อยู่ดีมีแฮง : “ผงนัวยางโล้น” ความแซ่บจากเทือกเขาภูพาน

อยู่ดีมีแฮง : “ผงนัวยางโล้น” ความแซ่บจากเทือกเขาภูพาน

เมื่อพูดถึงเครื่องปรุงที่จำเป็นอันดับต้น ๆ ของคนอีสานก็จะนึกถึง “ปลาร้า” แต่ถ้าเป็นมุมสำหรับแม่บ้านบางคน บ้างยังนึกถึงผงชูรส ถึงขนาดหลายบ้านต้องเอ่ยปากออกมาเหมือนกันว่า ขาดอะไรก็ขาดได้ ยกเว้นผงชูรส ซึ่งทำให้กลายเป็นเครื่องปรุงในวัฒนธรรมการทำอาหารแบบใหม่ในภาคอีสาน แต่กลับกันเมื่อชาวบ้านที่บ้านยางโล้น อ.ภูพาน จ.สกลนคร ออกมาแสดงเจตจำนงว่า เราจะเลิกกินผงชูรส และหันมาผลิตผงนัวจากผักและสมุนไพรจากในชุมชนกินเองในชื่อ “ผงนัวยางโล้น

“อยู่ดีมีแฮง” เปิดโอกาสให้ผู้เขียนออกเดินทางไปไถ่ถาม พูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตาได้มีโอกาสสัมผัสรับฟังหลายความฝัน บ้างสำเร็จ บ้างริเริ่ม และบ้างล้มเลิก เพื่อบอกเล่าสื่อสารสู่วงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงข้อเขียนในเว็บไซต์นี้

ผม สันติ ศรีมันตะ จะพาเดินทางไปพูดคุยกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทำผงนัวบ้านยางโล้น ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร กับแม่นวลมณี มุศิริ ประธานกลุ่ม พร้อมกับลูกสาว น้องเนตร เนตรชนก มุศิริ ผู้ที่เข้ามาสานต่อพลังด้วยเครื่องมือของคนรุ่นใหม่ ผงนัวที่กลุ่มนี้กำลังจัดทำขึ้นจะเหมือนหรือต่างจากผงชูรสอย่างไร ชวนคุณผู้ชมออกไปติดตามด้วยกันครับ

จากสุขภาพสู่แรงบันดาลใจ

 “เดิมทีเราเป็นกลุ่มวนเกษตร ที่มีความคิดแนวเดียวกันที่จะสร้างป่าปลูกพืชที่กินได้ เอาผักที่อยู่ในป่าเข้ามาปลูกไว้ในบ้านที่ได้ไม่ต้องไปรบกวนธรรมชาติ เราก็เลยได้ทำในจุดนี้ และอีกอย่างก็เพื่อดูแลสุขภาพด้วย เพราะว่าหากย้อนมองดูคนรุ่นพ่อแม่เรา เขากินแต่พวกสมุนไพร ผักพื้นบ้าน จึงทำให้คนสมัยก่อนมีสุขภาพดี เราก็เลยคิดว่าน่าจะหันมาทำอาหารกินเหมือนแต่ก่อนโดยเริ่มต้นจากผักและสมุนไพรใกล้ตัวเรา” นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำผงนัวของแม่นวลมณี มุศิริ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทำผงนัวบ้านยางโล้น เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่ม เช่นเดียวกับน้องเนตรลูกสาวของคุณแม่นวลมณี ที่หันหลังให้อาชีพครูเพื่อออกมาช่วยแม่และใกล้ชิดกับครอบครัว

“ตัวเราเป็นคนแพ้ผงชูรส เวลากินเข้าไปก็จะคันในปาก พอหันมากินผงผักก็จะไม่มีอาการแพ้ และก็ให้ลูกกินด้วยตั้งแต่ยังเล็ก เวลาทำกับข้าวก็ไม่ได้ใส่ผงชูรส เราสังเกตดูลูกก็แข็งแรงดี ไม่ค่อยป่วย จากการที่ให้ลูกกินมา” ซึ่งเป็นคำบอกเล่าจากน้องเนตรผู้เป็นลูกสาว ซึ่งจากแรงบันดาลใจดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำผงนัวยางโล้นให้เกิดขึ้น

ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้เป็นผงนัว

การเริ่มต้นของกลุ่มได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เพื่อหาวิธีทำผงนัวแทนผงชูรส โดยอาศัยภูมิปัญญาทั้งจากศูนย์อินแปงและจากผู้รู้ในชุมชนเพื่อค้นหาผักและสมุนไพรที่เหมาะสม โดยเริ่มแรก อาจารย์จะให้เน้นอยู่ 3 รส เปรี้ยว หวาน มัน ทางกลุ่มก็เลยคิดว่าผักเรามีความหลากหลายในชุมชน รสชาติ ที่อาจารย์บอกมามันหลายเราสามารถนำมาใช้ได้ไหม อาจารย์ก็บอกว่าได้ เราก็ทำการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับพวกสมุนไพรประเภทต้มแล้วมีสรหวานจากคนรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย และอาศัยการแนะนำจากแฟนคลับที่ไปมีสามีที่นอร์เวย์คอยช่วยเหลือ จนปัจจุบันกลุ่มมีผงนัว 2 สูตรก็คือ

1.สูตรเจ  คือ เหมาะสำหรับคนที่กินเจ

2.สูตรดั้งเดิม ก็คือผงนัวบ้านยางโล้น

เปลี่ยนผัก 13 ชนิด ให้กลายเป็นผงนัว

แม่นวลมณีและเนตรเล่าให้ผมฟังว่า ในเมื่อเราคิดว่าเรามีผักพื้นบ้านจำนวนมาก ดีกว่าตัดทิ้ง ก็เลยอยากเอามาเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่มีในชุมชน เราเลยจะทำให้เกิดมูลค่าและเกิดรายได้ให้กับสมาชิก โดยใช้ผักพื้นบ้าน เหตุผลที่ใช้ผักพื้นบ้านคือ เป็นผักที่เติบโตเองในท้องถิ่นนั้น ๆ เราไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ไม่จำเป็นต้องใส่ใจดูแลมากมาย มันก็เกิดขึ้นมาเพราะมันอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว มันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เป็นผักปลอดสารพิษ จึงเลือกที่จะใช้ผักท้องถิ่น ซึ่งมีผักที่เราใช้ทั้งหมด 13 ชนิด เป็นผักพื้นบ้านทั้งหมด และบางตัวก็เป็นสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณสมุนไพรในตัวอยู่แล้ว  และผักบางชนิดก็มีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 400-500 บาทเลยทีเดียว โดยเลือกซื้อจากคนที่เป็นเครือข่าย สมาชิกกลุ่ม รวมทั้งคนที่อยู่ในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงโดยผักทั้งหมดต้องปลอดสารพิษเท่านั้น

พอได้วัตถุดิบแล้วเราก็นำผักมาล้างและทำความสะอาด เลือกผักเสียออกให้เหลือในส่วนที่ดีไม่มีราในใบ คัดเอาแต่วัตถุดิบที่สมบูรณ์มาล้างทำความสะอาดอย่างน้อยก็ 3 ครั้ง โดยล้างให้น้ำผ่านวัตถุดิบ

นำไปตากสะเด็ดน้ำ นำไปอบในตู้อบ ผักแต่ละชนิดจะใช้เวลาที่แตกต่างกัน เพราะน้ำในผักแต่ละอย่างจะต่างกันตามแต่ละลักษณะของผักที่เอามา อุณหภูมิก็จะอบอยู่ที่ 60 องศาเซลเซียส เพื่อว่าให้คุณค่าของผักให้ยังคงอยู่ให้ได้มากสุด

จากนั้นจะนำไปบดให้ละเอียด เพื่อให้ผักมีความอนุมูลเล็ก ๆ เวลาไปใส่ในอาหารและก็นำมาผสมตามสูตรของกลุ่มที่ลองผิดลองถูกจนได้สูตรที่เป็นปัจจุบันนี้

เสร็จแล้วก็นำมาบรรจุใส่ถุง เสร็จสิ้นก็ทำงานขายได้

เปิดพื้นที่ขายในสังคมออนไลน์ โดยคนรุ่นใหม่

“ช่องทางการขายในตอนนี้ นอกจากจะออกบูธขายตามพื้นที่ ที่หน่วยงานรัฐจัดขึ้นเราก็เลือกที่จะใช้ช่องทางการขายผ่านสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทางเพจและไลน์โดยมีลูกสาวเข้ามาช่วยขาย และเราเองก็ทำหน้าที่ในการผลิต” แม่นวลมณี มุศิริ เล่าให้เราฟัง โดยมีลูกสาวอย่างน้องเนตร เนตรชนก มุศิริ ช่วยยืนยันถึงการเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของการขายทางออนไลน์

“เนตรก็เข้ามาเป็นทัพเสริมไม่ว่าจะเป็นในส่วนงานด้านเอกสาร งานการขายสื่อออนไลน์ ในส่วนที่คนรุ่นพ่อแม่เราไม่ถนัด”เพราะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เราขายผ่านออนไลน์ โดยอาศัยความเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งพอจะรู้ศัพท์ทางการตลาดบ้างบางครั้งก็ศึกษากับเพื่อนบ้าง ก็จะได้ช่วยเติมในส่วนนี้ได้ตอนนี้ขายออนไลน์ ก็เริ่มจะมีตัวแทนจำหน่าย และลูกค้าบางคนก็ให้เราผลิตให้ และบางคนก็ไปขายเป็นแบรนด์ของตัวเอง ถึงเราจะไม่ค่อยเก่งเรื่องการตลาดแต่ก็พอมองหาความเป็นไปอยู่เสมอ และคอยเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มด้วย

โดยนอกจากเนตรจะเข้ามาช่วยงานขายออนไลน์แล้ว เธอยังเข้ามาช่วยจัดการจำพวกงานเอกสาร งานเขียนโครงการ เช่น ถ้ามีโครงการอะไรเข้ามา พวกเราก็จะเข้ามาคิดว่าพวกเราจะทำโครงการอะไร กลุ่มมีปัญหาอะไรบ้าง กลุ่มเรายังต้องการอะไรบ้าง  ซึ่งเนตรก็จะช่วยคิด และเขียนออกมาเป็นโครงการให้

สร้างงาน สร้างรายได้

ตอนนี้สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจของเราก็จะมีอยู่ 30 คน แต่ว่ารวมสมาชิกที่ถือหุ้นนี้มี 64 คน เพราะว่าถือหุ้นในนามเครือข่ายด้วย ถ้าพูดถึงเรื่องของรายได้ สำหรับตัวเองก็ถือว่าเยอะมาก เพราะว่าหลังจากเราทำนาแล้ว เราก็ได้มาทำงานตัวนี้มันก็เป็นอาชีพ ถึงจะไม่ได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็พอทำให้เราอยู่ได้ สมาชิกที่เข้ามาทำงานก็จะพอมีรายได้ด้วย แม่นวลมณีกล่าว

พลังคนรุ่นใหม่กับการสานต่องานคนรุ่นพ่อแม่

ความรู้ที่เราได้มา มันจะเกิดประโยชน์สูงสุดในเมื่อที่เรานำมาใช้ชุมชนของเรา ไม่ว่าเราจะเรียนเรื่องอะไรก็ตาม เกษตร เราก็นำมาใช้ในวิถีเกษตรกรชุมชนของเราได้ เรียนการตลาดก็นำมาช่วยพัฒนาทางการตลาด ทุกอย่างที่เราไปเรียนมาเราสามารถนำมาพัฒนาชุมชนเราได้หมดทุกอย่าง ในเมื่อ พ่อ แม่ เราส่งให้เราไปเรียน เราก็ควรนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาชุมชนของเราให้ก้าวทันกับประเทศอื่น ๆ หากคนที่เก่ง ๆ ทุกวันนี้ก็หันหน้าไปทำงานให้กับบริษัทกันหมด แล้วใครจะมาช่วยพัฒนาชุมชนของเรา ซึ่งบางครั้งชุมชนเราก็ถูกเอาเปรียบ ทำไมพวกเราถึงไม่ศักยภาพที่มีมาช่วยพัฒนาชุมชนของเรา ถ้าเราพัฒนาให้แล้วชนรุ่นหลังเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่มันดีขึ้น แล้วเขาก็จะพาชุมชนของเราพัฒนาขึ้นไปดียิ่งกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และพัฒนาแบบไม่มีสิ้นสุด ก้าวทันประเทศอื่นไม่ว่าจะทางด้านเทคโนโลยี น้องเนตร เนตรชนก กล่าวด้วยความหวังที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่หวนกลับคืนบ้านเกิดเพื่อกลับมาช่วยพัฒนาบ้านตัวเองให้น่าอยู่มากขึ้น

การพูดคุยวันนี้กับแม่นวลมณีและน้องเนตร เนตรชก เต็มไปด้วยความหวังที่มีต่อการจัดการทรัพยากรในบ้านเกิดตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อสุขภาพ รายได้ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งหากขาดกำลังคนวัยทำงาน คนหนุ่มสาวที่เข้ามาลงไม้ลงมือ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในบ้านเกิดของตัวเองแล้ว ก็ไม่อาจจะเป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างชุมชนท้องถิ่นก้าวพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมภายนอก ดังนั้น พลังของคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ