๆ ของป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กับผู้หญิงนักกิจกรรมชุมชนอย่าง อร มณีนุด คนรุ่นใหม่ที่แชร์ประสบการณ์และมุมมองในฐานะคนในชุมชน ที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่อแม่พี่น้องลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรชุมชนและมองเห็นถึงโครงสร้างความยั่งยืนในอนาคตของภูผาป่าไม้และคนในชุมชน ปัจจุบันชาวบ้านยังปักหลักชุมนุมบริเวณปากทางเข้าเหมืองหินใน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นเวลาร่วม 6 เดือน นี่คือเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ไทบ้านต้านเหมืองหินฯ วันนี้