“ฝนตกคนก็แช่ง ฝนแล้งคนก็ด่า” เป็นประโยคพูดเย้า “ทีเล่นทีจริง” ถึงสถานการณ์ความผันผวนของน้ำฟ้าน้ำฝน ซึ่งหลายปีมานี้แปรปรวนไม่น้อย พื้นที่ฝนเคยตกก็ไม่ตก ช่วงเวลาฝนเคยมาก็ไม่มาตามนัดหมาย และสุดท้ายก็มาแบบจัดหนักจัดเต็ม หรือไม่ก็ห่างหายไปนานเสียจนประชาชนชาวบ้านปรับตัวไม่ทัน ได้รับผลกระทบจาก “ภาวะฝนแล้ง” หรือ “ฝนทิ้งช่วง” ก็หลายที
2563 ปีนี้ หากไม่นับสถานการณ์โควิด-19 “ภาวะแล้ง” น่าจะเป็นอีกเรื่องที่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง เราเดินทางจากมกราคม ผ่านมีนา ผ่านเมษา ที่ร้อนระอุมาได้จนถึงสิงหาคม ผืนดินก็ชุ่มฉ่ำด้วย “ฝน” ที่แทบจะเรียกว่าเป็น “ห่าใหญ่” ของปี เพราะมากับ “ซินลากู” ซึ่งทำเอาชาวบ้านในพื้นที่ จ.เลย บอบช้ำเสียหายไปตาม ๆ กัน จากน้ำป่าที่ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนภายในข้ามคืน และนาทีนี้ ปลายเดือนสิงหาคมซึ่งเข้าสู่หน้าฝนเต็มตัว ประเทศไทยตอนบนในพื้นที่ภาคเหนือก็กำลัง “สำลักน้ำ” ในหลายพื้นที่ ได้แก่ น่าน แพร่ และสุโขทัย
น้ำจะท่วม กทม. อีกไหม? สถานการณ์ฝนจะเป็นเช่นไร? แล้งมาเกือบปี นี่จะท่วมอีกหรือ? แล้วต้องเตรียมรับมืออย่างไร? นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่ทีมข่าวพลเมืองชวนสนทนากับ ดร.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รู้เขารู้เรากันหน่อย ปกติค่าเฉลี่ยน้ำฝนจะอยู่ประมาณไหน และปีนี้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?
ดร.วิษณุ อรรถวานิช : ถ้าเกิดดูจากแบบจำลองของ IRI ของโคลัมเบีย กับของธนาคารโลก ซึ่งเหมือนกัน เขาได้มีการพยากรณ์ ว่า โอกาสที่จะเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม มีความน่าจะเป็นมากน้อยแค่ไหน เอาง่าย ๆ เลย ช่วง สิงหาคม – ตุลาคม ใน 3 เดือนนี้ ปกติถ้าเป็นกรุงเทพมหานคร ค่าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 100 มิลลิเมตร ถ้า 3 เดือนก็ประมาณ 300 มิลลิเมตร ปีนี้มีความน่าจะเป็นสูงมาก ที่ฝนจะมีโอกาสเกินกว่าค่าเฉลี่ย ผมลองคำนวณดู 450 มิลลิเมตร ก็มีโอกาสเกิดขึ้นที่ประมาณร้อยละ 80 เพราะฉะนั้นหมายความว่าโอกาสที่น้ำ โดยเฉพาะในส่วนของกรุงเทพฯ หรือภาคกลางมันจะมามากขึ้นอีกประมาณอย่างน้อยร้อยละ 59
ในช่วงเวลานี้มันมีโอกาสสูงมาก และในช่วงนี้เป็นช่วงที่ปรากฏการณ์ ลานีญา คาดว่าจะยกกำลังขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสูงสุด คาดว่าจะอยู่ในเดือนตุลาคม ซึ่งเดือนกันยายน – ตุลาคม ใน 2 เดือนนี้ จากนี้ไปมันเหมือนกับมันกำลังเร่งตัว สิ่งที่เราเจอในขณะนี้อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกชี้สัญญาณว่า ให้เราระวังตัวนะ อนาคตจากนี้ไปเราจะเจอสิ่งที่จะหนักขึ้น ต้องไม่ลืมนะครับว่ากรุงเทพฯ หรือพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของประเทศไทย ฤดูฝนจริง ๆ ที่มีปริมาณน้ำฝนเยอะ ๆ อยู่ที่เดือนกันยายน นี่ขนาดเดือนกรกฎาคม สิงหาคม ยังไม่ใช่ของจริง เรายังเจอเยอะขนาดนี้ เพราะอนาคตเราต้องปรับตัวพอสมควร ปีนนี้ต้องบอกเลยครับว่าจนกระทั่งถึงอย่างน้อยเดือนตุลาคม จะมีเยอะน้ำมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเจอน้ำท่วม หรือน้ำรอระบาย ต้องบอกว่ามีสูงมากเลยครับ
ผลจากพายุ “ซินลากู” ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในช่วงต้นเดือน ปรากฏการณ์เป็นสภาวการณ์ปกติหรือไม่ ?
ดร.วิษณุ อรรถวานิช : ต้องบอกว่ามันเป็นสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะว่าถ้าเกิดเรามาดูในเรื่องของปรากฏการณ์ เราเปลี่ยนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ตอนนี้เรากำลังปรับตัวเข้าสู่ neutral phase แล้วก็จากนี้ไปจะเปลี่ยนผ่าน มีความ “น่าจะเป็น” สูงมาก ที่จะกลับไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะทำให้มีปริมาณฝนที่เยอะขึ้นกว่าปกติ ซึ่งตรงนี้มันเป็นประเด็นคือในช่วงที่อากาศกำลังปรับเปลี่ยน มันทำให้เกิดปริมาณน้ำที่เยอะมากขึ้น จากการพยากรณ์ เราก็ได้เห็นภาพ ว่าจากนี้ไปปริมาณน้ำมันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น พายุที่เพิ่งผ่านมา ถ้าเกิดมองในมุมหนึ่งก็เป็นฤดูฝน แต่ฤดูฝนนี้อาจจะต้องระวังให้มากคือปริมาณน้ำอาจจะมีมากกว่าปกติ
เวลาเกิดภัยพิบัติกลุ่มที่อ่อนไหวอีกกลุ่ม คือ ชาวบ้าน พี่น้องเกษตรกร เพราะพืชผลผลิตเสียหาย ต้องมีการปรับตัวเตรียมรับมืออย่างไรได้บ้าง ?
ดร.วิษณุ อรรถวานิช : จากนี้ไป ระยะสั้น คือ เฉพาะเตรียมรับมือกับช่วงนี้ อย่างน้อยสิ่งที่ต้องรีบทำถ้ารู้ว่าน้ำมันจะมาเยอะ การจัดเก็บน้ำ การระบายน้ำ ขุดลอกคูคลองต่าง ๆ ทำยังไงให้น้ำไม่ท่วม อย่าขวางทางน้ำ หรือยกของจากที่ต่ำขึ้นที่สูง นั่นคือสิ่งที่จะสามารถทำได้ ถ้าใครยังไม่ได้เพาะปลูกอาจจะต้องดูนิดนึง พืชตัวไหนยังไง ที่สามารถจะรับมือกับฝนที่มันเยอะ ก็จะลดความเสียหายลง ถ้าเป็นระยะกลาง หรือ ระยะยาว อาจจะต้องมานั่งคิดเรื่องของการปรับเปลี่ยน อาจจะปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกด้วยซ้ำไป ถ้าเมื่อก่อนเคยปลูกข้าวอยู่ ตอนนี้พื้นที่นี้มันเกิดน้ำท่วมหรือแล้งซ้ำซาก เราอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นหรือเปล่า หรือแม้แต่กระทั่งการเตรียมแหล่งน้ำ ซึ่งปกติเราก็พึ่งฟ้าพึ่งฝน ถ้าพูดถึงเกษตรกรที่เป็นรายย่อยจริง ๆ เขาควรจะเข้าถึงแหล่งน้ำได้ง่าย ได้เร็วขึ้น
แหล่งน้ำมีประโยชน์ 2 อย่าง ถ้าช่วงแล้ง เรามีบ่อมีอ่างเก็บน้ำไว้ เราจะมีน้ำใช้ แต่ถ้าในช่วงที่น้ำเยอะอย่างน้อยที่สุดเรามีบ่อที่ช่วยเก็บ ถ้าเกิดเราไม่มีบ่อ น้ำทั้งหมดก็จะไหลมา โอกาสจะเกิดการท่วมก็สูง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดสนับสนุนได้ในเชิงของรัฐบาล “บ่อจิ๋ว” ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ แล้วก็การขุดลองคูคลองในที่สาธารณะต่าง ๆ เราทราบดีว่าช่วงนี้ฝนมันจะมาเพราะฉะนั้น แม่น้ำ ลำคลอง ทุกที่ที่ตื้นเขินโดยส่วนใหญ่ก็ควรจะต้องมีการเตรียมพร้อมให้มีทางระบายน้ำได้เร็วที่สุด
เกษตรกรก็พยายามปรับตัวอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยขีดความสามารถจำกัด เงินไม่ได้มีมากมาย ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยีอาจจะติดขัด เพราะฉะนั้นแล้วภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วย ทั้งในเชิงของการส่งเสริมให้ความรู้ และในเรื่องของงบประมาณ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยนะครับ ผมเชื่อว่าตอนนี้ เกษตรกรก็พยายามปรับตัวอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยขีดความสามารถจำกัด เงินไม่ได้มีมากมาย ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยีอาจจะติดขัด เพราะฉะนั้นแล้วภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วย ทั้งในเชิงของการส่งเสริมให้ความรู้ และในเรื่องของงบประมาณ การลงทุนมันควรจะต้องลงทุในลักษณะที่เป็นเม็ดเงินที่จำนวนเยอะนิดหนึ่ง ในเชิงของความรู้หรือระบบชลประทาน ทำยังไงให้ภาคเกษตรที่สามารถเข้าถึง ตอนนี้ครัวเรือนเกษตรเข้าถึงภาคชลประทานได้เพียงแค่ร้อยละ 25 อีกร้อยละ 75 ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน ในโลกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรากำลังแขวนชีวิตเกษตรกรไว้บนเส้นด้ายมาก ๆ นับจากนี้ไป เราต้องหาทำยังไงที่จะลดความเสี่ยง จากโลกที่มันจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่หนักหน่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ
สภาพอากาศโลกไม่มีทางที่จะเหมือนเดิม
ดร.วิษณุ อรรถวานิช : ต้องบอกว่าโลกนี้น่าจะไม่เหมือนเดิมครับ เราจะเจอสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น New normal คำนี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนับจากนี้ไป แบบจำลองในเชิงของวิทยาศาสตร์บ่งชี้เลยครับว่าอนาคตประเทศไทย จะเจอการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่หนักหน่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ฝนจะมาเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะมาลักษณะ คือ เป็นครั้งเป็นคราวที่แบบหนัก ๆ เพราะฉะนั้นเราจะเจอฝนที่ตกหนักแบบท่วมจะเจอถี่ขึ้น เราจะเจอภัยแล้งที่หนักหน่วงมากขึ้น แล้วก็จะมาถี่ขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือสิ่งที่เราอาจจะเจอมากขึ้น อุณภูมิในช่วงสูงสุดกับต่ำสุด สิ่งที่เราจะเจอคือมันจะห่างขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ถ้าเป็นเกษตรกรต้องช่วยกันคิดว่าพืชที่ปลูก ยังสามารถที่จะอยู่ได้่ไหมในช่วงของอุณหภูมิที่เป็นอยู่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่กระทบกับชีวิตของเกษตรกร ภาครัฐอาจจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ถ้าในมิติของงานวิชาการควรจะต้องมีงานวิจัยมาสนับสนุนให้ได้มากขึ้น แต่ตอนนี้บ้านเราส่วนใหญ่มักจะใช้อ้างอิงจากงานต่างประเทศ เรายังไม่ค่อยมีการทำงานวิจัยในบริบทของประเทศไทยโดยตรง ทำยังไงให้เกษตรกรได้มีความรู้และสามารถที่จะปรับตัวได้ ตรงนี้เป็นบทบาทที่ภาครัฐควรจะเร่งเข้ามาช่วย
ไม่อยากจะให้เป็นการแก้ปัญหาเป็นรายปี สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันจะเกิดขึ้นตลอดไป ถ้าเราจ่ายเงินเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย เราก็จะจ่ายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าตราบใดที่เราไม่สร้างขีดความสามารถ ไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร อนาคตจากนี้ไป ผมเคยคำนวณเกี่ยวกับผลกระทบของภาคเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะสูญเสียมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะเร่งลงทุน ถ้าลงทุนในปัจจุบัน ยิ่งลงทุนเร็วความเสียหานในอนาคตก็จะน้อยลง แต่ถ้าเราไม่ลงทุนในวันนี้ความเสียหานในอนาคตก็จะมากขึ้น เพราะตรงนี้มันเป็นของการ ชั่ง ตวง แล้วว่า ภาครัฐเองจะให้ความสำคัญอย่างไร ระหว่างความเสียหายในปัจจุบันกับอนาคต