เกษตรกรคนจนปลดแอก ร่วม #ม็อบ14ตุลา หวังดันแก้ปัญหาที่ดิน 9 ด้าน

เกษตรกรคนจนปลดแอก ร่วม #ม็อบ14ตุลา หวังดันแก้ปัญหาที่ดิน 9 ด้าน

ประเทศไทยมีผู้ถือครองที่ดิน 15,900,047 ราย ในจำนวนนี้กว่า 3 ล้านราย ครอบครองที่ดินรวมกัน 80%

ภาพจากนิทรรศการเคลื่อนที่มาจัดแสดงเพื่อสะท้อนปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่การชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 14 ตุลาคม 2563

หนึ่งในเครือข่ายที่เข้าร่วมการชุมนุม 14 ตุลาคม 2563 คือ กลุ่มเกษตกรคนจนปลดแอก ที่มีประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาคเดินทางมาร่วมชุมนุม เพราะหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญ คือ ปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่ที่เครือข่ายฯต้องการให้ข้อมูล-ข้อเสนอต่อสาธารณะและรัฐบาล

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ กลุ่มเกษตกรคนจนปลดเเอก จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า วันนี้เรามาร่วมกันในชื่อ #เกษตกรคนจนปลดเเอก มีหลายเครือข่าย ทั้งภาคเหนือ ใต้ อีสาน ที่จะนำเสนอปัญหาที่ดินให้พี่น้องในเขตเมืองได้เข้าใจว่า เกิดเรื่องราวอะไรในพื้นที่ มีคนต้องเสียชีวิตเพื่อปกป้องทรัพยากร กว่า 50 กรณี

“เราอยากให้มีเเก้ปัญหาเร่งด่วน 2 ประเด็น 1. กฎหมายป่าไม้ ให้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ เพราะมีพี่น้องที่ตกสำรวจที่ถูกกันออกจากพื้นที่ 2. นโยบายคสช. นโยบายที่ดินเเห่งชาติ ทำให้เกิดการรวมศูนย์หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในมือ รวมกันเป็นชุดเดียวโดยมีนายกประยุทธ์เป็นประธาน ไม่เปิดให้พี่น้องได้เเสดงความคิดเห็น มีเพียงเเต่การบังคับใช้”

หากไม่ให้มากรุงเทพฯ ก็ต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

แนวทางทางการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ประการ

1. สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย 

1.1 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ในด้านต่าง ๆ เช่น 

– นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก สส

– ระบบการเลือกตั้ง สส.เขต /บัญชีรายชื่อ (คงไว้)

– สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

-ที่มาของประธานศาลฎีกาต้องยึดโยงกับประชาชน (ให้ผ่านการเห็นชอบวุฒิสภา)

– ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับและให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเจตนารมณ์ของประชาชน (ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ/ทุกขั้นตอน)

1.2 ยกเลิกคำสั่ง คสช. และคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน (ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันศึกษา)

1.3 แก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

1.3.1 พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การตีความคำว่า “ชุมนุมสาธารณะ” ที่ถูกตีความอย่างกว้างที่เกิดความสับสนต่อประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมาย, การไม่แจ้งการชุมนุมหรือแจ้งล่วงหน้าอาจไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม ซึ่งมีลักษณะเป็นการขออนุญาตที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะอนุญาตหรือไม่, การชุมนุมต้องได้รับการอนุญาตในทุกกรณี เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญคุ้มครองการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้ รัฐต้องเข้ามาดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม มิใช่การเข้ามาขัดขวางหรือเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุม ซึ่งทั้งหมดนี้ จะต้องเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน มิใช่เพื่อเป็นการขัดขวางการชุมนุมสาธารณะของประชาชนที่จะแสดงออกทางการเมือง (ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันศึกษา)

1.3.2 แก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 เพื่อป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่ให้ครอบคลุมไปถึงการหมิ่นประมาทหรือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ที่ถูกใช้สำหรับดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือนักสิทธิมนุษยชน โดยการฟ้องตาม พ.ร.บ.นี้มีโทษสูงกว่า การหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ฯ จึงเป็นการจำกัด สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองที่ต้องได้รับการปรับปรุง/แก้ไข  (ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันศึกษา)

1.3.3  ยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ 252 ที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการขอข้อมูล ยึด ค้น เจาะ ทำสำเนาข้อมูล ส่องข้อมูลแบบ Real-Time และในกรณีจำเป็นเร่งด่วนสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องหมายศาล ซึ่งการยึด ค้น เจาะหรือขอข้อมูลใด ๆ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฉบับนี้มีลักษณะละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฉบับนี้สามารถตีความได้กว้างและครอบคลุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์ (ควบคุมโครงสร้างพื้นฐานทางข่าวสารสนเทศ) (ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันศึกษา)

1.3.4 ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันศึกษาเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรับฟังความเห็นของประชาชนในทุกกรณีและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและผลักดันให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

2.การกระจายอำนาจ

ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม

2.1 หลักการ เพื่อลดการรวมศูนย์ของรัฐส่วนกลางที่มีการผูกขาดทางอำนาจและระบบเศรษฐกิจให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อเป็นการกระจายอำนาจการจัดสรรอำนาจในเรื่อง

2.1.1 ภารกิจงาน การบริหารภายในส่วนท้องถิ่น ยกเว้น งานต่างประเทศ และกองทัพ ซึ่งเป็นบทบาท หน้าที่ของรัฐส่วนกลาง  

2.1.2 การคลัง การจัดเก็บภาษีและการบริหารงบประมาณ

2.1.3 การบริหารงานบุคคล การสอบคัดเลือก การโยกย้ายและโอนย้าย

2.2  ให้รัฐบาล ตรา พ.ร.บ. เพื่อยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ให้มีเพียงการปกครองส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น  โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรงจากประชาชน เพื่อความเป็นอิสระในการบริหารงานและงบประมาณ

3.นโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

3.1 สถานการณ์และปัญหาที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่กระทบกับประชาชน

(1) ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมมีราคาสูง

(2) การเข้าถึงเอกสารและหลักฐานของทางราชการ

(3) ความไม่รู้กฎหมายของประชาชน

(4) ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

(5) การรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน

(6) การแจ้งสิทธิ์ของจำเลยหรือผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม

(7) การรับรู้โครงสร้างปัญหาป่าไม้ที่ดินของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

(8) การใช้มาตรการทางกฎหมายและคดีความ ปิดปากหรือกลั่นแกล้งการต่อสู้ของประชาชน

(9) คนจนติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว

(10) ปัญหาอันเกิดจากการใช้ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

3.2 ข้อเสนอ

(1) ให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง โดยให้มีการแต่งตั้งกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน, สิทธิมนุษยชน /คดีกลั่นแกล้ง และคดีฟ้องปิดปากประชาชน

(2) ขอใช้ระบบไต่สวนและลูกขุนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหา ในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะในการพิจารณาคดีและการค้นหาข้อเท็จจริงในคดี ที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ต้องไม่ใช้การพิจารณาหลักฐานทางราชการเท่านั้น หากต้องวิเคราะห์จากหลักฐานทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา ไปจนถึงวัฒนธรรมประเพณี ในการใช้ที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

(3) ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยให้ปรับปรุง/แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นี้ 10 ประเด็น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

4. นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม 

4.1 กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า(เก็บตามมูลค่าและขนาดการถือครองอย่างแท้จริง), พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน,พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร,พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม  เพื่อป้องกันมิให้ที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรถูกนำไปดำเนินการใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงผิดประเภท

4.2 ทบทวนแนวทางและมาตรการในโครงการจัดที่ดินชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งนี้เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน โดยผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร (ในรูปแบบโฉนดชุมชน) ในระหว่างที่ดำเนินการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้ คทช.ใช้อำนาจตาม พรบ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มาตรา 10 (4) ยกระดับโครงการจัดการที่ดินชุมชน (คทช.)และโฉนดชุมชน ให้เป็นการรับรองสิทธิ์ชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันไปพลางก่อน

4.3 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องคุ้มครองวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น และต้องส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงประโยชน์ของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนั้นอย่างเท่าเที่ยม และต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศและ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 

4.4 ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมิชอบ (มาตรา 61) และที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า (มาตรา 6) กระจายที่ดินให้ชุมชนไร้ที่ดิน รวมถึงศึกษาแนวทางการจำกัดการถือครองที่ดินตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 34-49

ที่มา : เกษตรกรคนจนปลดเเอกเรียกร้องเเก้ไขรัฐธรรมนูญ จี้นายกต้องลาออก https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000014778

5. นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 

5.1 ยุติ / ยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

(1) ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การ บุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด/คุกคามชีวิต/ทรัพย์สินและส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ  

(2) ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 26 พ.ย.2561 เรื่องมาตราการและแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท รวมทั้งมติอื่นที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน อาทิ มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ปี 2528 และ 2532

(3) ทบทวนและปรับปรุง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2561 

5.2 ปรับปรุงแก้ไขกลไกและกระบวนการ การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบหรือที่ดินทิ้งร้าง

(1) ปรับปรุงกลไกและกระบวนการการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบกฎหมาย รวมทั้งการประกาศที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ดินของประชาชน และกรณีโฉนดที่ดินออกทับชุมชน

(2) กรณีที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้าง ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน จัดให้มีกลไก หน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ  และเพิกถอนเอกสารสิทธิ์    

5.3 การเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 การฟื้นฟูชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ 

5.4 การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนจนเมือง 

(1) รัฐบาลต้องมีนโยบายในการนำที่ดินรัฐประเภทต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย รองรับคนจนเมืองในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน   

(2) รัฐต้องมีนโยบายอุดหนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณ ในการจัดที่อยู่อาศัย และพัฒนาสาธารณูปโภคกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมือง  เขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ 

6. นโยบายภัยพิบัติ 

6.1 จัดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุและการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ โดย เสริมศักยภาพอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตามแผนรับมือภัยพิบัติไปที่ชุมชนโดยตรง

6.2 ส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดตั้งกองทุนและให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ อบรมพัฒนาเตรียมความพร้อม การศึกษาวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติชุมชน การสื่อสารสาธารณะ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสมทบกองทุนการจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่น

6.3 ปรับปรุงกลไกคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ต้องมาจากผู้แทนชุมชนที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการส่งเสริมชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ ประกอบอยู่ในผู้ทรงคุณวุฒิด้วย เพิ่มอำนาจหน้าที่ ให้เป็นกรรมการที่มีอำนาจสั่งการ บริหารจัดการในขณะเกิดภัยพิบัติ และให้มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด ระดับตำบล เป็นผู้พิจารณาประกาศภัยพิบัติ พิจารณาจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติ พิจารณาให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูภัยพิบัติ โดยมีสัดส่วนจากผู้แทนชุมชน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ และจัดทำแผนเพื่อการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นชุมชนเป็นหลัก  

6.4 ปรับปรุงกฎหมาย โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อให้เอื้อในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย โดยสาระสำคัญต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นองค์กรหลักในการประกาศภัยพิบัติ ป้องกันภัยพิบัติ และบริหารจัดการภัยพิบัติ จึงร้องขอให้อำเภอ จังหวัดเข้ามาช่วยเหลือหากเกินศักยภาพ การส่งเสริมครัวกลาง แทนการจัดซื้อข้าวกล่อง ถุงยังชีพ ที่ชุมชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเป็นการเสริมการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพส่งเสริมระบบฐานข้อมูลผู้เสียหาย 

6.5 ปรับปรุงระบบการเข้าถึงสิทธิในการได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมกับทุกคนที่ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนการปรับปรุงกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ ให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการภัยพิบัติ การฟื้นฟูเยียวยา และการเตรียมพร้อมป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

7.นโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์

7.1 ให้มีคณะกรรมการอำนวยการด้านแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ชาวเล ตามที่มีมติ ครม.รับรอง สามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์ประกอบจากภาคประชาสังคมและชุมชนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ในการร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา นโยบายต่อคณะกรรมการระดับชาติในการติดตามผลการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในภาพรวม 

7.2 เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน จึงเห็นควรให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2562 มาตรา 70

7.3 เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้สัญชาติ และสิทธิสถานะแก่กลุ่มชาติพันธุ์เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553

8. นโยบายสิทธิของคนไร้สถานะ 

8.1 นโยบายการแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคล ของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วนภายใน 3 ปี 

8.2 ให้ขยายมติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548 เพื่อสำรวจคนตกหล่นเป็นการเฉพาะ นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ครอบคลุมปัญหา

8.3 แต่งตั้งกรรมการแก้ปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มี ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มคนไร้สิทธิสถานะ และอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มปัญหาอย่างเร่งด่วน

8.4 สั่งการให้เกิดการปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลงาน ให้นำไปสู่การปฏิบัติการได้จริง

8.5 จัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิติของกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหา และการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ทันที

9.นโยบายรัฐสวัสดิการ

ชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ๗ ประเด็น

9.1  การศึกษา จัดเงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็ก สนับสนุนสถานศึกษาที่มีมาตรฐานกลาง และสนับสนุนให้มีโรงเรียนใกล้ชุมชนที่อยู่อาศัย

9.2  สุขภาพ โดยจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง และอุดหนุนงบประมาณด้านสุขภาพคิดตามรายหัวของประชากร จำนวน ๘,๐๐๐-๘,๕๐๐ บาท/คน/ปี           

9.3 ที่อยู่อาศัยและที่ดิน โดยสนับสนุนการเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ผู้อยู่อาศัยในโครงการภาครัฐสามารถเบิกค่าเช่าจากประกันสังคมได้ ครัวเรือนเกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร 15 ไร่ ต่อครอบครัว สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงที่ดินการเกษตรได้ สามารถเช่าซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำและผ่อนระยะยาว และการกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน และการปฏิรูปที่ดิน

9.4 งาน รายได้ ประกันสังคม โดยกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน ค่าจ้างให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ 2% ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า สมทบเงินประกันสังคม ขยายเพดานสูงสุดประมาณ 30,000 บาท/เดือน ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ เมื่อเกษียณอายุแล้ว แรงงานนอกระบบรับเงินบำนาญตามฐานเงินเดือน อย่างน้อย 10,000 บาท/เดือน ให้ทั้งชายและหญิงสามารถลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างปกติ ส่วนกรณีการว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี เป็นจำนวน 80% ของเพดานสูงสุดของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน และเมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานแล้ว ให้ได้รับค่าจ้างรายวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งได้งานใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเข้ารับการฝึกอบรมและสัมภาษณ์งาน และเริ่มงานใหม่ภายในสามเดือน

9.5 ระบบบำนาญแห่งชาติ เปลี่ยนคำว่า “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” 3,000 บาท/เดือน มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค โดยให้รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง

9.6 สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก 800 บาท/เดือน เป็น 3,000 บาท/เดือน ให้คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ และ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง และการบริการสาธารณะ ให้ได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนดโดยเสรี ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม ส่วนกลุ่มพนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ นอกจากนั้น ยังต้องจัดให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น     

9.7 การปฏิรูประบบภาษี โดยลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ปฏิรูปภาษีรายได้จากตลาดหุ้น ลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ปฏิรูปภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ ปฏิรูปภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ให้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ปรับลดงบประมาณกลาโหม 70% ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ปฏิรูปบัตรคนจนและโครงการประชารัฐ นอกจากนั้น ทุกคนต้องสามารถยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด


ดาว์นโหลดภาพนิทรรศการและเอกสารข้อเสนอได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1oY4XCzQvpuFkI45sw5JqIDQhqHhqW1i4?usp=sharing

ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวที่มีการปักหมุดรายงานสถานการณ์ ปูมหลัง และข้อเสนอของเครือข่ายต่าง ๆ ได้ทาง https://www.csitereport.com/#!/focuscommu2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ