“ยกเลิกไม่เท่ากับเพิกถอน” เดินหน้าฟ้องคดีเพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม

“ยกเลิกไม่เท่ากับเพิกถอน” เดินหน้าฟ้องคดีเพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม

7 นิสิต-นักศึกษา ยื่นฟ้องนายกฯ และพวกรวม 6 คน ฐานละเมิด เรียกร้องค่าเสียหายรวม 3.5 ล้านบาท จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์ร้ายแรง มิชอบด้วยกฎหมาย

27 พ.ย. 63 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก กลุ่มนิสิตนักศึกษาและภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ได้แก่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 , พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3,สำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 4, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 5 และกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 6

เพื่อเรียกค่าเสียหายจากเหตุละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม และขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ และนิสิต นักศึกษารวม 7 คน เป็นโจทก์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 กลุ่มนิสิตนักศึกษาร่วมกับเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ณ ศาลแพ่งรัชดา เพื่อให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลต้องเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ฟ้องคดีจำนวน 6 คน

หนึ่งฤทัย กิจการศุภฤกษ์ ตัวแทนนักศึกษา กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการฟ้องเรื่อง พ.ร.บ.ฉุกเฉินเหมือนเดิม แต่มีการถอนฟ้องคดีเก่าเพราะตัวมูลคดีไม่มีแล้ว ส่วนคดีใหม่จะมีการเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพทั้งทางการเมือง การเดินทาง ทางร่างกาย และทางความคิดจึงสามารถเรียกค่าเสียหายได้ โดยเรียกค่าเสียหายจำนวน 5 แสนบาทต่อคน รวม 3.5 ล้านบาท

จำนวนดังกล่าว คำนวณแล้วไม่มากเกินความเป็นจริง เช่น การที่รัฐบาลสั่งปิดเส้นทาง ปิดทางเข้า-ออกพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ การสั่งปิดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ทำให้ไม่สามารถเดินทางโดยปกติได้หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทาง ซึ่งตรงนี้ผู้ได้รับผลกระทบทุกคนไม่เพียงเฉพาะผู้ชุมนุมสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ นอกจากนี้ มีการละเมิดทางร่างกาย เช่น ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนถูกจับกุมทั้งที่ความจริงแล้วไม่สมควรถูกจับ และมีผู้ชุมนุมบางคนได้รับผลกระทบจากการใช้แก๊สน้ำตา อีกทั้งมีการละเมิดสิทธิการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

สุรชัย ตรงงาม ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การฟ้องคดรครั้งนี้เป็นการฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เนื่องจากไม่มีเหตุในการประกาศและเป็นการละเมิดสิทธิ ถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกประกาศฯ ไปแล้ว แต่การยกเลิกไม่เท่ากับเพิกถอน เพราะรัฐยังยืนยันว่าหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และมาตราการในการดำเนินการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งปัจจุบันมีนักศึกษาและประชาชนที่โดนดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กว่า 30 คน ซึ่งข้อหานี้ยังมีการดำเนินการอยู่

“การมาฟ้องเพิกถอนจึงเป็นการพยายามมาบอกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของรัฐ ตั้งแต่ 14 – 22 ต.ค. 2563 นั้นมิชอบ และรัฐไม่ควรจะอ้างความเป็นโมฆะแบบนั้นมาดำเนินคดีทางอาญากันนักศึกษาและผู้ชุมนุม” สุรชัยกล่าว

ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการยื่นฟ้อง ซึ่งศาลน่าจะมีนัดไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรนเนียมศาลในวันนี้

ส่วนกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บจากน้ำสารเคมีในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คดีนี้เป็นเพียงซีรีย์หนึ่งของคดีในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ส่วนเหตุการณ์วันอื่น ๆ จะทยอยดำเนินคดีต่อไป ส่วนความเสียหายนั้นขึ้นอยู่กับการตีความ การเสียหายทางกายภาพก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือความเสียหายที่กระทบต่อเสรีภาพ และสิทธิของชีวิต ร่างกาย หรือศักศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม ดังนั้นพูดง่าย ๆ ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งหมดสามารถมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ เพราะการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ กรณีการฟ้องคดีเพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยศาลรับฟ้องทั้ง 3 สำนวน คือ 1.การยื่นฟ้องกลุ่มนักศึกษา 2.การยื่นฟ้องโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กับพวก และ 3. การยื่นฟ้องโดย นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กับพวก ก่อนนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ