ยื่นข้อเสนอทางเลือกการศึกษา “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” แก้ปัญหายุบ-ควบรวม

ยื่นข้อเสนอทางเลือกการศึกษา “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” แก้ปัญหายุบ-ควบรวม

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษา ยื่นข้อเสนอทางเลือกการศึกษาต่อผู้แทน รมต.ศธ. ในชื่อโครงการ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” เพื่อให้โอกาสโรงเรียนเล็กอยู่กับเด็กและชุมชน ไม่เสี่ยงถูกควบรวมตามประกาศนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงฯ

เวที ฟังเสียงโรงเรียนขนาดเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน

โครงการ  “ACCESS School : ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน” โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป(EU) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาและชุมชน จัดงาน “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 

กิจกรรมสำคัญในงานดังกล่าว คือการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” การจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้นวัตกรรมแบบ Active Learning เพื่อเด็กและชุมชน ต่อดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก บนฐานของสิทธิในการศึกษา โดยเฉพาะสิทธิของเด็กในชุมชนชายขอบและเด็กยากจน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และเท่าเทียมได้ พร้อมประกาศความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านการศึกษา 

สร้างทางเลือกใหม่ให้โอกาสโรงเรียนเล็กอยู่กับเด็กและชุมชน

ข้อเสนอ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” ร่วมลงนามโดย เครือข่ายองค์กรครู ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก และภาคประชาสังคมด้านการศึกษา, สภาการศึกษากาฬสินธุ์, เครือข่ายครูนอกกะลา ภาคกลาง, สมาคมและผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.น่าน เขต 1 และ โครงการ ACCESS School รายละเอียด ดังนี้ 

1. ขอให้มีการส่งเสริมโครงการ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” เพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าเงื่อนไขหรือเข้าร่วม “โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน

2.ให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการของครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อมีเครื่องมือพัฒนาและประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมจัดการศึกษา 

3.เพื่อให้โครงการ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มศักยภาพ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและองค์กรที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ดังนี้

3.1) ให้เพิ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ “โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ได้เป็นสถานศึกษาพิเศษ (2) สถานศึกษาที่จัดการศึกษาในเชิงทดลอง วิจัยและพัฒนา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 

ภาพ : เอกสารกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

3.2)ให้โรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นโรงเรียนนวัตกรรมสามารถจัดการศึกษาได้ทั้งรูปแบบในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามาตร 15 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หรือเทียบเคียงกับการศึกษาตามคุณวุฒิ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

3.3) ให้แก้ไข/ปลดล็อคให้องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล/อบต.) สามารถให้การ สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ แก่โรงเรียนขนาดเล็กได้

3.4) สนับสนุนให้ครู ชุมชน เช่น ครูภูมิปัญญา (เกษตร ช่าง งานฝีมือ สุขภาพ อาหาร ขนม ฯลฯ) สถานประกอบการ ผู้นำศาสนา ฯลฯ สามารถเป็นครูผู้ช่วยหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก/ครูได้ 

เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านการศึกษา ซึ่งตระหนักดีว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน การศึกษาจึงมีความสำคัญที่จะต้องเท่าทันหรือนำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะอาสาเข้ามาช่วยแบ่งเบาภารพของกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ซึ่ง “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐและทุกภาคส่วนทุกระดับ จะเป็นกำลังส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาไทยที่จะขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยให้ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน 

ท่าทีตอบรับข้อเสนอของผู้เเทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะผู้เเทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มารับข้อเสนอ ระบุว่า นโยบาย “1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม” เป็นนวัตกรรมที่สอดรับกับนโยบาย สพฐ.(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อยู่แล้ว ซึ่งสพฐ. ต้องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยอยู่แล้ว อีกประการที่ชัดเจนเสมอมา คือ นโยบาย สพฐ. เน้นการแก้ปัญหาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานและใช้นวัตกรรม Active Learning ขับเคลื่อนอยู่แล้ว 

ดังนั้น หลังจากเสร็จสิ้นการรับข้อเสนอ “1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม” ตนจะนำเรียนข้อเสนอนโยบายนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและในระดับรัฐบาลที่มีอำนาจกำหนดนโยบาบต่อไป พร้อมจะนำข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนแบบ Active Learning ไปยังเขตพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรม Active Learning ไปทุกโรงเรียน และโรงเรียนต้องมีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ควรจะทำ

ทั้งนี้ ดร.อัมพร ยังระบุว่า ข้อเสนอที่เป็นไปได้ยากที่สุด คือ รูปแบบการศึกษาที่บอกว่า ให้จัดทั้งในระบบ นอกระบบและอัธยาศัย ในโรงเรียนเดียวกัน อาจจะเป็นข้อเสนอแนะที่ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะมีกฎกระทรวงที่มีกระบวนการและกลไกนี้กำกับทำอยู่แล้ว 

“จริง ๆ รูปแบบการศึกษา เราเปิดโอกาสให้โรงเรียนขนาดเล็กทำได้อยู่แล้วว่าจะเรียนในหรือนอกห้องเรียน หรือใช้วิทยากรจากบุคคลภายนอก เราเปิดโอกาสให้อยู่แล้วในระบบการศึกษา แต่หลักสูตรนั้นต้องเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นลักษณะของหลักสูตรขั้นพื้นฐานของสพฐ.ด้วย” ดร.อัมพร กล่าว 

เปลี่ยนโครงสร้างนั่นยาก แต่สิ่งที่เปลี่ยนได้เลยคือห้องเรียน

เวทีสาธารณะประเด็น “นวัตกรรมโรงเรียนขนาดเล็กกับคุณภาพการศึกษาบนฐานชุมชน” ในช่วงบ่าย สะท้อนประสบการณ์ของโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรม และโรงเรียนขนาดเล็กที่นำนวัตกรรม ไปปรับใช้ตาม โดยมีผู้แทนเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียน ครู ที่มาแบ่งปันความสำเร็จในการนำนวัตกรรมไปปรับใช้ตามบริบทพื้นที่

ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย ระบุว่า ที่นำนวัตกรรม Active Learning  เข้ามาใช้ในโรงเรียน เพราะมองว่าหากเปลี่ยนโครงสร้างนั่นยาก มันใหญ่ มันเทอะทะ  แต่สิ่งที่สามารถเปลี่ยนได้เลยคือเปลี่ยนที่ห้องเรียน ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีการสอนของครู 

“ผมตั้งใจว่าอยากเห็นเด็กไทยเป็นคนดี คนเก่ง ครูก็ต้องจัดการศึกษาให้เด็กเป็นคนดีและเก่ง แล้วเราจะมีวิธีการอย่างไร ผมเลยเลือกหาวิธีการโดย ดูจากผลการประเมินเกณฑ์ต่าง ๆ ของโรงเรียน พบว่า “มาตรฐานที่เด็กไทยตก คือ  เรื่องของการคิด” คิดคล่อง คิดไวไม่ได้ ยิ่งคิดระดับสูงทั้งวิเคราะห์สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ก็ไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าเด็กแต่ละคนเก่งคนละด้าน ดังนั้น เมื่อเราออกแบบโรงเรียนขึ้นมา เราจึงยกเครื่องมือ Thinking Tool โดยใช้  OPV (Other People’s views) กิจกรรมที่แสดงถึงมุมมองการคิดของคนอื่นจากสถานการณ์ หรือปัญหา มาเป็นเครื่องมือสอนการคิด คือ ฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝึกคิดมุมมองคนอื่น” ดร.ศราวุธ กล่าว

ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย (คนขวา) ภาพ : Access School

ดร.ศราวุธ กล่าวว่า ตนได้นำเครื่อง OPV มาสอดแทรกเข้าไปในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อที่สุดท้ายค่อย ๆ ลงไปสู่แผนการสอนของครู ส่วนเรื่องคุณธรรม เรื่องจิตศึกษาก็มองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ยังต้องออกแบบการเรียนให้เด็กซึมซับไปด้วย เพราะเชื่อว่าสมรรถนะของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน มีความเป็นเลิศแตกต่างกัน 

สิ่งที่พบจากการนำนวัตกรรมมาใช้ คือรุ่นเด็กที่จบออกไป แล้วเรียนต่อมหาวิทยาลัย มีภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้น มีความเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเกิดจากการเรียนการสอนแบบ active learning ตลอด คือประกอบด้วย 1.ความรู้ (knowledge) 2. ทักษะ (skill) 3. Concept ความคิด 

“เมื่ออดีตการสอนจำอาจจะได้ผลดี แต่ ณ วันนี้ การสอนที่ให้เด็กเข้าใจ มันจำเป็น เพราะเมื่อเข้าใจ จะนำไปวิเคราะห์ และสังเคราะห์ แล้วก็ประเมินค่าได้ ผมเชื่อว่า คนที่คิดได้ในระดับสูง จะไม่จน ไม่ฆ่าตัวตาย และไม่เอาเปรียบสังคม” ดร.ศราวุธ กล่าว

รัตนา บัวแดง ครูโรงเรียนวัดโคกทอง ราชบุรี

ด้าน รัตนา บัวแดง ครูโรงเรียนวัดโคกทอง ราชบุรี  กล่าวว่า จากการที่โรงเรียนได้นำนวัตกรรมมาใช้ ทำให้บริบทของชุมชน สังคม ผู้ปกครอง นักเรียน โรงเรียน และคุณครูมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เพราะว่านวัตกรรมจิตศึกษา ทำให้ทุก ๆ คนอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีศักดิ์ว่ามีความเป็นเด็ก เป็นครู หรือเป็นข้าราชการ หรือว่าประชาชน เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถที่จะกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งกิจกรรมจิตศึกษา ครูนำไปใช้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ มีความสนิทสนม กล้าพูดบางเรื่องที่อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะคุณครูจะไม่บอกว่าอันนั้นผิด อันนี้ถูก ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น

Active Learning ทางเลือกการศึกษาที่เป็นข้อต่อรองในการอยู่รอดของโรงเรียนเล็ก

จากเอกสารข้อมูลโครงการ ACCESS School ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการได้ออกมาประกาศเรื่องนโยบายปฏิรูปการศึกษา ทางโรงเรียนขนาดเล็กหลายพื้นที่จึงเสี่ยงถูกยุบรวม และทางเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษา เห็นต่างกับกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่ควรยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะโรงเรียนขนาดเล็กเป็นสถานศึกษาของชุมชนที่มีสถานะทางสังคม วัฒนธรรมและนิเวศการเรียนรู้คู่กับท้องถิ่น 

เครือข่ายด้านการศึกษาฯ จึงร่วมมือกัน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการทั้งผู้เรียน ชุมชน และโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิด โครงการ  ACCESS School หรือ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อทำการศึกษาวิจัย ทดลองและพัฒนานวัตกรรมต้นแบบการจัดการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็กตามชุมชนแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา

ผลการทดลอง คือ ทางโครงการ ACCESS School ได้หนึ่งในแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก จากการใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning ประกอบด้วย 

1) นวัตกรรม “จิตศึกษา” เป็นเครื่องมือในการพัฒนาปัญญาภายในและบูรณาการผ่าน ‘การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน’ (Problem – based Learning : PBL) และ ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู’​ (Professional Learning Community : PLC) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่เน้นให้เด็กได้รู้จักตัวเอง รู้จักคิดวิเคราะห์ 

2) เครื่องมือสอนคิด (Thinking Tool) มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนที่เสี่ยงต่อการถูกยุบ-ควบรวม ในพื้นที่ต้นแบบ 8 จังหวัด (ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม น่าน กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม) ตามบริบทพื้นที่ จนเกิดผลสำเร็จกับเด็กและครูในกว่า 168 โรงเรียน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ปกครอง ชุมชน และเป้าหมายการศึกษาของชาติได้ ปัจจุบันสามารถเป็นต้นแบบและขยายผลโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลนวัตกรรม Active Learning ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563-2565 (ระยะเวลา3 ปี) ผลที่ได้มีดังนี้ 

1.ภาคเหนือ ประสบผลสำเร็จ 57 โรงเรียน นำโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. น่าน เขต 1โดยมีโรงเรียนแกนนำ 18 โรงเรียน และโรงเรียนขยายผลต่อ 39 โรงเรียน 

2.ภาคกลาง ประสบผลสำเร็จ 37 โรงเรียน นำโดย เครือข่ายโรงเรียนนอกกะลส ภาคกลาง ประกอบด้วย นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี โดยมีโรงเรียนแกน 6 โรงเรียน และมีโรงเรียนขยายผล 31 โรงเรียน 

3.ภาคอีสาน ประสบผลสำเร็จ 115 โรงเรียน นำโดยสมาคมไทบ้าน และ  และสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ ประกอบด้วย กาฬสินธุ์  มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยมีโรงเรียนแกนนำ 20 โรงเรียน และโรงเรียนขยายผล 95 โรงเรียน 

จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สู่แนวทาง “ควบรวม”โรงเรียนขนาดเล็ก

ในปี พ.ศ. 2563 ไทยรัฐออนไลน์ นำเสนอข่าวว่า จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลภายใต้สมัยการขับเคลื่อน ของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีนโยบายการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการจะมีการดำเนินการ “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน 

ภาพ : ไทยรัฐออนไลน์

ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า โรงเรียนในสังกัดปี 2563 จำนวน 29,642 แห่ง มีเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 6,600,745 คน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง-ใหญ่ 14,666 แห่ง มีนักเรียน 5,631,753 คน คิดเป็น 85.32% ของนักเรียนทั้งหมด และโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน อีกจำนวน 14,976 แห่ง มีนักเรียนรวม 968,992 คน คิดเป็น 14.68% ของนักเรียนทั้งหมด 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่ข่าว กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ตรีนุช เทียนทอง ตอบกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรทางการศึกษา ว่ากระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีนโยบายในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งได้มีมาตรการในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แล้วให้ดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ 

ซึ่งการยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และเป็นไปตามความสมัครใจ ความพร้อมของโรงเรียน รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือ เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550 ตลอดจนได้สนับสนุนค่าพาหนะให้กับนักเรียนที่มาเรียนรวมจนจบการศึกษาในระดับชั้นสูงสุดของโรงเรียนหลักด้วย 

 000

รับชมเสวนาย้อนหลัง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ