โรงเรียนขนาดเล็ก: “ยุบ” ย่อมง่ายกว่า “พัฒนา” (1)

โรงเรียนขนาดเล็ก: “ยุบ” ย่อมง่ายกว่า “พัฒนา” (1)

เรื่อง/ภาพโดย  พระมหาบุญช่วย สิรินธโร

          เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก จัดกิจกรรม “ก้าวแรกธรรมยาตราและเสวนาเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก” ภายใต้โครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก ณ วัดทุ่งโป่ง ต.เมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 ต.ค. 2562 เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังภาครัฐ (คปร.) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรและการบริหารจัดการ เป็นเหตุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 3 ต้องรีบเร่งดำเนินการ “ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กม. ในเขตพื้นที่การศึกษาฯ ซึ่งรวมถึง “โรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง” ต.เมืองปาน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ด้วย

หากดูนิยามของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) “โรงเรียนขนาดเล็ก” คือโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนราว 15,158 แห่ง ทั่วประเทศ มีนักเรียนจำนวน 981,831 คน และมีครูจำนวน 103,079 คน รวมถึงครอบครัวของนักเรียนอีกจำนวนมาก ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในครั้งนี้ แม้ว่าทาง สพฐ. จะยืนยันว่าผู้ปกครองและนักเรียนจะไม่ได้รับผลกระทบ และ สพฐ. ได้มีแผนและงบประมาณรองรับกรณีที่การควบรวมโรงเรียนกินระยะทางเกินไปกว่า 6 กม. เอาไว้แล้วก็ตาม

จากนโยบาย “การยุบ-รวมโรงเรียนขนาดเล็ก” เป็นเหตุให้จำนวนโรงเรียนที่เคยมีถึง 52,195 โรง ในปี พ.ศ. 2562 ลดลงเหลือ 41,403 โรง ในปี พ.ศ. 2563 ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 3 จะยุบรวม “โรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง” มีบทเรียนที่น่าสนใจ ที่ควรแก่การพิจารณา ดังนี้

พลัง “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่หลายฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะเป็น “พลังขับเคลื่อนชุมชน” โดยมี “บ้าน หรือ ครอบครัว” เป็น “พลังแห่งกำเนิด” มี “วัด” เป็น “พลังแห่งศีลธรรม” และมี “โรงเรียนเป็น “พลังแห่งความรู้และการสืบทอด” ก็คงจะกลายเป็นพลังที่ “ไร้พลัง” เหตุเพราะขาด “พลังแห่งความรู้และการสืบทอด” ไปอย่างน่าเสียดาย

ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นผลงานวิจัย ที่ศึกษาผลกระทบจากนโยบาย “ยุบ-รวม” โรงเรียนขนาดเล็ก อย่างชัดเจนและรอบด้าน ซึ่งหากมีผลการศึกษาวิจัยที่บอกผลกระทบจากนโยบาย “ยุบ-รวม” โรงเรียนขนาดเล็ก อาจจะกลายเป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะนำไปสู่การปรับปรุงนโยบายดังกล่าว ก็อาจะเป็นได้ เช่น

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ : การ “ยุบ-รวม” โรงเรียนขนาดเล็ก ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

ผลกระทบทางสังคม : องค์ความรู้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการสืบทอด เด็กเยาวชนทิ้งถิ่น อุบัติเหตุจากการเดินทางไปเรียนหนังสือที่ไกลกว่าเดิม ความผูกพันระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง เป็นต้น

ผลกระทบทางศาสนา/วัฒนธรรม : ความห่างเหินวัดวาอาราม และการขาดโอกาสในการขัดเกลาทางศีลธรรมจากวัดในชุมชน เป็นต้น

เวทีเสวนา “ก้าวแรกธรรมยาตรา”

นโยบายอันมีเป้าหมายที่ “การยุบ-รวม” อาจจำเป็นต้องพลิกมาเป็น “การพัฒนา” โรงเรียนขนาดเล็ก แทนก็เป็นได้ เพราะหลายชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้โรงเรียนในชุมชนยังคงดำรงอยู่ ได้เดินหน้าทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว

หากเราเชื่อมั่นให้เป้าหมายที่ “การพัฒนา” มากกว่าเป้าหมายที่ “การยุบ-รวม” เราก็จะมุ่งมั่นหาแนวทางที่จะ “พัฒนา” โรงเรียนขนาดเล็ก แทนที่จะเร่งรัด “ยุบ-รวม” อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

ทั้งนี้ ปัญหามันมีอยู่ว่า หากจะ “พัฒนา” จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังกันอย่างขนานใหญ่ ทั้งระดมคน ระดมความคิด ระดมทุน/ทรัพยากร ระดมภาคีเครือข่าย เพื่อให้การพัฒนาบรรลุผล ซึ่งเป็นเรื่อง “ยาก” ยิ่งนัก เป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่เลือกทางที่ง่ายที่แทบไม่ต้องทำอะไร นอกจาก “ออกประกาศยุบ-รวม” โรงเรียน โดยไม่ต้องคิดอะไรมากก็ได้

หากเราได้ผู้กุมนโยบายที่ขาดจิตวิญญาณแห่ง “การพัฒนา” เราคงได้เห็น “โรงเรียนขนาดเล็ก” ถูก “ยุบ-รวม” ไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลือโรงเรียนเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนชุมชน เป็นแน่แท้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ