กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย “โฮมแฮง ดำนารวม ครั้งที่ 4” แถลงการณ์ยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชน

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย “โฮมแฮง ดำนารวม ครั้งที่ 4” แถลงการณ์ยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชน

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจัดกิจกรรม “โฮมแฮง ดำนารวม ครั้งที่ 4” เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีลงแขกดำนา อีกประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนภาคอีสาน และแถลงการณ์ “ยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยืนแก้และร่างรัฐธรรมนูญ”

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง  ได้จัดกิจกรรม “โฮมแฮง ดำนารวม ครั้งที่ 4” ณ บริเวณนารวม ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีลงแขกดำนารวม ถือได้ว่าเป็นอีกประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนภาคอีสานที่ได้ปฎิบัติมาอย่างยาวนาน แต่นับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน การช่วยหลือกันของชุมชนชาวอีสานไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรในยุคที่ผ่านมาหลายปี คนอีสานเรียกว่า “ลงแขก” การลงแขกในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้

ในการจัดกิจกรรม “โฮมแฮงลงแขกดำนารวม ครั้งที่ 4” ครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมลงแขกดำนารวม 2.เพื่อสร้างสำนึกของชาวบ้านในกลุ่มและชาวบ้านที่มาร่วมลงแขกดำนารวม ให้เกิดความสามัคคี  3.เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ในการฟื้นฟูประเพณีและวัฒนธรรมการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรชุมชน และในระหว่างทำกิจกรรมตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งได้อ่านแถลงการณ์ “ยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยืนแก้และร่างรัฐธรรมนูญ”เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องบ้านเกิดของพวกเขา

แถลงการณ์
“ยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยืนแก้และร่างรัฐธรรมนูญ”

ตั้งแต่รัฐบาล คสช. เข้ามายึดอำนาจ พี่น้องอีสานบ้านเราถูกปิดปาก ข่มขู่ กดทับไม่ให้ส่งเสียงและรัฐบาล คสช. ยังเปิดทางให้นายทุนใช้การเมืองและประชารัฐเป็นเครื่องมือ พวกเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังในการแก้กฎหมายนับร้อย ๆ ฉบับ และผลิตนโยบายจากศูนย์กลางอำนาจเพื่อเข้าช่วงชิงทรัพยากรของอีสานมาสนองความโลภของนายทุน ผ่านรัฐบาลปัจจุบันที่จะสร้างฐานอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์ระยะยาวจากฐานทรัพยากรทุกอย่างที่อีสานโดยให้นายทุนตั้งโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล และพ่วงด้วยอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ อีกหลายประเภทในอีสานทั้ง 13 จังหวัด

แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นเพียงการหยั่งรากขั้นต้นของนายทุนรายใหญ่ไม่กี่รายที่จับมือกัน ทั้งหมดนี้ถูกอ้างว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแต่ผลประโยชน์ตกอยู่กับขั้วอำนาจของนายทุนภายใต้รัฐบาล โดยทิ้งให้พี่น้องอีสานทุกข์ทนอยู่กับความเดือดร้อน อยู่กับมลพิษและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่นายทุนทิ้งไว้ไปชั่วลูกชั่วหลาน

โดยเฉพาะอ้อยโรงงานกำลังจะแทนที่นาข้าวและป่าหัวไร่ปลายนาอีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เหมืองแร่ การบุกยึดที่ดินป่าไม้ สปก. การจัดหาน้ำจากโครงการโขง-เลย-ชี-มูล และเขื่อน-อ่างเพื่ออุตสาหกรรม การจัดหาพลังงาน-ไฟฟ้าเพื่อให้นายทุนใช้และขาย ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุอยู่ใน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในรูปแบบ “ประชารัฐ” ซึ่งหน่วยงานราชการทุกหน่วยต้องปฏิบัติตาม นโยบายของพรรคการเมืองใด ๆ รวมถึงการจัดทำงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของเราก็ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อรับใช้นายทุนด้วย 

ด้วยปรากฏการณ์ที่กล่าวข้างต้นนี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง เป็นกลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมา และปัจจุบัน ตามมาตรา 42  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชนหรือหมู่คณะอื่น  ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ได้รวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรลำน้ำเซบาย ดิน น้ำ ป่า เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น อย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการปกป้องทรัพยากร การอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม

จึงมีข้อเสนอดังนี้ จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนสิทธิชุมชนอันชอบธรรมในการจัดการ การดูแลรักษาและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมของอีสานบ้านเรารัฐธรรมนูญจะต้องถูกแก้เพื่อให้ชุมชนได้กำหนดอนาคตของเราเอง

เชื่อมั่นและศรัทธา
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เชียงเพ็ง
14 สิงหาคม 63

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ