คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นคัดค้านร่าง พรบ.การชุมนุม

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นคัดค้านร่าง พรบ.การชุมนุม

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอค้านร่าง พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งหนังสือตรงถึงประธานสนช. ย้ำ พรบ. มีลักษณะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน และประชาชน พร้อมเข้าชี้แจงข้อมูลหากประธานสนช.ต้องการ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “ร่าง พรบ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ….  ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของแรงงานกับส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม” ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. กฎหมายฉบับนี้ได้ขัดกับหลักการการชุมนุมของกลุ่มแรงงานอย่างมากแทบทุกมาตรา ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถชุมนุมในสถานที่ราชการหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น สถานทูตได้อีกต่อไปแล้ว หรือผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจน , การออกประกาศเป็นไปตามที่ผู้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เห็นสมควรและใช้ดุลยพินิจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก , เมื่อมาพิจารณาที่มาตรา 7, 8 ,11 ,12 ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการชุมนุม ก็ยังมีช่องว่างค่อนข้างกว้าง สามารถตีความได้หลากหลาย จึงขึ้นอยู่กับว่าเป็นมุมมองของใคร ที่สำคัญบทกำหนดโทษค่อนข้างหนัก จึงจำกัดคนที่มาชุมนุมอย่างมาก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการชุมนุมสามารถกระทำได้วิธีการเดียว คือ การเดินเท้าเท่านั้น

2. ที่ประชุมเห็นว่ามีโอกาสที่จะยับยั้งไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกประกาศใช้ น่าจะเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่าในมาตรา 3 วงเล็บ 5 ให้เติมคำว่า “แรงงาน” เข้าไป ก็จะถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นจากร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว

3. การนัดหยุดงานเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของคนงานกับนายจ้าง แต่ยังไม่สามารถต่อรองเชิงนโยบายได้ ดังนั้นการชุมนุมของแรงงานในที่สาธารณะจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงยื่นหนังสือ เพื่อคัดค้าน ร่าง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ… ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะนำเสนอเข้าบรรจุในร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ผู้ใช้แรงงาน  เสรีภาพในการชุมนุม โดยเห็นว่า“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยรัฐต้องอำนวยความสะดวกและจะต้องได้รับการความคุ้มครองจากรัฐ” รวมถึงเสรีภาพในการรวมตัวกัน โยเห็นว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สมาพันธ์ สภา สหกรณ์กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และต้องไม่ถูกคุกคามทุกรูปแบบ” 

ทั้งนี้หากท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ทางคสรท.มีความยินดีในการไปพบเพื่อชี้แจงและนำเสนอ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ