“กินแตงโมหวาน ค้านโรงไฟฟ้า” เสียงจากกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดตาอุด-ศรีตระกูล จ.ศรีสะเกษ

“กินแตงโมหวาน ค้านโรงไฟฟ้า” เสียงจากกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดตาอุด-ศรีตระกูล จ.ศรีสะเกษ

กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดตาอุด-ศรีตระกูล จังหวัดศรีสะเกษ จัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมยื่นหนังสือต่อพลังงานจังหวัดศรีสะเกษ เสนอให้พับแผนโครงการโรงไฟฟ้าฯ หวั่นกระทบรายได้และวิถีชุมชนจากการทำเกษตร ทั้งข้าวหอมมะลิ หอมแดง พริก ผัก และแตงโม ที่สร้างรายได้ กว่า 300 ล้านบาท

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2563 ชาวบ้านกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดตาอุด-ศรีตระกูล จังหวัดศรีสะเกษ แสดงจุดยืนไม่ต้องการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ เนื่องจากกังวลถึง2ระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และฐานการเกษตรโดยเฉพาะแหล่งลูกข้าวอินทรีย์และแตงโมที่สร้างรายได้ให้ชุมชนปีละกว่า 50 ล้านบาท ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดเวทีคัดค้านโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ภายใต้แนวคิด “กินแตงโม คัดค้านโรงไฟฟ้า” ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลตาอุด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีชาวบ้านร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

นายเด่นชัย ดอกพอง อายุ 46 ปี ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดตาอุด-ศรีตระกูล จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูล ไม่เคยได้มีส่วนร่วมมาก่อนเลย ว่าในพื้นที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเกิดขึ้นใกล้พื้นที่ชุมชนตนเอง ชาวบ้านมาตื่นตัวก็ช่วงหลังการจัดเวทีประชาพิจารณ์ไปแล้วหนึ่งครั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านกังวลใจมาต่อสถานการณ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมีประเด็นดังนี้

1.พื้นที่ซึ่งจะดำเนินแผนการก่อสร้างไม่เหมาะสม เนื่องจากใกล้ชุมชน

2.อาจจะก่อให้เกิดมลพิษ ด้านฝุ่นละออง กลิ่นเหม็น เสียงดัง น้ำเสีย ต่อคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม

3.อาจจะกระทบต่อการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งตำบลตาอุด-ศรีตระกูล ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ก่อให้เกิดรายได้หลักด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ ประชาชนมีความขยันขันแข็ง  เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี เป็นแหล่งปลูกและขายแตงโมที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศมีแผงจำหน่ายแตงโม ข้าวสาร และผลผลิตทางการเกษตรสองข้างถนนเส้นทาง 24 ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจปีละมากกว่า 100 ล้านบาท เป็นแหล่งปลูกหอมแดง พริกและผัก ส่งขายในตลาดตาอุด และเมืองขุขันธ์ ปีละมากกว่า 50 ล้านบาทโดยภาพรวมแล้วพื้นที่ในตำบลตาอุด จึงไม่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้า แต่เหมาะสำหรับการผลิตข้าว การปลูกแตงโม พริก หอม กระเทียม และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ 

4.อาจจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำใต้ดิน เนื่องจาก ตำบลตาอุดและศรีตระกูล เป็นพื้นที่ซึ่งขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก โดยเฉพาะในฤดูแล้งต้องพึ่งพาระบบน้ำบาดาลในการเกษตรและใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งแทบจะไม่พอใช้ในแต่ละปี  ดังนั้น จึงไม่เหมาะสำหรับการมีโรงงานไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก และถ้าโรงงานขุดบ่อบาดาลลงไปในขนาดที่ใหญ่และลึกมาก อาจจะก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำใต้ดิน

5.อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพต่อคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง เช่น โรคเครียด ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนังผืนคัน เป็นต้น

6.อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านคมนาคมที่มีรถขนส่งวัตถุดิบวิ่งเข้า-ออก ผ่านหมู่บ้านซึ่งจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอื่น ๆ เป็นต้น

ชาวบ้านจึงมีข้อเสนอ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหา ดังนี้

1.ให้ยกเลิกแผนดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่คาบเกี่ยวพื้นที่ตำบลตาอุด-ศรีตระกูล

2.ให้ยกเลิกเวทีประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่มีการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลตาอุด ที่ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดตาอุด-ศรีตระกูล จังหวัดศรีสะเกษและชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน

นายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 41 ปี คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เดิมเป็นนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้า 1,933 เมกะวัตต์ หลังจากที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยืนยันที่จะยึดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี 2018 แทน พีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีการบรรจุเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนเอาไว้ในแผน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเสนอ 2 แนวทาง ให้ดำเนินการแทนในลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าที่แบ่งผลประโยชน์ให้ชุมชนและการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพที่มีการแข่งขันต้นทุนราคาค่าไฟ

แต่เราต้องมาดูระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2559 ประกอบด้วยว่าโรงไฟฟ้าที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงของผู้ขอรับใบอนุญาตนั้นได้ดำเนินการให้ข้อมูลโครงการก่อนจัดเวทีหรือไม่ และครอบคลุมชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ดังนั้นชาวบ้านในพื้นที่จึงมีสิทธิในการคัดค้านตั้งคำถามและตรวจสอบกระบวนการการทำประชาพิจารณ์ว่าถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากกังวลว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จึงเสนอว่าควรยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ และควรพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและทรัพยากรชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า

นายวงศกร สารปรัง อายุ 32 ปี ทนายความจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 60 ว่า สิทธิ คือ ประโยชน์ อำนาจ ที่มีติดตัวบุคคลมาตั้งแต่เกิด แล้วมีกฎหมายมารับรองประโยชน์หรืออำนาจของสิทธินั้น ในที่นี้จะพูดสิทธิที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 60 ให้การรับรอง หลัก ๆ มี 2 ส่วน คือ สิทธิส่วนบุคคลที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด และสิทธิแบบกลุ่มหรือสิทธิชุมชน ที่เป็นประโยชน์ อำนาจที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้นกรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในวันนี้ จึงมีสิทธิในการ แสดงความคิดเห็น การพูด การชุมนุม การติดป้าย เป็นต้น โดยการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำไม่ได้ และในมาตรา 41 บุคคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีกฎหมายลูกคือ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของทางราขการ รับรอง มีสิทธิที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ และสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดชอบการการกระอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเห็นได้ว่าแม้บทบัญญัติในการกฎหมายยังไม่ครอบคลุมสิทธิที่บุคคลมีทั้งหมด เช่นสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องต่อสู้เรียกร้องกันต่อไป แต่เท่าที่มีอยู่ก็พอที่จะให้เป็นหลักประกันเพื่อยืนยันว่าบุคคลและชุมชนมีสิทธิตามที่บทบัญญัติตามกฎหมายรับรองเช่นกัน

หลังจากนั้นกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดตาอุด-ศรีตระกูล ได้อ่านแถลงการณ์ คัดค้านโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชนเศรษฐกิจฐานราก โดยชาวบ้านได้ร่วมกัน “กินแตงโม” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนในพื้นที่ในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และยื่นหนังสือคัดค้านต่อพลังงานจังหวัดศรีสะเกษ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาอุด ก่อนลงดูพื้นที่จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ