ทันทีที่การแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมเกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการระบาดในกลุ่มแรงงานเมียนมากลุ่มใหญ่ และเกิดขึ้นในตลาดใหญ่ที่เชื่อมโยงไปอีกหลายพื้นที่ จนหน่วยงานรัฐใช้ตัดสินใจใช้มาตรการเข้มล็อกดาวน์พื้นที่ขึงลวดหนามคุมคนกว่า 4,000 คน ในพื้นที่เพื่อคุมโรคโดยทันที แต่จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ มีคำถามตามมาอีกมากมาย
การคุยสด เพื่อค้นหาคำตอบจากข้อสงสัยนั้นเกิดขึ้นวงคุย “ล็อกดาวน์แรงงานข้ามชาติ “คุมคน คุมโรค” บนโจทย์ที่(ไม่อาจ)ใช้คำว่ารัฐชาติช่วยแก้” โดยทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส จัดขึ้นอย่างรวดเร็วในเช้าวันถัดมา ชวนคนที่ทำงานกับแรงงานเพื่อนบ้านทั้งภาคนักพัฒนา นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐ มาร่วมแชร์ข้อมูลจริงและมุมมองทั้งใน และนอกลวดหนาม เพื่อเข้าใจในสถานการณ์การระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่โยงใยกับแรงงานเมียนมากลุ่มใหญ่ และแรงงานเพื่อนบ้านอีกจำนวนมากในประเทศไทย
Little Mynmar ณ มหาชัยหลังล็อกดาวน์
นายสมพงค์ สระแก้ว หรือที่ใครต่อใครเรียก พี่ตุ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เล่าถึงสถานการณ์ในจังหวัดสมุทรสาครว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ มาให้ความคิดเห็นในการจัดการด้วยความห่วงกังวลในพื้นที่ โดยทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าต้องหยุดยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ได้ พื้นที่ถูกล็อกดาวน์เป็นชุมชนแรงงานข้ามชาติที่อยู่อาศัยร่วมกัน ไม่ต่ำกว่า 4,000 คน ขณะนี้เริ่มระดมอาหาร น้ำดื่ม เพื่อประคับประคองการดำรงชีวิต ส่วนชุมชนอื่นๆ ที่มีการกระจุกตัวมากเป็นพิเศษ เช่น บ้านเอื้ออาทร ก็กำลังพิจารณามาตรการในการคัดกรองเพิ่มเติม
“ก็พยายามจะไม่ให้พี่น้องตระหนก แต่ตระหนักในการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ สมุทรสาครจะเรียกว่าเป็น Little Mynmar Town ก็ได้ ตัวเลขของแรงงานข้ามชาติของกรมจัดหางานเทื่อปีที่แล้วมีประมาณ 2.9 แสนคน แต่จากการประเมินทั้งคนที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารน่าจะอยู่ที่ 3-4 แสนคน ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะมีมากที่สุด คือ 5-7 แสนคน สมุทรสาครน่าจะเป็นอันดับ2”
น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นที่จับตาของคนทั่วประเทศ สถานการณ์ตอนนี้คือสมุทรสาครเงียบเหงามาก แต่ปัญหาไม่เงียบ แรงงานถูกตรวจและคัดกรองจากทีมของจังหวัด ซึ่งพบการติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งตอนนี้ทุกคนตระหนกว่าแรงงานข้ามชาติทำไมติดเชื้อเยอะ แต่จริงต้องคิดย้อนว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีการตรวจคนจำนวนมาก ตอนนี้มีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่และตรวจคัดกรองและกักตัวผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ
“การล็อกดาวน์ตลาดกุ้งกับหอพักศรีเมือง มีคนอาศัย 4 พันกว่าคน ในฐานะองค์กรด้านแรงงาน เรามีความกังวลถึงผลกระทบต่อแรงงานและครอบครัวจากการต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ทั้งเรื่องค่าจ้าง น้ำอาหารที่ไม่เพียงพอ และหากนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างได้ นี่เป็นโจทย์ของรัฐต้องหาวิธีคิดและการจัดการต่อไปอย่างไรต้องมีการหามาตรการรับรองเพื่อไม่ให้ชีวิตของคนงานลำบากมากกว่านี้”
น.ส. สุธาสินี กล่าวอีกว่า การล็อกดาวน์คือห้ามมีการเดินทางเข้าออกชุมชน สภาพการอยู่อาศัยของแรงงานค่อนข้างแออัด เช่น ห้องเช่าหนึ่งอยู่กัน 4 ครอบครัว ซึ่งเขาจะอยู่รวมกันโดยแยกตามกะการเข้างาน (เช้ากับค่ำ อย่างละ 2 ครอบครัว) พอล็อกดาว์นเขาจึงกลายเป็นอยู่รวมกันทั้ง 4 ครอบครัว ส่วนเรื่องค้าจ้างตอนนี้กำลังเร่งเช็คข้อมูลในพื้นที่ว่าคนงานได้รับค่าจ้างอยู่หรือไม่พบว่า บางบริษัทยอมจ่าย แต่บางบริษัทก็ยังไม่มีสัญญาณอะไร
“ตั้งแต่โควิดเริ่มแพร่ระบาดในไทย เดิมแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่จากสถานการณ์โควิดและการปิดพรมแดน ทำให้แรงงานข้ามชาติบางคนกลายเป็นคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย เช่น พาสตปอร์ตหมดอายุ วีซ่าขาด ขณะเดียวกันยังมีสถานประกอบการก็มาร้องทุกข์ว่าขาดแคลนแรงงานเช่นกัน”
แก้โจทย์แรงงานเพื่อนบ้าน ข้อเสนอ Set Zero ระบบ
น.ส. สุธาสินี เสนอว่า น่าคิดว่าจะจัดการอย่างไรให้เขาถูกต้องตามกฎหมายเหมือนตอนที่เขาเข้ามา เรามีข้อเสนอต่อรัฐบาลจะเอาคนเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อถูกกฎหมายตัวแรงงานก็สามารถจะเข้าถึงสิทธิอื่น ๆ เช่น การสิทธิการรักษาพยาบาล ประกันสังคม รวมถึงการควบคุมโรค เมื่อแรงงานถูกกฎหมายก็จะทำงานในสถานประกอบการที่สามารถดูแลด้านสุขอนามัยอย่างเข้มงวด ทำให้ปลอดโรคและอยู่อย่างปลอดภัย ซึ่งจะตอบโจทย์กับทุกฝ่าย ลูกจ้างมีงานทำ นายจ้างมีคนงาน ประเทศมีแรงผลักดันทางเศรษฐกิจ
“นโยบายหรือมาตรการของรัฐ ต้องมีความเข้มงวดและตรวจสอบว่าเป็นไปตามที่ประกาศออกมาหรือไม่ หากละเลยก็จะมีคนฉวยโอกาส เช่น ขบวนการนายหน้าที่อาศัยช่องโหว่หลอกลวงลูกจ้าง เป็นต้น”
ด้านผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวในประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมารัฐเน้นเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ แต่การดูแลสวัสดิภาพยังไม่ค่อยมากเท่าที่ควร กลุ่มประชากรข้ามชาติเป็นกลุ่มที่รัฐมองไม่เห็น แม้กลุ่มที่มีประกันสังคมก็เข้าถึงการเยียวยาที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นว่าแนวคิดเรื่องการเซ็ตซีโร่เพื่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติแบบใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เบื้องต้นในระยะสั้น รัฐต้องใช้หลักมนุษยธรรมในการบริหารจัดการก่อน หยุดคิดเรื่องการตรวจจับ แต่ต้องอยู่บนหลักฐานว่าจะอยู่อย่างไรให้รอดปลอดภัยก่อน ส่วนในระยะยาวต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศทั้งหมด สามารถทำงานต่อได้อย่างไร นายจ้างไม่ขาดแคลนแรงงาน เพราะตอนนี้มีขบวนการนายหน้า หาประโยชน์จากแรงงาน
ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เสนอว่า รัฐอาจต้องคิดระบบของการบริหารจัดการแรงงานของแต่ละท้องถิ่นซึ่งสัมพันธ์กับบริบทของแต่ละพื้นที่เพื่อให้ตัวท้องถิ่นมีงบประมาณจัดการเรื่องเฉพาะถิ่นได้ กรณีของสมุทรสาครถือเป็นพื้นที่พิเศษเพราะมีการกระจุกตัวของพี่น้องแรงงานจำนวนมากในหลายภาคส่วนการผลิต ทั้งอุตสาหกรรมประมง ประมงต่อเนื่อง หากสามารถบริหารจัดการตัวเองได้เช่นเดียวกับพัทยาซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ในอนาคตหากเกิดอะไรกับแรงงานในพื้นที่ก็จะมีงบประมาณในการจัดการดูแลได้ทันที
“เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดในระยะยาวให้แรงงานที่อยู่ในเมืองไทย มีนายจ้าง มีงานทำ ปลอดภัยจากโควิดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้”
เปิด 4 ประเด็นที่แรงงานเพื่อนบ้านเผชิญ
นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวว่า มีข้อน่าห่วงกังวลหลายประการ 1. การเข้าถึงการตรวจโรคและรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในพื้นที่สมุทรสาคร และจังหวัดรอบข้างอย่าง กรุงเทพ นครปฐม และสมุทรสงคราม การตรวจควรต้องครอบคลุมทั้งหมดและมีความชัดเจนว่าในพื้นที่รอบข้างจะมีการเรียกเก็บค่าตรวจหรือไม่
2. การรักษาพยาบาล แม้จะมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของการตรวจโควิด แต่ยังมีเรื่องการเบิกจ่ายตามสิทธิ ซึ่งโดยทั่วไปแรงงานข้ามชาติมีสิทธิรักษาพยาบาล 2 แบบ คือ ประกันสังคมกับประกันสุขภาพ ประเมินว่าแรงงานข้ามชาติในพื้นที่สมุทรสาครอยู่ในระบบประกันสังคม แต่ภาพรวมทั้งประเทศมีแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมจำนวน 1.1 ล้านคน จากจำนวนประมาณ 2 ล้านกว่า เท่ากับว่ามีคนจำนวนมากหายไปจากระบบ และเฉพาะในพื้นที่สมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมเท่าไหร่กันแน่ หากเข้าสู่การรักษาพยาบาลแล้วไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรักษาพยาบาลจะด้วยเหตุที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินสมทบ หรืออื่นใด ก็ควรจะมีการดำเนินการให้คนเหล่านี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เลย
“นี่เป็นโอกาสดีที่จะบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากพื้นที่สมุทรสาคร”
3 .มาตรการในการกักตัวและความช่วยเหลือ จากที่เห็นภาพในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง เราเห็นการใช้รั้วลวดหนามปิดกั้นทางเข้าออก หรือภาพของนายจ้างและคนอื่น ๆ ส่งอาหารให้ มันก็เกิดคำถามต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วมาตรการในการให้ความช่วยเหลือนั้นจะมีความชัดเจนหรือไม่ เพราะรอบนี้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและกระจายตัวกันอยู่ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามพื้นที่สมุทรสาครมีความชัดเจนเรื่องอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ที่เข้มแข็ง หากเกิดในกรุงเทพฯ จะยากกว่านี้ ซึ่งต้องวางแผนกันไว้ล่วงหน้าด้วย
4.ประเด็นที่น่ากังวลมากในตอนนี้ คือ ทัศนคติของผู้คนที่มองเรื่องนี้ ซึ่งมี 2 แนว มีทั้งแนวที่เข้าใจสถานการณ์ และ อีกแนวที่มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวปัญหา เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เป็นตัวแพร่เชื้อโรคหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดการของรัฐ เช่น รัฐอาจจะมีท่าทีที่ไม่อยากปรับวิธีการจัดการของตัวเองหรือไม่ หากว่ากระแสสังคมมองแรงงานข้ามชาติแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่แรงงานข้ามชาติในสมุทรสาครเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่มานานกว่า 20 ปี หากวันนี้ไม่มีแรงงานข้ามชาติจะกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยอย่างรุนแรงแน่นอน
เปลี่ยนวิธีคิดจัดการ ทางออกสกัดปัญหา?
นายอดิศร กล่าวถึงผลกระทบในภาพรวมคือประเมินว่าน่าจะมีคนหลุดออกระหว่างการดึงเข้าสู่ระบบอยู่ แม้จำนวนอาจจะไม่มาก แต่สมุทรสาครเป็นพื้นที่รองรับแรงงานที่ตกงานอันเนื่องจากโควิด เราพบแรงงานจากภูเก็ต หรือกรุงเทพฯ เข้ามาทำงานในสมุทรสาคร เพราะในช่วงที่ผ่านมามีการประกาศต้องการจ้างแรงงานเยอะมาก จึงเห็นการเคลื่อนย้ายตัวของแรงงานเข้ามาในพื้นที่ค่อนข้างมาก คาดการณ์ว่าตอนนี้อาจมีแรงงานข้ามชาติ 3-4 แสนคน ขณะเดียวกันคาดว่าตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่หลุดจากระบบประมาณ 1 แสนคน แต่หากดูตัวเลขการขออนุญาตทำงานของกรมการจัดหางาน แรงงานในสมุทรสาครหายไปจากระบบประมาณ 2-3 หมื่นคน หากมีปัญหาขึ้นมาเขาจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้อย่างไร
“วันนี้จึงต้องคิดใหม่ ไม่อาจใช้ตัวกฎหมายในเชิงความมั่นคงหรือการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว. พ.ศ. 2560 อย่างจริงจัง/เข้มงวด แต่ต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้คนทุกคนเข้าสู่ระบบได้ นี่เป็นข้อเสนอที่อยากจะชวนกระทรวงแรงงานพูดคุย หากมีคนหลุดจากระบบและเจ็บป่วยขึ้นมาแล้วไม่กล้ามารายงานตัว จะทำให้การแพร่ระบาดในพื้นที่สมุทรสาครเพิ่มขึ้นหรือไม่ สิ่งที่น่าทำคือการมองประสบการณ์จากสิงค์โปรและเกาหลีใต้ ที่รัฐมีการเปลี่ยนวิธีคิดหันมาคุ้มครองคนเหล่านี้ก่อน”
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงคนที่หลุดจากระบบกลับเข้ามาในระบบอีกรอบ เช่น ให้มารายงานตัวกับรัฐ
หากการระบาดรอบนี้ เกิดการลักลอบเข้าเมืองจริง สิ่งที่น่าสนใจ คือ มาตรการปิดชายแดนและยุติการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ขณะที่มีตัวเลขทางการระบุว่ามีแรงงานรอเข้ามาทำงานในประเทศไทยเกือบ 1 แสนคน 6 หมื่นคนเป็นรายที่เคยทำงานในไทยมาก่อน และกลับบ้านไปในช่วงโควิด แต่ต้องการกลับเข้ามาทำงานในไทย จนลักลอบเข้ามาตามช่องโหว่ต่าง ๆ ฉะนั้น มาตรการปิดชายแดนไม่ใช่คำตอบของจัดการแรงงานข้ามชาติในตอนนี้ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะออกแบบระบบเพื่อรองรับนายจ้างที่ต้องการคนงาน และตัวแรงงานเองที่จะเข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองโรค จึงอยากขอให้มีการทบทวนเรื่องการดึงแรงงานข้ามชาติจากเข้ามาสู่เข้าในโดยผ่านการตรวจคัดกรอง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่จะไม่ต้องลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
นายอดิศร กล่าวสรุปว่า ในภาพรวมใหญ่ มีข้อห่วงเรื่องสถานะในการอยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่งที่หนังสือเดินทางกำลังจะหมดอายุ ประมาณ 2 แสนคนทั่วประเทศ การปิดทุกอย่างรวมถึงศูนย์ข้อมูลของแรงงานข้ามชาติในเมียนมาด้วย ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งที่รอเอกสารใหม่ไม่สามารถทำอะไรได้ และจะกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายทันที หากมีการระบาดของโควิดครั้งใหญ่ที่มากกว่าสมุทรสาคร คนกลุ่มนี้ก็จะหลุดจากระบบประกันสังคมหรือระบบสุขภาพทันที
“เรื่องพวกนี้เป็นการจัดการที่ควรมีการทบทวน คนทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการดูแลในช่วงของการระบาด ทำให้เกิดความมั่นใจว่าเขาจะไม่ถูกจับ จากประสบการณ์โควิดรอบที่ผ่านมาเราพยายามจะล็อกคนไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย หรือแรงงานข้ามชาติ แต่ท้ายที่สุดเราก็ล็อกเข้าไม่ได้ รอบนี้ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าถ้าเขายังอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ จะได้รับการคุ้มครองทุกคนได้อย่างไร”
ลวดหนามส่งสัญญาณสังคมผิด
นักวิชาการย้ำใช้ความมั่นคงของมนุษย์นำ
ผศ. ดร.ณัฏฐ์ชวัล โภคาพานิชวงษ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สามารถแบ่งงานในพื้นที่สมุทรสาครได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ กลุ่มที่มาตามข้อตกลงการนำเข้า MOU แรงงานในกลุ่มนี้จะมีความมั่นคงในการทำงานระดับหนึ่ง มีการออมเงินและจัดการดูแลตัวเองด้านสุขอนามัย ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะมีความรู้ มีความตระหนักจากโรงงาน อสต. เพราะทางฝั่งโรงงานก็ต้องการป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงานของตัวเองด้วย หรือมีการจัดระบบการสวมใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจล หรือการวัดอุณหภูมิเข้าออก หรือการพกภาชนะของตัวเอง ส่วนอีกกลุ่มคือแรงงานที่ถือพาสปอร์ต อาจไม่มีนายจ้างแน่นอนหรือแท้จริงก็อาจจะหลุดจากระบบการดูแล หรือกระบวนการสร้างความรู้ความตระหนักและการป้องกันตัวเองต่าง ๆ การจัดการจึงอาจต้องแยกเป็น 2 กลุ่มด้วย ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือแรงงานอิสระ
“แรงงานก็เหมือนเรา พอเกิดการระบาดเขาก็กลัวเหมือนกันและพยายามจะป้องกันตัวเอง”
ด้านผศ. ดร.นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรู้สึกส่วนตัวการเอารั้วลวดหนามไปกั้นบริเวณตลาดกลางกุ้งอาจจะสื่อความรู้สึกที่ผิดทำให้เป็นอาชญากร หรือการพยายามจะจับกุมแรงงานที่ลักลอบเข้าเมือง “ผิดกฎหมาย” ในช่วงนี้อาจจะทำให้เกิดความยากลำบากในในการควบคุมสถานการณ์ วิธีการจัดการจึงต้องคิดใหม่ เพราะไม่ใช่เรื่องใครผิดหรือถูก ไม่มีใครอยากติดโควิด ดังนั้นจึงต้องขอบคุณสมุทรสาคร ซึ่งมีลักษณะคล้ายสิงค์โปรที่อยู่กันเป็นชุมชนแรงงานข้ามชาติ พักอาศัยอยู่ในหอพัก แม้ตัวเลขจะดูมีจำนวนมาก แต่จัดการง่ายกว่าพื้นที่อื่น เพราะการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนจะทำให้การจัดการตรวจ รักษาได้ง่าย
ต้องเข้าใจว่าการที่ตรวจเจอผู้ติดโควิดจำนวนมาก มาจากเรื่องที่อยู่อาศัย หากตรวจพบโรคแล้วจะยังต่อ จะให้เขากลับไปอยู่ที่เดิมหรืออย่างไร ยังไม่มีการคุยเรื่องสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State quarantine) เนื่องจากการกักตัวอยู่ที่บ้าน (self quarantine) อาจไม่เหมาะสมกับบริบทของแรงงานข้ามชาติ เพราะเขาอยู่แชร์หอพักร่วมกันกับแรงงานคนอื่น อย่างน้อยที่สุดก็ 8 คนในห้องแคบ ๆ ต่อให้เขาใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ก็ไม่ใช่เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดที่ทำได้ง่าย
“ดูเหมือนภาครัฐเองก็ยังไม่ได้คิดว่าจะจัดการอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกเว้นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ อาจมีสิทธิที่จะทำแบบนั้นได้”
การระบาดของโควิดเกี่ยวข้องกับเรื่องการจ้างงานที่ถูกพูดถึงมากในเวทีนี้ เพราะส่วนหนึ่งเราไม่ข้อมูลตัวเลข เพราะการผลักภาระให้ผู้บริโภค คนไทยต้องจ่ายค่าตรวจโควิดเองแต่หากติดยังหลักประกันสุขภาพในการรักษา แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติ ถึงตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าถ้าใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น ตัวเลขการติดเชื้อของไทยมันต่ำ เพราะไม่มีการตรวจอย่างเข้มข้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ตัวแรงงานข้ามชาติเองก็มีอสต.ในการป้องกัน แต่จากข้อมูลผู้ติดเชื้อเริ่มจากกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในโรงงาน แต่อยู่ในกลุ่มลูกจ้างรายวัน ทำงาน แกะกุ้ง ล้างกุ้ง ฯลฯ ซึ่งชนิดของการทำงานทำให้ไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจเงื่อนไข หรือสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร
3 เรื่องชวนคิดใหม่ เพื่อรับมือโควิดในระยะยาว
1. เรื่องเฉพาะหน้ารัฐไทยต้องตอบว่าจะจัดการเรื่องระบาดอย่างไร ส่วนตัวมองว่าการจับและปราบปรามจะทำให้การจัดการยากขึ้น ดังนั้นการเปิดให้ตรวจได้มากที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงว่าเข้าเมืองมาแบบไหน ผิดหรือถูกอย่างไรจะทำให้รู้จำนวนผู้ติดโควิดได้เร็วที่สุด เมื่อรู้แล้วหากกลับไปอยู่ที่เดิมก็จะทำให้ติดต่อกันไปในวงกว้าง ต้องมีการจัดการที่อาจเรียกว่า organize quarantine ก็ได้ นี่จะทำให้สาธารณะคลายเครียด เพราะรู้ว่าจะมีการจัดการ ผู้ติดเชื่อ ผู้ที่เข้าข่ายจะพบเชื้อจะอยู่ตรงไหน สิ่งนี้ต้องมีระบบจัดการบนฐานคิดเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพหรือความมั่นคงของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งมีทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติอยู่ตรงนั้นด้วย
2. เรื่องการจ้างงานโควิดรอบที่แล้วสมุทรสาครไม่ได้รับผลกระทบและเป็นแหล่งอาหารของประเทศ แต่พอรัฐใช้วิธีควบคุมแบบคนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า อาจทำให้เกิดสถานการณ์อาหารขาดแคลนและอื่น ๆ ตามมา ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ทำให้สังคมอยู่ได้ ดังนั้นการจัดการเรื่องนี้ต้องรอบคอบ ต้องมีวิธีการจัดการใหม่ ผ่านการการสร้าง pull factor หรือไม่ โดยเริ่มจากจังหวัดที่มีการจัดการตรึงพื้นที่แล้ว อาจใช้สมุทรสาครเป็นพื้นที่นำร่อง “เซ็ตซีโร่” ให้แรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนให้ถูกต้องเรียบร้อย และจะจัดการไปทีละจังหวัด ในแง่นี้จะทำให้การผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากไม่ทำอะไรก็จะยิ่งแย่และในที่สุดก็จะลามไปเรื่องอื่น
“ส่วนเรื่องการจ้างงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเอ็มโอยูหรือแบบอื่นที่มีการเสนอมานั้น ตนคิดว่าตอนนี้เรายังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติที่ต้องทำให้บริหารจัดการได้ การเอาขึ้นแรงงานข้ามชาติขึ้นมาอยู่บนดินในจังหวัดที่มีการตรึงพื้นที่แล้ว ก็จะทำให้การระดมสรรพกำลังเข้าไปจัดการด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ”
3.สาธารณชนทั่วไปหรือคนทั่วไปก็อยู่ในทฤษฎีเบลมเกมส์ (กล่าวโทษกันไปมา) ว่าคนกลุ่มนี้เป็น “พวกลักลอบเข้าเมือง” เป็นพาหะ ซึ่งเห็นได้ผ่านเทรนด์ทวิตเตอร์ที่ทำให้เราสบายใจว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอ แต่มันไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการกล่าวโทษ เป็นการมองปัญหาที่กระทบกับทุกคนพร้อม ๆ กัน และสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น เบื้องต้นอาจต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง รัฐ เอกชน ประชาสังคม และยอมรับว่าทุกคนอยู่ร่วมกัน และช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ
“ช่วยกันสร้างวิธีคิดใหม่แบบที่เกาหลีใต้ทำ ซึ่งตอนแรกเขาไม่มีตัวเลขแต่สุดท้ายก็เสนอเป็นทางออก ซึ่งจะนำไปสู่การบูรณาการร่วมกัน บางเรื่องรัฐอาจทำได้ในเรื่องงบประมาณ หากคิดว่าตัวเองไม่มีงบประมาณ หรือกำลังคิดว่าจะเป็นความรับผิดชอบของใคร นี่ก็อาจเป็นโอกาสอันดีที่จะเริ่มจากสมุทรสาคร ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าระบบประกันสังคม และเราก็จะมีตัวเลขแรงงานที่ชัดเจน ที่สำคัญก็ไม่ใช่การกล่าวโทษนายจ้างว่าไม่ส่งเงินสมทบ หรือกล่าวโทษว่ารัฐไม่รับผิดชอบ อาจต้องคิดวิธีใหม่ ๆ ไปเที่ยวเรายังมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีโครงการคนละครึ่ง ตอนนี้เราก็อาจต้องจ่ายด้วยกันทั้งนายจ้างและรัฐ หรืออาจรวมถึงลูกจ้างด้วยไม่ว่าเขาจะเข้ามาอย่างถูกหรือผิดกฎหมาย”
“ต้องคิดถึงเรื่องนี้เป็นสถานการณ์ระยะยาว เพราะตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น อีกไม่กี่วันคือช่วงปีใหม่ จะมีการจัดการให้คนเดินทางหรือไม่ แล้วจะมีวิธีการแบบไหนที่จะป้องกันการระบาดอีก และการเดินทางของคนไม่ได้มีแค่การท่องเที่ยว ยังมีคนการกลับบ้าน และเผลอ ๆ แรงงานที่ถูกปิดนี่แหละที่เขาต้องกลับบ้านเพราะไม่มีกิน”
รองอธิบดีกรมการจัดหางานเผย เตรียมมาตรการคุ้มครองแรงงาน
นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ปลายปีก่อนเป็นต้นมา ได้ดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิดเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันมีตัวเลขแรงงานต่างด้าว ทั้งหมด 2.4 ล้านคน สมุทรสาครมีแรงงานสามสัญชาติ 275,000 คน แบ่งเป็นแรงงาน 3 สัญชาติ ขณะที่มีแรงงานต่างชาติทั้งหมด 266,000 คน หมายความว่านอกจากแรงงาน 3 สัญชาติยังมีกลุ่มอื่นอีกด้วย เช่น นักลงทุน 200 กว่าคน กลุ่มที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย 3,700 คน และกลุ่มที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนราว 5,000 คน
พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนแรงงานต่างด้าวจำนวนมากและเคลื่อนย้ายเข้าออกตลอดเวลา แต่โดยข้อเท็จจริงจังหวัดสมุทรสาครมีโมเดลการทำงานที่เข้มแข็งเป็นแบบอย่าง และเหตุที่สามารถตรวจสอบและพบการแพร่ระบาดก็มาจากความเข้มแข็งของกระบวนการสาธารณสุขในพื้นที่นั่นเอง ที่ผ่านก็มีการเป็นการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนจัดตั้งอสต. เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับพี่น้องแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในการติดตาม ตรวจสอบ รณรงค์ด้านสาธารณสุข
ภาพรวมการดำเนินการบริหารจัดการให้แรงงานต่างด้าวทั่วประเทศไทยมีงานทำในปัจจุบัน เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เพราะหากไม่มีโควิดจะมีการจ้างงานรูปแบบเดียวเท่านั้น คือ การนำเข้าตามระบบ MOU กลับกัน มติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เพื่อให้คนต่างด้าวได้มีงานทำจะสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม แต่ก็มีการผ่อนผันมาโดยตลอดเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้มีงานทำ และกระทรวงได้ออกประกาศและเสนอครม.พิจารณาเป็นมติผ่อนผันถึง 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวเลขการจดทะเบียน 1,160,000 คน
ส่วนกลุ่มตกหล่นที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศเนื่องจากสถานการณ์โควิด ก็มีมติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา พยายามจะบริหารจัดการให้ได้มีงานทำ และตอบสนองความต้องการของนายจ้างด้วย ซึ่งมีตัวเลขจดทะเบียน 238,900 คน รวมทั้งสองมติประมาณการดำเนิน 1.4 ล้านคน นอกจากนั้นยังพบว่ายังมีแรงงานบางส่วนไม่ได้ดำเนินการ พบว่า บางกลุ่มไม่ได้แจ้งบัญชีรายชื่อกับกรมการจัดหางานจึงไม่สามารถดำเนินการต่อได้ บางกลุ่มเปลี่ยนนายจ้างแล้วแต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ถูกต้องตามกฎหมาย บางกลุ่มใบอนุญาตทำงานหมดอายุ เช่น กลุ่มนำเข้า MOU มีอายุเกิน 4 ปี ไม่สามารถอายุใบอนุญาตทำงานได้ รวมถึงกลุ่มแรงงานชายแดน เมื่อมติครม.ที่ผ่านมาทั้งหมดได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนของกลุ่ม MOU ซึ่งแตกต่างจากทุกกลุ่มทั้งหมด ได้ประเมินสถานการณ์ไปข้างหน้าอีก 1 ปี โดยขยายเวลาถึง 31 ธันวาคม 2563
ที่กล่าวถึงทั้งหมด ต้องการให้นายจ้าง สถานประกอบการที่ประสบภาวะวิกฤติอยู่ระหว่างการฟื้นฟูสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวได้ ส่วนตัวแรงงานต่างด้าวทางเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็จะนำเรื่องกฎหมายมาใช้คุ้มครอง ตามกฎหมายปกติกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุและยังอยู่ในประเทศไทยจะกลายเป็นแรงงานเถื่อนที่ผิดกฎหมายโดยปริยาย แต่จากที่เราเสนอครม.มาหลายรอบก็มีเจตนาให้แรงงานสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยตามลำดับ นี่คือวัตถุประสงค์หลักในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว
“ในอีกมุมหนึ่งของสังคมไทยตั้งคำถามว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นการแย่งอาชีพคนไทยหรือไม่? กระทรวงแรงงานก็ขอตอบแทนสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวว่า ไม่ใช่ เนื่องจากงานประเภทงานหนัก งานสกปรก งานอันตรายเป็นกลุ่มที่แรงงานไทยไม่ยอมทำงาน แม้จะมีการประกาศรับสมัครแรงงานไทยมาหลายรอบแล้ว ซึ่งก็ปรากฏชัดเจนว่าคนไทยไม่ประสงค์จะทำงานดังกล่าว เราต้องให้เครดิตกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา ก็ต้องคุ้มครองเขาทั้งในเชิงกฎหมายและมนุษยธรรม” รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวย้ำ
มาตรการที่จะดำเนินการในระยะอันใกล้ เราจะเน้นกลุ่มที่เคยมีใบอนุญาตทำงานมาก่อนและเกิดความผิดพลาดด้วยปัจจัยต่าง ๆ และจะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาเร็ว ๆ นี้ ส่วนกลุ่มที่เข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น หากจะมีการนิรโทษกรรมนั้น ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีข้อกังวล 2 เรื่อง หนึ่ง อาจสุ่มเสี่ยงกับโควิดที่เราเผชิญอยู่ สอง อาจจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้มีการลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนหลักการนั้นโดยความเห็นส่วนตัวไม่ขัดข้องเรื่องนี้ต้องเร่งพิจารณาข้อดี-ข้อเสียและเปิดรับฟังจากสาธารณะด้วย.
บันทึกการสนทนา “ล็อกดาวน์แรงงานข้ามชาติ “คุมคน คุมโรค” บนโจทย์ที่(ไม่อาจ)ใช้คำว่ารัฐชาติช่วยแก้”