จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติวันแรกเหงา ค่าตรวจโควิด 3 พัน ทำค่าใช้จ่ายสูง

จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติวันแรกเหงา ค่าตรวจโควิด 3 พัน ทำค่าใช้จ่ายสูง

สนทนาออนไลน์ “จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบพิเศษวันแรก ฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่” เห็นร่วมกันบรรยากาศยังเงียบเหงา หลายพื้นที่ร่วมสะท้อนปัญหา-ค่าใช้จ่ายแพง-เข้าไม่ถึงระบบออนไลน์-ติดขัดไม่เข้าใจภาษา รองอธิบดีกรมการจัดหางานรับเร่งแก้ไข

ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ

15 มกราคม 2564 เครือข่ายองค์กรแรงงาน ร่วมกับเสมสิกขาลัย จัดสนทนาออนไลน์ “จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบพิเศษวันแรก ฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่” โดยมีตัวแทนแรงงานข้ามชาติและผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติในจังหวัดต่างๆ อาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงราย เชียงใหม่ ระนอง ร่วมกันเล่าสถานการณ์การจดทะเบียนแรงงานในวันแรก และนายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมชี้แจงและรับฟังปัญหา ขณะที่ น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

นายคายน์ มิน ลวิน แรงงานข้ามชาติจาก จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ตัวเลขผู้ที่มาจดทะเบียนวันแรกยังไม่น่าพอใจเท่าไหร่ เพราะมีประมาณ 640 ราย แต่มีแรงงานข้ามชาติอยู่เยอะมาก เขามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงมากและไม่รู้ไปหาเงินที่ใด และเรื่องของระบบการลงทะเบียนโดยเฉพาะคนที่ไม่มีนายจ้าง หรือเรื่องที่อยู่ต่าง ๆ เขาไม่มี ก็ไม่รู้จะลงอย่างไร ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องเข้าสู่ระบบของนายหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ โดยนายหน้าได้ประชาสัมพันธ์ค่าหัวไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ทำให้ต้องบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 3,000 – 4,000 บาท ยิ่งใกล้วันปิดจดทะเบียน ค่าบริการของนายหน้าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจ่ายเป็นก้อนทีเดียว

นางสาวปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เราได้ลงพื้นที่บริเวณหน้าสำนักงานจัดหางานเชียงใหม่ซึ่งมีศูนย์ช่วยเหลือบริการให้คนงานและนายจ้าง แต่บรรยากาศเงียบเหงาแทบไม่มีคนมาด้วยความกังวลหลาย ๆ อย่าง และที่น่าสังเกตคือไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์กว้างขวางเท่าที่ควร ปกติแรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงใหม่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้อีกภาษาหนึ่ง เพราะไม่ใช่คนพม่า ทำให้พวกเขาเข้าระบบยาก จึงทำให้คนบางกลุ่มใช้เป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ ทำให้ค่าใช้จ่ายให้กับนายหน้า อยู่ที่ 12,000 บาทต่อหัว

แต่ที่น่าข้องใจคือค่าใช้จ่ายที่กระทรวงกำหนดเพิ่มเรื่องการตรวจโควิด 3,000 บาทนั้น บางโรงพยายาบเริ่มเก็บค่าใช้จ่ายไว้แล้ว ทั้ง ๆ ที่กฎกระทรวงยังไม่มีผล เราไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับตรวจโควิดเพราะสูงมาก และแรงงานทุกคนไม่ได้มีงานทำ หรือมีงานทำแต่ไม่ได้รับค่าแรงปกติ ซึ่งได้มีการรวบรวมรายชื่อมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กว่า 1,600 คนโดยผู้ว่าฯ บอกว่าจะลงไปตรวจสอบอีกที

“ค่าใช้จ่ายตรวจโควิดทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้แรงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบเพราะสูงเกินไปซึ่งเป็นข้อกังวล ขณะที่แรงงานบางกลุ่มอยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้ว ซึ่งประกันสังคมบอกว่าจะตรวจโควิดให้คนไทยฟรี ดังนั้นผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็ควรได้รับการตรวจฟรีเช่นกัน ถ้ามาเก็บค่าตรวจเพิ่มจากคนงาน น่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี” นางสาวปสุตา กล่าว

นายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการจากศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวว่าเราได้เปิดศูนย์แรงงานข้ามชาติรับลงทะเบียนฟรีให้แรงงานที่ไม่มีนายจ้างแต่วันนี้ยังมาน้อยแค่ 2 ราย และมีนายจ้างบางส่วนมาปรึกษาเพราะไม่รู้ว่ามีโครงการขึ้นทะเบียนตรงนี้ ข้อเสนอ คือ 1.อยากให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้แรงงานข้ามชาติและนายจ้างมาขึ้นทะเบียน 2.อยากให้ปรับระบบออนไลน์โดยใช้มือถือได้ด้วย 3.ขอความชัดเจนว่าเมื่อขึ้นทะเบียนกับจัดหางานแล้วต้องไปตรวจสุขภาพภายใน 7 วันหรือไม่

นายเย มิน อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติพังงา กล่าวว่า มีการสอบถามกันมากเกี่ยวกับการจดทะเบียนครั้งนี้โดยเฉพาะในกลุ่มลูกเรือประมงสอบถามเกี่ยวกับผู้ติดตามที่อายุน้อยและกำลังเรียนหนังสืออยู่ ขณะเดียวกันการกรอกเป็นภาษาอังกฤษ แต่แรงงานมีหลายชาติพันธุ์ใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่อง ทำให้เป็นอุปสรรค เพราะกรอกเป็นภาษาพม่าและอังกฤษก็ไม่ได้ ขณะที่เด็ก ๆ ที่เป็นผู้ติดตามควรทำอย่างไร เด็ก ๆ ที่มีบัตรเลขศูนย์และบัตรตัวจีต้องมาลงทะเบียนหรือไม่

“จริง ๆ แรงงานข้ามชาติแถวนี้ตกงานตั้งแต่โควิดรอบแรกเพราะทำงานในภาคบริการ พอถึงวันนี้ไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนมาจ่าย” นายเย มิน กล่าว

นายแจ็ค อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติสมุทรสาคร กล่าวว่าการลงทะเบียนออนไลน์ยังบกพร่องหลายอย่าง แต่ละปีที่แก้ปัญหามายังไม่ตรงจุดหรือไม่ อยากเสนอว่า ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงโควิด เป็นไปได้ไหมที่ใช้วิธีเอาชิปเสียบเข้าไปในบัตรแรงงาน เพราะหากเอกสารไม่ครบถ้วนก็ขึ้นทะเบียนไม่ได้ บางครั้งระบบล่ม แต่ครั้งนี้การลงทะเบียนทางโทรศัพท์ก็ทำไม่ได้ ที่เสนอให้ใช้ชิปในการ์ดเข้าไปในบัตรของผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ เพราะทุกครั้งยุ่งยากมากโดยเฉพาะในเรื่องข้อมูล หากเรามีชิปก็ทำให้รู้ว่าแรงงานอยู่ที่ใดและย้ายไปกี่ที่แล้ว และจะทำให้นายหน้าเถื่อนหายไปมาก รวมถึงการสวมบัตรกันก็ทำไม่ได้

นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในวันแรกนี้มีลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนรวม 1.1 หมื่นคน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเพราะแค่วันแรกก็หลักหมื่น ส่วนเรื่องปัญหาเท่าที่พบ กรณีลูกจ้างที่ไม่มีนายจ้าง มีปัญหาเรื่องการไปลงทะเบียน ตรงนี้อยู่ที่แต่ละจังหวัดที่จะให้ความช่วยเหลือและจังหวัดใหญ่ ๆ จะมีศูนย์บริการช่วยเหลืออยู่แล้ว

ส่วนเรื่องค่าบริการที่บอกว่าสูงนั้น ครั้งนี้เป็นไปตามที่แต่ละหน่วยกำหนด ถามว่าแพงหรือไม่ ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบ เพราะขณะนี้เป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยในส่วนของกรมการจัดหางานได้ลดค่าใช้จ่ายลงมาก เช่น เรายกเว้นโทษปรับให้คนที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ค่าใช้จ่ายครั้งนี้เกิดจากกฎหมายแต่ละฉบับ เช่น ค่าตรวจโควิด ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ เราได้คุยกันว่าจะให้แรงงานต่างด้าวได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“ปัญหาที่แจ้งมาเราจะรับไปปรับแก้ ทราบว่าหลายจังหวัดจะร่วมกันแก้ไข ทุกคนต่างมีเจตนาดี เพื่อทำอย่างไรให้นายจ้างมีแรงงาน ผมได้รับฟังและเพิ่มเติมสิ่งที่เป็นประโยชน์ ปัญหาที่พบคือการลงทะเบียนออนไลน์ เราจะรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด เราเห็นใจอย่างยิ่ง มติ ครม.ครั้งนี้ไม่ได้เพื่อจดทะเบียนอย่างเดียว แต่ต้องการคัดกรองโควิดด้วยจึงตั้งเป้าหมายว่าต้องมีการตรวจโควิดทั้งหมด” รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องล่ามนั้น อยากให้จัดหางานจังหวัดรับไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ส่วนเรื่องนายหน้านั้น หากมีการเรียกค่าบริการเกินกฏหมายกำหนด อยากให้จังหวัดดำเนินการ ไม่เห็นด้วยกับการเอารัดเอาเปรียบ หากใครมีข้อมูลชัดเจนขอให้แจ้งด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ