จากต้นปีจนถึงนาทีนี้ ธันวาคม 2563 คงไม่ผิดนักหากจะนับเป็นปีแห่งความปั่นป่วน เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนยากจะตั้งรับ มีทั้งความสับสนอลหม่าน ความตื่นตระหนก ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติทั้งเรื่องมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 โรคไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก
ส่วนในอีสานดินแดนที่ราบสูง ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง ทั้ง ภัยธรรมชาติ สภาวะแล้ง สภาวะน้ำท่วม และภัยทางสังคมเช่น ภัยคุกคามการเงิน การหลอกลวงต่าง ๆ ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และสร้างความหวาดกลัวออกไปในวงกว้าง นั่นคือจำนวนข้อมูลมหาศาลในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากที่ปัจจุบันทุกคนมีโอกาสที่จะสร้างข้อมูลข่าวสารเองได้โดยไม่จำกัด อย่างที่เราเรียกว่า User Generated Content มีทั้งข้อมูลจริง-เท็จปะปนกัน และยากที่ใครคนใดคนหนึ่งจะรับผิดชอบในการกำกับติดตามหรือตรวจสอบความถูกต้อง
นั่นเป็นส่วนหนึ่งของที่มาในความร่วมมือจากเครือข่ายสื่อพลเมืองภาคอีสาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์กรวิชาชีพร่วมกันขยับจังหวะก้าวเพื่อติดตามสถานการณ์และร่วมผนึกกำลัง “หยุดข่าวลวง ทวงความจริง” ในนามคณะทำงาน ESAN COFACT นำโดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข
“หยุดข่าวลวง ทวงความจริง”
ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 มูลนิธิสื่อสร้างสุข ได้ร่วมกับ 7 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ 3 องค์กรเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ประกอบด้วย เครือข่ายสื่อศิลปะะวัฒนธรรมชุมชนอีสาน เครือข่ายสื่ออีสานสร้างสุข และเครือข่ายสื่อปลอดภัยขอนแก่น จัดประชุมระดมสมอง และก่อตั้ง อีสานโคแฟค (Esan COFACT) หยุดข่าวลวง ทวงความจริง ที่โรงแรมกรีน อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น เรียนรู้การใช้สื่อเป็นเครื่องมือการตรวจเช็คข่าวสาร ในการพัฒนาสังคม การวางรากฐานทำให้ภาคประชาชน ได้ตระหนักถึงศักยภาพและเครื่องมือบนออนไลน์ ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะช่วยในการตรวจสอบข่าวสารเบื้องต้นด้วยตัวเอง
กมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้รับผิดชอบโครงการอีสานโคแฟค ให้ข้อมูลว่า “วันนี้เราเข้ามาเอาเครื่องมือซึ่งมีวิทยากรจากหลากหลายทีมมากเลย และทั้งจากส่วนกลางแล้วก็สื่อระดับภูมิภาคแล้วก็คนทำงานในระดับพื้นที่ เพราะฉะนั้นในสิ่งที่เราอยากได้วันนี้ คือ อยากได้เครื่องมือในการเช็คข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลข่าวสารอะไรที่มันเป็นจริง ซึ่งมันมีคนคิดไว้ให้เราแล้วนะครับ คือหาทางไต้หวันซึ่งมีเรื่องของโคแฟคอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เอาเครื่องมืออย่างเช่น LINE@ อย่างเช่นเว็บไซต์ Co fact.org หรือว่าแม้กระทั่งเรื่องการใช้เกมส์มาเล่นเพื่อที่จะให้รู้เท่าทันสื่อ คือ ผมอยากให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ได้เครื่องมือ How to วิธีการที่จะนำไปสู่การเช็คข่าวลวงเพื่อที่จะให้เขานำไปทำงานต่อในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นขั้นต่อไปที่โครงการเราต้องไปหนุนเสริมเครือข่ายในระดับพื้นที่ซึ่งเรามีอยู่ 7 สถาบันการศึกษาและ 3 องค์กรที่ทำงานด้านสื่อ 7 สถาบันการศึกษากับ 3 องค์กรที่ทำงานด้านสื่อจะลงไปทำงานกับชาวบ้านโดยที่เอาเครื่องมือจากวันนี้ไป”
เครือข่ายอีสานโคแฟค เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน โดยนำเครื่องมือการตรวจสอบข่าวสาร ที่เรียกว่า COFACT มาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริงกับข้อมูลต่าง ๆ เป็นการสร้างพื้นที่กลางในการค้นหาความจริงร่วมกัน โดยผ่านเว็บไซต์ cofact.org เพจเฟซบุ๊ก โคแฟค รวมถึงในไลน์แอด COFACT ที่จะสามารถตอบโต้และสื่อสารกันได้
“มาร่วมกันคือหาข้อเท็จจริง โดยที่สร้างพื้นที่ในโลกออนไลน์ ให้คนมาช่วยกันความจริง แล้วเราก็ทำเครื่องมือในการสืบค้นง่าย ๆ ที่เรียกว่าแชตบอต” สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ COFACT กล่าวถึงเครื่องมือการทำงานในการตรวจสอบข้อมูลข้าวลวงเบื้องต้น
“สามารถแอดไลน์ แล้วก็ใช้ Keyword ค้นคำได้เลยนะคะ ว่าสิ่งนี้มีความจริงหรือไม่จริง อย่างไร ตอนนี้สิ่งที่เราอยากจะขยาย ก็คือว่าเราอยากจะสร้างชุมชน ค้นหาความจริงร่วมกัน หรือว่า Cofact Community ก็เลยเป็นกิจกรรมที่เราได้ขยายความร่วมมือมาทำงานกับสื่อในภูมิภาค สื่อท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการ สถาบันการศึกษาในหลาย ๆ ภูมิภาค เพื่อจัดสร้าง Cofact community หรือว่าชุมชนในการตรวจสอบความจริงร่วมกัน
เราคิดว่ายุคนี้ทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาเป็น Fact Checker หรือคนที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเองจะรอให้สื่อมาช่วยตอบอย่างเดียวบางทีไม่ทันแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นเราอยากจะมาต่อยอดแนวคิด “เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์” การใช้แพลตฟอร์ม COFACT เป็นแพลตฟอร์มกลางในการที่จะใส่ข้อมูลและก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน เอาข้อมูลไปใส่ใน database ของโคแฟคเวลาที่ใครค้นจะได้ข้อมูลเหล่านั้น นักข่าวส่วนกลางก็อาจจะได้เอาข้อมูลตรงนั้นไปใช้ด้วยนะคะ
สิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปนี้ก็คือสร้างภาคีเครือข่าย Fact Checker ในทุกภูมิภาค แล้วก็ให้มาช่วยแชร์แพลตฟอร์มโคแฟค มากไปกว่านั้นก็คืออาจจะต้องมีการทำงานรณรงค์ร่วมกัน เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความฉลาดในยุคดิจิทัล” (EQ with intelligent) ที่ทุกคนจะต้องเลือกวิเคราะห์แยกแยะในการรับข้อมูลข่าวสารแล้วก็ไม่เป็น Spreaders เป็นตัวระบาดของข่าวลวง แต่ต้องช่วยสกัดข่าวลวง”
“เครื่องมือโคแฟคจะเป็นเหมือนศูนย์กลาง ที่จะเอาผลการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน กระจายไปสู่คนอื่นที่อาจจะต้องการคำถามคำตอบเรื่องนั้นอยู่เหมือนกัน” พีรพล อนุตรโสตนะ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์สำนักข่าวไทย อสมท ชี้ถึงความสำคัญในการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงในข่าวสารออนไลน์
“ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีการการถูกหลอกลวงหรือลักษณะของข่าวปลอมที่แตกต่างกันไป ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่จะย่อยไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ระดับภูมิศาสตร์ หรือ มันอาจจะย่อยไปในระดับที่ว่าวัยรุ่นของจังหวัดรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยนี้ก็อาจจะมีข่าวปลอมหรือว่าข้อมูลเท็จที่พยายามหลอกลวงเขาอยู่เหมือนกันนะครับ
วิธีที่จะปกป้องตัวได้ หนึ่ง คือการที่เรามีวิจารณญาณโดยที่ไม่ต้องรอให้มีการตรวจสอบเรื่องนั้นโดยส่วนกลางก่อน วิจารณญาณสามารถเกิดขึ้นได้ทันที แต่ว่าเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเองในการที่เรื่องไหนเราไม่รู้ก็คือไม่รู้ เรื่องไหนไม่แน่ใจก็คือไม่แน่ใจ ถ้าเราแชร์ออกไปด้วยความชอบเท่านั้น บางทีเราอาจจะก็ต้องรับผลของการแชร์นั้น บางทีมันจะมีคนถึงต้องได้รับผลของการแชร์นั้น ถึงแม้ว่าเป็นโลกยุคนี้มันเป็นโรคที่ติดตามตัวกันยาก ทุกคนมีอิสระเสรีในการแชร์ในการสร้างข้อมูลใด ๆ ก็ตาม นี่คืออิสระเสรีภาพมากในเวลาเดียวกัน ความรับผิดชอบที่จะติดตัวผู้แชร์จะสูงมากไปด้วย
“หมายความว่าสิ่งที่เราโพสทั้งหมดในวันนี้ อีก20 ปีมันจะย้อนกลับมาทำอะไรเรา”
ใน 20 ปีข้างหน้า ก็อาจจะเป็นไปได้หรืออีก 5 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้ ดังนั้น เราจะต้องระมัดระวังให้มากในการเสพข่าว ถูกชักจูงชักนำ หรือ ถูกล่อลวง ให้ตกเป็นเครื่องมือเพื่อทำอะไรบางอย่างอย่างมากครับก็ด้วยความห่วงใยทุกคน เพราะตอนนี้เป็นภาวะที่ไม่ปกติ เพราะฉะนั้น ทุกคนมีภูมิคุ้มกันป้องกันตัวเองไว้ก่อนเป็นเรื่องที่ดีกว่า
แต่ในเวลาเดียวกันภาคประชาชนสื่อมวลชนหรือผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่ภาคข้าราชการที่เขาพยายามตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อจะคลี่คลาย ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เขาก็มีความจริงใจ ที่อยากจะทำให้มันสำเร็จ แต่ว่าเราอยากให้ประชาชนร่วมด้วยช่วยกันโดยการปกป้องตัวเองก่อนเป็นอันดับต้น เพื่อที่เราจะได้ลดจำนวนคนจากข้อมูลเท็จคนที่่เดือดร้อนในภาวะคับขัน”
จุดเริ่มต้นที่จะมีส่วนในการหาความจริงร่วมของเครือข่ายอีสานโคแฟค (ESAN COFACT) และประชากรสื่อสังคมออนไลน์ อาจต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วยตรวจสอบ ด้วยการทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าวหรือ Fact checker เกิดการตั้งคำถาม และการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยเครื่องมือ COFACT ที่เป็นการเปิดพื้นที่ ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความคิดเห็น เพื่อให้คนเสพข่าวได้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนแชร์ข้อมูลข่าวสาร ส่งต่อบุคคลอื่น
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ในเบื้องต้น ด้วยการชะลอความเร็วในการกดปุ่มแชร์ข้อมูลข่าวสารใด ๆ บนโลกออนไลน์และตรวจสอบข้อมูลมากมายจากหลากหลายแหล่งอ้างอิง เพื่อให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ“หยุดข่าวลวง ทวงความจริง”