TDRI: ดาบสองคมในวิชาชีพท่องเที่ยวของอาเซียน

TDRI: ดาบสองคมในวิชาชีพท่องเที่ยวของอาเซียน

20152804163521.jpg

ขนิษฐา ฮงประยูร
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว (Mutual Recognition Agreements on Tourism Professional: MRA TP) ในปลายปี 2555 ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในวงกว้าง เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและประเทศอื่นๆ

ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวในปี 2556 พบว่าเรามีนักท่องเที่ยวสูงถึง 26 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศถึงกว่าหนึ่งล้านล้านบาท จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 พบว่ามีผู้ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสูงถึงเกือบ 2 ล้านคน จึงมีการตั้งคำถามว่า หากเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้จะมีแรงงานวิชาชีพท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอาเซียนเคลื่อนย้ายมาหรือไม่ และเราควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไร 

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานในวิชาชีพท่องเที่ยว หรือวิชาชีพอื่นๆ 7 วิชาชีพที่ได้มีการลงนาม MRAs ไปแล้วก่อนหน้า ไม่ได้ทำกันง่ายๆ จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติที่ได้ผ่านการเห็นชอบของประเทศสมาชิกอาเซียนเสียก่อน สำหรับแรงงานวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียนกำหนดเอาไว้เพียง 32 ตำแหน่งงานเท่านั้น โดยจะต้องมีการทดสอบและขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อกำหนดของอาเซียน ซึ่งในประเทศไทยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักในการดูแล 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2556 ที่ผ่านมา ในการสำรวจบุคลากรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าคุณวุฒิของแรงงานวิชาชีพท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศจากตัวอย่างที่ทำการสำรวจนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก  กล่าวคือ แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเริ่มต้นในการทำงาน จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีเพียงแผนกงานแม่บ้านที่เป็นแผนกงานที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงมากนัก 

แน่นอนสำหรับในด้านภาษาอังกฤษแล้ว ชาวฟิลิปปินส์มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดีเยี่ยมอย่างปราศจากข้อโต้แย้ง ซึ่งเมื่อพิจารณาคุณสมบัติด้านภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษแล้ว พบว่าประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามมีความหลากหลายในการสื่อสารภาษาอื่นๆ มากกว่าประเทศไทย อันถือเป็นจุดแข็งในการรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก 

ขณะเดียวกันอาเซียนอาจไม่ใช่ภูมิภาคเป้าหมายของชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องการจะย้ายเข้ามาทำงานหากมีโอกาส เพราะชาวฟิลิปปินส์มองอเมริกา และยุโรปเป็นทวีปปลายทาง ขณะที่ชาวเวียดนามเองกลับมองว่าหากโอกาสเอื้ออำนวย อาเซียนจะเป็นเป้าหมายหลัก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากไม่ไกลจากบ้านมากนัก รวมถึงมีวัฒนธรรมต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน โดยประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายในลำดับต้นๆ ของบุคลากรวิชาชีพชาวเวียดนาม

อนึ่งพบว่าข้อได้เปรียบหลักของบุคลากรวิชาชีพไทย คือ การตื่นตัวเกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วงจากภาครัฐที่ผ่านมา ซึ่งมองแล้วก็น่าจะดีแก่บุคลากรวิชาชีพชาวไทย เนื่องจากเป็นการสร้างตระหนักและตื่นรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

เมื่อเปรียบเทียบแต่ละประเทศ พบว่าประเทศไทยมีโครงสร้างค่าจ้างที่สูงกว่า รวมถึงสวัสดิการที่ดีกว่าทั้ง 2 ประเทศอยู่มาก อย่างไรก็ดีด้วยเหตุผลต่างๆ อาทิ แนวโน้มผู้สูงอายุเยอะขึ้น การตึงตัวของตลาดแรงงาน รวมถึงเหตุผลเชิงธุรกิจอย่างการแข่งขันอย่างดุเดือดของภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เกิดโรงแรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ จึงทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรท่องเที่ยวอย่างมาก 

MRA TP จึงอาจเป็นเหมือนดาบสองคม ที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดหากใช้ถูกทาง กล่าวคือ MRA TP จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถเติมเต็มกำลังแรงงานที่กำลังขาดแคลนอยู่ได้ จากการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานของบุคลากรวิชาชีพอาเซียน ในทางตรงกันข้ามแรงงานชาวอาเซียนอาจเข้ามาแย่งงานคนไทย หรือสร้างภาระให้แก่ประเทศในรูปแบบต่างๆ หากเราไม่มีระบบคัดกรอง และบริหารจัดการที่ดีและมีมาตรฐาน 

ภาระหนักเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องหาแนวทางการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพอย่างรัดกุม รวมถึงกระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการที่จะพัฒนาคนให้มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ และท้ายสุดคือหน้าที่ของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวชาวไทยยังคงต้องมีศักยภาพ พัฒนาตัวเองให้มีขีดความสามารถที่สูง และสมรรถนะเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ยังคงจะต้องรักษาความเป็น “Thainess” ซึ่งก็คือเอกลักษณ์โดดเด่น ยิ้มสยาม และการบริการอย่างไทยต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ