แรงงานเพื่อนบ้านค้านเรียกเก็บตรวจโควิด 3,000 ยื่นผู้ว่าฯเชียงใหม่ทบทวนมติคกก.ควบคุมโรคฯ

แรงงานเพื่อนบ้านค้านเรียกเก็บตรวจโควิด 3,000 ยื่นผู้ว่าฯเชียงใหม่ทบทวนมติคกก.ควบคุมโรคฯ

แจงมติการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจโรคโควิด-19 ของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม จำนวน 3,000 บาท สูงเกินแรงงาน – นายจ้างจะแบกรับไหว สวนทางกับเจตนานำแรงงานข้ามชาติเข้าระบบ เสี่ยงต่อการควบคุมโรค/บริหารจัดการแรงงานในพท.ล้มเหลว

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ภาคประชาสังคมหลายองค์กร ร่วมกันลงชื่อยื่น จดหมายปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง ขอให้ยกเลิกมติการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจโรคโควิด-19 ของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม จำนวน 3,000 บาท

เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า สืบเนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศเรียกเก็บค่าใช้จ่ายการตรวจโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามเป็นเงินจำนวน 3,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นมติของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เรื่องการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ระลอกใหม่

การเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูงดังกล่าวเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ตลอดจนต้นปี 2564 ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบการและประชาชนต่างประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว สถานประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่หลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวร แรงงานข้ามชาติจำนวนมากถูกเลิกจ้างไม่สามารถหานายจ้างใหม่ในช่วงเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้ประกาศไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเดินทางเข้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีงานทำจนต้องประสบกับการดำรงชีวิตที่ทุกข์ยากอย่างยิ่ง

การที่คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่มีมติให้จัดเก็บค่าตรวจโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานข้ามชาติรวมทั้งผู้ติดตาม เป็นเงินถึง 3,000 บาทต่อคน และมีแนวโน้มที่อาจทำให้นายจ้างและแรงงานตัดสินใจไม่เข้าสู่ระบบที่ยุ่งยากและราคาแพง และนโยบายรัฐต่อมาตรการป้องกันโรคและการขึ้นทะเบียนแรงงานจะเผชิญต่อความท้าทายอีกครั้ง จากนโยบายการนำแรงงานเข้าสู่ระบบของรัฐในตลอดปี 2563 พบว่า ยังมีแรงงานตกค้างการเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 500,000 คน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) องค์กรเครือข่าย แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบการและประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายมีความเห็นว่า มติดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 15 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเหตุผลดังนี้

1) เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา การจัดเก็บค่าตรวจโควิด-19 จำนวน 3,000 บาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแล้ว เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าที่แรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการจะสามารถแบกรับได้ จึงควรมีวิธีการทางเลือกในการตรวจโรคโควิด-19 ที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เช่น การจัดให้มีการตรวจโรคโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

2) การจัดเก็บค่าตรวจโรคโควิด-19 ที่มีราคาสูงจะมีผลทำให้แรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการจำนวนมากปฏิเสธที่จะนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ ซึ่งมีผลเสี่ยงต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตได้

3) แม้แรงงานข้ามชาติเป็นกำลังแรงงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ทว่าแรงงานข้ามชาติกลับไม่ได้รับการดูแลอย่างและเยียวยาเหมาะสมจากรัฐบาลไทย แรงงานหลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน คือผลลัพธ์ของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ขาดการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งรัฐบาลไทยควรให้การดูแลและเยียวยาไม่ต่างจากผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มอื่น ๆ

4) ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการต่างหักรายได้ของตนเองเพื่อสมทบทุนเข้าสู่กองทุนบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าวและกองทุนประกันสังคมซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้านสิทธิแรงงานและด้านสุขภาพ รวมถึงแรงงานข้ามชาติได้ซื้อประกันสุขภาพตามเงื่อนไขการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการจ่ายภาษีให้แก่รัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ปรากฏว่ากองทุนดังกล่าวมิได้ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มแรก

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิ องค์กรเครือข่าย แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบการและประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายขอคัดค้านมติการเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจโรคโควิด-19 ของแรงงานข้ามชาติ โดยเรียกร้องให้ท่านในฐานะผู้มีอำนาจ ยกเลิกมติการจัดเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการ โดยขอให้นำเงินจากกองทุนบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าวหรือกองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นเงินที่แรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการร่วมกันสมทบไว้นำมาใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจโรคโควิดของแรงงานข้ามชาติ ก่อนวันที่ 15 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันแรกของการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติตามมติตณะรัฐมนตรี

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รายนามองค์กรที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก

  • โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ
  • มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
  • มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
  • กองเลขานุการสภาพลเมืองเชียงใหม่
  • คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ภาคเหนือ)
  • กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เชียงใหม่
  • คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่
  • สหพันธ์คนงานข้ามชาติ
  • กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
  • แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบการและประชาชน จำนวน 1,633 คน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ