วงแชร์ : ฟังเสียงเพื่อนบ้าน “ในวันที่โรคมองเราเท่ากัน”

วงแชร์ : ฟังเสียงเพื่อนบ้าน “ในวันที่โรคมองเราเท่ากัน”

โควิดระลอกใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงเวลาส่งท้ายปี เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องตั้งการ์ดสูงและป้องกันเข้มข้น แต่แม้ว่า โรค จะไม่เลือกว่าจะเกิดขึ้นกับคนชาติไหน เราทุกคนต่างเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่เมื่อเกิดเหตุระลอกใหม่ที่มหาชัย จุดศูนย์กลางตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยพี่น้องแรงงานเพื่อนบ้าน จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษทั้งในพื้นที่มหาชัยและทั่วประเทศ  

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแรงงานคืออะไร มีการดูแลจัดการในหมู่พี่น้องแรงงานและผู้เกี่ยวข้องมากแค่ไหน และขยับไปถึงระดับนโยบาย โควิดเปิดแผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงและรักษาแก้ไขอะไรในระบบบ้าง

ทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอสและเครือข่ายฯ ตัวแทนภาคแรงงาน และภาควิชาการ ร่วมกันตั้งวงแชร์ ฟังเสียงเพื่อนบ้าน ในวันที่โรคมองเราเท่ากัน  

คุยกับ

  • Ma Yar Zuu (มา ยา ซู) แรงงานชาวเมียนมา จ.เชียงราย
  • Khaing Min Lwin (คายน์ มิน ลวิน) – อาสาสมัครกลุ่มผู้ใช้แรงงานและทำงานมูลนิธิรักษ์ไทย – ชาวเมียนมา จ.สมุทรปราการ (บางปู)
  • Ko Thar Aye (โก ตาร์ เอ) แรงงานชาวเมียนมา อาสาสมัครกลุ่มช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
  • แจ็ค มูลนิธิ มูลนิธิ LPN มหาชัย จ.สมุทรสาคร
  • Ye Min (เย มิน) ชาวทวาย จากมูลนิธิ FED จ.พังงา
  • Min Latt (มิน แล็ต) ชาวทวาย ชุมชนวัดไผ่ตัน กรุงเทพฯ
  • สิทธิพร เนตรนิยม กลุ่มสู่รู้เรื่องพม่า นักวิชาการศูนย์วิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับสารคดีโยเดียที่คิด(ไม่)ถึง และ ภาพยนตร์ From Bangkok to Mandalay
  • สืบสกุล กิจนุกร ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ ม.แม่ฟ้าหลวง
  • รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ชวนแชร์โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ จากไทยพีบีเอส และ วิชัย จันทวาโร จากเสมสิขาลัย  

และนี่คือบทสนทนาผ่าน Zoom ที่เต็มไปด้วยชีวิตและเรื่องราวของมนุษย์ที่กำลังร่วมกันหาทางรอดและทางออกจากวิกฤติโรคระบาดครั้งสำคัญของยุคสมัย

Q : อยากให้คุณแจ็ค จากมูลนิธิ LPN มหาชัย จ.สมุทรสาคร เล่าให้ฟังหน่อยว่าสถานการณ์ในพื้นที่มหาชัยเป็นอย่างไรบ้าง 

A : พื้นที่มหาชัยตอนนี้ หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาควบคุมพื้นที่ทั้งตลาดกุ้ง เพื่อให้พี่น้องมหาชัยอุ่นใจ ไม่ว่าเป็นพี่น้องชาวไทยหรือชาวเมียนมาเราก็ยังเป็นคนมหาชัยเท่ากันอยู่ ซึ่งความเป็นอยู่ของพี่น้องเมียนมาในมหาชัยตอนนี้ ถ้ายกตัวอย่างเช่น ในชุมชนตลาดกุ้งและระหว่างตลาดต่าง ๆ จะมีความแตกต่าง เช่น ตลาดที่ไม่มีการล็อกรั้วไว้ ก็ยังสามารถเข้าออกได้อยู่ พี่น้องประชาชนทุกคนยังสามารถเข้าออกดินทางได้ตามปกติ และมีคำสั่งของผู้ใหญ่ให้ทุกคนทำตามคือสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่เท่าที่สังเกตตามที่สื่อที่เป็นพี่น้องอาสาสมัครของเราถ่ายภาพในชุมชนตลาดกุ้งแล้วมา ยังมีบางส่วนไม่มีหน้ากากอนามัยใส่ หน้ากากอนามันยังขาดแคลน เข้าไม่ถึงหรือเปล่า เนื่องจากการใช่ชีวิตในนั้นแรงงานคิดว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วต้องอยู่กันในนั้นอยู่แล้ว แต่ยังมีบางส่วนใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง ภาพที่พี่น้องอาสาสมัครส่งมา พบว่าใส่หน้ากากอนามัยกันร้อยละ 50 ส่วนตลาดอื่นที่ไม่ได้มีการล้อมรั้วเอาไว้ก็จะเข้าง่ายหน่อย มีการใส่หน้ากากอนามัย

Q : ในเรื่องของการกินอยู่ล่ะคะ เห็นภาพล่าสุดของ LPN ระดมของส่วนหนึ่งไปให้พี่น้องแรงงาน และถ้าดูจากหน้าสื่อแล้ว จะมีพี่น้องแรงงานจากที่อื่นพยายามจะเอาของให้ของกินไปให้ รวมถึงนายจ้าง บางส่วนยังพอเห็นภาพตรงนั้นอยู่หรือไม่คะ

A  : ยังเห็นอยู่ครับ เรื่องของการนำเอาอาหารต่าง ๆ ที่ไปพี่น้องแรงงานส่วนหนึ่ง อยากจะขอบคุณพี่น้องคนไทยทุกคนและพี่น้องชาว NGO ของทุกส่วนทุกกลุ่ม รวมถึงสถานทูตเมียนมา ที่นำเอาอาหารไปให้พี่น้องแรงงาน เวลานี้เรื่องอาหารการกินพี่น้องแรงงานของเรายังไม่ค่อยมีปัญหา เพราะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่ความกังวลหลัก ๆ ของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ คือ โควิดเข้ามากระทบต่อให้การใช้ชีวิตและการทำงาน เพราะยังมีภาระรายจ่าย ทั้งค่าเช่าห้อง และเรื่องเด็ก ๆ เยาวชนและผู้หญิง กลุ่มเปราะบาง อยากให้เจ้าของห้องเช่าเห็นใจส่วนนี้ โควิดทำให้งานจำนวนหนึ่งหายไป ไม่ได้รายได้ตามปกติเหมือนเมื่อก่อน  

“พอตลาดปิด ค่าแรง ค่าจ้างไม่รู้จะหามาจากไหน อีกไม่กี่วันจะสิ้นเดือนก็ต้องจ่ายค่าเช่าแล้ว และถ้าโควิดยังอยู่อีก 3-4 เดือนก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร” เป็นคำถามหลักของพี่น้องแรงงาน พวกเขาจะอยู่อย่างไรต่อไป และในรอบนี้หนักกว่าในรอบแรก เพราะตอนนั้นยังมีเงินเก็บกันอยู่ พอรอบนี้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานได้รับผลกระทบกันทุกคน 

นอกจากนั้น ปัญหาอื่น ๆ ในตลาดกุ้งคือ เนื่องจากมีคนจำนวนมาก ล่ามและอสต.ที่รู้ภาษาอาจไม่เพียงพอ จากข้อมูลที่เรามีคือประมาณ 95% ได้รับการตรวจโควิด-19 แล้ว ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้ตรวจ ถ้าเป็นเด็ก ๆ เราก็ถามเขาว่าอายุเท่าไหร่ถึงจะตรวจได้ ต้องเด็กอายุ 9 เดือนขึ้นไปจะตรวจได้

ภาพ : มูลนิธิรักษ์ไทย

Q : อยากชวนไปพูดต่อกับ Min Latt (มิน แล็ต) ชุมชนวัดไผ่ตัน กรุงเทพมหานคร  สถานการณ์ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง

A : ที่นี่ตอนนี้เริ่มดีขึ้น ในช่วงแรก ๆ มีการคัดกรอง คัดแยกกันไปเมื่อ วันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา ตรวจโควิดแรงงานเมียนมาไปบางส่วนและมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น เช่น ผู้ที่มาซื้อของมีความรังเกียจที่รู้ว่าเด็กในร้านเป็นแรงงานเมียนมา หรือแม้กระทั้งพี่น้องแรงงานเมียนมาไปซื้อของยังร้านค้าแล้วไม่ขายให้ เกิดความเกียจชังกันด้วยโรคนี้ ในส่วนของรายได้ตอนนี้ยังคงปกติและพื้นที่นี้ยังคงทำงานกันอยู่ แต่ในอนาคตหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้แนวโน้มการทำงานของแรงงานเมียนมายังคงไม่แน่นอนว่าจะเปลี่ยนไปไหม ส่วนในเรื่องของการใช้ชีวิตนั้นแรงงานพม่าในตลาดอตก. ยังมีความกังวลใจอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างไรพวกเขายังต้องทำงาน ในส่วนของการตรวจผู้ที่เข้ามาในชุมชนนั้นทางผู้ที่จะเข้ามาต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านและตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองตามขั้นตอน ก่อนเข้ามายังพื้นที่ชุมชน และคนที่ไปยังที่อื่นออกจากชุมชนพอกลับเข้ามาแล้วก็ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ก็จะมีการตรวจคัดกรองอีกที

Q : อยากชวนไปพูดต่อกับ Ye Min (เย มิน) มูลนิธิ FED จ.พังงา แลกเปลี่ยนพี่น้องชาวแรงงานเมียนมาหรือว่าพี่น้องแรงงานอื่น ๆ ทางใต้ เป็นอย่างไรบ้างตอนนี้

A : ในส่วนของจังหวัดพังงา แรงงานที่เข้ามาทำงานหลัก ๆ มี 3 ส่วนประกอบด้วย ภาคบริการ ภาคเกษตรและภาคประมง ภาคบริการนั้นตกงานตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม โควิดรอบสองจึงมาซ้ำเติม แรงงานบางส่วนประมาณ 200 กว่าคนเดินทางกลับบ้านที่เมียนมา ส่วนที่ยังอยู่ก็รองานจากโรงแรมและร้านอาหารที่ขายให้ชาวตะวันตก ส่วนแรงงานในภาคเกษตรก็พบว่ามีแรงงานจากภาคบริการย้ายไปทำงานในสวนยางและสวนปาล์มมากขึ้น และยังคงอยู่ได้เพราะไม่มีค่าเช่า น้ำไฟ ส่วนแรงงานในภาคประมงได้รับผลกระทบเล็กน้อยยังออกทำงานตามปกติ แม้จะส่งสินค้าไปประเทศจีนได้น้อยลง มีบางส่วนที่ออกทะเลไม่ได้เพราะส่งสินค้าไปไม่ได้ แต่ในส่วนของลูกเรือยังคงเดินทางได้ปกติ

 “ส่วนในเรื่องการดูแลป้องกันโควิด ก็ต้องมองในเรื่องกฎหมายหรือประกาศที่เลือกปฏิบัติที่ออกมา เช่น ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว มีผลเขาจะเกิดความรู้สึกหรือได้รับผลกระทบ เช่น ไม่ขายตั๋วรถ ไม่ยอมให้ขึ้นรถ หรือให้เช่าบ้านเป็นต้น” 

ในส่วนของแรงงานที่ตกงาน เขาได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคม 3 เดือน ก็รวมกันเช่าบ้าน ไปขอตัดยาง หรือรับบริการรายวันแต่ยังอยู่ในเมืองไทย แรงงานหลาย ๆ คนอาจจะเข้าสวน รับงานเป็นจ็อบ ๆ ที่ยังกลับมาเมียนมาไม่ได้ยังคงประคับประคองได้แต่ยังรอการช่วยเหลือ ถึงแม้จะกลับเมียนมาไปอาจจะมีปัญหาในการกลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง

แต่ก็มีคนที่ตกงานหลายคน กำลังพยายามหานายจ้าง เพราะมิเช่นนั้นจะหลุดออกจากระบบ ไม่สามารถไปรักษาพยาบาลได้ ถ้าให้ออกไปต้องหานายจ้างให้ได้ 7 – 10 วัน ตอนนี้ถึงหลักร้อยคนเพราะมีแรงงานตกงานเยอะ ตกงานแล้วไปหางานใหม่ ช่วงนั้นถ้าไม่เปลี่ยนนายจ้างจะเจออยู่ 2 ข้อหาคือไม่เปลี่ยนนายจ้างและไม่ได้เปลี่ยนงาน

Q : ชวนไปพูดต่อกับ  Ma Yar Zuu (มา ยา ซู) จ.เชียงราย ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ และได้รับทราบว่ามา ยา ซู เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

A : ค่ะ ตัวเองทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ที่นี่แรงงานมีปัญหาหลายเรื่องในการทำงาน คนเมียนมาตกงานเยอะเพราะนายจ้างยกเลิกงาน สั่งหยุดงานเพราะกลัวติดโควิด ตอนนี้หลาย ๆ คนไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าเช่าห้องและค่าอาหารในแต่ละวัน สามีตกงาน ภรรยาท้องและมีลูกหลายคน ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอต่อรายจ่าย และอีกทั้งยังถูกมองเหยียด เช่น ถ้าคนเมียนมาต้องการหาห้องใหม่ ผู้ให้เช่าไม่ให้เช่าเพราะคิดว่าคนเมียนมาติดโควิด เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือแพร่เชื้อ ปัญหาค่าแรงนายจ้างลดค่าจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้างบ้าง ค่าแรงไม่มีพอให้ ไม่มีหน่วยงานดูแลคนเมียนมาโดยตรง คนเมียนมาติดโควิดโทษแต่คนเมียนมา แม่ค้าจะชอบบอกว่าไปไหนมาไปเมียนมามาหรือเปล่า มองคนเมียนมาเป็นตัวเชื้อโรค

นอกจากนั้นถ้าตกงานต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 3 วัน และมีปัญหาเรื่องการต่ออายุบัตรด้วยค่ะ การจะไปต่อบัตรมันยากเพราะต้องไปต่อที่กรุงเทพมหานคร และอีกสิ่งคือการที่จะดูแลรักษาตัวเองหน้ากากอนามัยก็เข้าถึงยาก

 “อย่างตัว มา ยา ซู ทำงานในร้านอาหาร 3 เดือนแต่ได้รับค่าจ้างเพียง 2 เดือน เพราะนายจ้างขอติดไว้ก่อนเนื่องจากไม่มีลูกค้า”  

ภาพ : ข้อเสนอที่ มา ยา ซู ร่างไว้เตรียมนำเสนอในวงแชร์วันนี้

“คนเมียนมาที่เชียงรายรู้สึกน้อยใจที่ถูกหาว่าเป็นตัวแพร่โควิด กำลังเผชิญความเครียดในชีวิตประจำวัน เพราะแม่ค้าไม่อยากขายของให้ หรือต้องถามก่อนว่าเพิ่งมาจากเมียนมาหรือเปล่า คนเมียนมาไม่มีงานทำ ไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง หรือซื้อของกินและไม่ได้รับการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ เจลล้างมือก็หาซื้อยาก ไม่เพียงพอ แต่พวกเราก็อยากอยู่ที่นี่ต่อ” 

Q : อาจารย์​สืบสกุล กิจนุกร ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ ม.แม่ฟ้าหลวง ก่อนหน้านี้จังหวัดเชียงรายมีการระบาดไปแล้ว 1 ระลอก มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นบ้างไหมในพื้นที่ทางเหนือ

A : มี 2 ส่วน ส่วนที่คนไทยที่ข้ามกลับมาจาก จ.ท่าขี้เหล็กก็ยังทยอยกลับมาเรื่อย ๆ โดยทางจังหวัดมีการจัดให้อยู่ในสถานกักกันของภาครัฐ ซึ่งมีการให้กักตัว 14 วันอาจจะมีการพบคนไทยที่ข้ามจากท่าขี้เหล็กติดเชื้ออยู่ ส่วนตั้งแต่การระบาดเกิดขึ้นในจ.สมุทรสาคร ก็มีการสุ่มตรวจแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ประมาณ 1,000 กว่าราย ที่เชื่อมโยงกับสมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. แต่ก็ยังไม่พบการติดเชื้อ แต่หลายคนเกิดความเครียดขึ้นมากกว่า

ในด้านความช่วยเหลือ หน้ากากเจลล้างมือยังคงมีความจำเป็นให้กับพี่น้องแรงงานข่ามชาติ ในเชียงรายมี อสต. มีอยู่บ้างแต่ค่อนข้างน้องแต่เรามีกลุ่มของเราเองศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เราก็ทำงานอยู่กับ 10 ชุมชนคลายมาตรการในเขตตัวเมืองเชียงรายตั้งแต่การระบาดรอบแรก เราทำทะเบียนประวัติวัดไข้ทุกวัน แม้ระยะหลังจะมีผ่อนลงไปบ้าง แต่ในปีหน้าจะมีการทำงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดที่จะฝึกอบรมแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานร่วมกับ อสม. ใน จ.เชียงรายด้วย 

Q : ชวนไปพูดต่อกับ โก ตาร์ เอ (Ko That Aye) อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  

A : ผมอยู่เมืองไทย 10 กว่าปี ได้จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครคนเมียนมาในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมด้านต่างในชุมชนพระประแดง พอโควิดรอบสอง โรงงานที่ผมทำอยู่ยังไม่พบการติดเชื้อหรือมีการแบ่งแยก แต่ทราบข่าวจากชุมชนรอบข้างว่าตกงาน หรือนายจ้างให้หยุดงานจนถึงปีใหม่ ใช้ชีวิตได้ยากลำบากขึ้น เพราะเจอการแบ่งแยก เช่นเดียวกับหลาย ๆ พื้นที่ นอกจากนั้นแรงงานในหลายพื้นที่ยังมีความกังวลถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรทั้งการต่อเอกสาร ใบอนุญาตการทำงาน 

“โรคไม่ได้เลือกเชื้อชาติ ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้ถือโทษโกรธคนไทยทั้งหมด เพราะมีคนไทยอีกมากที่ดูแลคนเมียนมา ให้ความห่วงใย หรือประกาศว่ามาซื้อของได้ ซึ่งเราต้องร่วมกันรับมือโควิดโดยไม่แบ่งแยก” 

ผู้คนมองว่าโรคนี้เกิดมาจากคนเมียนมา ต้องสื่อสารใหม่ว่าเราไม่ได้มองว่าคนไทยมองคนเมียนมาไม่ดีเพียงอย่างเดียว  เรายังได้รับความช่วยเหลืออยู่กับคนไทยในบางส่วน กลุ่มอาสาสมัครเพื่อรับมือมีทั้งคนที่สามารถสื่อสารภาษาไทยและเมียนมาได้ เพื่อประสานงานหรือทำงานต่อในอนาคต อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เกิดกำลังใจว่าพวกเราไม่มีการแบ่งแยก ได้มีการสื่อสารการให้กำลังใจกันในออนไลน์ เพื่อสามารถสร้างกำลังให้พวกเขาว่ายังมีคนที่ยังคอยช่วยเหลือเขาอยู่ ในท้ายที่สุดไม่อยากถูกแบ่งแยก แต่อยากให้แก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมกัน

Q : ชวนไปพูดต่อกับคุณ Khaing Min Lwin จากมูลนิธิรักษ์ไทย พูดถึงภาพรวมแรงงานในสถานการณ์ตอนนี้ ที่ลงพื้นที่กับมูลนิธิรักษ์ไทย   

A :  เราพบการติดเชื้อมาในวันนี้ก็เป็นวันที่ 9 แล้ว (27 ธ.ค.2563 ) แต่ 1 สัปดาห์พบว่าแรงงานเมียนมาที่เป็นแม่บ้านพ่อบ้านตกงาน ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องลดพนักงานและการทำงาน หรือถูกลดวันทำงานลง หรือหางานรายวันยากขึ้น และด้วยความที่เราเป็นแรงงานเมียนมา เราจะหางานยากขึ้นเพราะด้วยกระแสสังคมของคนไทยที่เชื่อว่าเชื้อโรคมาจากแรงงานเมียนมา จะไม่รับแรงงานเมียนมาเข้าทำงาน ถูกปฏิเสธ ความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีผิดถูก แต่เป็นความไม่ชัดเจนและไม่เข้าใจในการตรวจหาเชื้อโควิด

ในวันที่หน่วยงานประกาศให้ผู้ที่เดินทางมายังตลาดมหาชัย ให้เข้าไปตรวจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แรงงานเมียนมาไปตรวจ โรงพยาบาลบางแห่งมีค่าใช้จ่าย บางแห่งฟรี แต่ด้วยความที่แรงงานต่างด้าวลำบากในเรื่องของภาษาแรงงานเข้าไม่ถึงในเรื่องของการสื่อสาร วิธีในการกักตัว และล่ามไม่เพียงพอ นี่คือความยากของแรงงานที่ทำให้ไม่กล้าไปเพราะไม่เข้าใจให้ข้อมูล และเมื่อแรงงานไปเข้าข่ายตรวจเชื้อโควิด แต่หน่วยงานไม่ได้มาตรวจหาเชื้อโควิดอย่างเดียว หน่วยงานไม่ควรจะรวมเรื่องของการตรวจเชื้อและไล่จับแรงงานที่ไม่มีเอกสาร

ความไม่ชัดเจนของการตรวจเชื้อโควิดของหน่วยงานหรือการสื่อสารกับแรงงานในเรื่องค่าบริการ ทำให้แรงงานเกิดความเครียด ที่ถูกมองว่าแรงงานเมียนมาเป็นผู้ที่นำเชื้อเข้ามา และเรื่องของหน่วยงานที่ชี้เป้ามากลุ่มแรงงานโดยเฉพาะ ก็เกิดความไม่พอใจว่าตรวจเพียงแค่กลุ่มแรงงานพม่า ทำไมไม่ตรวจแรงงานคนไทย อยากให้เราทุกคนยึดหลักความเข้าใจ

Q : หลังจากฟังเสียงของพี่น้องแรงงานแล้ว ไปคุยกับ คุณสิทธิพร เนตรนิยม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มีเหตุผลอะไร ที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานเมียนมาถึงอยู่ในประทศไทยมากขนาดนี้

A:  การพัฒนาสมุทรสาครเป็นไปตามแนวคิด “แดนประมง ดงโรงงาน ลานเกษตรกร” ของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ แสดงถึงความตั้งใจให้สมุทรสาครเป็น และความสำเร็จคือการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพี่น้องแรงงานเหล่านี้ ขณะที่คนไทยไปทำงานในโรงงานญี่ปุ่น ทำให้แรงงานเมียนมาเข้ามาเพราะไม่มีคนไทยทำการประมงและการเกษตร จึงเป็นแรงดึงดูดให้ต้องมีการนำเข้าแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นความต้องการแรงงานเพื่อนบ้านจึงมีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดการตื่นตระหนกและมองว่าแรงงานเมียนมาเป็นต้นตอ อยากจะให้เข้าใจและทราบถึงภูมิหลัง

การมองแรงงานของรัฐมองจากข้างบนลงจากข้างล่าง เพราะเป็นการ Top Down พื้นฐานยังไม่ทันได้ปรับตัวมีนโยบายจากข้างบนจริง แต่นโยบายจากท้องถิ่น ไม่จะเป็นความพร้อมในด้านโครงสร้าง การจัดผังเมือง เพิ่งมาเมื่อปี 2556 เพื่อวางผังเมืองอย่างเป็นระบบจริง ๆ เพื่อรองรับการทำให้เมืองตัวเองเป็นอุตสาหกรรม

“การวางนโนบายที่ผ่านมาเป็นลักษณะจากบนลงล่าง แต่การพัฒนาความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ถูกพัฒนาทีหลัง ไม่ทันท่วงทีกับการเติบโตของจึงทำให้เกิดสภาพแออัด ไม่มีการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมจนกลายเป็นรังโรคได้”

Q : คุยต่อกับ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อาจารย์ฟังภาพรวมทั้งหมดที่ผ่านมาแล้วห็นภาพและปัญหาอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยสำคัญ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปช่วยก่อน :

A :  ถ้าเราดูตัวเลขแรงงานข้ามชาติ ก่อนเกิดโควิดในต้นปี ตัวเลขแรงงานอยู่ที่ 2.8 ล้านคนปัจจุบันอยู่ที่ 2.3 ล้านคน ที่อยู่ในระบบ แสดงว่าในช่วงโควิดตังแต่ช่วงเดือนมีนาคม – ปัจจุบัน แรงงานหายไปจากระบบ 5 แสนคน

5 แสนคนตรงนี้หายไปไหน? ส่วนหนึ่งกลับประเทศเมียนมาไปแสนกว่าคน ส่วนหนึ่งอาจจะยังอยู่ในประเทศแต่ตกงาน หรือมีนายจ้างอยู่แต่ทำให้ไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีเอกสาร ต่ออายุไม่ทันต่าง ๆ 3-4 แสนคน ตรงนี้จากเดิมที่อยู่ในระบบพวกเขาเหล่านี้ก็หลุดออกจากระบบไปเลย

ถ้าเรามองว่าพี่น้องแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญมากแค่ไหน ให้ดูตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบ 10% ของแรงงานไทยซึ่งถือว่าเยอะมาก ถ้าคิดเอาแรงงานที่ไร้ฝีมือยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นพี่น้องแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศมาก ๆ GDP พี่น้องแรงงานข้ามชาติมีส่วน มีการศึกษาออกมาว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมีส่วนแบ่ง 4-6% ของรายได้ต่อปี คิดเป็นประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเยอะมาก และพี่น้องแรงงานนำเงินกลับประเทศประมาน 3 แสนล้านบาท ทั้งเพื่อไปพัฒนาประเทศและส่งเงินกลับไปยังครอบครัวเพราะฉะนั้นช่วยเศรษฐกิจไทยและยังกลับไปช่วยบ้านตัวเองอีกด้วย

อุตสาหกรรมที่พี่น้องแรงงานทำ ประมง ก่อสร้าง เกษตร นอกจากนั้นยังอยู่ในอุตสาหกรรมผลิต จำหน่าย งานบริการ ขายของ โรงแรม อยู่ในงานเซกเตอร์ที่ต่าง ๆ ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่คนไทยไม่ทำ แล้วถ้าเราดูแล้วถามว่าคนไทยหายไปไหนหมด เหตุผลอะไรที่เราต้องพึ่งพิงน้องแรงงานเพราะอัตราการเกิดของประเทศไทยน้อยลง เข้าสู่สังคมสูงวัยเรามีแรงงานหนุ่มสาวน้อย ในขณะที่ภาคการผลิตจำเป็นที่จะต้องใช้ความเข้มข้นในการผลิตอยู่ และในขณะเดียวกันแรงงานไทยมีการศึกษาที่สูงขึ้นเพราะฉะนั้นเขาไม่อยากทำงานที่ยากลำบาก หรือคนไทยอาจมีปัญหาสังคม การติดคุก ติดยาไม่ทำงาน เราเห็นชัดเจนว่าพี่น้องแรงงานเพื่อนบ้านไม่ได้เข้ามาแย่งงานคนไทยทำ

เราจะเห็นในช่วงโควิดว่าพี่น้องแรงงานไทยตกงานเยอะ และไม่เอาแรงงานเข้ามาเพราะเราจะต้องช่วยแรงงานไทยก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ที่จันทบุรีเป็นตัวอย่างคือแรงงานขาด สิ่งที่ปรากฏคือต้องนำเข้าแรงงานกัมพูชามาเก็บลำไย เพราะฉะนั้นชัดเจนว่าไม่ใช่การแย่งงานคนไทยทำ เราแบ่งงานกันทำและมาช่วยกันทำงานมากกว่า สิ่งที่เราเรียนรู้จากโควิดคือเราเห็นว่าพี่น้องแรงงานมีความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้

เรามองเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดของแรงงานข้ามชาติ โควิดเปิดแผลให้เห็นว่าพวกเขาอยู่อย่างแออัด และพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้อย่างเต็มที่ การเข้าถึงสิทธิยังยากอยู่ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยและไม่เท่ากันกับคนไทย เป็นปัญหาซ้ำเติม การลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาอย่างผิดกฎหมายมีมายาวนาน และช่วงพอเกิดโควิดมีความพยายามที่จะต่อเอกสารต่าง ๆ ก็มีปัญหาเยอะ ทั้งขั้นตอนการทำเอกสารเยอะ เป็นปัญหาที่เราเห็นมาโดยตลอด การเลิกจ้างในช่วงโควิดยังมีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่เฉพาะกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติแรงงานไทยก็เช่นกันไม่จ่ายค่าจ้างต่าง ๆ

สิ่งที่คิดว่าจะเป็นข้อเสนอคือ พี่น้องแรงงานพูดถึงเรื่องเครือข่าย ภาครัฐต้องเข้ามาทำงานกับเครือข่ายพี่น้องแรงงานเหล่านี้ ต้องประสานงานกับใคร ทั้งภาคประชาสังคม NGO อสต. มีการรวมกลุ่มกันเข้มแข็งเครือข่ายเหล่านี้จะสามารถช่วยคลี่คลายวิกฤตและปัญหาเหล่านี้ได้ เพื่อภาครัฐจะไม่ทำงานจากบนลงล่าง เพียงอย่างเดียว นโยบายต่าง ๆ ข้างบนวางไว้หมดแล้วแต่ปรากฏว่าในระดับพื้นที่ปฏิบัติการพวกแรงงานในพื้นที่มันยังไปไม่ถึงระบบรองรับและความเข้าใจต่าง ๆ ทำให้ระบบยังไม่พร้อม ผู้ที่อยู่ข้างบนเองจะต้องลงมาคลุกคลีว่าข้างล่างเขาเจอปัญหาอะไรบ้างอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นนโยบายมัน Top Down ลงมาเพียงอย่างเดียวไม่รู้อะไรเลย

วันนี้เท่าที่ได้ยินชัดขึ้นพี่น้องแรงงานเริ่มมีปัญหาเรื่องตกงานเยอะขึ้น เรามีโอกาสได้คุยกับกระทรวงว่าเราควรที่จะต้องโยกย้ายพี่น้องแรงงานจากที่เขาตกงานให้มาอยู่ที่ภาคส่วนที่ต้องการแรงงาน ถ้ามีการขาดแคลนให้กับพี่น้องแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม ที่เป็นแรงงานอิสระจะไม่ได้เงินแรงงาน เราอาจจะต้องคิดถึงการเยียวยา อาจจะเป็นกองทุนที่แรงงานจ่ายตอนขึ้นทะเบียน อยากฝากให้ภาครัฐคิดในส่วนเหล่านี้ และในส่วนของประกันสังคมจะต่อยืดอายุให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม และเร่งใช้นโยบายที่อัดฉีดเศรษฐกิจหลังจากเยียวยาเพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินต่าง ๆ เข้ามา

ในส่วนมาตรการแรงงานปกตินั้น เช่น การปรับเปลี่ยนนายจ้างจะต้องแจ้งภายในกี่วัน โดยสถานการณ์ที่มันไม่ปกติในปัจจุบัน มีความพยายามเสนอเรื่องนี้เข้าไปที่กระทรวงอยู่ เรื่องการเปลี่ยนนายจ้างภายในกี่วัน ๆ การปลี่ยนนายจ้างมีกำหนดระยะเวลาสั้น ส่วนตัวเสนอว่าให้รักษาแรงงานในระบบไว้ และทำงานในเชิงรุกเคลื่อนย้ายแรงงานไปในส่วนงานภาคอื่น ๆ กระทรวงแรงงานอาจจะต้องคิดถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ เช่น โยกย้ายแรงงานซึ่งตกงานไปยังภาคส่วนที่กำลังขาดแคลนแรงงานอยู่ อาจต้องคิดเรื่องการเยียวยา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเอาเงินกองทุนที่เขาลงทะเบียนที่พี่น้องแรงงานจ่ายไว้ตอนแรกมาใช้ รวมถึงการฟื้นฟูให้เขากลับมามีงานทำ 

Q : แลกเปลี่ยนในมุมมองของสื่อและคนที่ทำงานกับคนทั้งสองฝั่งบ้างคุยกับ ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับหนังไทยเมียนมา 

A :  ต้องให้กำลังใจพี่น้องแรงงานในสถานการณ์แบบนี้ ที่ประสบปัญหากันถ้วนหน้า และมีเพื่อน ๆ คนทำหนังในฝั่งเมียนมามีความเครียดและลำบากพอสมควร แต่ขอเป็นกำลังใจพี่น้องชาวเมียนมา เป็นกำลังใจให้ทุกคน เพราะคนมีหลากหลายในความคิดต่าง ในสถานการณนี้หลาย ๆ คนโดนเหยียดแม้กระทั่งตัวผม ผมคิดว่ามันเข้าสู่ระลอกใหม่ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมียมาคือเขาจะเริ่มจะให้ชีวิตปกติ เราคงต้องคิดกับพี่น้องไม่ว่าจะชาติไหน ที่อยู่ในเมืองไทย เราต้องดูแลเขาเหมือนคนของเรา ถ้าเขาเป็นอะไรเราก็ต้องเป็นด้วย ทั้งทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนเราก็ประสบปัญหาเดียวกัน เรากำลังเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เราลงเรือลำเดียวกัน จังหวะนี้คงต้องเข้มแข็งและผ่าฟันไปด้วยกัน 

 Q : กลับมาที่มหาชัยคุยกับคุณแจ๊ก LPN อีกครั้งนอกจากสถานการณ์แล้วการแลกเปลี่ยนกันในชุมชนเป็นย่างไรบ้าง

A : ในชุมชนมีการช่วยเหลือกัน มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ลงไปตรวจในพื้นที่กับทุกคนที่อยู่กันอย่างแออัด หนาแน่น ไม่ได้เลือกตรวจเฉพาะพี่น้องแรงงานข้ามชาติเท่านั้น ในตอนนี้การช่วยเหลือกันในพื้นที่ยังคงมีอยู่มากมาย เท่าที่เห็นในชุมชนตามตลาดต่าง ๆในหมู่บ้านต่าง ๆ ของมหาชัยยังมีการช่วยเหลือกันอยู่โดยไม่แบ่งแยกกัน ในพื้นที่สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลต่าง ๆ ดูแลพี่น้องแรงงานอย่างดีเท่ากันคนไทย หลาย ๆคนคิดว่าเจาะไปที่แรงงานขนาดนั้น เท่าที่เห็นทางเจ้าหน้าที่ทางหน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีการแบ่งแยกและตรวจเฉพาะ ไม่มีการแบ่งแยกเลย

Q : จากการพูดคุยกันวันนี้ เราพบปัญหาการจ้างงานต่าง ๆ ปัญหาชีวิตเรื่องความคับข้องใจ หลายคนได้รับผลกระทบ ในชุมชนหลังวัดไผ่ตันแลกเปลี่ยนกันเป็นย่างไรบ้างคุยกับคุณ Min Latt (มิน แล็ต) ชุมชนวัดไผ่ตัน กรุงเทพฯ

A : เราให้กำลังใจกันเองและต้องดูแลตัวเองให้ดี ทุกคนที่อยู่แม้กระทั่งเรา เราเลยบอกทุกว่าดูแลตัวเองให้ดี ๆ ใส่หน้ากาก พกเจล ไม่ทำให้ตัวเราเป็นต้นเหตุ วิธีการให้กำลังใจและดูแลกันในชุมชนคือ คนไหนรู้ต้องไปพูดคุยและให้กำลังใจ อย่าเครียดมาก ถ้าเราคิดมากก็ไม่มีอะไรดีขึ้น กับนายจ้างยังให้กำลังใจและดูแลกันเองดีอยู่ ในตลาดคนไทยทุกคนยังให้กำลังใจดีอยู่ ไม่มีการแบ่งแยก ให้ดูแลตัวเองให้ดี ใส่หน้า พกเจล สถานการณ์อย่างนี้ก็พยายามจะให้พี่น้องไม่เครียด ไม่คิดมาก 

Q : ประเด็นนี้ คุณสืบสกุล กิจนุกร ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ ม.แม่ฟ้าหลวง แชร์บทเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์การทำงานจากเชียงราย

A : จากประสบการณ์ของเชียงราย มีการรวมกลุ่ม มีการสำรวจข้อมูลผู้ได้รับความเดือดร้อน ให้ถุงยังชีพ ให้ความรู้เรื่องโควิดเพื่อป้องกันรวมถึงความรู้เรื่องสิทธิรักษาพยาบาลและประกันสังคม ที่สำคัญคือการตั้งคณะทำงานในการติดตามเฝ้าระวังโดยแรงงานข้ามชาติเอง ประสบการณ์ของเชียงรายเราอยู่ในช่วงระลอกที่ 1 คือเรารวมกลุ่ม คือ ศูนย์ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานข้ามชาติเชียงราย เราลงไปให้ความรู้พี่น้องแรงงาน และ จัดตั้งคณะทำงานที่เป็นพี่น้องเมียนมาในการดูแลตัวเองวัดอุณหภูมิ ช่วยเหลือดูแลกัน และการให้ความรู้แรงงานข้ามชาติให้รู้เรื่องเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงการรักษา พอเรารวมกลุ่มทำให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาทำงานกับเราได้มากขึ้น

ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย คือ รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมอง ในการช่วยเหลือทุกวันนี้เราจัดการโควิดเหมือนเป็นศัตรูและเป็นภัยโรคร้ายของชาติ เช่น เอารั้วไปขึงกั้นทำให้เกิดปัญหาตามมาทำให้คนรู้สึกว่าแรงงานข้ามชาติเป็นคนนำโรคร้ายเข้ามา ควรใช้หลักมนุษยธรรมมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ เราจัดการโควิดเหมือนเป็นศัตรูมองว่าโควิดเป็นภัยคุกคามต่อชาติ ชี้เป้าไปยังคนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองไทย และมองว่าเขาเป็นพาหะ มองว่าเป็นผู้ร้ายต้องปราบปรามทำให้เกิดภาพที่ทำให้คนรู้สึกว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นตัวการเอาโรคร้ายเข้ามา

ข้อเสนอ คือ 1.ภาครัฐต้องเปลี่ยนมุมมองจากเรื่องความมั่นคง ที่มองว่าเป็นศัตรูหรือภัยคุกคามมาสู่ความช่วยเหลือหลักมนุษยธรรม แทนที่เราจะมองคนอื่น ๆ เป็นผู้นำเชื้อเข้ามา หรือทำให้แรงงานข้ามชาติดูเป็นผู้ร้ายที่นำเชื้อเข้ามา 

2 ต้องสร้างความร่วมมือในหลายระดับ ระดับชุมชนแรงงาน ระดับชุมชนแรงงานข้ามชาติกับคนในพื้นที่ 

นายจ้างลูกจ้าง ระดับภาคประชาสังคมกับหน่วยงานภาครัฐ และในระดับรัฐกับรัฐ เราไม่เห็นความร่วมมือในระดับอาเซียนเราไม่ค่อยเห็นความร่วมมือตรงนี้

3. ต้องทบทวนมุมมอง เราควรเลิกการใช้คำว่า แรงงานต่างด้าว มาใช้แรงงานเพื่อนบ้าน แรงงานข้ามชาติ มันจะช่วยลดระบอบพรมแดน ความรู้สึกบนฐานความมั่นคงทางด้านสุขภาพ เพราะมันน่ากลัว น่าจะต้องมีการทบทวนมุมมองในการมองแรงงานมากขึ้นและยกเลิกคำว่าแรงงานต่างด้าวได้แล้ว มันสะท้อนความคิดค่านิยม ถ้าเปลี่ยนจะช่วยลดความรู้สึกจากปัญหาโควิด ในเรื่องของการลดทอนดูถูดและกีดกัน เราต้องมาเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี่

4. คนไทยและคนเมียนมาต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาโควิด ในรูปธรรม คือ ในส่วนของฝั่งเมียนมาในปีหน้าเราจะจัดฝึกอบรมการดูแลสุขภาพ ทำงานร่วมกับสาธารณสุขและอสม. แรงงานเมียนมาและในส่วนของรูปธรรมในส่วนของเชียงราย ปีหน้าจะมีการฝึกอบรมอาสามสมัครดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย จะทำร่วมกับ อสม. ของประเทศไทยที่มีแรงงานพักอาศัยอยู่ด้วย

Q : คุณสิทธิพรมองเรื่องการข้ามย้ายแรงงานและความหวังอย่างไร  

A :  ความหวังในการเคลื่อนย้ายคือเปลี่ยนมุมมอง สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม ได้ทำการวิจัยแรงงานโดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมพหุวัฒนธรรม มีหลายมิติเรื่องภาษาความเข้าใจระหว่างคนข้ามชาติ ที่นำไปสู่นโยบายต่าง ๆ ทางสถาบันของเราได้ให้ความร่วมมือกับ กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เรารับหน้าที่ในการเชื่อมแปลภาษาสานความสัมพันธ์ ถ้าพี่น้องแรงงงานมีปัญหา ในอนาคตจะทำเว็บไซต์ ทำงานร่วมกับ LPN ในการระดมทุน ระดมความช่วยเหลือในภาวะวิกฤติและภาวะนอกวิกฤติ

Q : ทางพังงามีการจัดการอย่างไรบ้างเผื่อเป็นโมเดลให้กับพื้นที่อื่น ๆ คะคุณ Ye Min (เย มิน) มูลนิธิ FED จ.พังงา

A : ที่พังงา จะมีกลุ่มทำงานอาสาสมัครแรงงานที่ให้ความรู้ให้กับชุมชน มีหน่วยงานรัฐส่งถุงยังชีพให้กัน ความสำคัญคือการประสานงาน โดยเฉพาะเรื่องภาษา ที่ว่ามีการตั้งแง่รังเกียจกันนั้นคนเมียนมาจำนวนหนึ่งยังไม่รู้เหตุการณ์บางอย่างเพราะฟังภาษาไทยไม่ได้ นอกจากจะมีเพื่อนของเขามาบอกว่าหมายถึงอย่างนั้นอย่างนี้

ทีนี้ข้อกังวลที่สำคัญสำหรับทุกคนที่ถูกล็อคดาวน์ไว้ คือ วันที่ 31 มีนาคม วีซ่าของทุกคนจะหมดอายุ จะมีการต่อวีซ่า และต่อ CI คนที่อยู่ใกล้ไม่เป็นไร แต่คนที่อยู่ต่างจังหวัดจะทำอย่างไรและผม อยากจะกล่าวถึงประเด็นเรื่องลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อน สมัยก่อนผมก็เป็นแรงงานเถื่อนและมาทำบัตรสีชมพูที่นี่ การนำเข้าแรงงานไม่ใช่ง่าย ๆ ต้องมีกระบวนการหลายอย่าง ผ่านหลายขึ้นตอน อยากให้เข้าใจ ถ้ารัฐบาลเข้มงวดจริงจัง มันจะเกิดหลายอย่าง ค้ามนุษย์ บังคับแรงงาน ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำตามกำหนด ปัญหาตามมาหลายอย่าง

Q : ขั้นตอนต่อไปที่รัฐน่าจะต้องทำ เป็นข้อเสนอแนะจากรศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

A :   ประเด็นเรื่องการลักลอบผิดกฎหมาย พอผู้ใหญ่บนสุดบอกว่าไม่มีการลักลอบ มันก็เป็นการปิดประตูไปเลย ที่จริงแล้วใคร ๆ ก็รู้ว่ามีการทำเป็นกระบวนการมายาวนาน หากยอมรับว่ามีปัญหานี้จริง เราจะเข้าใจความเปราะบางที่พี่น้องแรงงานข้ามชาติเจออยู่ และทำให้เกิดการทำงานตรวจตราอย่างเข้มข้น ก็อาจจะไม่มีกรณีอย่างในปัจจุบันนี้ ถ้ามองด้วยสายตาแบบภาคธุรกิจจะมองเรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง ถ้าภาครัฐผู้นำทราบและยอมรับว่ามีการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการป้องกัน ทำงานร่วมกันช่วยกันตรวจตราอย่างเป็นประจำ

“การนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายต้องลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ประเทศไทยคิดและเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2535 แต่ทุกอย่างก็ยังอยู่เหมือนเดิม ความยุ่งยากนี้เองจึงเป็นช่องว่างให้เกิดขบวนการนายหน้าร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งรู้เรื่องและขั้นตอนต่าง ๆ ดีที่สุด นายจ้าง ลูกจ้าง ไม่มีใครรู้เรื่องก็จ้างนายหน้าจดทะเบียน หากทำอย่างที่กล่าวมาจึงจะอุดช่องโหว่ที่มีอยู่” 

คิดว่าเป็นความท้าทายของรัฐไทยที่จะทำเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นแม้ข้างบนจะบอกว่ามีนโยบายแล้ว แต่การทำงานระดับพื้นที่ยังติดขัดปัญหาอยู่ ต้องบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวง หน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือในแต่ละพื้นที่ และทำงานกับภาคประชาสังคม ภาควิชาการที่จะแก้ปัญหาลักลอบที่มีมานานกว่า 30 ปี 

เรื่องเร่งด่วนคือการช่วยเยียวยาแรงงานข้ามชาติในด้านเศรษฐกิจ สถานการณ์เฉพาะหน้าแรงงานไม่มีค่าที่พัก ไม่ได้ค่าแรงจนย้ายมาอยู่ร่วมกันอีก ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ให้ได้ในสถานการณ์ที่เงินออมของแรงงานเริ่มหมด ส่วนเอกสารของแรงงานข้ามชาติที่กำลังจะหมดอายุ อาจต้องบริหารจัดการแบบยืดหยุ่น ยืดอายุให้ไปก่อนโดยที่ไม่ต้องมีการติดต่อกับภาครัฐเพิ่มเติม รวมถึงการพิจารณาโยกย้ายแรงงานข้ามชาติที่ว่างงานเข้าไปเติมในพื้นที่ขาดแคลนแรงงานอยู่ มันต้องมีการทำงานบูรณาการข้ามพื้นที่ 

กระทรวงแรงงานต้องทำงานในเชิงรุก จากเดิมที่บอกว่าไม่มีหน้าที่ในการหางานให้กับแรงงานข้ามชาติ หากแรงงานข้ามชาติตกงานก็ต้องกลับประเทศภายใน 30 วัน เพราะกระทรวงแรงงานไม่ถือว่าเป็นภารกิจ มีภารกิจแค่หางานให้คนไทยทำ แต่ ณ ปัจจุบันภารกิจของกระทรวงต้องปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเพราะสถานการณ์ที่แรงงานกลับประเทศต้นทางไม่ได้ หรือนายจ้าง สถานประกอบการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในพื้นที่และประเภทงานที่คนไทยไม่ยอมทำ อาจจะต้องมีการประกาศขึ้นทะเบียน จัดรถรับส่งในการโยกย้ายพื้นที่ มันก็จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและคัดกรองโรค สร้างความมั่นใจกันทุกฝ่าย

Q : ปิดท้ายฝากกำลังใจจาก คุณ Ko Thar Aye (โก ตาร์ เอ) อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

A: อยากให้พี่น้องแรงงานชาวเมียนมาและทุกคนดูแลสุขภาพตัวเอง รักษาตามมาตรการทางสุขภาพที่ทางไทยกำหนดไว้ทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้การระบาดของโควิดลดลง ณ ตอนนี้ไม่ว่าเชื้อชาติไหนจะร่วมกันและผ่านไปด้วยกันสู่ภาวะปกติได้

Q : ปิดท้ายจากคุณ Khaing Min Lwin (คายน์ มิน ลวิน)มูลนิธิรักษ์ไทย

A: คนไทยและพม่าอาจเกิดความเข้าใจกันผิดกันได้เพราะความแตกต่างเรื่องภาษา แต่ไม่ต้องโทษว่าใครผิดใครถูก เราต้องตระหนัก ป้องกันตนเอง ต่อไป

ปิดท้ายการแชร์ทั้งสถานการณ์ ความรู้สึกในหัวใจ และข้อเสนอทางนโยบายจากวงแชร์นี้ไปด้วยความหวังของ คุณวิชัย จันทวโร ที่หวังว่า คุณภาพชีวิตที่ดีของไทยและพม่าจะเกื้อหนุนกัน ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นต่างได้รับเหมือนกัน แต่ความพยายามให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของเพื่อนบ้าน น่าจะเป็นความเข้มแข็งร่วมกันของทั้งภูมิภาค

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ