6 นิสิตนักศึกษา จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

6 นิสิตนักศึกษา จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 คน พร้อมด้วย 8 เครือข่ายองค์กรกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หวังให้กระบวนการยุติธรรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

วันนี้ (21 ต.ค. 2563) เวลาประมาณ 10.30 น. นิสิตกลุ่มคณะจุฬาฯ และนักศึกษากลุ่ม TPC Awaken ร่วมกับเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร นัดหมายเข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ณ ศาลแพ่งรัชดา เพื่อให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลต้องเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ฟ้องคดีจำนวน 6 คน

ก่อนการยื่นฟ้องคดีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็นจำเลย เพื่อให้มีการให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มนิสิตและนักศึกษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ร่วมทั้งให้สัมภาษณ์นักข่าวที่มาติดตามสถานการณ์

นางสาวศุกรียา วรรณายุวัฒน์ 1 ใน 6 ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษายืนยันเป็นสิทธิที่จะฟ้องรัฐบาล และคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ว่าจะช่วยปกป้องสิทธิของประชาชนได้ โดยเธอต้องการใช้กระบวนการยุติรรมในการดูแลเพื่อนๆ ที่ชุมนุมอย่างสงบ และจุดที่ทำให้เธอรู้สึกทนไม่ไหวคือเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งเธอมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยไม่มีความชอบธรรม

“ความอยุติธรรมคือกฏหมาย การปกป้องจึงเป็นหน้าที่” ศุกรียากล่าว

นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความ ระบุว่า กลุ่มนักศึกษาที่เดินทางมาวันนี้ ถือเป็นตัวแทนของนักศึกษาอีกหลายคนที่เข้าร่วมการชุมนุม และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน หากศาลเห็นว่ามีความฉุกเฉินที่ต้องคุ้มครองโดยเร็ว อาจพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินในบ่ายนี้ ทั้งนี้เป็นอำนาจศาล

ทั้งนี้ หากศาลให้มีการเพิกถอนประกาศฯ แสดงว่าการใช้อำนาจที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง จะส่งผลให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามประกาศฯ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่มีความผิด ต้องถูกปล่อยตัว

“ศาลมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามหลักการถวงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย ต้องมีการตรวจสอบการใช้อำนาจที่มีผลกระทบกับประชาชน” นายสุรชัยกล่าว

หลังการยื่นฟ้อง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW รายงานว่า เวลาประมาณ 14.30 น. ศาลแพ่งได้นัดไต่สวนฉุกเฉิน ฯ ห้องพิจารณาคดี 410 ศาลแพ่งรัชดา

ศาลเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาคำสั่งฟ้องและคำร้องฯ เป็นไปโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้เกี่ยวกับสิทธิของคู่ความหรือบุคคลอื่นในการยื่นคำคู่ความและการขอคุ้มครองสิทธิ เห็นควรให้นัดฟังนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 22 ต.ค. 2563 (พรุ่งนี้) เวลา 9.00 น. ณ ศาลแพ่งรัชดา

ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม iLaw และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

00000

การแถลงการณ์ของกลุ่มนิสิตและนักศึกษา (ภาษาไทย)

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (Freedom of Peaceful Assembly) ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น ข้อ 20 (1) ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) หรือข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on civil and Political Rights หรือ ICCPR) รวมถึงเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

แต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร อันออกโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือทางกฎหมายและอำนาจในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนชาวไทยอย่างเกินขอบเขตโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

การสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยไม่ปรากฏเหตุอันตรายร้ายแรงนั้น เป็นการกระทําที่ขัดกับหลักการปฏิบัติสากล 

การสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้มาตรการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสากล เช่น ใช้รถฉีดน้ําแรงดันสูงฉีดน้ําผสมสารเคมีไปที่ผู้ชุมนุม ทั้งที่ในทางปฏิบัติ การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงจะต้องใช้กับกรณีที่มีการจลาจลที่เสี่ยงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น, พยายามในการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมและขู่จะใช้กระสุนยางโดยไม่มีเหตุอันสมควร 

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการใช้อำนาจรัฐตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ เพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต อย่างอยุติธรรม และอย่างน่าละอาย โดยไม่เคารพหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

พวกเรา นิสิตและนักศึกษาทั้ง 6 คน ในฐานะประชาชนที่เพียงออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพที่พวกเราอันพึงมี และควรต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ แต่กลับถูกรัฐบาลกระทำการจำกัดและลิดรอนอย่างเกินสมควรโดยไร้เหตุผลและความชอบธรรม จึงได้ทำการเป็นโจทก์ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการใช้อำนาจทั้งปวงของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาในคดีนี้

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศาล ในฐานะองค์กรตุลาการ จะทำหน้าที่ในการพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมและความกล้าหาญเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ 

ด้วยความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน

กลุ่มนิสิตและนักศึกษา

00000

สรุปประเด็นคำฟ้องคดีฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่ง
ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน

วันที่ 21 ตุลาคม 2563 เวลา 10.30 น. ณ ศาลแพ่งรัชดา

โจทก์:  นางสาวศุกรียา วรรณายุวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน

(นิสิต นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

จำเลย:  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ที่ 1, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ 2, พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่ 3

จากสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมสาธารณะ การเดินทาง
การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการจัดการชุมนุมที่โจทก์ทั้งหกและประชาชนเข้าร่วมเป็นการชุมนุมที่สุจริต โดยสงบปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักสากลตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร มีผู้ร่วมชุมนุมส่วนมากเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา
ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์จลาจลหรือเป็นภยันตรายที่กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ออกมา แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ข้อเท็จจริงและถูกต้อง มิใช่ใช้อำนาจและดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ โดยพฤติการณ์การใช้อำนาจของจำเลยทั้งสาม ได้แก่ การสลายการชุมนุม การประกาศปิดสถานที่หรืออาคารสถานีของระบบขนส่งมวลชนหรืออาคารอื่นๆ การจับกุมควบคุมตัวประชาชน สื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษาแบบสุ่มหรือโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย การปิดทางสัญจรของประชาชนและของรถพยาบาล การห้ามไม่ใช้ใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการเสนอข่าวสาร ภาพ เสียง หรือข้อเท็จจริงต่างๆ การสั่งให้ระงับการออกอากาศหรือการเผยแพร่ขอ้มูลข่าวสารของสำนักข่าว ซึ่งการดำเนินการของจำเลยทั้งสาม เป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นมิให้โจทก์ทั้งหกและประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมุนมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ดังกล่าวของโจทก์และประชาชน และมีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

โจทก์จึงมายื่นต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้

1.) ให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของจำเลยที่ 1 โดยทันที

2.) ให้จำเลยเพิกถอนบรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 ที่ 2/2563 ที่ 4/2563 ที่ 6/2563  คำสั่งหันวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่ 2/2563 ที่ 3/2563 ที่ 6/2563 และประกาศฯ หรือคำสั่งฉบับที่จะออกมาในภายหลังของจำเลยที่ 3 ซึ่งออกมาเพื่อปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยทันที และห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่ง และการกระทำใด ๆ ที่จำเลยที่ 3 สั่งการให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุมอีกต่อไป

และวันนี้โจทก์ได้ยื่นร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้มีการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงห้ามการออกประกาศคำสั่งตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพิ่มเติมอีกในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

———————————–

เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรที่ร่วมดำเนินการยื่นฟ้องคดีนี้ ได้แก่

  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  • สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  • มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
  • สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม
  • มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  • โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)
  • สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ