สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / สภาองค์กรชุมชนร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และภาคีเครือข่ายจัดงาน “สมัชชาสภาองค์กรชุมชน 2563 ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น โดยมีการจัดเวทีวิชาการเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ฯลฯ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
ระหว่างวันที่ 9 -10 กันยายนนี้ มีการจัดงาน “สมัชชาสภาองค์กรชุมชน ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น” และ การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2562 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งภาคีเครือข่าย และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานประมาณ 450 คน ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ การจัดเวทีวิชาการเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขในประเด็นต่างๆ
การก้าวข้ามกับดักความยากจน
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์สังคมไทยกับความท้าทายสภาองค์กรชุมชนต่อการขับเคลื่อนหลังสถานการณ์ COVID-19” มีใจความโดยสรุปตอนหนึ่งว่า สถานการณ์สำคัญด้านภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 คือ 1.กับดักความยากจน 2.กันชนทางการเงินต่ำลง 3.ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น รายได้ครัวเรือนลดลงสวนทางกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
ส่วนปัจจัยที่กระทบต่อรายได้ครัวเรือน เกิดจากปัจจัยทางวัฏจักร คือ เศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (การใช้แรงงานลดน้อยลง) การเข้าสู่สังคมสูงวัย (ทำให้มีวัยแรงงานลดน้อยลง)
ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2563 ไตรมาสที่ 2 ติดลบ 12.2 % โดยมีเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ คือ การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลงตามการลดลงของฐานรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 (การปิดห้างร้าน สถานบริการ แหล่งชุมชน ฯลฯ) เช่น ปริมาณการซื้อขายยานยนต์ทุกประเภทลดลงร้อยละ 43.0 การใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงร้อยละ 21.4 ฯลฯ
ดร.เดชรัต ได้เสนอแนวทางการก้าวข้ามกับดักความยากจน เช่น ด้านการผลิต ต้องเน้นรายได้ก่อนปริมาณ (การผลิตที่เหมาะสม การแก้ไขปัญหาหนี้สิน (ให้เกษตรกรมีทางเลือกแท้จริง) ด้านกลไกการตลาด เศรษฐกิจท้องถิ่น (เน้นตลาดใกล้กันให้มากขึ้น) กำกับกลไกการตลาด (ลดอำนาจเหนือตลาดลง) ด้านการบริโภค-การตลาด สร้างมาตรฐานคุณภาพ (เพิ่มความยินดีที่จะจ่าย) การสื่อสารการตลาด (สร้างอุปสงค์สินค้าเกษตรไทย)
นอกจากนี้ ดร.เดชรัตยังเสนอตัวอย่างรูปธรรมการก้าวข้ามกับดักความยากจน เช่น การปลูกพืชต่างๆ เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จังหวัดน่าน (เพราะทำลายป่า ใช้สารเคมี ต้นทุนการผลิตสูง) การปลูกผักโดยผู้สูงอายุ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม การตลาดผักแบบบอกรับสมาชิก การสร้างตลาดนัดชุมชน เช่น ตลาดใต้เคี่ยม จังหวัดชุมพร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้คนในชุมชนเอาสินค้ามาขาย การพัฒนาสินค้าเกษตร สินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน
นอกจากนี้ยังต้องระวังปัจจัยด้านเศรษฐกิจจากภายนอก เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป สินค้าทางเกษตรจากออสเตรเลียจำนวน 17 รายการ เช่น ผลิตภัณฑ์จากวัว นม ฯลฯ จะไม่มีการจัดเก็บภาษี และไม่จำกัดปริมาณนำเข้าอีกต่อไป เกษตรกรไทยจะต้องปรับตัว เช่น เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนมให้มีคุณภาพมากขึ้น
“ทางเลือกหรือทางตันกับ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรมชาติ”
นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมวิชาการ เรื่อง “ทางเลือกหรือทางตันกับ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทรัพยากรธรรมชาติ” เนื่องจากประชาชนในชนบทส่วนใหญ่ของประเทศอยู่อาศัยในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือทับซ้อนกับที่ดินป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีนโยบายทวงคืนผืนป่าในปี 2557 ทำให้มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีจนถึงปัจจุบันประมาณ 50,000 คดีทั่วประเทศ
นายประทีป มีคติธรรม นักกฎหมาย กล่าวว่า เรื่องที่ดินถือเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะเป็นปัจจัยการผลิต เมื่อประชาชนไม่มีที่ดินจึงนำไปสู่ปัญหาความยากจน โดยมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ เช่น 1.การถือครองที่ดินมีความเหลื่อมล้ำ คนจนไม่มีที่ดินทำกิน คนรวยครอบครองที่ดินนับแสนไร่ 2.เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างประชาชนกับที่ดินป่าไม้ ที่ดินของรัฐประเภทอื่น ที่ดินทหาร ฯลฯ 3.ภาคประชาชนพยายามผลักดันเรื่องการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้ผู้ที่ครอบครองที่ดินจำนวนมากยอมคายที่ดินออกมา แต่เมื่อมีกฎหมายออกมากลับแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้
นายธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ว่า ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 กำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563
นายธนพร ศรียากูล
เพื่อจัดทำแนวเขตการทำกินและอยู่อาศัยของประชาชน และเพื่อให้ได้รายชื่อของประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในแนวเขต ก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินที่ได้อยู่อาศัยในอุทยานมาก่อน ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 (17 มิถุนายน 2557) โดยคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ แล้วตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมา
“แต่หากประชาชนคนใดตกสำรวจ หรือมีเหตุธุระจำเป็นไม่ได้รับการสำรวจการถือครองที่ดินภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 นี้ ให้รีบไปแจ้งกับหัวหน้าอุทยานฯ ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาภายใน 2 เดือนนี้ ซึ่งตามแผนงานจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 52 แห่งทั่วประเทศภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้” นายธนพรกล่าว
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 การตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในอุทยานมาก่อนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยจะอนุญาตคราวละ 20 ปี และประชาชนที่ได้รับอนุญาตจะต้องมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศด้วย ซึ่งตามแผนงานประชาชนจะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าภายในวันที่ 31 มกราคม 2564
อย่างไรก็ตาม นอกจากการประชุมวิชาการดังกล่าวแล้ว ยังมีเวทีวิชาการ เรื่อง “การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และการขับเคลื่อนพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ”, “การกระจายอำนาจท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง”, “ชุมชนเข้มแข็งด้วยเศรษฐกิจฐานราก” และ “เหลียวหลังแลหน้า 12 ปีสภาองค์กรชุมชนกับอนาคตประเทศไทย”
ทั้งนี้ข้อเสนอจากเวทีวิชาการต่างๆ จะมีการรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2563 ที่จะมีการประชุมในวันที่ 10 กันยายน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเดินทางมาร่วมงาน และรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุม เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ต่อไป
การประชุมในห้องย่อย