บ้าน : คนจน : เมืองใหญ่ ในวันที่อยู่อาศัยโลกกับ “ขอนแก่นโมเดล”

บ้าน : คนจน : เมืองใหญ่ ในวันที่อยู่อาศัยโลกกับ “ขอนแก่นโมเดล”

การอพยพย้ายถิ่นในพื้นที่ภาคอีสานส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของประชาชน โดยเฉพาะในเขตหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด เช่น เมืองขอนแก่น ซึ่งพบว่ามีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นควบคู่กัน และคนในเมืองที่เป็นกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ทั้ง ขาดแคลนที่อยู่อาศัย หรือบางคนมีอยู่พักพิงอยู่อาศัย แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ นั่นจึงอีกปัญหาที่หลายภาคส่วนร่วมกันหาทางออกมาอย่างต่อเนื่อง

ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านที่อยู่อาศัยทั้งเมืองและชนบท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงเมือง บ้านมั่นคงชนบท บ้านพอเพียงชนบท และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก เมื่อวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2563 ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมหารือและผลักดันเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ขอนแก่นโมเดล เพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกันโดยมีเครือข่ายเข้าร่วมจากทั่วประเทศ

“เหตุที่เราเลือกที่ขอนแก่น เพราะว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยขอนแก่นค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย” เฉลิมศรี ลดากุล ผู้อำนวยการภาคตะวันออกเฉียงเหนือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ให้ข้อมูลถึงนัยยะสำคัญของเมืองใหญ่อย่างจังหวัดขอนแก่นกับการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยของคนเปราะบางในเมือง

“จังหวัดขอนแก่นยังมีปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยค่อนข้างที่จะครอบคลุมหลากหลายมิติ อย่างเช่นกรณีน้องที่อยู่ริมทางรถไฟ ประมาณ 4 เมือง ซึ่งอาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัยประมาณ 3,000 ครัวเรือน สำหรับในพื้นที่ชนบทเองก็จะมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ตอนนี้เราก็ดำเนินการตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทแล้ว ซึ่งแก้ไขปัญหาสำหรับบ้านพอเพียงประมาณ 600 กว่าครัวเรือน  

โจทย์สำคัญที่เราเลือกเป็นขอนแก่นโมเดลเพราะว่า อันที่หนึ่ง  คือ ศักยภาพของพื้นที่ เรามีรูปธรรมความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน อย่างเช่น ที่เมืองชุมแพ เราเกิดเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีการสำรวจการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง เกิดกลุ่ม เกิดองค์กร ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาพี่น้องที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 12 โครงการ

เราได้รับความร่วมมืออย่างดีกับทางท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา  สิ่งสำคัญที่เราได้มากกว่านั้นคือพี่น้องได้มากกว่าคำว่า “บ้าน” ตอนนี้เรายกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต เรามีการจัดการเรื่องอาชีพ เรามีการจัดการเรื่องสวัสดิการ เรื่องนารวม เรามีกิจกรรมเรื่องเด็ก เรามีเรื่องโรงน้ำ ที่สำคัญที่สุดพี่น้องมีกองทุนสำหรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับเมืองประมาณเกือบ 10 ล้าน เพื่อที่จะขยับแล้วก็แก้ไขปัญหาไปสู่เรื่องที่ดินได้”

อีกโจทย์สำคัญในกระบวนการการทำแผนเรื่องที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องเน้นใช้ขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่นในการลงมือ ทั้งการสำรวจข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนาให้ชุมชนเป็นแกนหลัก การดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นและทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกอย่างต่อเนื่อง 

“ตัวแม่เองทำเรื่องที่อยู่อาศัยของเมืองชุมแพนะคะ เป็นผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ก็คือ บุกรุกที่ของรัฐ อยู่ที่ของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่กระจัดกระจายในเขตในเมืองนะคะ ก็อยู่บ้านเช่า ครอบครัวขยายเราก็ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยนะคะ” สนอง  รวยสูงเนิน  ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  เล่าถึงการความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในชนบท

“ณ ปัจจุบันก็แก้ไขได้ทั้งเมืองแล้ว เพราะก่อนที่เราจะมาทำเรื่องโครงการบ้านมั่นคง พอช. หรือหน่วยงานท้องถิ่นเขาก็สำรวจข้อมูลทั้งเมืองที่เมืองชุมแพเป็นเมืองแรกของประเทศที่แก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งเมือง เราก็สำรวจข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กหรือเรื่องอาชีพต่าง ๆ เราสำรวจแล้วถึงเอามาแยกประเภท ว่า เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเท่าไร เดือดร้อนเรื่องเงิน มีผู้สูงอายุ มีผู้พิการจำนวนเท่าไร เราจะสำรวจทั้งหมดจึงเป็นที่มาของวันนี้ ที่เราจะทำเรื่องบรรจุในแผนจังหวัดนะคะ เราจะเอาจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่อง ที่นำผู้เดือดร้อน ไม่ว่าจะเรื่องที่อยู่อาศัย แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย เข้าเพื่อเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดค่ะ”

“ชีวิตไม่ได้อยู่แค่ตัวใครตัวมัน ซึ่งคนจนถ้าเราอยู่ด้วยตัวใครตัวมันเราจะไม่มีพลังในการแก้ไขปัญหา สุรินทร์ก็มีการรวมตัวแก้ไขปัญหา จัดกิจกรรมร่วมกันหลาย ๆ อย่าง”  สุดใจ มิ่งพกฤษ์ อยู่ที่เครือข่ายบ้านมั่นคง จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า “เราก็จะมีปัญหาเรื่องความยากจน เรื่องการไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อปี 2545-2546 ก็ได้พัฒนาในเรื่องนี้โดยตรง เรื่องการทำบ้านมั่นคง การรวมตัวกันของคนจนในเมือง ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ลุกขึ้นมาทำในงานบ้านมั่นคง ประมาณ 8 ชุมชนนะคะ อยู่ในที่บุกรุกอยู่ในที่ดินของกรมธนารักษ์นะคะ

พอเราทำบ้านเสร็จเราก็มองถึงคุณภาพชีวิตของพวกเรา ว่า คนจนเราไม่มีเรื่องสวัสดิการ ไม่มีในหลาย ๆ อย่างเราก็ทำเรื่อง สวัสดิการ การดูแลลูกหลานตัวเล็ก ๆ จนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเราก็รวมตัวกันได้ ตอนนี้บ้านมั่นคงเมืองสุรินทร์ ไม่ได้รวมกันแค่ 8-9 ชุมชน แต่เราพยายามรวมกันทั้ง 33 ชุมชน  พอเรารวมตัวกันได้กิจกรรมก็เกิดขึ้น

กิจกรรมที่เราเริ่มจากบ้านมั่นคงเราก็จะมีกิจกรรมในเรื่องของสวัสดิการที่ดูแลกัน แล้วก็กิจกรรมของเด็ก พอเราหันมาดูเด็ก เราจะมีความคิดว่าเด็กคนจนจะขาดโอกาส เด็ก ๆ เราไม่มีโอกาส เด็ก ๆ รุ่นพ่อรุ่นแม่เราจะไม่มีโอกาสที่ดี ที่จะเท่าเทียมเขา แล้วก็เราขาดโอกาส ในเรื่องการอ่าน เพราะว่าเราจะเห็นว่า เด็กคนที่เขาพร้อม  พ่อแม่ที่เขาพร้อมเขาจะเตรียมตัวลูกเขาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เตรียมอ่านหนังสือให้ลูกฟัง มีอาหารการกินที่ถูกสุขลักษณะ

เด็กในชุมชนบางคนท้องก่อนวัยอันควรและแสดงถึงความไม่พร้อม เพราะฉะนั้นเด็กที่เกิดมาก็จะไม่พร้อม ชีวิตที่เติบโตมาในอนาคตที่จะอยู่ในโลกปัจจุบันมันก็จะขาดโอกาส  เราจึงเพิ่มกิจกรรมตั้งแต่ตั้งครรภ์ ตัวสวัสดิการก็เพิ่มว่าใครท้องก็เป็นสมาชิกสวัสดิการ เราได้มีของขวัญชิ้นแรก คือ หนังสือเล่มแรก เป็นของขวัญชิ้นแรกให้แม่ให้อ่าน ให้ลูกฟัง เราก็มอบหนังสือ

เราจะเปิดลานพื้นที่สร้างสุข เปิดลานเฉพาะให้เด็ก ๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ชวนเด็ก ๆ มารวมกัน เราจะฝึกเด็กให้เด็กได้รักกันในชุมชน ให้เด็กได้รู้จักกัน ให้เห็นวิถีชุมชนเราเป็นอย่างไร  เราเริ่มจากเด็ก ๆ มาเกือบ 10 ปี ซึ่งเราเริ่มจากเล็ก ๆ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เขาเริ่มโตเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเจ้าของลานได้เอง เขาจะมีการจัดกิจกรรมในลานของเขาเอง ได้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่อยากได้ อยากให้หลาย ๆ ชุมชน หลาย ๆ เมือง ได้รับทราบในเรื่องนี้ ได้ทำในเรื่องนี้”

การแลกเปลี่ยนพูดคุยในเวทีครั้งนี้ ยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายตัวแทนกลุ่มบ้านมั่นคงแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหา เสริมกำลังใจ และสร้างเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสให้ “คนจน” มีสิทธิ์ในการเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยมากขึ้น

“ในพื้นที่ภาคใต้ ตอนนี้เราก็ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเราต้องทำทั้งเมือง ต้องบูรณาการกับท้องถิ่นท้องที่และหน่วยงาน อื่น ๆ ทั้งหมดเราไม่ทำเชิงเดี่ยว” กะนอ พาสนา เครือข่ายบ้านมั่นคง ภาคใต้ แลกเปลี่ยนถึงเป้าหมายการทำงานเรื่องที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 

เราจะทำทั้งเมือง เพราะว่าเราถือว่าเป็นปัญหาร่วมที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ จะปล่อยให้คนใดคนหนึ่งทำตามลำพังไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการทำทั้งเมือง เราไม่ได้แก้เฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเดียว เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหา ที่มีทั้งหมดในเมืองนั้น ๆ  โดยมีทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าภาพ”

ก็ช่วยได้มากเลยค่ะ พี่น้องก็ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันว่าแต่ละที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน อันนี้เราก็ได้เรียนรู้ด้วยกัน แล้วที่ไหนแก้ไขปัญหาอย่างไร ทำแบบไหน เราสามารถนำไปปรับใช้กับเราได้ค่ะ  อยากฝากถึงรัฐนะคะ ว่าการที่จะทำนโยบายอะไรลงมา ควรที่จะให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม เพราะว่าสุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็คือชาวบ้านข้างล่าง ซึ่งชาวบ้านข้างล่างจริง ๆ แล้ว เขาขอแค่โอกาสให้้ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ในการรับรู้ เขาจะไม่ขัดขวางการพัฒนาของประเทศ  แต่เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้  โดยการช่วยกันออกแบบกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็อยู่ร่วมกันได้อย่างไรโดยที่ว่าเมืองก็ขาดคนจนไม่ได้ เมืองจะพัฒนาไปด้านไหนก็ไม่ว่า แต่คนต้องอยู่ได้กับเมือง ต้องหาโอกาสให้คนได้อยู่ได้กับเมืองค่ะ”

ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด  84 เมือง  537 ชุมชน 28,912  ครัวเรือน ที่เกิดรูปธรรมจากการดำเนินงานในหลากหลายพื้นที่ และมีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลายพื้นที่ที่สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผ่านโครงการบ้านมั่นคงใน  10  เมือง  59 ชุมชน กว่า 5,700 ครัวเรือน แก้ปัญหาที่ดินทำกินใน 36 ตำบล  และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ครัวเรือนยากจน กลุ่มคนเปราะบางที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในชุมชนผ่านโครงการบ้านพอเพียงชนบท  มากกว่า 400 ครัวเรือน  ใน  60 ตำบล  พร้อมทั้งเกิดการประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนามากกว่า 10 องค์กร

คน และเมือง ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ คนทุกคนต้องเข้าถึงที่อยู่อาศัย คนทุกคนต้องมีบ้านที่ปลอดภัยสำหรับพักผ่อนนอนหลับ การแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงประสบการณ์ การเผชิญหน้าสบตากับปัญหาและการหาทางออกที่เครือข่ายจากทั่วประเทศได้พูดคุยร่วมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน ภายใต้เป้าหมายที่อยากจะผลักดันเรื่องนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ “ขอนแก่นโมเดล”เพื่อนำร่องในการจัดการที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่และชนบทจึงเป็นอีกแนวทางและโจทย์ท้าทายเพื่อให้เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครได้มีโอกาสมีบ้านที่ปลอดภัย ภายใต้ความหมายและความสำคัญที่ทุกคนเห็นคุณค่าร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ