“เรารู้ว่าเราไม่สามารถที่จะสอนเด็กให้แค่อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นได้แค่นั้น แต่เราต้องสอนให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องของทักษะชีวิต…”
โรงเรียนหลายแห่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ประกาศหยุดโรงเรียนด้วยสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ระลอก 2 โดยได้มีประกาศปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 4 – 15 มกราคม 2564 นี้
หลายโรงเรียนทยอยปิดเรียนและเริ่มให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงที่โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 250 คน นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงเรื่องเทคโนโลยีได้ทั้งหมดด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้โรงเรียนต้องมีการวางแผน และออกแบบรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน ให้มีความหลากหลาย ทั้งห้องเรียนออนไลน์ และชุด Box set สำหรับเด็กเล็ก
“โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูเทศบาลนครขอนแก่นจริง ๆ คือเราได้เจอกับสถานการณ์แบบนี้ช่วงหนึ่งแล้วเราตั้งตัวไม่ทัน คือการสอนทางไกลแบบออนไลน์ว่าจะสอนอย่างไร เราก็ตั้งตัวลำบากมากช่วงนั้นที่เราปิดครั้งแรก พอหลังจากที่โรงเรียนสามารถเปิดได้ปกติ การเรียนการสอนเองก็ดำเนินไปตามปกติ” ชุตินธร หัดถะพะนม รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู อ.เมือง จ.ขอนแก่น เล่าถึงการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนในการเรียนการสอนรูปแบบใหม่
“สิ่งหนึ่งที่คุณครูต้องเรียนรู้กับเด็ก ๆ ก็คือเรื่องของการเรียนการสอนออนไลน์ทางไกล แล้วก็ต้องสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งในระหว่างที่เปิดปกตินี้มันก็เลยทำให้เราได้เตรียมตัวได้พูดคุยกับเด็ก ๆ กับผู้ปกครองว่าถ้าสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเราจะจัดการอย่างไร ซึ่งคุณครูเองสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องของโปรแกรมเรื่องออนไลน์ คุณครูเขาก็ได้เตรียมตัวแล้วค่ะ โดยเฉพาะนักเรียน ป.4 – ป.6 มี 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต แล้วก็เข้าถึงระบบออนไลน์ ที่คุณครูได้เตรียมไว้ เราก็จะเตรียมเรื่องของห้องเรียนทางไกล ผ่าน โปรแกรม Google classroom และก็โปรแกรม Zoom ซึ่งสิ่งนี้มันก็ทำให้เด็กและคุณครู ได้ฝึกได้ทำกันแล้วบ้าง
พอสถานการณ์แบบนี้ เราปิดฉุกเฉิน 14 วัน ก็ตั้งแต่วันที่ 4-15 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่สาธารณสุขให้มีระยะเวลาการกักตัว 14 วัน ทางผู้บริหารเราคิดว่าเราไม่แน่ใจว่าเด็กเราไปเจอใคร ไม่แน่ใจว่าเดินทางไปไหนกันบ้าง ก็คือเพื่อความปลอดภัย ก็คือต้องมีการสั่งให้ปิดเรียนก่อน 14 วัน จนถึงวันนที่ 15 ซึ่งมันก็เป็นมาตราการในการเรียนการสอนประมาณ 10 วัน ซึ่งคุณครูทางโรงเรียนเอง ก็เลยได้รองรับการเรียนการสอน 2 แบบรูป
แบบแรกคือการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านโปรแกรม Google classroom และก็การสื่อสารผ่านกรุ๊ปไลน์ เฟซบุ๊กกรุ๊ป แล้วก็ผ่านโปรแกรม Zoom”
“ในส่วนหนึ่งเด็กที่เข้าไม่ถึงในระดับ ป.1-ป.3 ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เขาเข้าไม่ถึงตรงนี้ ป.4-ป.6 มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะรับชุดความรู้ หรือพวกเราเรียกว่า Box set เราก็จะนัดหมายผู้ปกครองให้มารับ ซึ่งก็จะเว้นช่วง เวลา 09.00-10.00 น. ในแต่ละชั้นเรียน 10.00-11.00 น. เพื่อรักษาระยะห่าง เขาก็มารับแล้วก็เขานำกลับไปเรียนที่บ้าน แล้วให้ผู้ปกครองหรือให้พี่ ๆ ช่วยสอนช่วยเป็นพี่เลี้ยง เขาก็สามารถที่จะสื่อสารผ่านครูในกลุ่มไลน์ ซึ่งทุกชั้นจะมีตั้งแต่อนุบาลเลย”
ในชุดความรู้ Box set มีอะไรบ้าง?
“ก็จะมีทั้งสื่อ มีชุดฝึกกล้ามเนื้อมือ ชุดฝึกความรู้ มีใบความรู้ มีใบงานน ส่วนเขาทำเสร็จแล้วเขาก็จะถ่ายรูปส่งครู หรือว่าส่งให้คุณครูตรวจได้เลย หรือถ้าใครไม่สะดวก ในเรื่องของสื่อสารผ่านไลน์ ก็สามารถนัดหมายนำมาส่งได้ แต่เราก็จะรักษาระยะห่าง รักษาเรื่องความปลอดภัย ให้มากที่สุดค่ะ”
มีการวัดผลการเรียนอย่างไร?
“ในเรื่องของการเรียนไลน์และ Box set มันก็จะเป็นเนื้อหาในหน่วยการเรียนรู้ของครูอยู่แล้วค่ะ ก็คือเราจะวัดผลเหมือนตอนที่อยู่ในห้องเรียนเลย เพียงแต่ว่ามียืดหยุ่นของเนื้อหาของกิจกรรม กระบวนการคุณครูก็จะยืดหยุ่น ตามสถานการณ์เลย ซึ่งอันนี้เราก็ปล่อยให้คุณครูได้ออกแบบเอง”
ถ้าหากว่าสถานการณ์ยังไม่สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติทางโรงเรียนมีแนวทางวางแผนไว้อย่างไรบ้าง?
“อย่างแรกคือ เราจะพัฒนาในเรื่องของการสอนออนไลน์ ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ให้เนื้อหาได้เข้มข้นขึ้น การสื่อสารกับผู้ปกครองเอง ผ่านโทรศัพท์หรือว่าผ่านการเจอกันแบบห่าง ๆ อย่างนี้ก็ยังต้องมีอยู่ ซึ่งอันนี้มันก็จะทำให้ คือผู้ปกครองเองก็จะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะประเมินเด็กให้เราได้ด้วย ซึ่งอันนี้ผู้้ปกครองจะเข้ามามีบทบาทด้วยได้มากขึ้นค่ะ”
จากรูปแบบการสอนแบบรถพุ่มพวงครั้งที่แล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้อีกครั้งได้อยู่ไหม?
“ผลของครั้งที่แล้วทำให้เราสื่อสารกับผู้ปกครองได้ง่ายและความสัมพันธ์ของครูกับเด็กได้ดี แต่ว่าสถานการณ์อย่างนี้เรายังไม่แน่ใจ ว่าเราจะทำอย่างนั้นได้ไหม เราก็ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ถ้าสถานการณ์มันพอไปได้ แล้วโรงเรียนยังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ซึ่งเราสามารถเว้นระยะห่าง เราสามารถที่จะจัดการ ดูแลทางด้าน ความปลอดภัยอย่างนี้ได้ ก็คิดว่ารูปแบบแบบนั้นที่น่าสนใจมาทำอีกครั้ง แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่กล้าตัดสินใจ ที่จะทำแบบนั้นได้”
“เรารู้ว่าเราไม่สามารถที่จะสอนเด็กให้แค่อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นได้แค่นั้น แต่เราต้องสอนให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องของทักษะชีวิต
การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว และก็การที่เด็ก ๆ จะต้องเตรียมการและได้ค้นคว้าความรู้ได้ด้วยตัวเอง แสวงหาความรู้ ถ้าเขาไม่ได้อยู่ในห้องเรียน เขาจะแสวงหาความรู้ได้อย่างไร แล้วบทบาทของครูคนป้อนเนื้อหามันจะเป็นบทบาทที่จะช่วยเด็ก ๆ ที่จะแสวงหาความรู้ได้อย่างไร อาจจะต้องสนับสนุนเด็ก ว่าถ้าเด็กอยากที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ เด็กจะต้องทำอย่างไร ไปหาใคร ไปดูในเว็บไซต์อะไร อันนี้มันจะทำให้เขาปรับตัว เรียนรู้จากสถานการณ์ได้มากยิ่งขึ้น ทำให้การเรียนในช่วงปิดเรียนต้องจัดกระบวนการที่มีทั้งวิชาการและวิชาชีวิตควบคู่กันไป”