ณ วันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ครับว่า การเป็นผู้ประกอบการของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในภูมิภาค ได้เดินทางมาถึงทางที่ต้องเลือกอีกครั้ง แต่ตัวเลือกของผู้ประกอบการชุมชนนั้นมีไม่มากครับ หรือจะบอกได้เลยว่าได้เดินมาถึงทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างการเดินหน้าต่อ หรือจะพอเพียงเท่านี้ ปล่อยให้การประกอบการชุมชนปิดตัวลงไปตามสถานการณ์จากปัญหาเงินทุน ยอดขายและการบริหารจัดการ ผู้เขียนจะขอไม่พูดถึงกลุ่มประกอบการชุมชนที่ปิดตัวลงไปครับ แต่วันนี้จะขอหยิบยกเอา 1 กลุ่มประกอบการชุมชนที่ได้เลือกเดินหน้าต่อจนสามารถกลับมาพลิกฟื้นกลุ่ม สร้างยอดขาย นำมาซึ่งกำไรมูลค่าหลายล้านบาทจากการขายผ้าขาวม้าหมักโคลน ภายใต้แบรนด์ชุมชนว่า ดารานาคี
“ผลิตภัณฑ์ของเราก็จะมีเป็นเสื้อผ้าทั้งของคุณผู้หญิงและคุณผู้ชาย อย่างที่เห็นนี้จะเป็นแบบสไตร์ยูนิเซก ลายแรกของเราเลยจะเป็นลายผู้ว่า ปกติแล้วโดยทั่ว ๆ ไปผ้าขาวม้าจะมีลักษณะลายที่เท่ากัน แต่ความพิเศษที่ชุมชนสะง้อก็คือเราจะเรียงหลบใหม่แล้วก็เล่นกับมิติของผ้าขาวม้าโดยการอาจะเล็กไปใหญ่ ใหญ่ไปเล็กแต่ละลาย ตอนนี้ก็มีทั้งหมด 12 ลายแล้ว โทนสีก็จะมีสีเทาแล้วก็สีน้ำตาล สีน้ำตาลได้จากต้นชมพู่ป่า ลายไทเด่นเราจะดึงลายพรางของผ้าขาวม้า เป็นตารางสามช่องแบบนี้ เวลาตัดก็คือตัดเป็นกางเกงเอวสูง คือสามารถนำไปใส่ได้กับเสื้อผ้าไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด เสื้อเชิร์ตได้เลย เราอยากดึงสิ่งเหล่านี้ที่เรามีอยู่ เราอาจจะเคยมองข้าม อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แต่ว่ามันมีความน่ารัก อบอุ่นอยู่ในนั้นเราก็เลยดึงคาเร็กเตอร์ อยากให้แบรนด์ดารานาคี เป็นแบรนด์ที่อบอุ่น เป็นเรื่องของครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก”
สุพัตรา แสงกองมี หรือ แยม อายุ 23 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 3 กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ แยมมีส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มทอผ้าขาวม้าของชุมชนสะง้อมีชื่อเสียงและสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มปีละหลายล้านบาท ชีวิตนอกกรุงเราเริ่มต้นการสนทนากับน้องแยมขณะที่เรานั่งรถไปเพื่อส่งเครือหูกให้กับสมาชิกที่อยู่ต่างอำเภอ ตอนนั้นกลุ่มก็เปรียบเหมือนเป็น
“ลูกผี ลูกคน คือ สมาชิกในชุมชนก็บอกว่ากลุ่มมีไว้ก็เหมือนไม่มี งั้นก็ไม่ต้องมีดีกว่า” จากวันนั้นทำให้ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการทอผ้าของกลุ่มนั้นสามารถที่จะสร้างรายได้และเลี้ยงปากท้องได้
: ด่านแรกที่ต้องเจอเมื่อคนรุ่นใหม่จะเข้ามาปรับเปลี่ยน?
“เราเป็นเด็กแค่อายุ 20 แล้วจะหันกลับมาทำงานที่คนในชุมชนไม่ทำกันแล้วมันเป็นเรื่องที่คนไม่เชื่อ มันยากตรงที่ไม่เชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะเกิดขึ้นได้จริงและไม่ถูกยอมรับ เราก็เลยต้องลงแรง ลงทุน ทำในสิ่งที่เราคิดว่าจะเป็นจริง กาลเวลาพิสูจน์หลาย ๆ อย่าง สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะคิดอะไร อย่างไร แต่ว่าตัวเราได้รับการพิสูจน์กับตัวเองแล้วว่าถ้าเราเชื่อมั่นในตัวของตัวเองเราก็สามารถทำได้”
นี่คือจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนกลุ่มและสินค้าของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ จากผ้าขาวม้าดั้งเดิมให้เป็นสินค้าที่ทันสมัย มีลวดลายและเรื่องราว จุดเริ่มต้นของการปรับการปริหารจัดการกลุ่มแบบเดิมที่ลงหุ้นกันแล้วก็จบ มาเป็นใครทำงานมากก็ได้มาก ทำน้อยได้น้อย
Step. 1 ยกมือขึ้นเหนือหัว กล่าวคำว่า สาธุเด้อ…
โดนสบประมาทว่า เธอไม่มีทางทำได้สิ่งที่กำลังจะทำไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เราจะทำให้ได้เราจะต้องทำผ้าที่สามารถขายให้ได้ เหมือนปลุกใจตัวเอง เวลาเราไปขายก็จัดเต็มเลยค่ะ
“ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าถ้าสิ่งที่เราทำมันสามารถที่จะมีประโยชน์กับคนอื่นได้จริง ๆ ก็ขอให้เจ้าของผ้าแต่ละผืนมารับ คิดอย่างนี้ทุกครั้งที่เวลาเรานำสินค้าเราไปขาย” (พร้อมกับเสียงหัวเราะ)
Step. 2 สร้าง Stories ให้กับสินค้าแต่ละผืน ตั้งชื่อให้ลวดลายผ้าขาวม้า
เมื่อก่อนผ้าแต่ละผืนจะไม่มีชื่อเรียก โดยทั่ว ๆ ไป อาจจะมีผ้าลายดั้งเดิมที่คนรู้จักกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีการเรียกผ้าขาวม้าว่าชื่ออะไร ทุกลายเรียกผ้าขาวม้าหมดเลย ก็เลยคิดว่าผ้าขาวม้าของเราจะต้องไม่เหมือนใคร ก็เลยเริ่มตั้งแต่ใส่ stories ของวัตถุดิบ ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านจะรู้จักกันในชื่อหมากค้อเขียว ต้นแก่นคูน
“ไม่ ไม่ ไม่ เราจะไม่ใช้ชื่อเหล่านี้เราจะเปลี่ยนให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น หมากค้อเขียวก็เปลี่ยนเป็นผลไม้พันปีที่เป็นผลไม้พันปี ก็เพราะว่าเวลาผู้เฒ่าผู้แก่กินจะทำให้อายุยืน ต้นคูน เราไม่เรียกว่าต้นคูน แต่จะเรียกว่า ต้นรวยได้รวยดี เพราะว่าต้นคูนจะค้ำคูณ”
เป็นการสร้าง stories เล็ก ๆ น้อย ๆ รวมไปถึงการตั้งชื่อให้กับลวดลายของผ้าขาวม้าที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งตอนแรกสมาชิกในกลุ่มเองก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องตั้งชื่อ แต่การตั้งชื่อหรือการมีชื่อเรียกลวดลายผ้าขาวม้านั้นจะทำให้ลูกค้าจดจำสินค้าเราได้ ตอนแรกเราทดลองผลิตผ้าออกมาแล้วเราออกตลาดเลย ตอนนั้นเราทอได้แค่ 10 ผืน เราเอาไปวางตรงหน้าลูกค้าเลย นี่คือผ้าที่เราทำใหม่ เป็นผ้าที่ทำจากสีธรรมชาติ แล้วเป็นผ้าขาวม้าทอมือ กับผ้างานดั้งเดิม ปรากฏว่าวันนั้น ยังไม่ทันที่จะเปิดร้านขายในการออกงาน ผ้าขาวม้าหมักโคลนของเราหมดแล้ว เราก็เลยเริ่มรู้ตัวแล้ว ทีนี้เราจะมาสื่อสารกับคนทออย่างไร เพราะเมื่อก่อนเขาจะทอผ้าให้ครบเครือ คือ 40 เมตร ถึงจะตัดไปขาย ไม่ค่ะ เราไม่ใช้วิธีนั้น พอเขาทอได้ 2 เมตร ยายจ๋าหนูขอตัดนะคะ มีลูกค้าจองแล้ว เราสร้างแรงบันดาลใจแบบกระตุ้นให้เขาอยากจะทำ อยากจะทอ มันขายดีหรืออะไรแบบนี้ เขาจะได้มีกำลังใจ
Step. 3 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการกลุ่มใหม่ ให้มีสมาชิกมีรายได้ รายวัน รายสัปดาห์รายเดือน รายปี
เริ่มต้นเราให้สมาชิกผืนละ 120 บาท เท่ากับราคาของผ้าขาวม้าดั่งเดิมที่เขาต้องไปซื้อวัตถุดิบและเขาต้องทำเองทุกกระบวนการ ตอนนั้นเราให้ราคาเท่ากันโดยที่สมาชิกมีหน้าที่ทออย่างเดียว ทอได้ 2 เมตร ก็ตัดขายเลย เขาก็จะเกิดการเปรียบเทียบแล้วว่า กว่าจะต้องมานั่งทำเองทุกขั้นตอน ฉันเอาไปขายได้ผืนละ 80 บาท กับทอเฉย ๆ ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย เช่นนั้นก็ทำแบบนี้ดีกว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนตอนที่ทอผ้าดั่งเดิม อาจจะ 3 เดือน 4 เดือน 6 เดือน แม่ ๆ ถึงจะได้เงิน หลาย ๆ กลุ่มก็เป็นมันเป็นปกติของกลุ่มทอผ้าอยู่แล้วเวลาเขาปันผลกัน
“แต่ว่าเราก็มาปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ก็คือแม่เขาจะได้มีเงินไว้คอยใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 2 คือลดภาระหนี้สินของเราด้วย ในการบริหารเราก็จะได้ไม่ชักหน้าไม่ถึงหลัง”
Step. 4 ทำงานเป็นแผนก ใช้โมเดลบริษัทจำกัดเข้ามา บริหารจัดการ เพื่อสร้างระบบการทำงาน
เมื่อก่อนเราแยกกันทำที่บ้านตัวเอง งานออกมาก็ควบคุมไม่ได้ทั้งคุณภาพ ทั้งสี การทอ เพราะว่าผ้าที่ออกมาจะมีตำหนิเยอะ ควบคุมคุณภาพไม่ได้ เราก็เลยมาเริ่มต้นการบริหารจัดการกันใหม่ ถ้าอย่างนั้นเราให้ใครถนัดอะไรก็ทำหน้าที่นั้นอย่างเดียวเลยปัจจุบันกลุ่มประกอบไปด้วยแผนกสืบหูกและทอ แผนกปั่นหลอด แผนกค้นเครือหูก แผนกย้อมโคลนและเปลือกไม้ แผนกตรวจสอบคุณภาพสินค้า และแผนกแปรรูป ตัดเย็บแต่ละแผนกประมาณการรายได้เฉลี่ย แผนกละ 300,000 บาท
เปลี่ยนจากหนึ่งคนทำทุกอย่างเลย เราก็มองดูผลลัพธ์แล้วว่าเนื้องานออกมา ควบคุมคุณภาพไม่ได้ ควบคุมในเรื่องของราคาไม่ได้ ทำให้เรามองดูแล้วว่านี่เป็นบทเรียนที่พากลุ่มไปสู่ความล้มเหลว เราก็ลองเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการใหม่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากอาจารย์ วิทยากรที่ทางหน่วยงานรับจัดสนับสนุนชุมชน เราก็ลองนำมาปรับใช้ได้ผลดีกว่าที่เราทำแบบเดิม คติของกลุ่มเราเลยคืออยากให้ทุกคนมีรายได้รายวัน รายเดือน รายปี การขับเคลื่อนกลุ่มรูปแบบนี้ ทำให้เราได้คุยกัน พอเราได้คุยกันมันก็เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยน จะช่วยทำให้ผลงานของเราดียิ่งขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม ในชุมชนก็มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น
: ปัจจุบันสมาชิก จำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง รายได้เท่าไรที่ถูกกระจายไปให้กับสมาชิก?
ตอนนี้จะอยู่ที่แต่ละอำเภอ หลาย ๆ อำเภอของจังหวัดบึงกาฬ เรียกว่าครบทุกอำเภอเลยหลัก ๆ ตัวเลขคนทอก็จะอยู่ที่ประมาณ 70-100 คน แล้วแต่ช่วงเวลา ถ้าฤดูที่ทำนาหรือลงสวน ตัวเลขก็จะประมาณ 70 ราย ราว ๆ นี้ส่วนจำนวนเงินที่กระจายลงไปแต่ละชุมชนที่มีสมาชิกอยู่ก็ประมาณหลักล้านบาท เฉพาะเครือข่ายก็เกือบจะเท่า ๆ กันกับในชุมชนเลย เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วช่างทอผ้าเขาก็จะกระจายกันไปแต่ละชุมชน เราก็พยายามป้อนงานไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
: นี่คือโอกาสที่จะทำให้เราเติบโตในการเป็นผู้ประกอบการชุมชน ทำไมเราไม่โตไปคนเดียว ทั้งที่เรามีโอกาส?
“โตคนเดียวก็เหงา ( หัวเราะ ) จริง ๆ ก็คือเราปรารถนาอยากให้คนในชุมชน คนในกลุ่ม แล้วก็ทุก ๆ คน มีงานมีรายได้ มีโอกาส”
นอกเหนือจากเงินแล้ว สิ่งที่เราอยากให้คนอื่นได้รับมากที่สุดคือโอกาส สิ่งที่เราอยากให้คนอื่นได้รับมากที่สุดคือโอกาส แต่ตรงนี้คือ space คือพื้นที่ที่คนที่ไม่มีโอกาส คนที่ตกงาน คนที่เคยทำผิด คนที่หมดศรัทธาในตัวเอง เรามีพื้นที่ทำงาน เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าเงินอีกค่ะ เราพร้อมช่วยเหลือกกันคนในชุมชนที่ไปอยู่กรุงเทพแล้วยังไม่สามารถกลับมาอยู่บ้านได้เราก็จะป้อนงานให้ สาวโรงงานที่ยังไม่สามารถกลับมาอยู่บ้านได้อาจจะติดด้วยภาระของครอบครัวหลายหลายอย่างแต่เรารู้สึกว่าพอเราได้คุยกันเค้าก็เล่าถึงปัญหาให้เราฟังว่าอยู่ที่กรุงเทพฯ รายได้เยอะแต่ก็ไม่พอกับรายจ่ายถ้ามีงานเสริมหรือว่ามีอะไรที่เขาสามารถช่วยได้ เราก็จะพยามป้อนไปให้กับเขาเพื่อที่เขาจะได้มีรายได้รายได้ตรงนี้เขาก็ไม่ได้เอาไปไหน รายได้ก็จะกลับมาสู่ชุมชนส่งให้คุณพ่อ คุณแม่เหมือนเดิม
โมเดลการประกอบการของบ้านสะง้อแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่สามารถพลิกฟื้นให้การประกอบการแบบกลุ่ม สามารถสร้างรายได้และอยู่รอดได้ด้วยการปรับ เปลี่ยน และวางแผนใหม่หลากหลายชุมชนมีการประกอบการที่แตกต่างกันออกไป แต่สังคมผู้ประกอบการของชุมชนแบบไหนที่จะเป็นตัวช่วยให้กลุ่มคนที่กำลังเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจ ตลาดหด โรงงานปิดที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากภาวะโรคระบาดโควิด – 19 และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนและการบริหารจัดการของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อที่ผู้เขียนนำมาแลกเปลี่ยนผ่านตัวหนังสือให้ได้อ่านกันในวันนี้ คงช่วยให้เราได้เห็นโมเดลทางรอดอีกทางหนึ่งในสังคมผู้ประกอบการชุมชนนะครับ