โรงเรียนกลางไพร “…แม้อยู่ห่างไกลความเจริญแต่ยังมีครู…” เสียงจากบ้านแม่สะแมง

โรงเรียนกลางไพร “…แม้อยู่ห่างไกลความเจริญแต่ยังมีครู…” เสียงจากบ้านแม่สะแมง

“โรงเรียนของเราอยู่กลางแดนไพร

แม้อยู่ห่างไกลความเจริญแต่ยังมีครู         

ป่ากาแฟชวนดูพวงแสดดอกไม้สวยงาม     

โรงเรียนของเราอยู่ในป่าดง

แต่ยังมีธงชมพู-ขาวเป็นธงของเรา           

พลิ้วเด่นบนเขา มีความหมายคุณงามความดี

มีวินัย มารยาทดี ใฝ่เรียนรู้                   

โรงเรียนน่าอยู่คุณครูหัวใจเข้มแข็ง

ให้สมดั่งชื่อโรงเรียนบ้านแม่สะแมง

เด็กดอยเราหัวใจแกร่ง อยู่ป่าเขาใจยังเบิกบาน…”

เสียงเพลงจากทีมงานเก็บเมล็ดกาแฟ ดึงความสนใจจากผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เพราะจังหวะดนตรีที่เร้าใจ หรือเสียงที่ไพเราะสดใสแบบนักร้องอาชีพ แต่เพราะเนื้อหาถ้อยความในเพลงที่บอกเล่าความผูกพันและวิถีการเรียนของพวกเขา นี่เป็นอีกเสน่ห์ที่ผู้เขียนประทับใจและเลือกปล่อยเสียงนี้เริ่มต้นในข่าวพลเมือง C-site Focus พิกัดข่าวเมื่อเช้าวัน 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

“เด็กดอยหัวใจแกร่ง อยู่ป่าเขาใจเราเบิกบาน…”

บางวรรคตอนที่แม้ไม่ต้องหาคำตอบ ก็มีหลักฐานยืนยันผ่านท่าทาง น้ำเสียง และรอยยิ้มของน้อง ๆ ที่บอกเล่าในภาพข่าว เมื่อเธอและเขาได้เรียนรู้หลักสูตรการเก็บเมล็ดกาแฟในรั้วโรงเรียน

ครูมน ศิริวรรณ  งอกงาม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่สะแมง แบ่งปันข้อมูล ภาพถ่าย เรื่องเล่าจากบนดอยสูงที่อยากสื่อสารเรื่องราวผ่านคลิปวิดีโอ เข้ามาในแอปพลิเคชั่น C-site “หอมไอดิน กลิ่นกาแฟ” หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน

“หลักสูตรบูรณาการ หอมไอดิน กลิ่นกาแฟ โรงเรียนบ้านแม่สะแมง เป็นหลักสูตรท้องถิ่น ที่เน้นการปลูกฝังให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความรักความผูกพันกับท้องถิ่นของตนเอง และช่วยเสริมสร้างทักษะอาชีพพื้นฐานให้กับผู้เรียน”

พื้นที่โรงเรียนบ้านแม่สะแมง ตำบลแม่นาจาง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนที่สูงในหุบเขา ซึ่งห่างไกลจากตัวอำเภอแม่ลาน้อยประมาณ  44  กิโลเมตร หากจะเดินทางเข้าพื้นที่จากอำเภอแม่ลาน้อยไปถึงโรงเรียนต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ด้วยเส้นทางยากลำบาก บางจุดเป็นพื้นที่ดินสไลด์ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายในการคมนาคมของผู้ที่สัญจรไปมาในพื้นที่เป็นอย่างมาก สภาพของถนนเป็นแบบลูกรังและลาดชัน ไม่มีแม้กระทั่งรถประจำทางหรือรถโดยสารขนส่งด้วยสภาพบริบทชุมชน  ครูที่นี่เดินทางมาสอนที่โรงเรียนด้วยวิธีการใช้รถจักรยานยนต์หรือครูบางคนเลือกพักนอนที่โรงเรียน

การเรียนการสอนของนักเรียนที่นี่ คุณครูจึงได้คิดหลักสูตรท้องถิ่นให้กับนักเรียนได้เรียนรู้หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ การผลิตและแปรรูปเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพของผู้ปกครองในชุมชนที่จะสามารถนำไปต่อยอดสร้างงานในอนาคตได้ บ้านแม่สะแมงนั้นสภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนมีลักษณะเป็นชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บนภูเขา ประกอบด้วย  3 หย่อมบ้าน มีชาวบ้านประมาณ 320 คน ซึ่งชาวบ้านที่นี่เป็นชาวไทยภูเขาชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (กะเหรี่ยงสะกอ) คนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกร  มีการทำไร่ ทำนา ปลูกกาแฟ ข้าวโพดอาหารสัตว์และถั่วแดง 

“กิจกรรมนี้เราจะให้เด็ก ๆ เก็บกาแฟเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นะคะ ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการค่ะ ตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความรักความผูกพันกับท้องถิ่นของตนเองและเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  ซึ่งในชั้น ป.1-ป.3จะเน้นในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น และในระดับชั้น ป.4-ป.6 จะเน้นทักษะการอ่านคล่อง เขียนคล่อง และเสริมทักษะอาชีพพื้นฐานในทุกชั้นเรียน เช่นการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ค่ะ  เริ่มแรก เด็ก ๆ จะต้องเก็บเมล็ดกาแฟก่อนค่ะ จากนั้นนำเมล็ดกาแฟไปกะเทาะเอาเปลือกออกแล้วนำมาแช่คัดเมล็ดอีกทีค่ะเสร็จแล้วนำไปตาก เมื่อตากเสร็จแล้วนำไปกะเทาะเปลือกออกอีกชั้นหนึ่งก็จะได้เมล็ดกาแฟที่พร้อมเข้าสู่การคั่วบดค่ะ  ซึ่งนอกจากการเก็บกาแฟแล้วครูจะให้เด็ก ๆ นำเมล็ดกาแฟมาแปรรูปโดยการนำกาแฟมาคั่วบดและชงเป็นกาแฟสดค่ะ และยังมีในเรื่องของหลักสูตรบูรณาการเกี่ยวกับกาแฟให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยเน้นการบูรณาการ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษค่ะ” กิตติกาญจน์  วรรณใจ ครูโรงเรียนบ้านแม่สะแมง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน  บอกเล่าการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน

“กาแฟเป็นรายได้เสริมอย่างหนึ่งที่ชุมชนเขาปลูกกันแต่กว่าจะได้ขายก็ใช้เวลาพอสมควรแต่ก็ไม่ได้ทำลายป่า” สุทธิชัย  วรวรรณถาวร หรือบิลลี่ เมืองสามหมอก ประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านแม่สะแมง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน  เล่าถึงหัวใจของการปลูกกาแฟ

“กาแฟเป็นรายได้เสริมอย่างหนึ่งที่ชุมชนเขาปลูกกันแต่กว่าจะได้ขายก็ใช้เวลาพอสมควรแต่ก็ไม่ได้ทำลายป่า หาที่เหมาะสมในการปลูก ปลูกใต้ต้นไม้ หาต้นกล้าที่พอดีปลูกและต้องดูแล เมื่อได้ประมาณ 1-2 ปี  ให้ดูที่กิ่ง เมื่อกิ่งขึ้นแล้วจะเริ่มออกดอก ปีแรกยังไม่ต้องเก็บนะครับ ปล่อยก่อนเพราะว่ามันจะไม่ค่อยติด ปีที่สองออกดอกแล้วใช้ได้เลย กาแฟเป็นรายได้ที่ดีอย่างหนึ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ทำงานตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง เพราะกว่าจะได้มาก็เหนื่อยแต่ก็สบายใจครับ สุขใจ ต้นนี้เก็บเสร็จแล้ว กำลังจะออกดอกเป็นช่อ ถึงเวลาจะออกดอกสีขาว มีกลิ่นหอม การปลูกต้นไม้เป็นการรักษาป่าอย่างหนึ่งครับ เพราะจะปลูกใต้ต้นไม้สูง ไม่ได้ทำลายป่า เวลามองมาจะเห็นเป็นป่าสองชั้น ป่าชั้นบนจะเป็นสีเขียว ป่าชั้นล่างจะเป็นกาแฟและเป็นรายได้เสริมครับ”

ใช้ต้นทุนที่มีในชุมชน สร้างเป็นฐานการเรียนรู้และหวังให้คนภายนอกได้เข้าใจถึงการทำเกษตรที่ไม่ใช่การทำลายป่าของชุมชนแห่งนี้

“โรงเรียนของเราอยู่กลางแดนไพร          

แม้อยู่ห่างไกลความเจริญแต่ยังมีครู

ป่ากาแฟชวนดูพวงแสดดอกไม้สวยงาม…”

เนื้อเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวในชุมชน แสดงถึงความรัก ความผูกพันของครูกับนักเรียนนี้ แต่งและขับร้องจาก “บิลลี่ เมืองสามหมอก”   คนรุ่นใหม่ที่หวนคืนกลับไปในชุมชน และหวังใช้บทเพลงสร้างเสริมกำลังใจให้คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่สะแมง และวันนี้เขาเองก็ทำหน้าที่ครูภูมิปัญญาที่แบ่งปันความรู้แก่เยาวชนลูกหลานในหมู่บ้านของเขาเอง  

ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 เดือนแล้วที่ผู้เขียนได้สัมผัสการทำงาน กับเครือข่ายครูจากโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศทั้งพื้นที่ภาคอีสานและในพื้นที่ภาคเหนือบนดอยสูง ผ่านการพูดคุยออนไลน์ เมื่อครั้งโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ตลอดเวลา 1 เดือน กับกระบวนการเรียนรู้ออนไลน์ของคุณครูในการผลิตสื่อร่วมกันกับเครือข่าย “อีสานตุ้มโฮม”  ผู้เขียนได้ทำงานร่วมกับ โรงเรียนบ้านแม่เงา โรงเรียนบ้านแม่นางจางเหนือ โรงเรียนบ้านแม่แพน้อย โรงเรียนบ้านชุมชนแม่ลาศึกษาและโรงเรียนบ้านบ้านห้วยมะกอก  ภายใต้การทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ที่สนใจเติมความรู้ เติมทักษะการเรียนการสอน ที่อยากสื่อสารเรื่องราวในชุมชนผ่านคลิปวิดีโอข่าวพลเมือง

การงานครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนได้สัมผัส เข้าใจถึงความเป็นครูผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ โอบอ้อมอารีและเป็นครูนักพัฒนา ครูนุช นงนุช วิชชโลกา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน  หลังจากสื่อสารข่าวพลเมืองไปแล้ว บอกว่า กิจกรรมในครั้งนั้นทำให้คนในหมู่บ้านตื่นตัวเรื่องโรคภัยมากขึ้น และทั้งทำให้เด็ก ๆ เกิดความกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้นด้วย

เสียงบอกเล่านี้ทำให้ผู้เขียนอยากพาตัวเองออกเดินทางเข้าไปในพื้นที่บนดอย เพื่อต่อเติมความฝัน ครั้งหนึ่งในการเป็นครูอาสา อยากไปสัมผัสวิถีชีวิตบนดอยและช่วยต่อเติมสร้างฝันของผู้เขียนที่จะได้เห็นการเติบโตของเด็กบนพื้นที่สูง แต่ฝันที่วาดไว้ต้องมาหยุดชะงักด้วยโควิด-19 ระลอก 2  ไม่สามารถทำให้ผู้เขียนเดินทางไปในพื้นที่ได้

ด้วยความชอบและหัวใจของผู้เขียนมีความตั้งใจที่อยากเห็นเด็กในทุกพื้นที่ได้รับโอกาส มีชีวิตที่เติบโตขึ้น นี่เป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนได้ทำความรู้จักกับเครือข่ายครู ผ่านโลกออนไลน์และเป็นอีกพื้นที่ใหม่ได้เรียนรู้กับเครือข่ายครูโรงเรียนบ้านแม่สะแมง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน  การงานในครั้งนี้หวนกลับมาทำให้หัวใจผู้เขียนหัวใจพองโตอีกครั้ง

“โรงเรียนของเราอยู่กลางแดนไพร แม้อยู่ห่างไกลความเจริญแต่ยังมีครู …”

ขอบคุณทุกดวงใจของครูที่สร้างพื้นที่เรียนรู้ในทุกกิจกรรม ทั้ง ห้องเรียนกาแฟ โรงเรียนบ้านแม่สะแมง และพื้นที่ออนไลน์เพื่อให้เรื่องราวบนดอยสูงถูกสื่อสารส่งต่อออกไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ