3 เดือนแรกการระบาดโควิดในไทย พบเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกเลิกตั๋วโดยสาร พุ่งสูงกว่า 1,500 กรณี
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ชี้สื่อทุกระดับมีส่วนในการเผยแพร่ข่าวลวง แนะทางออกแก้ปัญหาความตื่นตระหนก สำคัญผิด เครียดสับสน
Cofact ปฏิบัติการตรวจสอบความจริงข่าวลวงจากทุกส่วนของสังคมเปิดตัวเว็บไซต์ ไลน์แชทบอท ชวนพลเมืองร่วมกันตรวจสอบ
วันนี้ 14 เม.ย. 63 เวทีสานเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #8 ได้จัดเสวนาในหัวข้อ Cofact vs. Covid19: “เราควรรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) อย่างไรให้สมดุล” ระหว่างเวลา 14:00-17:30 น.
น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงมกราคม – มีนาคม พบมีเรื่องร้องเรียนถึง 1,555 รายการ ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย ฉลากอาหารและผลิตภัณฑ์ถูกยกเลิกไปแล้ว หรือไม่มีเลขอย. แต่ยังพบในท้องตลาด นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องบริการสาธารณะจากการยกเลิกการเดินทางต่าง ๆ ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคที่จองล่วงหน้า บางสายการบินไม่มีนโยบายคืนเงิน แต่ให้เลื่อนเที่ยวบินแทน ขณะที่บางรายไม่ต้องการเลื่อนแต่ต้องการค่าจองเที่ยวบินคืน
“ประชาชนบางกลุ่มถูกให้ออกจากงานเพื่อลดภารของบริษัท ทำให้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และผู้บริโภคส่วนใหญ่ขอคำปรึกษาเรื่องการผิดนัดชำระ จนกลัวว่าจะทำให้ติดเครดิตบูโรหรือถูกฟ้องคดี ที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ คือ เรื่องการซื้อผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ ทั้งหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ ทางแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสเจ้าใหญ่อย่างลาซาดา shopee ก็พยายามจะตรวจสอบเอาสินค้าเหล่านี้ลง แต่ทางร้านค้าก็หาทางเอาขึ้นมาขึ้น และผู้บริโภคก็ยังไปหาจนได้” ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวถึงประเด็นการตรวจสอบความจริงก่อนนำเสนอข่าวว่า ข่าวปลอมก็เพิ่มขึ้นเหมือนกับโควิดในเชิงระบาดวิทยา บางอันก็ถูกทำโดยสื่อมวลชน หรือตัวผู้ใช้ พบว่าเกิดข้อมูลเท็จทั่วโลกตั้งแต่เดือนมกราคม องค์การอนามัยโลกต้องมีหน่วยดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะในไทยพบว่ามีข้อมูลเท็จ ข้อมูลน่าสงสัยข้อมูลที่อาจสร้างปัญหามาจากปัจจัยที่เป็นโรคระบาดใหม่ รุนแรง มีผลถึงชีวิต ซึ่งทุกคนกระหายใคร่รู้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการรอดชีวิต ทุกหัวข้อจึงใหม่ น่าสนใจและทำให้ดึงดูดใจไม่ยาก โดยแหล่งที่มาแบ่งได้เป็น
- สื่อทุกระดับ
- ผู้เชี่ยวชาญทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และไม่เกี่ยวกับการแพทย์
- คนขายของ ทำให้คนเชื่อและสั่งซื้อไปกินไปใช้
- ประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ตกใจ ทึกทักและไม่รู้
- ลวงข้ามชาติ แปลได้แต่ตรวจสอบไม่เป็น
- หน่วยงาน/นักการเมือง ความสับสนจากการทำงานไม่ลงรอย
- เกรียน/ป่วน กุข่าวลวง หวังผลให้แตกตื่นตกใจ
- อุบัติเหตุ จากการสื่อสารที่ขาดความครบถ้วน
ทั้งนี้ การจัดการกับข้อมูลเท็จกรณีของโควิดสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม
- ตื่นตระหนก: เรื่องน่าตกใจ ทำให้เกิดปัญหา การตอบสนองผิดหรือตอบสนองเกินความจำเป็น หรือชะล่าใจ ทางแก้ คือ ตรวจยืนยันข้อเท็จจริงเข้าใจกลไกก่อนสื่อสารคาดการณ์ข้อสงสัย
- สำคัญผิด: สุขภาพ การแพทย์ ทำให้เกิดปัญหา ความเข้าใจผิดในการดูแลสุขภาพอาจส่งผลต่อชีวิต ทางแก้คือ ตรวจสอบแหล่งข้อมูล สอบถามผู้เชี่ยวชาญน่าตกใจ ไม่รายงานก่อนแน่ใจ
- เครียดสับสน: การบริหารจัดการ ทำให้เกิดปัญหา ความเข้าใจสถานการณ์ไม่สมจริง หวาดกลัว หรือไม่ไว้ใจ มองข้ามการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี ทางแก้ คือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงรอบด้านไม่ตกเป็นเครื่องมือ
“ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสของสื่อและคนทำงานเพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ประชาชน เรื่องที่ไม่มีแหล่งข้อมูลที่ชัดเจน ให้สงสัยไว้ก่อน เช่น ไม่มีแถลงข่าว ไม่มีเสียงบุคคลนั้นพูด ไม่มีเอกสารที่ตรวจสอบที่มาได้ ไม่มีลิงก์ไปยังเว็บไซต์ กรณีหลายเรื่องต้องสงสัยไว้ก่อนอย่าเผยแพร่ ถ้าไม่แน่ใจ”
ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลลวง mis-information ทำให้ประชาชนทำตัวไม่ถูก ขณะที่หน่วยงานราชการก็พยายามตั้งกระบวนการในสื่อสาร หรือสื่อมวลชน รวมถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิดในการ ซึ่งมีการแข่งกันระหว่างความเร็วกับความน่าเชื่อถือของข้อมูล ซึ่งสถานการณ์การระบาดมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การระบาดของข้อมูล misinformation ไม่ได้ดูแค่สถานการณ์แต่พยายามดูถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนั้น ซึ่งต้องใช้ภาคีความร่วมมมือ ภาครัฐ สื่อมวลชน องค์กรอิสระ แต่ในเบื้องต้น infodemic ในบ้านเรายังไม่ได้มีการศึกษา วิจัยอย่างเป็นระบบ หรือชี้ให้เห็นว่ากลไกกลางจะสื่อสารเพื่อสร้างความถูกต้องอย่างไร
“การทำให้คนมีความรู้เท่าทันข้อมูล และเรียนรู้ปฏิบัติกับข้อมูลได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันส่งเสริม”
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Cofact กล่าวว่า โครงการ Cofact หรือ Collaborative Fact Checking เป็นแนวคิดเพื่อสร้างความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ให้ทุกคนเป็นผู้ร่วมตรวจสอบข่าวลวงร่วมกัน โดยให้คุณค่ากับความรับผิดชอบของพลเมือง ตามรอยแนวคิดของไต้หวัน ซึ่งได้แปลงเป็นให้กิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การทำเว็บไซต์ และ พัฒนา chatbot ร่วมกับภาคีส่วนต่าง ๆ ทั้ง สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกสาร องค์กรอิสระ
นายสุนิตย์ เชรษฐา Change Fusion กล่าวว่า ในทางเทคโนโลยีตอนนี้มีเว็บไชต์แอพพลิเคชัน และระบบไลน์ที่เป็นแชทบอท เป้าหมายสำคัญอยู่กลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นคนใช้ ทำอย่างไรให้สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ง่าย ระบบนี้สร้างการมีส่วนร่วมที่ให้ภาคีเข้ามามีส่วนตรวจสอบ เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือแต่จะทำอย่างไรให้เครือข่ายที่มีอยู่มากมาย มาร่วมในการแชร์เป็นฐานข้อมูลกลาง หรือ cofact จะเป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงอย่างไร
อนึ่ง โครงการโคแฟค หรือ Collaborative Fact Checking เกิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวันที่เชื่อในเรื่องพลังของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร ด้วยการมีพื้นที่กลางในการให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงผู้รู้จริง เพราะบางครั้งข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย ดังนั้นภาคประชาสังคมในประเทศไทยเราก็ต้องการสร้างพื้นที่กลางที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และ สร้างสรรค์ในการที่จะค้นหาความจริงร่วมกัน ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเต็มไปด้วยความเข้าใจผิด สับสนอลหม่าน จนบางครั้งยากที่จะเชื่อใครหรืออะไรได้
เมื่อกลางปี พ.ศ.2562 ภาคประชาสังคมในประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหาข่าวลวง หรือ International Conference on Fake News นำโดยภาคี 8 องค์กร อาทิ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสัมมนาในครั้งนั้นได้ลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมร่วมกันด้วย อีกทั้งได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันคือคุณออเดรย์ ถัง มาเป็นวิทยากรคนสำคัญที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานของโคแฟคต้นแบบในไต้หวัน จากนั้นมาก็ได้มีการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือ จนนำมาสู่โครงการโคแฟคในประเทศไทย
แนวคิดของโคแฟค เป็นการผสานการผลักดันการใช้เทคโนโลยีของภาคพลเมือง (Civic Tech) กับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็นได้ อีกทั้งมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนมาส่งข่าวให้ทีมกลั่นกรองได้ จากนั้นก็จะมีทีมเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนด้วย รวมทั้งพัฒนางานข่าวเชิงลึก เช่นมีบทความที่น่าสนใจอันสืบเนื่องจากประเด็นข่าวจริงข่าวลวงที่เป็นกระแสหรือที่มีความสนใจในเชิงนโยบายและประโยชน์สาธารณะในโครงการ Cofact Journalism
เบื้องต้นเราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Center for Humanitarian Dialogue (HD) Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) ซึ่งดำเนินการโดยทีม ChangeFusion และ OpenDream มีภาคีผู้สนับสนุนเนื้อหาอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Wisesight รวมทั้งภาคีภาครัฐอย่างสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือพันธมิตรอย่างชัวร์ก่อนแชร์ รวมทั้งภาคีภาคประชาสังคมในท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และองค์กรวิชาชีพสื่อ เป็นต้น
เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาข่าวลวงในยุคดิจิทัลคือการทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าวหรือ Fact checker และ สร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยเปิดเวทีให้มีตลาดทางความคิดเห็นที่หลากหลาย (Marketplace of Ideas) แยกแยะได้ระหว่างข้อเท็จจริง (Facts) และความคิดเห็น (Opinion) โดยเชื่อมั่นในวิจารณญาณของสังคม ท้ายที่สุดแล้วถ้าเราไม่สามารถเชื่ออะไรได้เลย ก็ไม่เชื่อไว้ก่อนจนกว่าจะมีการสืบค้นข้อเท็จจริงจนประจักษ์ร่วมกัน ย่อมดีกว่าการเชื่อไปโดยไม่ไตร่ตรอง หรือเชื่ออย่างมืดบอด ดังคำพูดของคุณออเดรย์ ถังที่กล่าวไว้ในเวทีการประชุมที่กรุงเทพว่า “Blind trust is worse than no trust!” การเชื่ออะไรอย่างมืดบอดนั้นน่ากลัวกว่าการที่เราไม่เชื่อไว้ก่อน ดังนั้นมาร่วมกันค้นหาตรวจสอบความจริงยุคข้อมูลข่าวสารร่วมกับเรากันเถอะ เริ่มต้นจากเรื่องสุขภาพใกล้ตัวก่อน โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 ที่คุกคามพลเมืองทั่วโลก ไวรัสที่มาพร้อมกับการระบาดของข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) เราได้รวบรวมบทความไว้จำนวนหนึ่ง.
ผู้สนใจสามารถรับชมเสวนาย้อนหลังได้ที่