เสวนาผ่าข่าวลวง : เสนอสื่อวิชาชีพยึดประโยชน์สาธารณะ ฟื้นความเชื่อมั่น แพลตฟอร์มร่วมกำกับ ปชช.เข้าถึงข้อมูลหลากหลาย

เสวนาผ่าข่าวลวง : เสนอสื่อวิชาชีพยึดประโยชน์สาธารณะ ฟื้นความเชื่อมั่น แพลตฟอร์มร่วมกำกับ ปชช.เข้าถึงข้อมูลหลากหลาย

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โคแฟค ประเทศไทย (Cofact)  ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ ฟิวเจอร์ มูลนิธิฟรีดิช เนามัน  กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม Center for Humanitarian Dialogue  ร่วมจัดเสวนาออนไลน์นักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 17  ในหัวข้อ “How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ” 

นายเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษา Thai PBS กล่าวเสวนาหัวข้อ “ฮาวทูรับมือข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอกให้ถูกทาง”  ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาตนได้หารือกับเพื่อนฝูงในสหพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน ซึ่งตนเป็นประธานอยู่ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นสถานการณ์สื่อในอาเซียนที่เกิดปัญหาข่าวลือขึ้นเช่นกันยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ข่าวลือกระจายตัวและมีความชุกมากขึ้นกว่าช่วงปกติ เพราะคนอยู่บ้านและใช้สื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางในการปล่อยข่าวลือข่าวปลอมมากขึ้น เพื่อหวังผลด้านการเมือง การค้า หรืออื่น ๆ ก็ตาม ซึ่งก็มีคำถามว่าจะหาทางออกกันอย่างไร ทั้งนี้มีคำกล่าวว่าเฟคนิวส์ ข่าวลือ ข่าวปลอม ไม่รู้จักพรมแดน มันสามารถไปทั่วได้ โดยมีการพูดคุยกันว่าจะจัดการอย่างไรในประเทศตัวเองให้ได้ก่อน และร่วมมือกันในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะหลาย ๆ อย่างเกี่ยวของกับเพื่อนบ้านและอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

นายเทพชัย กล่าวว่า สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและเกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่แม้กระทั่งที่ประเทศที่เชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางด้านข้อมูลข่าวสาร เช่น อเมริกา ก็คือข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะมีผลระยะยาวและไม่สามารถหักล้างด้วยข้อเท็จจริงได้ ข้อเท็จจริงไม่มีความหมาย สำหรับคนที่อยากเชื่อบนโลกออนไลน์

ระยะยาวเรื่องของข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการสร้างกระแสทางเรื่องการเมือง สร้างความเกลียดชัง จะเป็นเรื่องที่ตนคิดว่าไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม ถ้าคนไม่เชื่อมันก็คือไม่เชื่อ ข้อเท็จจริงมีมากแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย เพราะตอนนี้มันกลายเป็นคนที่เข้าไปในออนไลน์ก็เพื่อหาข้อมูลที่ตอกย้ำความเชื่อที่มีอยู่แล้วและปิดกั้นทุกอย่างที่จะไม่ไปรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากแหล่งตนไม่ชอบและไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง

ในงานวิจัยก็มีการพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดและตนคิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่อย่างมาก ที่จะนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังและความขัดแย้ง ซึ่งรัฐบาลควรมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในเรื่องนี้ ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือที่ประชาชนไม่ไว้ใจ มีบทบาทมากขึ้นเท่าไร คนก็ยิ่งไม่เชื่อถือในการที่จะมาอธิบายเหตุผลมากขึ้น ข้อมูลจากเพื่อนๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย มันก็กลายเป็นว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะให้ความกระจ่างกลับกลายเป็นสิ่งที่คนเชื่อน้อยกว่าข่าวลือที่ได้ยินด้วยซ้ำไป เป็นประเด็นสำคัญที่ตนคิดว่าต้องแก้ในระยะยาว

นายเทพชัย กล่าวว่า ดังนั้นเฉพาะหน้าตนเห็นด้วยกับองค์กรอย่างโคแฟคหรือองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสื่อที่จะช่วยกันยับยั้งข่าวลือ ให้ความกระจ่างและข้อเท็จจริง ทักษะการสื่อสารทั้งหลายมันไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะคนที่เรียนทางด้านสื่อสารมวลชน แต่เป็นทักษะที่เป็นความจำเป็นของชีวิตที่ต้องมาพร้อมกับกฎกติกาและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย  ส่วนบทบาทของสื่อจะแก้ปัญหาได้อย่างไร แม้แต่คนทำข่าวเองก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน โอกาสเป็นเหยื่อก็มีสูงมาก สื่อกระแสหลักอยู่ในสถานที่ตกต่ำทั้งความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือ จากนี้จะเห็นข่าวที่เป็นกระแส หวือหวา ไม่ต้องลงทุนมาก ถือเป็นข่าวร้ายในวงการสื่อและสังคมด้วย

“สิ่งที่เราต้องจับตาดูกันมากขึ้น คือ ข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ที่มากับความเห็นของพิธีกรรายการข่าว ซึ่งตรงนี้มันก็เข้าข่ายเป็นเฟคนิวส์ถ้าไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง คุณเชียร์หรือวิจารณ์คนบางคนโดยวิจารณ์จากความรู้สึกและความเห็นส่วนตัวไม่มีข้อเท็จจริงมารองรับสิ่งที่พูด ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าอันตรายมาก เพราะยิ่งจับผิดและแยกแยะได้ยากหากเป็นคนที่สังคมให้ความเชื่อถือ สุดท้ายแล้วจึงต้องกลับมาในเรื่องการสร้างให้ประชาชนรู้เท่าทันในเรื่องเหล่านี้” นายเทพชัยกล่าว

นายเทพชัย กล่าวว่า ในฐานะคนทำสื่อตนเชื่อว่าสิ่งที่จะเชื่อกับเฟคนิวส์ข่าวลวงข่าวปลอมได้ก็ คือ ข้อเท็จจริงและช่องทางที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง นั่นคือช่องทางของสื่อที่ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ แต่สื่อเหล่านี้จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อสังคมช่วยให้อยู่ได้ เราเรียกร้องต่อบทบาทของสื่อกระแสหลักที่เป็นวิชาชีพอย่างมากว่าต้องมีจรรยาบรรณเพื่อมาสู้กับข่าวปลอมแต่ถ้าสื่อกระแสหลักไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ตนคิดว่าก็คงลำบากที่จะเห็นสื่อกระแสหลักทำหน้าที่เหล่านี้ ดังนั้นข้อสรุปของตนคือถ้ายังมีความเชื่อมั่นว่าสื่อกระแสหลักจะช่วยในเรื่องข่าวลือข่าวปลอมได้ก็ต้องช่วยให้สื่อกระแสหลักอยู่ได้

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่เราค่อนข้างเน้นคือเรื่องข้อมูลเท็จข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) นำสู่ผลกระทบและการสร้างมลภาวะทางข้อมูลได้ ซึ่งทางยูเอ็นมองว่าเป็นภาวะฉุกเฉิกทางการสื่อสารไม่เฉพาะภาวะฉุกเฉินเรื่องโรคระบาดเท่านั้น วันนี้จะเน้นที่ข้อมูลเท็จข้อมูลที่บิดเบือน  ซึ่งที่ผ่านมีการใช้เฟคนิวส์เพื่อดิสเครดิตสื่อหลัก มีการประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่ทำให้เกิดความรวนเรและคนไม่เชื่อ มีข้อเท็จจริงทางเลือกขึ้นมา ซึ่งคนเลือกจะเชื่อไม่เชื่ออยู่ที่ควรรู้สึกและอารมณ์มากกว่า นอกจากนั้นยังมีการที่เชื่อมโยงกันคือการล้มล้างการตรวจสอบว่าอะไรจริงไม่จริง ซึ่งบางทีเฟคนิวส์ก็ถูกหักล้างโดยผู้มีอำนาจได้ประโยชน์

ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวอีกว่า สำหรับเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลข่าวลวง ในแง่การวิจัยส่วนใหญ่จะพุ่งไปที่กระบวนการแพร่การจายกลไลมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเอไอ หรือบ็อท ก็มีบทบาทในการแพร่กระจายข่าวลวง แต่ส่วนหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็นำมาป้องกันการแพร่ข่าวลวงได้ ทั้งนี้ยูเนสโก เสนอ 4 แนวทางในการรับมือ เช่น  ชี้ให้เห็นว่าอะไรคือความจริงอะไรคือข่าวลวง งานของโคแฟคก็อยู่ในแนวทางนี้ โดยเน้นไปที่ผู้ผลิตหรือผู้แพร่กระจายเป็นการใช้กฎหมายหรือนิติบัญญัติดำเนินการ เสริมศักยภาพผู้เกี่ยวข้องและให้การศึกษา โคแฟคทำตรงนี้ดีแล้วในแง่การพิสูจน์

ทั้งนี้ตนอยากเสนอให้หยุดเส้นทางการทำเงินหรือรายได้ ไม่ให้สนับสนุนสื่อที่เผยแพร่ข่าวลวง เป็นการหยุดเส้นทางการเงิน การตอบสนองต่อข้อมูลเท็จและข้อมูลที่บิดเบือน

“ภาพรวมมองว่าข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนสะท้อนถึงความผิดปกติของสังคมด้วย ถ้าจะมองว่าผู้ผลิตข่าวสารหลายส่วนก็ไม่ได้ทำตัวให้เป็นหลักยึด มีการแข่งขันฉุดรั้งสู่มาตรฐานที่ต่ำลง เอาเนื้อหาออนไลน์ที่ไม่ได้ตรวจสอบมาเผยแพร่ซ้ำ ๆ มัวเมามอมเมา ไม่สนใจความคุ้มค่าของคลื่นความถี่ ผู้ที่ควรจะเป็นหลักต่าง ๆ น่าจะต้องรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพสื่อ และนักวิชาการ ต้องรับบทหนักในเรื่องเหล่านี้ แม้สถานการณ์สื่อจะต้องรับบทหนักเรื่องเศรษฐกิจแต่ก็ต้องพิสูจน์หน้าที่ให้สังคมเห็นด้วย คนที่ควรจะเป็นหลักในส่วนต่าง ๆ ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะสะท้อนความผิดปกติของสังคมต่อไป” ศ.ดร.พิรงรองกล่าว

ด้าน ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย กล่าวว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศเป็นประเทศที่มีการกำหนดการรู้เท่าทันสื่อเป็นวิชาภาคบังคับ เด็กทุกคนต้องได้เรียนวิชานี้มานานเกิน 5 ปี ตลอดจนทักษะอนาคตทั้งหมด และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและประชาชนในอนาคต ซึ่งวิธีการสอนเด็กไม่ใช่การเดินไปบอกว่าเป็นข่าวลวง แต่ผ่านการลงมือทำตามความสนใจของเด็ก ไม่ได้สอนผ่านความสนใจของครู เป็นสาเหตุที่ให้การรู้เท่าทันสื่อของประเทศเขาสูง นอกจากนั้นยังมีการฝึกให้เด็กรู้จักฝึกวิเคราะห์แยกแยะโดยเพิ่มทักษะด้านการรู้เท่าทันสื่อผ่านการศึกษาไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ซึ่งฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับการรู้เท่าทันสื่ออันดับ 1 ของโลก 4-5 ปีซ้อน

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศ ซึ่งเขาวัดจากเสรีภาพสื่อว่าแต่ละประเทศมีเสรีภาพขนาดไหน ถ้าเสรีภาพสื่อสูงแล้วคนยังต้านทานเฟคนิวส์ได้แสดงว่ามีความรู้เท่าทันสื่อสูงมาก ต่อมาคือเรื่องการศึกษาที่สัมพันธ์โดยตรงกับการต้านทานเฟคนิวส์  นอกจากนั้นความสามารถในการอ่านเป็นสิ่งสำคัญในการต้านทานเฟคนิวส์ อ่านได้ยาวเท่าไรยิ่งต้านทางเฟคนิวส์ได้มากเท่านั้น ตลอดจนอ่านแล้ววิเคราะห์สังเคราะห์ได้มากน้อยเพียงได้ ที่สำคัญคือความเชื่อมั่นของคนในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อร่างความสามารถความเท่าทันสื่อของแต่ละประเทศ ยิ่งประเทศที่มีคอร์รัปชันสูงการรู้เท่าทันสื่อจะยิ่งต่ำเพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ตลอดจนเรื่องของสื่อมวลชนว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งนี้บทบาทของผู้ใหญ่ในปัจจุบันมีความสำคัญต่อเด็กที่อยู่ในวัยเปราะบาง ซึ่งต้องมีการสอนให้คัดกรองสื่อได้อย่างรู้เท่าทัน และเป็นสิ่งที่ตนในฐานะนักการศึกษากำลังจะดำเนินการในปีนี้.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ