จากข้อพิพาทชุมชน ‘บ้านกลาง’ ถึงแนวทางแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินในเขตป่า

จากข้อพิพาทชุมชน ‘บ้านกลาง’ ถึงแนวทางแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินในเขตป่า

เปิดข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมาย การแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่าที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับหลักการให้มีการจัดเวทีวิชาการรับฟังเห็นของประชาชน

ที่มา : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และชาวกะเหรี่ยง ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 202 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1. ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าที่สร้างผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งให้หาแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐที่ผ่านมา

​​2. ผลักดันให้มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับโครงการจัดที่ดินชุมชน (คทช.) ให้เป็นการรองรับสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างแท้จริง และผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน

3. ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากแนวทางและมาตรการตามมติ ครม. ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

​4. ทบทวน ปรับปรุงเนื้อหา พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับ พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560

5. ผลักดันให้มีการคุ้มครอง พื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และยกระดับมติ ครม. ดังกล่าวให้เป็นพระราชบัญญัติเขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมภายในปี พ.ศ.2564

6. กรณีชุมชนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ปัญหากับหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และที่อยู่อาศัยได้

7. ให้มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กับ ขปส.จำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนผู้ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เช่น บ้านกลาง จังหวัดลำปาง, บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย, บ้านนาดอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, บ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่, บ้านป่าแป๋ จังหวัดลำพูน, ตำบลไล่โว่ จังหวัดกาญจนบุรี, ชาวเลพีพี จังหวัดกระบี่, ชาวเลเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา, สระต้นโพธิ์ จังหวัดภูเก็ตกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ เช่น ชุมชนเพิ่มทรัพย์ สุราษฎร์ธานี และชุมชนสันติพัฒนา สุราษฎร์ธานีกลุ่มป่าอนุรักษ์เตรียมการประกาศหรือผนวกเพิ่ม เช่น บ้านกลาง จังหวัดลำปาง, แม่ป่าเส้า, แม่คองซ้าย และบ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่กลุ่มป่าอนุรักษ์ เช่น ตำบลน้ำพาง จังหวัดน่าน, ชุมชนตามุย จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดชัยภูมิ ชัยภูมิ (บ้านซับหวาย, บ้านซับสะเลเต, หนองผักแว่น, ซอกตะเคียน, หินรู), บ้านปลิว จังหวัดตรัง และบ้านหลังมุก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กรณี ออป. ชุมชนบ่อแก้ว (สวนป่าคอนสาร) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

8. ให้มีกลไกการประสานงานเพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานผ่านทางเฟซบุ๊กว่า เกิดกรณีการสนธิกำลังกันของเจ้าหน้าที่เข้ายึดไม้จำปา จำปี ของชาวบ้านในชุมชนบ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งชุมชนนำมาจากพื้นที่ป่าชุมชน ในแนวเขตแนวกันไฟ เพื่อสร้างศาลาอเนกประสงค์โบสถ์คริสต์ โดยเจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ตั้งแต่สมัยที่รัฐยังเปิดให้มีการสัมปทานป่าไม้จนพื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานลำดับเหตุการณ์ว่า ชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่มีประวัติ มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนยาวนานกว่า 300 ปี พื้นที่จิตวิญญาณทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ มีพื้นที่ส่วนใหญ่ทับซ้อนกับการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทมาตั้งแต่ปี 2534

วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา อยู่ในระหว่างที่ชุมชนมีแผนการสร้างศาลาอเนกประสงค์ของโบสถ์คริสต์ จึงได้เข้าไปในพื้นที่ป่าชุมชนในแนวเขตแนวกันไฟ เพื่อหาไม้จำปี จำปา มาก่อนสร้างอาคารดังกล่าว เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ระดับปฏิบัติการได้พบไปเข้า แต่ผู้ใหญ่บ้าน นายสมชาติ รักษ์สองพลู ได้เจรจาจนไม่มีความขัดแย้งใด ๆ

วันที่ 10 ตุลาคม เวลาประมาณ 12:00 น. ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ได้ลงพื้นที่มาอีกครั้ง โดยชุมชนได้ระดมกำลังกันไปยืนล้อมปิดทางเข้าชุมชน ยืนยันว่าต้องเจรจากับผู้ใหญ่บ้านก่อน

หลังเจรจากับผู้ใหญ่บ้าน อุทยานฯ ยืนยันต้องยึดของกลาง คือไม้ทั้งหมดที่ชาวบ้านจะนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งได้รวบรวมหลักฐาน เช่น บุหรี่ เสื้อผ้า หรือกระป๋องน้ำ เพื่อไปตรวจดีเอ็นเอ อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484

วันที่ 10 ตุลาคม เวลาประมาณ 19:43 น. ได้รับรายงานจากชุมชนว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ, ป่าสงวนฯ และตำรวจ เจรจากับชุมชนได้ข้อสรุปเบื้องต้นคือ จะยึดไม้ของกลางไว้ และดำเนินคดีโดยไม่พบตัวผู้กระทำความผิด พรุ่งนี้ร้อยเวรจะลงพื้นที่ทำสำนวนในที่เกิดเหตุ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเริ่มเดินทางกลับ ส่วนชุมชนก็แยกย้ายกลับบ้านของตนหลังผ่านการเจรจาต่อสู้อย่างแข็งขันกว่า 7 ชั่วโมง

วันที่ 11 ตุลาคม เวลาประมาณ 10:00 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ เริ่มสนธิกำลังกันเข้าไปในพื้นที่แล้ว ทราบว่าจะมีการประสานงานมาอีกหลายหน่วยงาน และไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่เจรจากันไว้เมื่อคืน สถานการณ์ตึงเครียด.ขณะนี้อยู่ระหว่างรอร้อยเวรจาก สภอ.แม่เมาะ และผู้แทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เข้าคลี่คลายสถานการณ์ ด้านที่ปรึกษาพีมูฟชี้ หากเจรจาในพื้นที่ไม่เป็นผล จำเป็นต้องทบทวนท่าทีการทำงานแก้ไขปัญหากับรัฐบาล

14:00 น. ผู้แทนจากกรมการปกครองเดินทางมาถึงพื้นที่เพื่อเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย ได้ข้อสรุปว่าจะทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ณ ศาลาเฝ้าระวังไฟป่า ชุมชนบ้านกลาง จุดที่ 1 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างบันทึกข้อตกลงร่วมกันก่อนการลงนาม

16:55 น. การเจรจาสิ้นสุดได้ข้อยุติ มีการลงในนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเป็นที่พอใจ โดยมีชุมชนบ้านกลาง, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนาม อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาสถานการณ์หลังจากนี้

ข้อกังวลคนบ้านกลางกับพรบ.อุทยานแห่งชาติ2562

ข้อกังวลของคนอยู่กับป่า.ช่วงนี้คนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กำลังช่วยกันดูแลเฝ้าระวัง ดับไฟป่า ออกลาดตระเวณ ทำแนวกันไฟ โดยมีกองทุนดูแลป่า กองทุนหน่อไม้ ที่แบ่งส่วนรายได้จากการหาของป่า มะแขว่น น้ำผึ่ง หน่อไม้ รถด่วน เพราะป่าคือบ้าน คือแหล่งอาหาร รายได้ และชีวิตของพวกเขา.เมื่อมีพรบ.อุทยานแห่งชาตีปี 2562 ไม่ครอบคลุมพื้นที่ของพวกเขา วึ่งเป็นพื้นที่เตรียมประกาศอุทยาน ไม่รวมเงื่อนไข 240 วันที่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ทำแนวเขตใหม่ ที่ชาวบ้านกังวลว่าอาจไม่ทัน และทำให้ชุมชนของพวกเขาไม่ได้รับการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ที่ซ้อนทับกับฝืนป่า.ไปติดตามดูกันวิถีของชุมชนที่อยู่กับป่าและข้อกังวลกับพรบ.ป่าไม้ฉบับใหม่เป็นอย่างไร กับทีม #ปันภาพ ใน #Localistชีวิตนอกกรุง ตอน กฎหมายใหม่ในวิถีบ้านกลาง วันนี้(22 มี.ค.63) เวลา 13.00-13.30 น. ทาง #ThaiPBS

Posted by Localist on Saturday, 21 March 2020

ทั้งนี้ สามารถติดตามความคืบหน้าของการเจรจาและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ทางเพจ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และ TheCitizen.plus ชวนผู้อ่านเดินทางที่บ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ชุมชนชาวปกาเกอะญอ ที่นี่เป็นชุมชนที่อยู่กับป่า ที่ผ่านมาชุมชนเหล่านี้มีการเรียนรู้ มีกติกา มีการใช้ภูมิปัญญาเพื่อดำเนินชีวิตในพื้นที่ป่า แต่เมื่อ พระราชบัญญัติอุทยานฉบับใหม่บังคับใช้ วิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เตรียมผนวกเขตอุทยาน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ จะเป็นอย่างไร?

ผ่านรายการชีวิตนอกกรุง ตอน “กฎหมายใหม่ในวิถีบ้านกลาง” ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ