กป.อพช.อีสานจี้องค์กรสิทธิฯ-สื่อมวลชน ปกป้องนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรณีโรงโม่หินดงมะไฟ

กป.อพช.อีสานจี้องค์กรสิทธิฯ-สื่อมวลชน ปกป้องนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรณีโรงโม่หินดงมะไฟ

24 ก.ย. 2563 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน หรือ กป.อพช. ภาคอีสาน เผยแพร่แถลงการณ์ กรณีนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำเครือข่ายผู้เป็นเจ้าของแร่แห่งประเทศไทย และหัวหน้าพรรคสามัญชน ถูกข่มขู่เอาชีวิตจากการสนับสนุนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได ในการต่อสู้เพื่อให้มีการปิดเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน ในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ที่ใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนจะสิ้นสุดอายุใบอนุญาตลงในวันนี้ (24 ก.ย. 2563) ซึ่งทำให้สิทธิในการทำเหมืองแร่ของบริษัทดังกล่าวสิ้นสุดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ กป.อพช. ภาคอีสาน มีข้อเสนอต่อสาธารณะดังนี้ 1.ขอให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาติดตาม ตรวจสอบ สถานการณ์ความรุนแรงในกรณีเหมืองหินดงมะไฟอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียของประชาชนอีกต่อไป 2.ร้องขอให้องค์กรสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรสาธารณะทั้งหลายได้ร่วมกันปกป้องนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรณรงค์ #saveเลิศศักดิ์ ไปด้วยกัน

00000

แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน

“หยุดอำนาจรัฐเผด็จการอุ้มทุนโรงโม่หินดงมะไฟ ปกป้องนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”

26 ปี แห่งการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได กับการลุกขึ้นมาคัดค้านการทำเหมืองแร่หินปูนหรือโรงโม่หินในพื้นที่ป่าชุมชน ตลอดเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านคนธรรมดาจากที่เคยจับจอบ จับเสียม ทำไร่ ไถนา ก็ต้องลุกขึ้นมาเขียนหนังสือร้องเรียนหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน เพื่อหยุดกระบวนการทำลายป่าชุมชน แหล่งทรัพยากรของชาวบ้านด้วยเหตุว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการประชาคม เพื่อประกอบการขออนุญาตทำเหมืองหินของนายทุน แต่นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ดำเนินการตรวจสอบแล้ว ยังคงเดินหน้าอนุญาตราวกับไม่เห็นความผิดพลาด จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาฟ้องศาล เพื่อให้เพิกถอนประทานบัตรการทำเหมืองหิน โดยในศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตร แต่เมื่อมีการกลับคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ก็เป็นเหตุให้บริษัทเอกชนอาศัยช่องว่างของกฎหมายดำเนินการทำเหมืองโดยไม่ต้องรอการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กระบวนการเอื้อกลุ่มทุนกดขี่ชาวบ้านเช่นนี้นำมาซึ่งข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมไทยว่ายังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่ !?

แม้ชาวบ้านจะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ให้ประทานบัตรนอกเขตแหล่งหินอุตสาหกรรม จึงต้องเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทเอกชน แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลกลับเพิกเฉย ในรอบ 26 ปี ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและคัดค้านการทำเหมืองหลายร้อยฉบับ ทั้งหน่วยงานรัฐในระดับ ท้องถิ่นและส่วนกลาง แต่หน่วยงานเหล่านั้นกลับนิ่งเฉยและหาวิธีการเปิดช่องให้นายทุน โดยไม่สนใจที่จะกำกับดูแลให้เอกชนดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบราชการไทยแท้จริงนั้นเป็นเพียงกลไกที่คอยรับใช้กลุ่มทุนหาใช่กลไกที่รับใช้ประชาชนตามที่กล่าวอ้าง

เมื่อไม่อาจหวังพึ่งข้าราชการได้ ชาวบ้านจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเอง ครั้นพอขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านมีพลังเข้มแข็ง กระบวนการสกัดกั้นขบวนการชาวบ้านด้วยความ รุนแรงก็เริ่มขึ้น ปี2538 แกนนำชาวบ้าน 2 คน ถูกสังหาร เพื่อเปิดทางให้กระบวนการทำเหมือง แต่เมื่อชาวบ้าน ไม่ยอมแพ้และยังคงเดินหน้าคัดค้านต่อไป จึงมีคำสั่งสังหารแกนนำ 2 คน อีกครั้ง ในปี 2542 การสังหารแกนนำ ทั้ง 4 ศพ เป็นการกระทำที่อุกอาจซึ่งคนในพื้นที่ทราบเป็นอย่างดีว่าใครคือ ‘ผู้บงการ’ จะมีก็แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เคยรับรู้อะไรเลยและ ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ในทางกลับกันกลไกรัฐได้ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน ทั้งการ ข่มขู่ คุกคาม และ อำนวยการควบคุม ติดตามขบวนชาวบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะ กอ.รมน. เป็นเหตุให้ชาวบ้านนักต่อสู้ต่างสงสัยในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านหรือไม่

ปรากฏการณ์ล่าสุดคือคำสั่งฆ่าแกนนำรายที่ 5 คือ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำเครือข่ายผู้เป็นเจ้าของแร่แห่งประเทศไทย และ หัวหน้าพรรคสามัญชน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อปิดเหมืองแร่หินดงมะไฟในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความอุกอาจและไม่เกรงกลัวกฎหมายของกลุ่มนายทุนโรงโม่หินและสะท้อนความล้มเหลวของการบริหารจัดการทรัพยากรของภาครัฐ ดังนั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช. ภาคอีสาน) มีข้อเสนอต่อสาธารณะดังนี้

(1)ขอให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาติดตาม ตรวจสอบ สถานการณ์ความรุนแรงในกรณีเหมืองหินดงมะไฟอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียของประชาชนอีกต่อไป
(2)ร้องขอให้องค์กรสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรสาธารณะทั้งหลายได้ร่วมกันปกป้องนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรณรงค์ #saveเลิศศักดิ์ ไปด้วยกัน

ด้วยจิตคารวะ
กป.อพช. ภาคอีสาน
24 กันยายน 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ