ที่มา: The Story of แม่หญิงไฟ้ท์
“อังคณา-อัญชนา” ฟ้องแพ่ง สำนักนายกฯ – กองทัพบก เรียกค่าเสียหาย 3 ล้าน และ 2 ล้านบาท ปม กอ.รมน.ทำ IO แพร่ข้อมูลบิดเบือน-ใส่ร้าย ผ่านเว็บ Pulony ใช้เงินภาษีโจมตีประชาชน ผิดพันธสัญญาปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชี้สหประชาชาติเคยระบุ “ไซเบอร์ บูลลี่” ร้ายแรงเท่า “ซ้อมทรมาน” ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นระบบ
4 พ.ย. 2563 – ที่ศาลแพ่ง รัชดา นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ และทนายความ ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลกำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก กรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโลกออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงในเอกสารที่ กอ.รมน.เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สภาผู้แทนราษฎร และได้ถูกนำมาประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาในเวลาต่อมา ซึ่งในภายหลังตัวแทนของกอ.รมน. ได้แถลงข่าวยอมรับว่า เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เป็นเว็บไซด์ของ กอ.รมน.จริง
“อังคณา” เผย แจ้งความ 3 ครั้งไร้ความคืบหน้า ขอพึ่งบารมีศาล
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะโจทก์ กล่าวถึงการฟ้องคดีในครั้งนี้ว่า ตนตกเป็นเหยื่อของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) มาตลอดตั้งแต่ทำงานสิทธิมนุษยชน โดยตั้งข้อสังเกตว่าถูกโจมตีด้วย IO มากขึ้นช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 โดยเฉพาะในขณะปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แทบทุกครั้งที่ให้ความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน มักถูกโจมตีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือนทางสื่อออนไลน์ ซึ่งทำให้คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นมีการใช้ถ้อยคำโจมตีด้วยความเกลียดชัง รวมถึงมีการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจ
และแม้ว่าจะมีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีไปแล้วถึง 3 ครั้ง ทั้งที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และสถานีตำรวจ แต่ไม่มีความคืบหน้าทางคดีใด ๆ จึงคิดว่าต้องใช้สิทธิทางศาลด้วยตัวเอง โดยขออำนาจศาลเป็นที่พึ่งในการอำนวยความยุติธรรม และยุติการกระทำดังกล่าว
นางอังคณา ระบุว่า รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองพลเมืองของตนไม่ให้ถูกล่วงละเมิด ถูกใส่ร้ายป้ายสีหรือทำให้เกลียดชัง การทำ IO ไม่ว่าจะกระทำโดยการสั่งการของรัฐ หรือรัฐรู้เห็นเป็นใจ หรือรู้แล้วแต่ไม่ห้ามและไม่ยุติการกระทำนั้น ย่อมถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น
การที่ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลในวันนี้ เนื่องจากเมื่อต้นปี ได้มีการอภิปรายงบประมาณในสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดเผยรายงานการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน. ภาคสี่ส่วนหน้าที่ให้การสนับสนุนสื่อออนไลน์ ที่ทำข่าวสารเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสื่อออนไลน์นี้กระทำการโจมตีตนมาตลอด แม้บางครั้งไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่ก็นำภาพตนมาใส่เป็นภาพประกอบ และพาดหัวเรื่องที่ทำให้เกิดความเกลียดชังนักสิทธิมนุษยชน ทำให้คนที่เข้ามาดูเกิดความเข้าใจผิด
นางอังคณา กล่าวว่า ความมุ่งหวังในการฟ้องคดีครั้งนี้เพื่อต้องการให้รัฐรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยยุติการกระทำในลักษณะนี้ ขอให้ผู้รับผิดชอบลบทิ้งข้อความอันเป็นข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จซึ่งเป็นการด้อยค่า พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และคืนศักดิ์ศรีให้ เช่น ให้มีการขอโทษ การรับประกันว่าจะไม่กระทำเช่นนี้อีกในอนาคต รวมถึงชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดจากการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชน
“การกระทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ หรือหน่วยงาน หรือองค์กรที่รัฐให้การสนับสนุน ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ตรวจสอบได้ และต้องไม่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยใช้ข่าวปลอม หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐต้องมีความจริงใจ การใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หากแต่กลับจะทำให้รัฐสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนมากขึ้น” อดีตกรรมการสิทธิฯ ระบุ
เผย ผลกระทบ ถูกคุกคาม-ดูหมิ่น จี้หยุดใช้เงินภาษีโจมตีประชาชน
ด้านนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ และประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า หลังจากที่ทำรายงานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีการโจมตีตนผ่านทางออนไลน์ กล่าวหา และตอกย้ำความเท็จว่าตนสนับสนุนขบวนการ และเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ นอกจากนี้ยังมีการคุกคามตนและครอบครัวด้วย
“เราจะถูกมองตลอดเวลา มีคนคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก โจมตีด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ถูกดูหมิ่น ทำให้เราได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ รู้สึกนอยด์ กลายเป็นตัวตลก เขาไม่มองงานที่เราทำ แต่ไปเชื่อสิ่งที่ปรากฏในโซเชียลที่ถูกทำขึ้นมาโจมตีเรา เขาใช้ทั้งภาพ เนื้อหา ที่ลดทอนคุณค่างานที่เราทำ” นางสาวอัญชนา กล่าว
นางสาวอัญชนา ยังระบุด้วยว่าจนถึงทุกวันนี้ภาพและข้อความที่เป็นเท็จยังมีการเผยแพร่อยู่ในสื่อออนไลน์ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายเพราะไม่อยากให้รัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนมาโจมตีประชาชน และตนก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ทำเรื่องที่ดี หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงประเด็นสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น แต่ทำไมกลับเป็นฝ่ายที่ถูกโจมตีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ทนายชี้ฟ้องศาลหวังเปิดโปงกระบวนการ IO ยัน นายกฯ-ผบท.ทบ.ต้องรับผิดชอบ
ขณะที่นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความ กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2563 ปรากฏรายละเอียดของรายงานการปฏิบัติข่าวสารของเว็ปไซต์ Pulony.blogspot.com ว่าเป็นของ กอ.รมน. ที่ปฏิบัติการ 2 ส่วนคือการให้ข่าวสาร กับการทำลายความเชื่อถือของหน่วยงาน หรือ บุคคลที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอุปกรณ์เครื่องมือ บุคลกร และภาษีจากประชาชนในการปฎิบัติภารกิจนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นการบิดเบือน และไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และภารกิจของกอ.รมน.ที่หวังว่าจะสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่ทำคือการสร้างความแตกแยก
“โจทก์ทั้งสองต้องการฟ้องเพื่อที่จะเปิดเผย เปิดโปงกระบวนการนี้ทั้งหมด เพื่อตั้งคำถามว่า ต่อไปสภาฯ จะอนุมัติงบประมาณให้งานประเภทนี้หรือ ที่ผ่านมา 3 ปี งบประมาณ กอ.รมน.รายงานว่า ทำไปแล้ว 140 เรื่องในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก มันไม่สมควรเกิดขึ้น ที่สภาจะต้องอนุมัติงบประมาณจากภาษีประชาชนไปเพื่อโจมตีประชาชน หรือ สร้างความแตกแยก” นายสัญญาระบุ
ขณะที่นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความ กล่าวว่า การฟ้องคดีครั้งนี้หวังว่าจะทำให้มีการวางบรรทัดฐานในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่ดำเนินการปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะที่เป็นการละเมิดบิดเบือนใส่ร้ายทำลายความชอบธรรมในการขับเคลื่อนของนักปกป้องสิทธิ และหวังว่านักปกป้องสิทธิจะได้รับการคุ้มครองเยียวยาผ่านกระบวนการยุติธรรม และทำให้สาธารณชนทั่วไปได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่รับรู้ร่วมกันว่าการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบจะต้องถูกตรวจสอบได้
นายสุรชัย กล่าวว่า ตามหลักการละเมิดก็จะต้องมีการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย รวมถึงการให้บุคลากรเจ้าหน้าที่หรือองค์กรนั้น ๆ จะต้องมีความรับผิด เช่น ทางอาญา ทางวินัย รวมถึงให้มีการตรวจสอบผ่านรัฐสภา ที่สามารถตรวจสอบได้ถึงแนวนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ ถ้าพบว่ามีการจงใจละเมิด ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ด้วยปฏิบัติการทางข่าวสาร ซึ่งการปฎิบัติการข่าวสารโจมตีนักปกป้องสิทธินี้มีการทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับการฟ้องนั้น สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่หนึ่ง เนื่องจากกอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในสำนักงานนายกรัฐมนตรี ส่วนจำเลยที่สองคือกองทัพบก ขณะที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.รมน. ผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่สี่ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ ถ้าไม่ตรวจสอบก็จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามกฎหมายตามวิสัยทัศน์หรือพันธกิจที่วางเอาไว้
อีกทั้งในโลกออนไลน์ ผู้กระทำการยังไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวและอาศัยความเป็นนิรนาม ส่งผลให้เหยื่อเกิดความรู้สึกไร้อำนาจ ตกอยู่ในภาวะเปราะบาง เกิดความเครียดและวิตกกังวลเป็นระยะเวลานาน เทียบเท่าได้กับการทุกข์ทรมานทางจิตใจอย่างหนักหน่วง ซึ่งถือว่าเป็นการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ดังนั้นรัฐไทยจึงมีหน้าที่ชดเชยค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนต่อผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม เพียงพอ โดยในคำฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางอังคณา 3 ล้านบาท และให้กับนางสาวอัญชนา 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณ และค่าเยียวยาความเสียหายต่อจิตใจจากการถูกใส่ร้ายอันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตประชาชนทุกหมู่เหล่า
ชี้สหประชาชาติเคยระบุ “ไซเบอร์ บูลลี่” ร้ายแรงเท่า “ซ้อมทรมาน”
ด้าน นางสาว ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International ที่ทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระบุว่า สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล และประเทศไทยมีพันธสัญญาในการปฏิบัติตาม ได้ให้คำนิยามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิโดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นที่จะส่งเสริมและต่อสู้เพี่อให้เกิดการคุ้มครอง และตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ”
โจทก์ทั้ง 2 เป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งควรได้รับความคุ้มครองตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ฯ รวมถึงควรได้รับการเยียวยาและชดเชยจากการถูกละเมิดสิทธิจากรัฐกรณีดังกล่าว
นางสาว ปรานม ยังระบุอีกว่า นอกจากนี้ในรายงานของผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 เสนอด้วยว่า การโจมตีผ่านทางไซเบอร์ (cyber-bullying) ถือเป็นวิธีหนึ่งในการทรมานทางจิตวิทยา ไม่ต่างกันกับการซ้อมทรมานทางกาย เนื่องจากเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นระบบ