อยู่ดีมีแฮง : โคบาล บ้านดินจี่ วิถีคนเลี้ยงวัว

อยู่ดีมีแฮง : โคบาล บ้านดินจี่ วิถีคนเลี้ยงวัว

ฤดูหนาวปีนี้นับว่ายาวนานกว่ารอบหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 แต่ลมเหมันต์ก็ยังพัดผ่านมาเป็นละรอกกระทบผิวกายให้สั่นสะท้านอยู่มิวาย พร้อมกับหมอกหนายามเช้าก่อนดวงอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้าด้านบูรพาทิศ ฝูงหมู่นกกาบินตัดโค้งฟ้าสีครามเคล้าคลอแสงตะวันเมลืองมลัง เสียงไก่ขันระงมแข่งกันให้สัญญาณสำหรับวันใหม่แก่ทุกสรรพสิ่ง

เราก็ไม่ได้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อจะต้องตื่นเช้าแล้วออกเดินทางฝ่าอากาศที่หนาวเหน็บจากถิ่นที่พำนักจังหวัดอุดรธานี เนื่องจากได้รับการติดต่อให้ไปพบกับชายหนุ่มที่เราไม่เคยรู้จักหรือพบพานกันมาก่อน แต่มี “Story” ว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่คืนถิ่นกลับบ้านมาเลี้ยงวัว ณ บ้านดินจี่ ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ยอมรับว่าแว็บแรกที่ผ่านเข้ามาในโสตประสาทของผู้เขียน ก็คือว่า เขามีความพิเศษหรือไม่ธรรมดาอย่างไร? เพราะใครๆ เขาก็กลับบ้านมาเลี้ยงวัวกัน

“อยู่ดีมีแฮง” เรามุ่งหน้าสู่หมู่บ้านเป้าหมายเพื่อไปสัมภาษณ์ชายนิรนาม ด้วยระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร ผ่านอำเภอกุมภวาปี อำเภอศรีธาตุ และอำเภอวังสามหมอ ของจังหวัดอุดรธานี ระหว่างทางเราได้เห็นไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลังที่มีอย่างดาษดื่น บนภูมิประเทศที่เป็นโคกสลับเนินเขาเตี้ย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเกษตรแปลงใหญ่มองออกไปจนสุดลูกตา ใบอ้อยเรียวแหลมพลิ้วไสวลู่เอนตามลมตลอดสองข้างทาง ทว่าอยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลผลิต เราจึงไม่พิศสมัยเท่าใดนักเมื่อจะต้องขับเคี่ยวฝ่ากับรถพ่วงขนาดใหญ่ และรถทางการเกษตร หรือที่นี่เรียกว่า “รถอีแต๋น” บรรทุกอ้อยและมันสำปะหลังซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่โรงงาน หรือลานรับซื้อย่อยในชุมชนอย่างไม่ขาดสาย

ดินแดนเกษตรปลอดภัย ไร้สารเคมีและยาฆ่าแมลง

พอพ้นเขตแดนจังหวัดอุดรธานี เข้าสู่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ พืชไร่ทั้งอ้อยและมันสำปะหลังเริ่มลดน้อยลง แต่ก็ยังพอมีให้เห็นประปราย จนกระทั่งปรากฏสิ่งเข้ามาแทนที่บรรดาพืชไร่เหล่านั้น คือมีลักษณะเป็นมุ้งขนาดใหญ่กำลังคลุมต้นไม้หรือพืชบางอย่างเอาไว้ข้างใน ซึ่งคะเนด้วยสายตาเนื้อที่คงไม่น้อยกว่า 1 ไร่ บ้างก็มีมากถึง 5 ไร่ เลยทีเดียว จะกล่าวได้ว่านอกจากมุ้งที่แม่ของผู้เขียนเคยกางให้นอนกับยายและน้องอีก 2 คน เมื่อตอนเป็นเด็กแล้ว ผู้เขียนก็ไม่เคยพบเห็นการกางมุ้งที่มีพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

เป็นช่วงเวลาราวบ่ายโมง เราไปถึงบ้านดินจี่ ตำบลดินจี่ จึงได้พบกับชายหนุ่มร่างท้วมใหญ่ ส่วนสูงไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร ตาคม สันจมูกโด่ง มีหนวดเคราหยุมหยิมส่งเสริมให้แลดูหล่อเข้มไม่เบา เราเริ่มต้นด้วยการกล่าวทักทายกันตามธรรมเนียม ซึ่งชายที่เราต้องการพบเขาชื่อ “วัฒนชัย  หาริโร ชื่อเล่น วัฒน์ อายุ 33 ปี” หลังจากนั้นเขาจึงแนะนำหมู่บ้านเขาให้เราฟัง

“ที่นี่คือบ้านดินจี่ ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นชุมชนใหญ่รวมกัน 5 หมู่บ้าน  มีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 1,200 หลังคา (ทั้งตำบลมีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน) ซึ่งหมู่บ้านแถบนี้ถูกรายล้อมไปด้วยกลุ่มภูเขาของเทือกเขาภูพาน อาทิ ภูปอ ภูหลวง ภูสังฮาว ภูตับตอง ภูนางงอย และภูโป่ง และถ้าข้ามภูเขาไปก็จะเข้าสู่พื้นที่ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร” เขากล่าวขณะนำเอากะละมังขนาดเล็กที่บรรจุลูกพุทราใหญ่ผลใกล้เคียงกับลูกแอปเปิล ซึ่งมีรสชาติหวาน กรอบ มาต้อนรับเราระหว่างพูดคุยกัน

“ตำบลดินจี่ มีระเบียบหรือกติกาของชุมชนร่วมกันว่า จะไม่มีการใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า หรือฆ่าแมลงในการทำนาปลูกข้าว และทำการเกษตรอื่น ดังนั้นระหว่างทางที่ผ่านมาจึงไม่เห็นว่ามีการปลูกพืชไร่ต่างๆ ในพื้นที่ เพราะพืชไร่จำพวกอ้อย และมันสำปะหลัง ส่วนมากจะต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง และสารเคมีเร่งผลผลิตควบคู่ด้วย”

หนุ่มมาดเข้มคนนี้ยังเล่าต่อและไขข้อกระจ่างให้เราฟังว่า ระหว่างทางที่ผ่านมาบริเวณบ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จะเห็นว่ามีการปลูกพืชกลางมุ้งขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือต้นพุทรา และการกางมุ้งก็เพื่อป้องกันแมลงที่จะเข้าไปทำลายเจาะผลพุทราและวางไข่ จนกลายเป็นตัวหนอน แล้วทำให้เนื้อข้างในเสียหายในที่สุด

“ชาวบ้านเรียกว่า พุทรานมพันธุ์บ้านโพน” เขากล่าวขณะขบเคี้ยวลูกพุทราในมือไปด้วย “เพิ่งเก็บสดๆ มาจากสวนของเรา รับรองว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง แต่จะใช้วิธีการกางมุ้งแทน เพื่อป้องกันแมลง โดยเฉพาะแมลงวันทอง ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจ”

เขายังแจกแจงรายละเอียดให้เราฟังอีกว่า ที่บ้านปลูกพุทราแบบกางมุ้ง เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ มีจำนวนกว่า 100 ต้น สามารถเก็บผลผลิตในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมีนาคม รวมตกปีละประมาณ 13-15 ตัน คิดเป็นรายได้ก็ไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ซึ่งหากคำนวณแล้วสามารถสร้างรายได้ให้มากกว่าการทำนาข้าวจำนวน 15 ไร่ เสียอีก  

ขณะกำลังสนทนากัน ผู้เขียนจึงเหลือบมองไปเห็นฝูงวัวจำนวนมากอยู่ในคอก จึงเกิดการตั้งคำถาม “วันนี้ไม่ไปเลี้ยงวัวหรือครับ?”

“พักเที่ยงครับ” วัฒน์กล่าวกลั้วหัวร่อ “การเลี้ยงวัวที่นี่จะพาออกไปกินหญ้าตอนเช้าแล้วกลับมาพักเที่ยง ส่วนคนเลี้ยงก็ได้พักผ่อนด้วย ช่วงบ่ายคล้อยค่อยพาออกไปกินหญ้าอีกจนถึงค่ำ แล้วกลับเข้าคอก”

คำตอบพาให้เราฉงน และเริ่มเห็นความไม่ธรรมดาของการเลี้ยงวัวที่นี่แล้ว

คนไทภูบ้านดินจี่ วิถีโคบาลกับธนาคารเดินได้

พอได้เวลา วัฒน์ จับหมวกผ้าปีกกว้างขึ้นมาสวมใส่ศีรษะ แบกเป้สีแดงขึ้นบนบ่า และตามด้วยรองเท้าผ้าใบคู่ใจ ซึ่งน่าจะผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน หลังจากนั้นเขาจึงเดินไปดึงไม้ซึ่งทัดขวางทางเข้า-ออก ของคอกวัว ทันใดฝูงวัวทั้งใหญ่น้อย ต่างพากันกรูออกจากคอกอย่างมิต้องเอื้อนเอ่ย เพื่อลงไปเริงร่า และหาหญ้ากินในท้องทุ่งอีกครั้ง ทุ่งหญ้าหน้าแล้งของภาคอีสานไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก แต่ที่นี่กำลังถูกแต่งแต้มด้วยสีสันอย่างมีชีวิตชีวา และสร้างความตื่นตาให้กับผู้คนที่พบเห็น ลูกวัวพากันวิ่งระคนด้วยความลิงโลด แม่วัวก็วิ่งตามเพื่อคอยปกป้องอันตราย อีกทั้งกลัวลูกของตนจะหลงฝูง

“มอ มอ มอ…” เสียงร้องระงม วัวถึกตัวผู้ ทำหน้าที่เป็นจ่าฝูงนำพาคณะเดินอย่างเป็นระเบียบ

เมื่อสถานการณ์เข้าที่เข้าทางแล้ว เราจึงหาที่นั่งบนคันนาเพื่อพูดคุยกันต่อ “คนแถบนี้จะเรียกหมู่บ้านผมว่า “ไทภู” เพราะว่าหมู่บ้านถูกล้อมรอบด้วยภูเขา และพื้นที่บ้านผมเหมาะสมกับการเลี้ยงวัว เพราะเลี้ยงมันง่าย มีพื้นที่เยอะ อีกทั้งมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่ได้ลงทุนอะไรมาก ลงทุนแค่แรงตัวเอง เป็นรูปแบบการเลี้ยงวัวฝูง หรือเลี้ยงปล่อย ซึ่งปกติแล้วทุ่งนาบริเวณนี้จะมีชาวบ้านนำควายวัวมาเลี้ยงรวมๆ กันแล้ว มากถึง 500 ตัว” วัฒน์ อธิบาย

เขายังให้ข้อมูลอีกว่า คนที่นี่นิยมเลี้ยงวัวพื้นบ้าน หรือที่เรียกว่า พันธุ์ไทยกลาง เพราะดูแลง่าย เลี้ยงง่าย เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เวลาขายก็คล่อง ขอให้เอ่ยปากก็จะมีรถเข้ามารับถึงที่เลย

“มีวัวทั้งหมดกี่ตัว และมากมายขนาดนี้จำได้หมดไหมครับ?” ผู้เขียนเอ่ยถามขึ้นบ้าง

“ปัจจุบันมีเกือบ 60 ตัว ซึ่งแต่ก่อนเคยมีมากถึง 100 ตัว แต่มันเยอะเกินไปดูแลไม่ไหวจึงขายออก” วัฒน์กล่าว

“ถ้าคิดเป็นเงินก็มีมูลค่ามากถึง 1-2 ล้านบาท เลยนะครับเนี่ย” เราลองเปรียบเทียบ  

วัฒน์อมยิ้มแล้วกล่าวต่อ “วัวทุกตัวเราจะจำได้หมด และมีชื่อทุกตัว เช่น ตัวผู้ที่ออกสีเทามันชื่อ ภูเขา เพราะเกิดอยู่บนภูเขา พอคลอดออกมาไม่นานแม่มันก็ตาย ตัวผู้อีกตัวนั้น ชื่อหนูแดง ก็เพราะตั้งแต่แรกเกิดมันก็เป็นสีแดงเลย ซึ่งเป็นตัวแรกของคอกที่มีสีแดง และตัวที่อยู่ใกล้นี้แม่ผมตั้ง ชื่อให้มันว่า บักเงิน” เขาแนะนำพร้อมกับลุกขึ้นเดินไปตบหลังวัวเบาๆ

โคบาลหนุ่ม ชวนเราคุยต่อว่า การเลี้ยงวัวคือการออมเงินได้เป็นอย่างดี ให้ดอกเบี้ยมากกว่าฝากธนาคารด้วยซ้ำ เพราะวัวจะให้ลูกทุกปี ซึ่งพอตกลูกออกมาก็เป็นเงินแล้ว ราคาตัวละ 5,000-10,000 บาท ถ้าตัวโตเต็มที่ก็จะมีราคาสูงถึง 30,000-40,000 บาทต่อตัวเลยทีเดียว

“สมมติว่าเรามีวัวสัก 10 ตัว มีมูลค่า 300,000 บาท เรามีเวลาเลี้ยงอยู่แล้ว เปรียบเทียบถ้าเราเอาเงิน 300,000 บาท ไปฝากธนาคารไว้ ปีหนึ่งจะได้ดอกเบี้ยกี่บาท แต่ถ้าเราเลี้ยงวัวปีหนึ่งถ้ามันตกลูกออกมา 10 ตัว เอาถูกๆ เลย ตัวละ 5,000 บาท เราก็ได้ดอกเบี้ย 50,000 บาทแล้ว ก็คือเราได้สองต่อ ได้ลูกวัว ได้แม่วัว แถมยังได้ขี้วัวขายอีก”

เมื่อดวงอาทิตย์กลมโต สีแดงสุกใส กำลังจะมอดดับลง วัวทุกตัวต่างหันหัวกลับไปทางคอกที่เดินออกมาเมื่อช่วงบ่าย ราวกับได้นัดหมายกันไว้ “มอ มอ มอ…” วัวจ่าฝูงร้องส่งสัญญาณให้ออกเดิน หลังจากนั้นสมาชิกแต่ละตัวต่างก็เดินเรียงรายกลับเข้าสู่ที่พักอาศัยเหมือนเฉกเช่นกับทุกวันที่ผ่านมา

“พรุ่งนี้เช้าเราจะพาขึ้นไปเลี้ยงบนภูเขา และพักอยู่ข้างบนนั่น” วัฒน์ ชี้แจงสั้นๆ แต่มีนัยยะให้เราเตรียมตัวให้พร้อม

จากแรงงานกรุงเทพฯ กลับคืนถิ่น

เช้าวันใหม่ แสงแดดสาดส่องแทรกผ่านก่อไผ่และใบมะขามมากระทบรูม่านตา ท่ามกลางอากาศที่ยังหนาวเย็น เราได้กลิ่นควันไฟลอยคละเคล้ามากับข้าวจี่ทาไข่ ซึ่งวัฒน์ได้จัดเตรียมให้เราได้รองท้องก่อนอาหารเช้า ขณะที่แม่วัฒน์กำลังขะมักเขม้นทำกับข้าวอยู่ในครัว และจัดแจงห่อข้าว ห่อน้ำใส่ลงในย่ามผ้าของพ่อวัฒน์ เพื่อเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง ส่วนพ่อวัฒน์ก็ได้ตรวจตราความพร้อมของประชากรวัวทั้งหลาย ซึ่งแต่ละตัวไม่ว่าน้อยใหญ่ต่างก็ครึกครื้นกระปรี้กระเปร่า ราวกับรู้เรื่องว่าวันนี้จะได้ออกผจญภัย

เมื่อคนพร้อม วัวพร้อม “มอ มอ มอ…”  จ่าฝูงให้สัญญาณ ออกเดินทางได้ นอกจากวัวของวัฒน์แล้วยังมีวัวของเพื่อนบ้านมาสมทบด้วย จึงทำให้เส้นทางเดินขึ้นภูเขาวันนี้มีวัวจำนวนนับร้อยตัวขึ้นไปพร้อมกัน นับเป็นความไม่ธรรมดาและน่าทึ่งมาก แม้ว่าด้วยความสูงชันและมีโขดหินตลอดทางเดิน แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะทุกตัวต่างมีความคล่องแคล่วคุ้นเคยอยู่แล้ว มีบ้างที่อาจจะแตกแถวออกไปหากินใบไม้จนเพลินแต่ก็ยังอยู่ในวิสัยการควบคุม

เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ไปจนถึงจุดหมายข้างบน พร้อมกับอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเหมือนคนเอาค้อนมาทุบขาไว้ก็มิปาน แต่ก็อาการเหล่านั้นก็พลันหายไป เมื่อเราได้สูดอากาศบริสุทธิ์ข้างบน นอกจากนี้ยังมองเห็นชุมชน และเวิ้งทุ่งนากว้างที่อยู่ข้างล่างซึ่งมีความงดงามตระการตายิ่งนัก และเมื่อเดินต่อไปก็ยังพบว่าข้างบนมีทุ่งเลี้ยงสัตว์สลับพื้นที่ป่า มีแหล่งน้ำ และเพิงพัก ซึ่งเหมาะแก่การพักอาศัยอย่างสงบเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายได้เป็นอย่างดี

เราจึงถือโอกาสนั่งคุยกับวัฒน์ยาวๆ ใต้ร่มต้นสะแบงใหญ่

เขาเริ่มต้นด้วยการเล่าอดีตที่เข้าไปทำงานกรุงเทพฯ ก่อนจะกลับคืนถิ่น “ตั้งแต่ปีพ.ศ.2547-2548 ผมได้เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นช่างซ่อมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน ทำงานจนถึงประมาณปีพ.ศ.2558 แล้วจึงลาออกกลับมาอยู่บ้าน มีหลายคนบอกว่า มีการงานที่ดีแล้ว ทำไมกลับมาอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ไปทำงานต่อ เสียดายอนาคต เงินเดือนก็ได้มาก ต่างๆ นานา แต่เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ถึงเรากลับมาอยู่บ้านมันก็ไม่ได้แตกต่างกันกับการที่เราไปทำงานอยู่ที่อื่น เพราะคนส่วนใหญ่เขาจะมองเรื่องรายได้เป็นหลักครับ แต่เรามองเรื่องความสุขใจของเราเป็นหลัก”

“แล้วการเลี้ยงวัวของคุณมันมีความสุขอย่างไร?” ผู้เขียนถามแทรก

“ผมว่ามันอิสระครับ เราอยากจะไปไหนก็ได้ อย่างเช่นว่าหากวันนี้เราอยากพักผ่อน ถ้าเรามีสามคนก็ผลัดเปลี่ยนกันพักผ่อนได้ครับ ไม่ต้องไปเข้างานตามเวลา ไม่ต้องคอยดูนาฬิกาว่าเข้างานกี่โมง เลิกงานกี่โมงครับ ต่อมาคือความสุขใจด้วย หลายคนอาจจะบอกว่าอยู่ป่ามันมีความสุขอย่างไร แต่ผมมองว่ามันเป็นความสุขของแต่ละคน สำหรับคนที่ชอบความเงียบสงบก็จะอยู่ได้นานครับ” โคบาลหนุ่มถ่ายทอดความรู้สึกออกมาพร้อมกับแววตาที่เป็นประกาย

เตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน

“คุณวางแผนเรื่องการกลับบ้านอย่างไรบ้าง?” เราสัมภาษณ์ต่อ

“โดยส่วนตัวผมเป็นคนไม่ค่อยชอบเมืองหลวง ซึ่งมองว่ามันอาจจะมีความสะดวกสบายหลายๆ อย่าง แต่มันก็มีความวุ่นวาย ที่คนต่างจังหวัดอย่างเราเข้าไปแล้ว รู้สึกไม่ชอบ ผมจึงวางแผนตั้งแต่เริ่มเข้าไปทำงานเอาไว้เลยว่า ผมจะพยายามทำงานให้ได้ 10 ปี แล้วผมจะลาออก เพื่อจะกลับมาอยู่บ้านเลยครับ”

เมื่อหัวใจเรียกร้องว่าการกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดคือคำตอบสุดท้าย ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ “ตอนทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ 3 ปี ผมเริ่มซื้อวัวให้ที่บ้านเลี้ยงจำนวน 3 ตัว แล้วค่อยๆ ขยาย และซื้อมาเพิ่ม จนกระทั่งถึงวันที่ผมบอกกับตัวเองว่าพร้อมแล้วที่จะกลับมาอยู่บ้าน เมื่อนั้นทุกอย่างก็ลงตัว มีวัวมากเกือบ 100 ตัว”

เรานั่งฟังอย่างตั้งใจ เขาก็เล่าต่อ “สำคัญสุดคือ หนึ่ง แผนการครับ สอง ต้องเตรียมอาชีพไว้รองรับตัวเอง เพราะว่ากลับมาต้องมีอาชีพรองรับตัวเอง และอีกข้อหนึ่งถัดมาก็คือพยายามอย่าให้มีภาระ เช่น หนี้สิน ติดตัวมาด้วย แล้วข้อสุดท้ายคือหัวใจ ความมุ่งมั่นของตัวเองที่จะกลับบ้านครับ”

“สุดท้ายผมอยากฝากถึงคนที่กำลังทำงานอยู่ในเมืองหลวงแล้วอยากกลับบ้านนะครับ เงินอยู่ที่บ้านเรามีจำนวนมากมายครับ เราแค่คิดหาวิธีการเอาเงินก็พอ เพราะคนที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ก็ส่งเงินกลับบ้าน คนที่ไปทำงานเมืองนอกเมืองนา ก็ส่งเงินกลับมาบ้าน เพราะฉะนั้นแล้วเรากลับมาอยู่บ้าน แล้วเรามาหาวิธีการเอาเงินคนอยู่บ้านนี่ล่ะครับ ขอบคุณครับ” หนุ่มโคบาลมาดเข้มกล่าวทิ้งท้ายได้อย่างหล่อ

หลังเสร็จสิ้นอาหารมื้อเที่ยงกับบรรยากาศบนภูเขา ถึงเวลาที่เราจะต้องขอตัวลากลับ ในห้วงความคิดคำนึงถึงว่าวันหน้าเราจะต้องกลับมาสนทนากับชายหนุ่มคนนี้ ผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนได้กลับคืนถิ่น รวมถึงการได้ใช้ชีวิตของช่วงเวลาหนึ่งในดินแดนแห่งจินตนาการนี้อีกครั้ง

“มอ มอ มอ…” เสียงร้องค่อยๆ จางหายไปในราวป่า ซึ่งเปรียบเสมือนดั่งคำร่ำลา

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน / มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ