ปฏิบัติการสร้าง ‘ความจริงร่วม’ ทันข่าวลวงด้วยการสื่อสาร-เทคโนโลยีตรวจสอบภาคพลเมือง

ปฏิบัติการสร้าง ‘ความจริงร่วม’ ทันข่าวลวงด้วยการสื่อสาร-เทคโนโลยีตรวจสอบภาคพลเมือง

วันที่ 20 ต.ค.2563 องค์กรภาคี Cofact ชุมชนตรวจสอบพื้นที่เปิดในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร จัดเวทีเสวนา Cofact สัญจรภาคเหนือ ประกอบด้วยการอบรมเชิงฝึกปฏิบัติการพัฒนาทักษะการตรวจสอบข่าวลวง และการเสวนาCofact Talk: ถอดบทเรียนการ fact checking จากท้องถิ่นสู่สากล

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย (อ.ส.ม.ท) กล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริง fact checking จากที่เป็นคำกริยาจนขยับมาเป็นคำนามที่มีการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน ของ checker เกิดขึ้นเพราะข้อมูลข่าวสารเยอะขึ้นมาก ถึงขึ้นที่องค์การอนามัยโลกเรียกสภาวะนี้ว่า Infodemic หรือสภาวะที่ข้อมูลข่าวสารท้วมท้นจนมนุษย์ในปัจจุบันไม่รู้ว่าจะเชื่ออะไรกันแน่และข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นยังสร้างผลกระทบกับชีวิต

ในต่างประเทศพบว่าข่าวลวงเป็นปัญหาใหญ่ การจัดการจึงต้องมีคนจากหลายหลากศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ นักวิชาชีพด้านสื่อมวลชน นักวิชาการ นักพัฒนาด้านเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ เช่น แพทย์ เป็นต้น กลไกการทำงานร่วมกันภายใต้โครงสร้างลักษณะนี้กำลังเกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและระดับชุมชน

เราต้องตั้งคำถามอยู่เสมอว่าข้อมูลข่าวสารมันสร้างง่าย ปลอมง่าย บิดเบือนง่าย ขณะเดียวกันข้อมูลถูกทำลายยาก ดังนั้นจึงต้องเปิดใจ เลือกสรร อ่านให้จบ อ่านให้ครบและรู้ทันการสื่อสาร เพื่อจะอยู่ในยุคที่ข้อเท็จจริงอันหลากหลาย ข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลนั้นอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่แท้ก็ได้ สิ่งที่สำคัญ คือ การสร้าง “ข้อเท็จจริงร่วม”

นิยามของความลวง 2 ระดับ 3 สถานการณ์ 1 เงื่อนไข

นางอัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้จัดการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS แบ่งปันประสบการณ์เคลื่อนชุมชน สร้างความจริงร่วม ในสองประเด็น คือ การสื่อสารและการตรวจสอบข่าวลวง และการเติมข้อมูลให้กับสังคมเพื่อความเท่าทันและสร้างความจริงเพิ่มเติม

ประเด็นแรก ข่าวลวงที่สังคมไทยมี 2 ระดับ ได้แก่ หนึ่ง การจงใจการสร้างเรื่องที่ไม่เป็นจริงเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน เกิดผลเสียหายต่อบุคคล เป็นข่าวลวงที่ต้องช่วยการตรวจสอบให้มาก สอง ระดับข้อมูลที่บอกความจริงครึ่งเดียว ไม่ครบถ้วน จงใจให้เกิดความเข้าใจผิด ปิดบังข้อมูลบางอย่างเพื่อหวังผล

“เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ต้องคัดกรองและจัดลำดับการตรวจสอบ” 

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ทางสังคม 3 ด้าน ซึ่งควรทำความเข้าใจเพื่อเท่าทันข่าวลวงที่สร้างความปั่นป่วนและหลอกลวงในสังคมไทย เมื่อเข้าใจบริบทสังคมดีขั้นจะฉุกคิดได้ว่า ข่าวที่ได้มานั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน

สถานการณ์ทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่

  1. สังคมไทยเป็นสังคมที่ยังไม่ลงตัวทางการเมืองและความขัดแย้งทางนโยบายสั่งสมและบานปลาย เช่น การเมือง การทำไอโอ การลดความน่าเชื่อถือบุคคล/กลุ่มต่าง ๆ
  2. ภัยพิบัติ และอุบัติภัยใหญ่หลายลักษณะ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ทันทีที่เกิดเหตุฉับพลัน ภาพเหตุการณ์เก่ามักจะกลับมาสร้างความสับสน และเกิดความตระหนกอยู่เสมอ ๆ  
  3. การบริโภค หลอกขาย ยา อาหารเสริม เกิดให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ

ผู้จัดการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ยังกล่าวถึงเงื่อนไขสำคัญของการตรวจสอบซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของสื่อสาร ใช้ได้ทั้งสื่อวิชาชีพและประชาชนทั่วไป คือการ cross check ปัจจุบันมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทำให้การตรวจสอบสะดวกขึ้นกว่าเมื่อก่อน

“ความท้าทายและโอกาสแห่งยุคสมัย คือ crowdsourcing ต้องอาศัยปัญญารวมหมู่ของพลเมือง ทั้งผลิตเนื้อหาเติมความจริงให้สังคมและการร่วมกันจัดการกับข่าวลวงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคม”

3 ความหวัง กับภารกิจเติมข้อมูลให้กับสังคม สร้างความจริงเพิ่ม

การเติมข้อมูลให้กับสังคม การช่วยการแสวงหาความจริงมานำเสนอ สามารถทำได้ใน 3 ลักษณะ

  1. การลุกขึ้นมาของเจ้าของประเด็นที่จะมาบอกว่า ความจริง เช่น หมอฟันบอกว่าโคเคนไม่ได้ใช้ทำฟันมานานแล้ว
  2. มีความสนใจร่วมในประเด็นทางสังคม เช่น การจับโป๊ะดารารับบริจาค หรือการช่วยเหลือหมูป่าออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนโดยนักภูมิศาสตร์จำนวนมาก
  3. พลเมืองจำนวนลุกขึ้นมานำเสนอความจริงอีกด้าน ในสังคมไทยยังมีความจริงด้านเดียวที่ผลิตซ้ำ ทำให้เกิดความเชื่อที่มีผลต่อทัศนคติและชีวิตผู้คน

“เราอยู่สังคมที่มีความลวงมากและสิ่งที่ยังไม่รู้อีกเยอะ หากเราช่วยกันสื่อสารสังคมไทยจะมีข้อมูลที่หลากหลายเติมเข้ามา ด้วยพลังของตรวจสอบ ร่วมสื่อสารโดยเฉพาะดิจิทัลเนทีฟ”

ยกตัวอย่าง csite ที่เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งของไทยพีบีเอส ที่ชวนนักข่าวพลเมือง นักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจเติมข้อมูล เขียนเล่าเรื่อง ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอในการบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ปักหมุดโลเคชันผ่านทางมือถือ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นปรากฏเป็นข้อมูลเชิงแผนที่ ร่วมเติมความจริงและความรู้ให้กับสังคม ซึ่งหมุดที่น่าสนใจจะถูกนำไปสื่อสารต่อผ่านทางรายการโทรทัศน์ สารคดี ฯลฯ

https://www.csitereport.com/#!/focuscommu2020

รูปธรรมใกล้ตัวในช่วงที่ผ่านมา คือ เรื่องการจับตาชุมนุมทางการเมือง เป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในการเติมข้อเรียกร้อง ข้อเสนอทางสังคมที่ไม่ละเมิด หมิ่นแหม่ เพื่อจะทำให้คนเห็นความจริงอีกด้านหนึ่ง และหมุดเหล่านี้จะอธิบายข้อมูลบางอย่างกับสังคม

หรือกรณีเยาวชนกลุ่มหนึ่งใน จ.สงขลา พยายามจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงบนชายหาดของเขา หลังจากมีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่หน่วยงานรัฐพยายามจะบอกมาตลอด แต่งานศึกษาในระยะพบว่ากำแพงกั้นคลื่นจะทำให้เกิดการเซาะชายฝั่งในจุดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เยาวชนกลุ่มนี้ก็เลยชักชวนเพื่อน ถ่ายภาพและเขียนเรื่องราวว่าชายหาดใกล้บ้านเขามีกำแพงกันคลื่นหรือเปล่า ปักหมุดใน C-Site จนได้ภาพและความจริงชุดใหญ่ปรากฏตัว นี่เป็นตัวอย่างที่ยืนยันปรากฏการณ์ที่ช่วยสร้างประจักษ์พยานความจริงร่วมขึ้นมา

ผู้สนใจรายละเอียดการเสวนาทั้งหมดสามารถฟังรับชมไลฟ์ย้อนหลังได้ทางเพจ Cofact หรือลิงก์วิดีโอด้านล่าง

เสวนา Cofact สัญจรภาคเหนือ .Cofact Talk: แพลตฟอร์มและแชทบอทโคแฟคโดย คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact.OrgCofact Talk: ถอดบทเรียนการ fact checking จากท้องถิ่นสู่สากล- ข่าวลวงและแนวทางการขับเคลื่อนชุมชนตรวจสอบข่าวลวงในภาคเหนือ โดย คุณอัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้จัดการสํานักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS- ข่าวลวงและแนวทางการขับเคลื่อนชุมชนตรวจสอบข่าวลวงในต่างประเทศ โดย คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สํานักข่าวไทย (อ.ส.ม.ท).วันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรมศิลป์ (Syn) จ.เชียงใหม

Posted by Cofact โคแฟค on Monday, 19 October 2020

ทั้งนี้ แนวคิดของโคแฟค เป็นการผสานการผลักดันการใช้เทคโนโลยีของภาคพลเมือง (Civic Tech) กับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว และ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็นได้ อีกทั้งมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนมาส่งข่าวให้ทีมกลั่นกรองได้ จากนั้นก็จะมีทีมเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และ สื่อมวลชนด้วย รวมทั้งพัฒนางานข่าวเชิงลึก เช่นมีข้อความที่น่าสนใจอันสืบเนื่องจากประเด็นข่าวจริงข่าวลวงที่เป็นกระแสหรือที่มีความสนใจในเชิงนโยบายและประโยชน์สาธารณะในโครงการ Cofact Journalism

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ