PERMATAMAS ยื่น จ.ม.เปิดผนึก กอ.รมน. นักวิชาการสะท้อนพลังการขับเคลื่อน นศ.

PERMATAMAS ยื่น จ.ม.เปิดผนึก กอ.รมน. นักวิชาการสะท้อนพลังการขับเคลื่อน นศ.

พลังนักศึกษากับการขับเคลื่อนเรื่องทรัพยากรชายแดนใต้

กองบรรณาธิการนักข่าวพลเมืองภาคใต้ สัมภาษณ์ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ประธานเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี ในประเด็นของ นักศึกษากับความพยายามเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนแสดงจุดยืนต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพยากรชายแดนใต้

หลังจากวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) และเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม จัดกิจกรรม “ปลุกพลังนักศึกษา หยุดโรงไฟฟ้าถ่ายหิน ต่อลมหายใจอีกครั้ง” เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโรงฟ้าฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดย อ.สมพร ได้สะท้อนว่าก่อนหน้านี้การขับเคลื่อนงานของกล่มเครือข่ายนักศึกษาต่างๆ ในพื้นที่จะให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในคดีความมั่นคง และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสันติภาพ แต่การที่หันมาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องทรัพยากรมีนัยสำคัญของความมั่นคงในระยะยาวซึ่งเป็นอนาคตของพวกเขาเอง

การที่นักศึกษาออกมาถือเป็นพลังบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญมากเพียงใด ซึ่งสามารถนำไปสู่การพูดคุยและสร้างสันติสุข แต่หากขาดการมีส่วนร่วมและขาดองก์ประกอบของการเป็น “ประชารัฐ”

ซึ่งจะต้องให้ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม และรวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งกลุ่มนักศึกษาคงต้องการหาคำตอบจากรัฐบาลให้กับสังคมว่า จะมีแนวทางสร้างสมดุลระหว่างทรัพยากรสิ่งแวดล้อมกับโครงการพัฒนาอย่างไร นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการสร้างสันติสุขของภาคใต้หรือไม่ ซึ่งมีความขัดแย้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และหากจะขยายประเด็นความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีกก็อาจจะต้องพิจารณาว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร

ขณะเดียวกันพื้นที่เทพาซึ่งมีพื้นที่ทางจิตวิญญาณ อย่างศาสนสถาน มัสยิด, กูโบร์ (สุสาน), สำนักสงฆ์ รวมถึงโรงเรียน สถานที่เหล่านี้หากจะอนุรักษ์ก็จำเป็นต้องตอบโจทย์ให้ชัดว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติโจทย์เหล่านี้ควรจะถูกหยิบยกมาตั้งแต่ริเริ่มเลือกพื้นที่สร้างโครงการแล้วว่าจะสร้างที่ไหนที่จะสามารถลดเงื่อนไขของความขัดแย้งได้มากที่สุด และโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความจำเป็นมากเพียงใด หรือควรจะใช้พลังงานอื่นๆ ที่จะมาเสริมบนฐานของพลังงานที่มีอยู่แล้วในพื้นที่หรือไม่อย่างไร

ทางด้านนักศึกษาที่ออกมาขับเคลื่อนช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการลงพื้นที่ และผมเองก็ได้ให้ข้อมูลทางวิชาการแต่การขับเคลื่อนงานของนักศึกษาก็เกิดจากแรงขับของพวกเขาเอง หลังจากการลงชุมชนและได้ข้อมูลถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และได้พิสูจน์ข้อกังขาว่าเทพาเป็นที่ที่แห้งแล้งจริงหรือไม่ ปลูกพืชทำการเกษตรไม่ได้จริงหรือเปล่า ไม่มีป่าชายเลนจริงไหม รวมไปถึงทรัพยากรทางทะเล บริเวณริมชายฝั่ง และเมื่อกลุ่มนักศึกษาได้เห็นสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเขาเองก็ได้มาสะท้อนในรั้วมหาวิทยาลัย

ผมคิดว่าปัญญาชนก็ควรมาทำงานในลักษณะนี้ เพราะหากเกิดความขัดแย้งในสังคม นักศึกษา นักวิชาการ และมหาวิทยาลัย ก็ควรที่จะลงไปรับทราบและเรียนรู้เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการแสวงหาทางออกที่ดีร่วมกันต่อไป

PERMATAMAS ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ กอ.รมน. หวั่นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชนวนใหม่ความขัดแย้งชายแดนใต้

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกให้แม่ทัพภาค 4 หลังจากที่ได้แสดงพลังของนักศึกษาด้วยการเดินขบวนและอ่านแถลงการณ์ไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า นำปัญหาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของวาระในกระบวนการสร้างสันติสุขเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่อาจจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมี พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาค 4 รับหนังสือ

       

  ขอบคุณภาพจาก คุณอิมรอน สาเหาะ นักข่าวพลเมือง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
  ขอบคุณภาพจาก คุณอิมรอน สาเหาะ นักข่าวพลเมือง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

รายละเอียดแถลงการณ์

หนังสือเปิดผนึก

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS)

วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๙

เรื่อง ขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค ๔ ส่วนหน้า นำปัญหาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาบรรจุเป็นวาระของกระบวนการสร้างสันติสุขเพื่อลดภัยแทรกซ้อนยิ่งโหมไฟใต้

เรียน แม่ทัพภาค ๔

ด้วยเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยับยั้งโครงการพัฒนาต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในสิทธิชุมชนของประชาชนตลอดจนความมั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเร่งด่วน ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนี้คือมหันตภัยจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งจะใช้เนื้อที่เกือบ ๓,๐๐๐ ไร่ และพื้นที่ทะเลอีก ๑๕ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งโครงการในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา นั้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรงของประชาชนในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับมีการศึกษาผลกระทบเพียงรัศมี ๕ กิโลเมตร โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดอื่นๆแม้แต่น้อย

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)มีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกๆด้าน ทั้งการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำลายวัฒนธรรม วิถีชุมชน และประมงพื้นบ้าน การทำลายศาสนธรรมอันดีงาม จะมีการย้ายมัสยิด วัด กุโบร์ และโรงเรียนปอเน๊าะ ทำลายสุขภาวะทางสุขภาพร่างกาย และสร้างความฉ้อฉลจากการใช้เงินซื้อผู้นำและประชาชนในพื้นที่อ.เทพา จ.สงขลาแล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆเลย นอกจากมลพิษ หายนะ และความแตกแยกในชุมชน

อนึ่งทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)เชื่อว่ามหันตภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นไม่ใช่แค่เพียงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากแต่กระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังดำเนินการโดย กอ.รมน.นั้น ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงอีกด้วย เพราะได้สร้างบรรยากาศความหวาดระแวงความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กฟผ. ที่ใช้วิธีการที่ไม่ชอบธรรม และใช้อำนาจอิทธิพลมาผลักดันโครงการฯ อีกทั้งยังได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนกับประชาชนกันเอง และประชาชนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลียงไม่ได้ ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) จะมีการเผยแพร่ชุดข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อสาธารณะและชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องต่อไป

ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) จึงขอให้ทาง กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า ได้นำปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้จากผลกระทบของมหันตภัยของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาบรรจุเป็นวาระของกระบวนการสร้างสันติสุขชายแดนใต้ และพิจารณาสั่งยกเลิกโครงการฯดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศของกระบวนการพูดคุยสันติสุขตามนโยบายของความมั่นคงแห่งชาติเพื่อลดภัยแทรกซ้อนยิ่งโหมไฟใต้สู่การมีบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขต่อไป

ด้วยความเคารพและนับถือเป็นอย่างสูง

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

เพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS)

 

ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นศ.เตรียมต้านโรงไฟฟ้าฯ เทพา หวั่นผลเสียสิ่งแวดล้อม กระทบแผนสันติภาพ

นศ.จับมือปชช. ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหวั่นกระทบเดินหน้าสันติภาพชายแดนใต้

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ