ก้าว 2 ปี CSOs ชายแดนใต้ : สร้างพื้นที่กลาง-เสริมพลัง-ขยายเครือข่าย หนุนสันติภาพภาค ปชช.

ก้าว 2 ปี CSOs ชายแดนใต้ : สร้างพื้นที่กลาง-เสริมพลัง-ขยายเครือข่าย หนุนสันติภาพภาค ปชช.

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา 26 องค์กรเครือข่ายสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมรับฟังการแถลงนโยบายยุทธศาสตร์ พ.ศ.2559 – 2561 ของสภาฯ นำโดย นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาฯ พร้อมคณะกรรมการบริหารสภาฯ ณ ห้องสะบารัง โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี 

นโยบายยุทธศาสตร์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้มาจากการร่วมกันถอดบทเรียนและกำหนดทิศทางการทำงานในวาระ 2 ปีของสภาฯ ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเด็นและเครือข่าย ได้แก่

(1)  การสร้างพื้นที่กลางและผลักดันเชิงนโยบายสร้าง/ขยายพื้นที่กลางให้กับภาคประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการสันติภาพเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอและผลักดันเชิงนโยบายด้วยความรู้แก่ทุกฝ่าย (2)  การเสริมพลัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองให้กับภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในทุกมิติ และ (3) การขยายเครือข่ายองค์กรสมาชิก/สมาชิกของสภาประชาสังคม ชายแดนใต้รวมทั้งขยายเครือข่ายองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ

20162305114111.jpg

เอกสารประกอบการแถลงนโยบาย

ยุทธ์ศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ (พ.ศ. 2559-2561)
 

  1. ภูมิหลัง

สภาประชาสังคมชายแดนใต้  เกิดขึ้นตามมติของที่ประชุมนักพัฒนาอาวุโสและนักกิจกรรมเพื่อสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการให้จัดตั้งองค์กรสภาประชาสังคมชายแดนใต้  เพื่อเป็นองค์กรประสานงานกลางของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม  ที่ดำเนินกิจกรรมพัฒนาสังคมอย่างถาวรขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 20  สิงหาคม 2554

  1. วัตถุประสงค์
  1. เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรภาคประชาชน/ภาคประชาสังคม
  2. เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน
  3. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสาน  และสนับสนุนระหว่างองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม
  4. เพื่อสร้างพื้นที่กลางแก่ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ  
  1. การวิเคราะห์จุด จุดอ่อน จุดแข็ง

เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในส่วนของแกนนำสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์ ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค (ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก) ในการทำงานของสภาประชาสังคมที่ผ่านมาและการวางทิศทางต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของสภาฯ ชุดใหม่ ในปี 2559 นี้  จุดแข็งของสภาฯ ในการทำงานที่ผ่านมาคือ เป็นพื้นที่ที่สมาชิกและเครือข่ายสามารถที่จะหยิบยกประเด็นมาพูดคุยได้ทุกเรื่อง  มีความหลากหลายของสมาชิกสูง ทำให้บทบาทของสภาฯ ได้รับการยอมรับที่เป็นทางการ สามารถที่จะทำงานเชื่อมต่อภาคประชาสังคมได้จริง  อีกทั้งที่ผ่านสภาฯ มีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนประเด็นกระบวนการสันติภาพและกระจายอำนาจ ส่วน จุดอ่อนของสภาฯ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผ่านมากว้างเกินไป ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ทุกเรื่อง มีสมาชิกยังน้อยและยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังขาดคนรุ่นใหม่เข้าร่วมทำงานในฐานะสมาชิกสภาฯ และทำงานยังเป็นลักษณะตั้งรับขาดการสื่อสารต่อสังคมภายนอกทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ นอกจากนี้ยังมี อุปสรรคบางอย่างที่อาจต้องคำนึงในการกำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางการทำงานในอนาคต คือ ภายใต้ห้วงเวลาของการอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร อาจทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงาน เนื่องจากช่องทางกฎหมายบางอย่างที่จำกัดการทำงาน และการที่องค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนนั้นได้รับการจัดตั้งโดยฝ่ายรัฐอาจทำให้ความเป็นอิสระในการทำงานของภาคประชาสังคมหายไป

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางอุปสรรคก็ยังมีโอกาสที่เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับจุดแข็งก็จะเห็น โอกาสในการทำงานของภาคประชาสังคมมากขึ้นคือ การที่มีองค์กรภายในและภายนอกหนุนเสริมประเด็นสันติภาพมากขึ้น อีกทั้งโอกาสที่เกิดจากนโยบาย สภาความมั่นคงแห่งชาติ สมช.ปี 2555 – 2557 ว่าด้วยเรื่อง การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้   และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557  ว่าด้วย “การจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนใต้”  ที่เอื้อให้เกิดการพูดคุยสันติภาพ  การมีช่องทางสื่อสาร โดยเฉพาะ social media และบรรยากาศของการเปิดประชาคมอาเซียน ก็เป็นโอกาสที่สภาฯจะได้ทำงานเชื่อมต่อทั้งในด้านการดำเนินโครงการและองค์ความรู้จากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น   ซึ่งจากการวิเคราะห์ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกสามารถที่จะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของสภาฯได้ดังนี้

4. วิสัยทัศน์ :
สังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

5. พันธกิจ :
หนุนเสริมการสร้างสันติภาพและกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

6. เป้าหมาย :
เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน  เพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

7.      ยุทธศาสตร์  3  ประการ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ การสร้างพื้นที่กลางและผลักดันเชิงนโยบาย ( Common Space and Advocacy) สร้าง/ขยายพื้นที่กลางให้กับภาคประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการสันติภาพเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอและผลักดันเชิงนโยบายด้วยความรู้แก่ทุกฝ่าย

ยุทธศาสตร์ที่  2  การเสริมพลัง  (Empowerment) เสริมพลัง สร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองให้กับภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในทุกมิติ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขยายเครือข่าย (Networking) ขยายองค์กรสมาชิก/สมาชิกของสภาประชาสังคม ชายแดนใต้รวมทั้งขยายเครือข่ายองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ

  1. ประเด็นการขับเคลื่อน ปี 2559 – 2561
  1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านกระบวนการสร้างสันติภาพในชุมชน
  2. การพัฒนาศักยภาพและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในชุมชน
  3. การเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคราชการ ภาควิชาการ  ภาคท้องถิ่นในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพใน
  4. ขยายสมาชิกและจัดทำฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพและงานพัฒนาอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นปัจจุบัน
  1. ข้อเสนอประเด็นการขับเคลื่อน จากองค์กรภาคีเครือข่าย
  1. สนับสนุนและเปิดพื้นที่กลางในการสร้างดุลอำนาจและการต่อรองต่อคู่ขัดแย้งในการทำงานเพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
  2. ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาและกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่ 
  3. พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
  4. สร้างช่องทางการสื่อสาร ในระดับพื้นที่  นอกพื้นที่และระดับสากล
  5. ศึกษาวิจัยและรับฟังความเห็นประชาชนทุกหมู่เหล่า  เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการไปสู่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และบริหารจัดการตนเองได้จริง
  6. ส่งเสริมอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมของประชาชนทุกเชื้อชาติ ทุกชุมชน
  7. สนับสนุนการเข้าถึงระบบยุติธรรมของประชาชน เพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับความเป็นธรรมจากระบบและกระบวนการยุติธรรมเสมอหน้ากัน
  8. ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐกับขบวนการก่อความมาสงบ เพื่อยุติความรุนแรง
  9. สนับสนุนการแก้ปัญหาเร่งด่วนของสังคมโดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหาอาชญากรรมและปัญหาความยากจน  เป็นต้น
  10. สนับสนุนการฟื้นฟู พัฒนา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  11. ส่งเสริมการยุติความรุนแรงด้วยสันติวิธี
  12. จัดทำฐานข้อมูลองค์กรและเครือข่ายที่ดำเนินงานพัฒนาและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
  13. เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีอื่นๆ
  14. การพัฒนาศักยภาพเยาวชน สตรีและเครือข่ายชาวพุทธ

 

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สภาประชาสังคมใต้แถลงยุทธศาสตร์ใหม่ สร้างพื้นที่กลาง-ผลักดันประชาชนร่วมกระบวนการสันติภาพ

Download เอกสารประกอบการแถลงนโยบาย ยุทธ์ศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ (พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2561) 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ