ประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตย แถลงหนุน 3 ข้อเสนอหลักของกลุ่มประชาชนปลดแอก

ประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตย แถลงหนุน 3 ข้อเสนอหลักของกลุ่มประชาชนปลดแอก

ภาคประชาสังคมในนามกลุ่มประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนาที่ยั่งยืน เผยแพร่แถลงการณ์ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน 3 ข้อ ได้แก่  ยุติการคุกคามประชาชน ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร โดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และยุบสภาให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยและยุติธรรมโดยเร็ว

สำหรับเนื้อหาของแถลงการณ์และรายชื่อผู้ลงนามในเบื้องต้น มีดังนี้ 

ในฐานะส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมที่การทำงานเกี่ยวข้องกับมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นต่าง ๆ เช่น ปัญหาครอบครัวและความเสมอภาคทางเพศ ความเหลื่อมล้ำและความยากจน รัฐสวัสดิการ เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร การค้ากับการพัฒนา สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เราเห็นพ้องต้องกันว่า การก่อรัฐประหารโดยหวังอำนาจกองทัพและชนชั้นนำบางกลุ่มเพื่ออ้างเหตุคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้น ได้เป็นต้นเหตุเสียเองในการทำลายสถาบันทางการเมืองทั้งหลาย ระบบยุติธรรม และการบริหารประเทศให้เสื่อมทรามลง

ในทางการเมือง เราเห็นการแต่งตั้งบุคคลที่พัวพันยาเสพติดหรือได้ทรัพย์สินโดยมิชอบให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยไม่นำพาต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน

ในทางเศรษฐกิจ เราเห็นการสนับสนุนกลุ่มทุนผูกขาดเข้ามามีอิทธิพลในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและกรรมการนโยบายของรัฐ เห็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กถูกกีดกันออกจากตลาด และสถิติคนยากจนเพิ่มขึ้นหลายล้านคนในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีแม้ก่อนการระบาดของไวรัส

เราเห็นระบบยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค และองค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำ ในขณะที่การต่อสู้ของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อปกป้องฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืนถูกข่มขู่คุกคามเช่นเดียวกับสิ่งที่นักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้เรียกร้องประชาธิปไตยถูกกระทำอยู่ในปัจจุบัน

กลุ่มประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามรายชื่อในท้ายคำแถลงนี้ ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ได้แก่ 

1) ยุติการคุกคามประชาชน 2) ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร โดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และ 3) ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยและยุติธรรมโดยเร็ว

เราขอต่อต้านการก่อรัฐประหารโดยอ้างเหตุวิกฤตทางการเมืองซึ่งจะทำให้ประเทศนี้พังทลายล้าหลังกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตไม่รู้จักจบสิ้น เช่นเดียวกันกับการสมยอมตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองบางกลุ่ม กองทัพ กลุ่มทุน และชนชั้นนำ

เราเชื่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนและการปฏิรูปการเมืองไม่อาจได้มาโดยการก่อรัฐประหารของกองทัพ แต่ได้มาโดยกระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม และประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพียงใด

เราขอสนับสนุนบทบาทของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่กล้าหาญนำเสนอข้อเสนอ จุดยืน และกระบวนการที่ชัดเจน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการพาสังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่หมักหมมมานานกว่าทศวรรษไปสู่สังคมที่ดีกว่า

ขอให้ช่วงเวลานับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ของสังคมไทย เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ได้แสดงความคิดเห็น เสนอข้อมูล และทางออกอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมา และร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมใหม่ โดยกระบวนการประชาธิปไตย ด้วยสันติวิธี และวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน

16 ส.ค. 2563, 16:00 น.

รายนามผู้ลงชื่อเบื้องต้น

1.จะเด็จ เชาวน์วิไล
2.วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
3.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
4.ทัศนีย์ วีระกันต์
5.สามารถ สะกวี
6.กฤษฎา บุญชัย
7.สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
8.คำรณ ชูเดชา
10.ชูวิทย์ จันทรส
11.ธีรภัทร์ คะหะวงศ์
12.สุภาวดี เพชรรัตน์
13.อารัติ แสงอุบล
14.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
15.วราภรณ์ แช่มสนิท
16.จิตติมา ภาณุเตชะ
17.สุเมธ ปานจำลอง
18.วทัญญู แสงแก้ว
19.สาวิตรี รักษาสิทธิ์
20.เครือมาศ ศรีจันทร์
21.สมานมิตร ส่องเจริญ
22.วีรพงษ์ เกรียงสินยศ
23.ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว
24.วันชัย บุญประชา
25.พรทิพย์ ฝนหว่านไฟ
26.สุภา ใยเมือง
27.ทิพวัลย์ สีจันทร์
28.สารี อ๋องสมหวัง
29.เชษฐา มั่นคง
30.​เฉลิมศักดิ์​ กิตติตระกูล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ