Gen C-reporter: ‘ซาเล้ง’ คุณค่างาน ที่ไม่ใช่แค่เงิน

Gen C-reporter: ‘ซาเล้ง’ คุณค่างาน ที่ไม่ใช่แค่เงิน

อาชีพซาเล้ง ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนเก็บขยะไปขายเพียงอย่างเดียวอย่างที่ใครหลายคนคิด แต่การดำเนินชีวิตของพวกเขา ส่วนหนึ่งมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้สังคมสะอาดขึ้น นักข่าวพลเมือง Gen C-reporter จึงได้ลงพื้นที่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ หรือชุมชนซาเล้ง เขตประเวศ กรุงเทพฯ เพื่อเรียนรู้แนวความคิดในการทำงานของพวกเขา

“ผมหาของเก่ามา 30 กว่าปี ทำอาชีพนี้ไม่เป็นลูกจ้างใคร มันอิสระของเรา ผมหาตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน 9 โมง 10 โมง ผมตื่นมาจัดของ มันก็ไม่เชิงลำบากนะ แต่อาจจะอดหลับอดนอนหน่อยเก็บใหม่ๆ ผมก็อายเหมือนกัน ผมก็ต้องทน ใครว่าเราเราก็ทน มันเหม็นก็ต้องทน ใครมองก็ช่างผมก็เก็บของผมไปเรื่อยๆ” ลุงนพ กล้าหาญหนึ่ง ในซาเล้งของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กล่าว

20150107183147.jpg
 
ลุงนพ เป็นอดีตลูกจ้างในโรงงาน ที่ผันตัวมาประกอบอาชีพซาเล้ง เขาเล่าว่า ตอนที่ทำอาชีพนี้ใหม่ๆ เขาเริ่มต้นจากการปั่นจักยานเก็บขยะมาก่อน กว่าจะเก็บเงินเพื่อชื้อรถชาเล้งได้ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี

แม้การประกอบอาชีพนี้ จะต้องคอยเก็บสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วหรือขยะไร้ค่าที่ถูกทิ้ง แต่พวกเขาก็ไม่เคยลดคุณค่าในตัวเองลง ต่างออกไป พวกเขากลับรู้สึกภูมิใจที่ถูกเรียกว่า “ซาเล้ง”

“อาชีพนี้ มีความเป็นอิสระ เป็นนายตัวเอง” ลุงนพกล่าว

เช่นเดียวกับ พิศมัย พันธเสน หรือป้าน้อย ที่เคยประกอบอาชีพพนักงานทำความสะอาดมาก่อน ปัจจุบันเธอได้มาประกอบอาชีพชาเล้งร่วมกับครอบครัวสามี และเธอได้บอกว่า เธอก็ไม่อายที่จะทำอาชีพนี้
 
“อาชีพนี้ไม่ต้องไปดิ้นรนอะไรมากมาย พอทำไปนานๆ เข้าเกิดความรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพของเรา” พิศมัย กล่าว

20150107183215.jpg
 
จากสายตาของคนส่วนใหญ่มองว่าอาชีพซาเล้งเป็นอาชีพที่อยู่กับขยะและสิ่งสกปรก แต่ชาวชุมชนซาเล้งกลับมองต่างออกไป สำหรับพวกเขาขยะคือแหล่งที่มาของรายได้ที่ใช้จุนเจือครอบครัว
 
“ขยะส่วนใหญ่ที่เก็บมาพี่จะขายวันชนวัน ส่วนที่เก็บมาจะเป็นของที่ขายได้เป็นเงิน เป็นพาสติก เหล็ก เศษกระดาษ เศษถุงพลาสติก คือมีประโยชน์ มีคุณค่าทั้งนั้น” พิศมัยกล่าว
 
พิศมัย เล่าว่า ในทุกๆ วันพวกเขาจะขับรถซาเล้งซึ่งเป็นยานพาหนะที่สำคัญไปตระเวนหาขยะในหลากหลายย่านอาทิ เอกมัย คลองเตย พระโขนง ทองหล่อ แล้วนำขยะที่เก็บได้มากองไว้ที่บ้านก่อน จากนั้นจึงนำมาคัดแยกเป็นแต่ละประเภท อาทิ พลาสติกสี พลาสติกขุ่น พลาสติกใส และพลาสติกเพชร ซึ่งจะมีราคาไม่เท่ากัน เมื่อคัดแยกเสร็จก็จะนำไปขายที่ร้านศูนย์บาท รายได้ในหนึ่งวันไม่แน่นอน บางวันได้ 200 หรือ 300 บาท
 
“สิ่งที่ได้กลับมาคือชุมชนของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะ จากที่ขยะเคยเหม็นเน่าบูด จากขยะที่เค้าเคยเอามาสุมกองตามที่ว่าง ตอนนี้ก็รณรงค์กันเก็บสะอาดขึ้นกว่าเดิม ถ้ามุมมองทางด้านขยะเนี่ยดีขึ้นเยอะ” พิศมัย บอกเล่าด้วยรอยยิ้มเต็มใบหน้า

20150107183232.jpg
 
สำหรับลุงนพและป้าน้อย อาชีพซาเล้งคือความภาคภูมิใจ เพราะเป็นอาชีพอิสระที่พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ 

สำหรับดิฉันแล้วพวกเขาคือกลุ่มคนที่ช่วยลดปัญหาขยะให้ลดน้อยลง และทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ