ลองสักตั้ง! แก้ไฟป่าฝุ่นควันด้วยวิธีใหม่ คุยกับผู้ว่าฯ อะไรคือ #เชียงใหม่โมเดล

ลองสักตั้ง! แก้ไฟป่าฝุ่นควันด้วยวิธีใหม่ คุยกับผู้ว่าฯ อะไรคือ #เชียงใหม่โมเดล

เริ่มต้นปี … ฤดูฝุ่นกำลังจะมาถึงพร้อมกับความขมุกขมัวของบรรยากาศรอบตัว  ความชุลมุนกับการไล่ดับไฟ และความอึดอัดหวาดระแวงกับการสูดอากาศเพื่อหายใจ จะมากหรือน้อย แต่มันเกิดขึ้นทุกปี …โอกาสที่สิ่งปัญหาสะสมนับ 10 ปีเหล่านี้จะบรรเทาเบาบางและหายไปได้มีมากแค่ไหน แม้ไม่ง่าย แต่คนเชียงใหม่ยังไม่สิ้นหวัง

 ฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5  กลายเป็น “วาระแห่งชาติ”  ที่ส่งผลกระทบความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ  และยิ่งสำหรับคนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่นอกจากตัวเมืองจะขยายส่งผลต่อกิจกรรมกำเนิดฝุ่นทั้งการจราจร และอุตสาหกรรมแล้ว ด้วยภูมิประเทศโอบล้อมด้วยภูเขา ป่าไม้ผลัดใบ วิถีเกษตรกรรมเพาะปลูกที่ใช้ไฟ และการเกิดไฟป่า  ยิ่งทำให้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่คนในพื้นที่เรียนรู้ว่า จะต้องหาวิธี เตรียมความพร้อมที่จะเผชิญเหตุเมื่อฤดูฝุ่นกำลังจะมา 

แม้โดยอำนาจหน้าที่ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” จะคือหัวหอกที่จะแก้โจทย์นี้ด้วยระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จแบบ Single Command  แต่ตลอดระยะเวลาที่ร่วมทำงานกับภาคประชาสังคมและวิชาการในพื้นที่ “เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นคนเชียงใหม่ รู้ดีว่า ไม่อาจได้สิ่งใหม่ ด้วยวิธีการเดิม ๆ ได้

“เรื่องของฝุ่นควันไฟป่า เราเจอมา 10 กว่าปี แต่ละปีเราพยายามต่อสู้กับมัน แต่เรายังไม่สามารถเอาชนะมันได้  เหมือนเราไล่ตามปัญหา  คลำไม่ถูกจุด ปีนี้เราพยายามไม่ไล่ตาม  แต่ป้องกัน หาจุดที่เป็นการเริ่มต้น เส้นทางใหม่ แนวทางใหม่”

บทสนทนาด้วยภาษากำเมือง ที่เจริญฤทธิ์เอ่ยขึ้นกับทีม The North องศาเหนือ และทีมสื่อสภาลมหายใจเชียงใหม่ ถึงแนวทางใหม่ที่สู้ฝุ่นควันที่กำลังจะมาถึง ในฐานะหัวเรือใหญ่คณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ประจำปี 2564

ไปให้ไกลกว่า Single Command

“เราให้ความสำคัญในเชิงพื้นที่ ที่ผ่านมาอำเภอเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ปีนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อให้เกิดความสามารถในการจัดการครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติเป็นของทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่ ตัวเจ้าภาพจึงมีภาระในการอำนวยความสะดวก หรือจัดให้มีการพูดคุย มีกระบวนการในการพัฒนาข้อมูล ความรู้ หรือมอบหมายแบ่งความรับผิดชอบกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน” ผู้ว่าฯเจริญฤทธิ์ กล่าว

องค์กรท้องถิ่นถือเป็นส่วนราชการที่มีลักษณะพิเศษที่ชาวบ้านเป็นผู้เลือก ไม่ได้แต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอ ขณะเดียวกันองค์กรท้องถิ่นมีงบประมาณ มีเจ้าหน้าที่อยู่ในมือ ปีที่ผ่านมาการใช้เงินขององค์กรส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัดรวมถึงถูกตรวจสอบ ซึ่งทางจังหวัดก็ได้ทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนรวมถึงฝ่ายตรวจสอบว่าเรื่องไฟป่าเป็นภารกิจหนึ่งขององค์กรส่วนท้องถิ่น

ดังนั้นองค์กรท้องถิ่นสามารถสนับสนุนทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ อุปกรณ์ คน เงิน แต่ทั้งนี้ทั้งนี้องค์กรท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เท่ากัน แน่นอนว่าในบางพื้นการสนับสนุนที่แตกต่างกันไป แต่อยู่ถายใต้หลักการว่าองค์กรปกครองส่วนท้องเป็นหน่วยราชการที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และจิตอาสาที่เข้าช่วยลดปัญหา

“ที่สำคัญปีนี้พยายามที่จะไม่วิ่งไล่ปัญหา แต่ป้องกันปัญหา การพูดคุยในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลว่าเกิดปัญหาเป็นประจำทุกปีเกิดจากอะไร เพื่อจะได้ไปวางแนวทางป้องกัน”

ไปให้ไกลกว่า Single Command

6 เงื่อนไขใหม่ #เชียงใหม่โมเดล

1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ลดจำนวน Hot spot พื้นที่ไฟไหม้ จากประมาณ 22,000 จุดในพื้นที่ หรือคิดเป็นพื้นที่ไฟไหม้ 1.3 ล้านไร่ ลงมา 25% พื้นที่ต้องรู้เองว่าปีที่แล้ว hotspot ของตัวเองอยู่ที่ไหน

2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ ประสานงานทุกภาคส่วนให้ทำงานร่วมกันตามเป้าหมายแรก

3. ทุกพื้นที่ตำบลและหมู่บ้านจะต้องมีการทำแผนในระยะเตรียมการ ระยะเผชิญเหตุ ซึ่งแผนนี้จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น พื้นที่สำคัญที่ต้องรักษาหวงแหนไว้ เช่น ผืนป่าแห่งสุดท้าย  พื้นที่ที่ต้องมีการบริหารจัดการ เช่น พื้นที่ทำกิน นอกจากนั้นยังมีพื้นที่แนวกันไฟและการมีแนวป่าเปียก เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าเดิมที่มีความเสียหาย สร้างป่าใหม่

4. การบริหารตามสถานการณ์ แน่นอนว่า มีช่วงเวลาของการประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการว่าจะเข้มงวดเรื่องการเกิดไฟ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการทำแผนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับหมู่บ้าน ซึ่งก็สามารถบริหารจัดการได้ตามปกติ  “ที่ไหนมีความจำเป็นต้องเผาช่วงไหน ในระดับพื้นก็ต้องรีบทำให้เสร็จ และจัดทำ มันเป็นสิ่งที่สามารถทำคู่ขนานกับเรื่องประกาศห้ามเผาได้”

5. เน้นการป้องกัน  คือมีแผนเกี่ยวกับกำลังคน ต้องแบ่งคนให้เหมาะสมกับงานที่ต้องปฏิบัติ ชุดของอาสาสมัครในการลาดตะเวน ระวังป้องกัน ชุดการสนับสนุน ชุดดับไฟซึ่งต้องใช้มืออาชีพเข้าไป ต้องแบ่งให้เกิดความชัดเจน

“ทีมโดรนจิตอาสามีการเตรียมพร้อมแบ่งพื้นที่ดูแลในพื้นที่โซนเหนือและโซนใต้ของเชียงใหม่ เพื่อเอาโดรนไปสนับสนุนในการดับไฟในการบินสำรวจเพื่อความปลอดภัยในการดับไฟ เจ้าหน้าที่ควรเข้าออกทางไหน ลมมาทางไหน หรือแม้กระทั่งไฟดับไปแล้วโดรนอาจต้องขึ้นบินอีกทีว่าสภาพเป็นอย่างไร เพราะในปีที่แล้วมีกรณีที่ไฟลุกอีกครั้งหลังดับไปแล้ว”

6. เรื่องงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นหน่วยหลัก ซึ่งงบประมาณหรือศักยภาพของแต่ละที่อาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งเราก็มีอบจ. ที่จะเข้ามาเติมเต็มในแต่ละพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มีความตื่นตัวสูงมาก พยายามจะเข้ามาช่วย บริจาคเงิน สิ่งของ และจัดระบบ

“เราเอาบทเรียนปีที่แล้วมา ซึ่งการทำงานอาจไม่เป็นเอกภาพ การบริหารจัดการในปีนี้จึงพยายามจะสร้างองค์กรขึ้นมา ช่วยประสานงานและถ่ายเททรัพยากรให้กับทุกพื้นที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตรงนี้จะมีการหารือภาคเอกชน ภาคประชาชน หน่วยงานราชการทั้งหลาย ว่าต่อไปนี้ถ้าจะช่วยเหลือในเรื่องต่อไปนี้ให้ส่งมาที่ศูนย์นี้โดยตรง”

#เชียงใหม่โมเดล ปีใหม่ มีอะไรใหม่ๆ กับมาตรการเเก้ฝุ่นควันเชียงใหม่ชวนดูคลิปนี้ เปิดใจผู้ว่าฯเชียงใหม่ กับโมเดลไม่สำเร็จรูปในการแก้ฝุ่นควัน#TheNorthองศาเหนือ X #WEVOสื่ออาสาสู้ฝุ่น#สภาลมหายใจ#ThaiPBS

ชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง อปท.เป็นหลัก อำเภอ/จังหวัด/ภูมิภาคเป็นฝ่ายหนุน

“ความสำเร็จนี้อยู่ที่เราทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นพี่น้องประชาชน ภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ เราต้องมาช่วยกัน โดยไม่ต้องโยนหน้าที่กันไปมา ต้องช่วยกันส่งความคิดเห็นเข้ามา เพราะทุกเสียงมีความหมาย ไม่ว่าจะแจ้งตรง ส่งผ่านสื่อมวลชน หรือทางสื่อสังคมออนไลน์ มันจะเป็นสิ่งที่ช่วยกันประกอบทำให้การแก้ปัญหาทำได้ดีขึ้น”

สิ่งที่ได้ประชุมร่วมกัน ในพื้นที่เมืองจะมีการรณรงค์การลดปริมาณรถให้มากที่สุด ส่วนนอกเมืองจะลดสาเหตุของฝุ่นควัน pm 2.5 จากการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก โดยการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

“เรายอมรับว่ามันเป็นความจำเป็นของการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่นอกเมือง โดยการรวบรวมข้อมูลว่าแต่ละพื้นที่นั้นมีความจำเป็นในห้วงเวลาใด ที่ผ่านมาได้รับเสียงสะท้อนว่าการห้ามเผาเด็ดขาดอยู่ในห้วงของการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ณ ขณะนี้เรากำลังให้มีการปรึกษาหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ชาวบ้าน ว่าห้วงเวลาที่เหมาะสม คือ เมื่อไหร่ แต่ละพื้นที่มีขนาดเท่าไหร่ หรือมีวิธีการในการจัดการหรือไม่ เช่น ปีที่ผ่านมามีการนำใบไม้มาอัดเป็นก้อนและขายเข้ากองทุนหมู่บ้าน ปีนี้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดเป้าหมายว่าในช่วงก่อนจะมีไฟป่าจะนำเศษใบไม้ออกมาอัดให้มากที่สุด ตรงนี้ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ใหม่”

ม่ห้ามเผาแล้วจะหมู่เฮาจะยะจะได?

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ อธิบายว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่จะมีการใช้ไฟ ก็มีการขอให้แต่ละพื้นที่ทำข้อมูลมาเพื่อจะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาคำนวนห้วงเวลาที่เหมาะสมที่เจะจัดการได้ และะทำให้เกิดผลกระทบ pm2.5 น้อยที่สุดนั้นอยู่ช่วงเวลาไหน จากนั้นก็จะมีการจัดคิวโดยใช้เทคโนโลยีการอ่านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถึงแม้จะได้รับอนุญาตเผาแต่ก็อาจต้องหยุดเผา หรือชะลอออกไปก่อนและสลับคิวกันใหม่ โดยจังหวัดจะเชิญกลุ่มกรรมการหมู่บ้าน คณะทำงานpm2.5 ของแต่ละตำบลจะมาดูข้อมูล ทำข้อมูลด้วยกันและส่งลำดับการเผาให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถจัดการควบคุมไฟได้ หรือหากจะมีผลกระทบpm2.5 ก็ให้มีปริมาณน้อยที่สุด

 “เรื่องประกาศห้ามเผาก็จะมีการแจ้งเตือนตามปกติ ต้องเข้าใจว่าปกติถึงไม่มีการประกาศห้ามเผาในพื้นที่สาธารณะหรือเขตป่า การเผาก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้วทั้งกฎหมายสาธารณสุขหรือกฎหมายของท้องถิ่นที่ควบคุมอยู่ บางห้วงก็อาจจะมีการผ่อนปรนเพราะเข้าใจว่าเป็นวิถีในการประกอบอาชีพ แต่ในช่วงที่ห้ามเผาหมายความว่าตอนนั้นสภาพภูมิอากาศกำลังแย่ หากเผาก็จะทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถึงมีการห้ามเผาโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตามเราถึงเอาเรื่องความรู้-วิชาการ เอาเรื่องของการมีส่วนร่วม เอาเรื่องควบคุมบริหารจัดการทางป่าไม้ มันก็จะเป็นอีกแนวทางใหม่”

ขณะเดียวกันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ก็มีเป้าหมายเพื่อที่จะลดปัญหาลงให้ได้ ก็จะเป็นตัวชี้วัดการทำงานสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน และอาจจะมีเป้าหมายลดปัญหาจากปีที่ผ่าน 25% ขณะเดียวกันเรามีข้อมูลทางวิชาการว่าพื้นที่ใดไหม้ซ้ำซาก เป็นไข่แดงที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ที่มา : มาตรการควบคุมการเผาและการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ปี พ.ศ. 2564 ของจังหวัดเชียงใหม่ (ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563)

หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

1 จังหวัด 25 อำเภอ 204 ตำบล 2,066 หมู่บ้าน 20,107.057 ตร.กม.

9 จังหวัดเหนือ เชียงใหม่ คือ แชมป์ จุดความร้อนสะสม 2,155 จุด

  • พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,009 จุด
  • พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,000 จุด
  • พื้นที่เขตสปก. 62 จุด
  • พื้นที่เกษตร 25 จุด
  • พื้นที่ริมทางหลวง 2 จุด
  • พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 57 จุด

2,085 จุดความร้อน ระหว่างมีประกาศห้ามเผา (10 ม.ค. -30 เม.ย.)

เลื่อนแถบแสดงจุดความร้อนสะสมระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2563 กับจุดความร้อนสะสมระหว่างประกาศห้ามเผา ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ** ช่วงวันห้ามเผาของแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกันไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ