“อนาคตของประเทศหมายความว่า เราต้องการคนแบบไหน …. ต้องเห็นข้อดีของการมีจิตสำนึก ออกมาพูดเรื่องถูกผิด ระยะยาวเป็นสิ่งดีของประเทศ เราต้องเห็นจุดดีมากกว่าแค่เขามาท้าทายอำนาจ” : มารค ตามไท

“อนาคตของประเทศหมายความว่า เราต้องการคนแบบไหน …. ต้องเห็นข้อดีของการมีจิตสำนึก ออกมาพูดเรื่องถูกผิด ระยะยาวเป็นสิ่งดีของประเทศ เราต้องเห็นจุดดีมากกว่าแค่เขามาท้าทายอำนาจ” : มารค ตามไท

ชวนเปิดใจมองปรากฏการณ์ชุมนุมที่แหลมคมและสำคัญแห่งยุคสมัย  คุยกับ รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติ (หลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาเอก) มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่หนึ่งในนักวิชาการที่ได้สัมผัสและมีบทบาทโดยตรงในกระบวนการพูดคุยสันติภาพครั้งสำคัญ หนึ่งในนักวิชาการที่ทุกครั้งของวิกฤติความขัดแย้ง และสังคมต้องการหาทางออกด้วยสันติวิธี  มักจะขอทัศนะจากอาจารย์เสมอ

ครั้งนี้  การขยับตัวของนักศึกษา และผู้คนในสังคมต่างจากครั้งที่ผ่านมาอย่างไร  ฐานคิดที่จะมองซึ่งกันและกันไปข้างหน้า   กับโอกาสที่จะก้าวถอยห่างจากความรุนแรงมีหรือไม่ ชวนคิด  อ่านและค้นหา จากแง่มุมที่ทีมสื่อพลเมือง The Citizen Plus ได้พูดคุยกับอาจารย์กัน

อาจารย์มองสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมบ้านเราครั้งนี้ เมื่อเทียบกับครั้งก่อนหน้านี้  แล้วประเมินอย่างไร ?

ในบางลักษณะก็จะคล้าย คือมีความเห็นในสังคมอยู่สองชุด เป็นความเห็นที่ค่อนข้างต่างกันทั้งเนื้อหาและวิธีการมองอนาคตของประเทศ เป็นการชนกันทางความคิดค่อนข้างลึก ส่วนความต่างก็ในการแสดงออกนั้น  ก่อนนี้หน้านี้ก็มีลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่ตามความเข้าใจของผม ปัจจุบันมันต่างตรงการประสานกัน ที่ลักษณะของแต่ละกลุ่มจะมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างมาก  ก่อนหน้านี้จะมีแกนนำ และมีการประชุมวางแผน แต่ปัจจุบันหลวมมาก เป็นการแสดงออกจากความรู้สึกเฉย ๆ บางจุดไม่ได้ออกมาจากแผนระยะยาวว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่รู้สึกว่ามันมาเอง และบางที่ก็โผล่ขึ้นมาเอง 

ความแตกต่างแบบนี้มีนัยยะต่อเรื่องความรุนแรงในความเห็นของผม

คือ ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นที่ว่าจะมีมือที่สามอะไรหรือไม่ แค่โครงสร้างของสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้ถ้าจะใช้ความรุนแรงจัดการ มันจะไม่ได้ผลเท่ากับเมื่อก่อน   ที่แม้จะเกิดในที่ต่าง ๆ กันก็จริงแต่มีหัว(มีแกนนำ) ถ้าจัดการที่หัวได้ก็จะหายไป เช่น ที่ราชประสงค์   

แต่ครั้งนี้มันไม่มีหัว ถ้าใช้ความรุนแรงมันจะไม่ทำให้การแสดงออกหายไป มันจะหายไปเฉพาะจุดที่ทำความรุนแรง หรือทำให้เกิดความกลัวเฉพาะจุดได้ แต่จะไปทำความรุนแรงเพื่อจะยุติทุกที่ก็เป็นเรื่องยาก ผมไม่รู้วิธีของหน่วยงานนะ แต่โดยสามัญสำนึกแล้วมันไม่ง่าย นี่คือความแตกต่างที่ผมเห็น

ความแตกต่างอีกอย่าง คือ ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นต่างถึงอนาคตของประเทศไทย เช่น กรณีเหลือง-แดง แต่ในความเห็นผมมันยังเป็นความแตกต่างที่ยังอยู่ในกรอบเดียวกัน บางคนรู้จักกัน เป็นเพื่อนสนิทกันมาก่อน เคยเคลื่อนไหวมาร่วมกัน คือ เห็นต่างแต่ก็รู้ไต๋กัน 

แต่ตอนนี้มันต่างกันมากแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องวัยนะ ถึงวัยจะสำคัญก็ตาม แต่มันเกี่ยวกับวิธีคิดที่อยู่คนละกรอบ มันไม่ใช่การเห็นต่างที่อยู่ในกรอบเดียวกัน การชุมนุมคราวที่ผ่านๆมามีความพยายามจะให้เกิดการเจรจา ก็เข้าไปหาฝ่ายต่าง ๆ มีการจัดเวทีพูดคุยในที่ต่าง ๆ มันก็พอจะต่อกันได้ แต่ปัจจุบันคือมองกันไปอีกแบบหนึ่งเลยและพูดกันยาก ต่อให้คนที่อยากแสดงออกหรือสนับสนุนก็ยังร่วมพูดไม่ได้ เพราะพูดกันคนละภาษา บางคนบอกว่ากลุ่มปัจจุบันนี้หยาบคาย แต่ผมว่ามันไม่หยาบคาย มันเป็นวิธีการพูด คือมันต่างกันหลายอย่างมาก

แล้วความพยายามที่ชวนกันมาคุยกันในเวทีกลางตามที่ต่าง ๆ พอจะเป็นทางออกหรือไม่?

สำหรับผมยังไม่จำเป็น ไม่ใช่ทำยากเพราะรูปแบบต่างไปนะ อาจจะไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่จำเป็น เพราะการเริ่มอย่างนั้นมันต้องมีบางอย่างที่คล้ายกันก่อน เช่น วิธีการจะแก้ปัญหา ซึ่งถ้ามีทัศนะต่อวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน อาจจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น แต่การพูดคุยเป็นเพียงวิธีการชะลอให้ไม่เกิดความรุนแรงเกินไป  แต่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคุณค่าสำคัญ  ผมว่าอันนี้ก็ไม่ใช่เป้าหมายของการคุยแล้ว 

บางคนที่ผมได้คุยด้วย  เขาก็เข้าใจเจตนาของคนที่จะพาเขาไปพูดคุยนะ แต่มันเหมือนเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ที่เข้าไปดูของเก่า ที่มีคนจากยุคต่าง ๆ ที่มีความเห็นต่าง ถ้าอยากฟัง เราก็กดปุ่มและยืนฟัง แล้วคนนั้นก็พูดเกี่ยวกับทัศนะของเขา พอฟังคนต่าง ๆ อาจารย์ต่าง ๆ ก็เหมือนไปฟังพิพิธภัณฑ์ของสันติวิธี เหมือนมันไม่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ คนบางคนก็เลยคิดว่าไม่ใช่ทาง ไม่อยากร่วมมือ 

สำหรับผมเวทีการพูดคุยยังไม่ใช่จุดเริ่มต้น   จุดเริ่มต้นคือการให้แสดงออก ไม่ไปทำอะไร 

เหตุผลของผมมีสองระดับ  ในระดับทีเป็นสเกลเล็ก ได้แก่ ระดับประเทศชาติ กฎหมาย รัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน มันไม่สำคัญ เพราะกฎหมายต่าง ๆ นั้น เพราะมนุษย์ตรามันขึ้นมามันไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ความศักดิ์สิทธิ์จะเพิ่มขึ้นหากมีกระบวนการที่คนยอมรับ แต่ถึงจะให้มีกระบวนการที่ดีที่สุด สำหรับผมโดยส่วนตัวผมก็ยังมองว่ามันไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะคนเป็นผู้สร้างและคนผิดได้ ผมค่อนข้างเชื่อในอารยะขัดขืน civil disobedience 

ในอดีตกฎหมายที่มาอย่างถูกต้องที่สุดก็มีหลายครั้งที่ไม่ใช่ และต้องใช้วิธีไม่ทำตามกฎหมาย เพื่อให้สังคมได้เดินต่อ ผมจึงไม่ได้ติดใจเรื่องจะผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งปฏิญญาอะไรของสหประชาชาติ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เขียนขึ้นมาด้วยเจตนาดีต่อมนุษยชาติที่จะไม่ให้มีสงครามอะไรกัน แต่มันก็แค่นั้น และแม้รัฐบาลของเราไปจะลงนามเป็นภาคี มันก็แค่นั้น

สิ่งที่ศักดิ์สิทธิที่สุดในสเกลเล็กสำหรับผมคือความรู้สึกถูกผิดในแต่ละบุคคล แต่ละคนมีความรู้สึกถูกผิดอย่างไรนั่นแหละคือความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด แน่นอนมันเห็นไม่เหมือนกัน คนหนึ่งรู้สึกว่ามันผิดแต่อีกคนอาจเห็นตรงกันข้าม มันก็เป็นมนุษย์ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องอยู่กับคนที่เห็นถูก-ผิดต่างกัน แต่จะไปห้ามไม่ให้แสดงความรู้สึกออกมา ไม่ได้ เพราะนี่เป็นตัวตนของคนมากกว่าเรื่องกฎหมาย ถ้าเรารู้สึกว่าอะไรถูกผิดมันจะแสดงออก ที่ไม่แสดงออกมาส่วนมากเป็นเพราะความกลัว 

ดังนั้นสิ่งที่คิดว่าควรทำในระดับสเกลเล็กก่อนที่จะมีการพูดคุยหรือไม่ คือ การให้แสดงออก เพราะมันคือตัวตน มันไม่ใช่เรื่องสิทธิเลยนะ ผมไม่ได้อ้างว่าเป็นเรื่องสิทธิเลยนะ แต่เป็นเรื่องความจริงของมนุษย์ที่ต้องแสดงออกในสิ่งที่คิดว่าถูกผิด ถ้าไม่ให้แสดงออกมันจะถูกกดอยู่ข้างใน ต้องไม่เอาความกลัวไปทับสิ่งที่รู้สึก 

ส่วนในระดับสเกลใหญ่ของผมคือมนุษยชาติ ชาติเป็นของชั่วคราว การอ้างชาติอะไรไม่มีน้ำหนัก ก่อนหน้านี้ไม่มีชาติไทย 5,000 ปีข้างหน้าก็อาจไม่มีชาติไทย คือชาติเป็นของชั่วคราวที่จัดขึ้นมาเพื่อให้เราอยู่ด้วยกัน สถาบันต่าง ๆ ในชาติ เช่น  ศาสนา การปกครอง  เป็นของชั่วคราวทั้งหมด เราไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะวิวัฒนาการเป็นอะไรอีก 

ถ้าเห็นภาพใหญ่อย่างนี้แล้ว  ปฏิกิริยาที่เห็นความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับตัวเรามันสามารถจัดให้อยู่ในกรอบความจริงว่านี่คือของชั่วคราว แต่ของที่ไม่ชั่วคราวคือมนุษยชาติที่อายุ 2 ล้านปี มนุษย์เราสู้บนฐานอย่างอื่นไม่ค่อยได้ สู้กำลังของสิงโตไม่ได้ การปรับตัวก็แพ้แมลงสาป สิ่งที่มนุษยชาติมีก็คือความคิดและการแสดงออก เพราะฉะนั้นในภาพใหญ่นี้ต้องส่งเสริมให้ใช้การแสดงออกและความคิด เพราะมันเป็นวิธีที่มนุษย์ต้องทำ การไปกดส่วนนี้คือการกดการเติบโตของมนุษยชาติ มันเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าการทำให้ใครโกรธ  มันเป็นส่วนของสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ได้หมายความว่ากำลังจะส่งเสริมในความคิดเฉพาะกลุ่มนะ แต่คือทุกกลุ่ม มันต้องให้เขาทำ ถ้าไม่ทำมันก็ไม่ใช่มนุษย์

บางครั้งคนจะมองว่าการมองภาพใหญ่มันไม่เกี่ยวกับเรื่องเฉพาะหน้า ไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องตาย   หรือเห็นว่าส่วนเล็กคือทุกอย่างที่ต้องปกป้อง ต่อสู้ ฆ่ากัน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการดำเนินไปของสิ่งที่ใหญ่กว่าที่เราดำรงอยู่ 

ถ้ามองว่าปัจจุบันคือทุกอย่าง  มันก็จะเอาเป็นเอาตายกัน  

ถามว่าถ้ามาคุยกันล่ะ มันก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทุกคนทำเป็นของดีในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ แต่มันเป็นการสร้างพลังสำหรับอนาคตขึ้นมา ความคิดมันเปลี่ยนแปลง การใช้วิธีการแสดงออกโดยไม่กลัวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าตรงนี้ผ่านไปได้ ก็อาจจะมาสู่ขั้นตอนที่สองของการหาวิธีการพูดคุยซึ่งก็สำคัญ แต่ไม่ใช่การคุยบนฐานของการขู่ว่า ฉันเมตตา ฉันไม่ยิงเธอนะ มาคุยกันก่อน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่เอา มันเป็นสมมุติฐานของการคุยที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเป็นการพูดคุยบนฐานที่ชื่นชม เพราะมันดีต่อการสร้างศักยภาพของประเทศ ดังนั้นต้องยอมรับฐานของการคุยก่อน ที่สำคัญคือไม่ใช่เรื่องเทคติกหรือทักษะ สมัยก่อนมองแบบนั้น สองพวกต่างกัน เราลองมาใช้ทักษะคุยประนีประนอมกันอะไรแบบนั้น

แล้วจะพอมีโอกาสนำไปสู่การพูดคุยได้หรือไม่ ?  

ในมุมมองของผม จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าบรรยากาศหรือทัศนคติที่จะนำไปสู่การพูดคุยก่อน   ไม่ใช่เพียงแต่ว่าการคุยก่อน คุยดี แต่ฉันยังเกลียดคุณ คุณทำลายชาตินะ เหมือนกับว่าคุยได้นะแต่ฉันกัดฟันอยู่ แบบนี้มันไม่ใช่การคุย  แต่การคุยจะต้องเริ่มต้นจากการเห็นชอบกับการแสดงออก ถึงแม้จะไม่เห็นชอบกับสาระที่เขาแสดงออกมา แต่เห็นชอบเกี่ยวกับความเห็นที่เขาแสดงออกมาเกี่ยวกับชาติบ้านเมืองในอนาคต

ต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่จะคุยคืออะไร  มิเช่นนั้นจะอยู่ในกรอบของการระวังตัว  ระแวงกัน อาการระแวงไม่ได้นำไปสู่ประโยชน์อะไรเลยในการพูดคุย เวลาระแวงกันแล้วมีข้อตกลงกัน  ข้อตกลงนั้นมักจะอยู่ได้ไม่นาน มันอยู่ภายใต้การระแวง อะไรเกิดนิดหน่อยก็บอกว่าคุณทำผิดข้อตกลง ดังนั้น บรรยากาศต้องดีก่อน

ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ไม่เหมือนสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีสองฝ่ายที่อยู่ในกรอบเดียวกัน เช่น นายจ้างกับแรงงานในบริษัท คำตอบของเขาคืออยากให้บริษัทดีเพราะทุกคนได้ประโยชน์ เช่นการได้โบนัส เป็นต้น  กรอบนั้นเวลาเห็นต่างในเรื่องของสวัสดิการเงินเดือนแบบนี้มันพอคุยกันได้  แต่ถ้าไม่มีกรอบร่วมเช่น จะไปคนละทาง สองคนขัดกัน เช่นกลุ่มหนึ่งอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนี้และอีกกลุ่มอยากให้ประเทศไทยไปทางนี้  อันนี้ยากขึ้น ต้องวางบรรยากาศที่ดี ถอยออกหน่อย หรือช้าลงอีกหน่อย   

แต่การพูดแบบนี้อาจถูกมองว่าคือให้เหมือนเดิมไง เพราะการไม่ทำอะไรหรือทำช้านั่นหมายถึงให้เหมือนเดิมอยู่  ฝ่ายที่เคลื่อนไหวเขาก็เห็นอยู่  การที่บอกว่าอย่าพึ่งรีบ เดี๋ยวค่อยทำ นั่นหมายถึงว่ายังคงอยู่ต่อไปก่อนเช่นนั้นหรือ ฉะนั้นต้องหาจุดเริ่มต้นของการพูดคุยให้ได้ 

อาจารย์ประเมินสถานการณ์ครั้งนี้จะรุนแรงหรือไม่  จะบานปลายหรือไม่?

หลายคนก็ห่วงอย่างนั้นว่าจะออกมาแรง  และครั้งนี้อาจจะต่างหน่อย เพราะเกิดขึ้นหลายที่  แต่จะมีการจัดการสักที่หนึ่ง ให้เป็นตัวอย่าง กลุ่มอื่นอาจจะกลัว ผมไม่รู้ว่าการประเมินแบบนี้ถูกหรือเปล่าแต่ผมประเมินจากการพูดคุย ซึ่งผมมองว่าทำแบบนั้นมันไม่เวิร์คเพราะอย่าลืมว่าครั้งนี้มันไม่มีหัว (แกนนำ) 

แน่นอนว่าความกลัวมีอยู่ในตัวทุกคน แต่ถ้ามันมาถึงจุดที่ความกลัวไม่ได้มาเป็นอันดับหนึ่งแล้วมันอยู่ที่การตัดสินใจ    การตัดสินใจคือต้องแสดงออก ซึ่งมันมาก่อนเรื่องกลัว ทีนี้การจัดการมันอาจจะไม่ได้ผล  ซึ่งแม้มันไม่ได้ผลแต่มันก็จะเกิดความสูญเสีย เพราะฉะนั้นช่วงนี้ต้องพยายามปกป้องไม่ให้เกิดสิ่งนั้น 

ซึ่งวิธีการปกป้องนั้น ผมก็คิดว่าที่หลายกลุ่มทำอยู่เช่น  การแสดงออกว่า สิ่งที่ทำอยู่อย่างนี้ไม่เป็นไรนะ ถึงแม้การแสดงถึงเหตุผลสนับสนุนจะต่างกันนะ เช่นกลุ่มอาจารย์ หรือกลุ่มอื่นๆ ที่แสดงถึงเหตุผลต่างๆ  บางคนพูดถึงเรื่องกฎหมาย บางคนพูดถึงเรื่องหน้าที่ เหตุผลต่างกันไม่เป็นไรแต่พูดออกมาหลายกลุ่มในสังคม การทำแบบนี้โอเค คิดว่ามีผลระดับหนึ่ง ที่ทำให้คนที่อยากจะเข้าไปลุย ได้ทบทวน   การที่มีคนมาบอกว่าการแสดงออกของการชุมนุแบบนี้ไม่เป็นไร  ก็จะทำให้หน่วยงานหรือกลุ่มคนที่คิดว่าจะเข้าไปจัดการ ได้ทบทวนบ้าง นี่หมายถึงหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการมีแผนเพื่อที่จะเข้าไปจัดการ ไม่ได้หมายถึงกลุ่มคนที่มาจากที่ไหนไม่รู้นะครับ 

อีกอย่างนะ การที่นักเรียนในจังหวัดโน้นจังหวัดนี้นัดกันรวมตัว พวกเขาก็ตัดสินใจเอง คือนั่นเป็นความรู้สึกอยู่แล้ว เขารู้สึกว่าอันนั้นถูก อันนี้ผิด เพื่อนๆ ที่นั่นก็ทำเราเอาบ้างนะ มันไม่ได้มีใครมาสั่งหรือประสานให้เกิด  มันสามารถเกิดในโรงเรียนเล็กๆที่หนึ่งได้ หรือกลุ่มนักเรียนที่นั่น ที่นี่ อยากชุมนุม แม้จะแค่ร้อยคน แต่นี่ก็เป็นเรื่องของจิตสำนึก ไม่ได้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์แต่อย่างใด ซึ่งเป็นของดี ต้องเห็นของดีที่นักเรียน หรือประชาชนอยากพูดจิตสำนึก ความรู้สึกถูกผิดออกมา ในระยะยาวเป็นของดีของประเทศ มันจะดี เพราะมันช่วยสร้างปัญญาให้สังคม คือตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องเฉพาะ แต่การพัฒนาสมอง พัฒนาความกล้าคิด มันถูกใช้ในเรื่องอื่นก็ได้ เช่นเรื่องเทคโนโลยีการพัฒนาเศรษฐกิจ คือมันเป็นการสร้างศักยภาพของสังคม เราต้องเห็นจุดนี้ ต้องเห็นมากกว่าแค่เขามาท้าทายอำนาจเรา   หลายคนก็พูดถึงอนาคตของประเทศ ต้องเข้าใจว่าอนาคตของประเทศหมายความว่า เราต้องการคนแบบไหน ก็คนแบบนี้ไง ไม่ใช่แค่มองว่าเขาอายุเท่านี้  อันที่เป็นข้อดีที่มากกว่าแค่การมาเผชิญหน้ากัน

แล้วเงื่อนไขอะไรจะนำมาสู่ความรุนแรง?

กลุ่มที่จะทำให้โกรธ อันนี้ผมไม่รู้ เรื่องความหมั่นไส้หรือเรื่องของความปั่นป่วน ผมไม่รู้ว่าอะไรจะนำไปสู่กลุ่มแบบนั้น

ซึ่งจะต้องแสดงให้เขาเห็นว่า  สิ่งที่เป็นอยู่ไม่ใช่ของไม่ดี ไม่ใช่เรื่องการท้าทายอำนาจ เพราะถ้ามีแนวความคิดว่าเราจัดการได้ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถ้ามีแนวคิดแบบนี้อยู่อันนี้อันตราย ซึ่งผมไม่รู้ว่าในหน่วยงานเขาคิดลึกแค่ไหน  แต่ผมอยากให้มองไปไกลหน่อย ว่าปรากฎการนี้คืออะไร จะมีวิธีการไหนที่ทำให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยมองให้กว้าง ให้ไกล ต้องนำความคิดนี้ไปให้ถึงเขา ให้เขาคิดทบทวนตัวเอง 

สมัยก่อนใช้สื่อแล้วเขาก็ตามสื่อด้วยนะ นั่นหมายถึงบทบาทสื่อสำคัญมากในการเสนอแนะวิธีการมองสถานการณ์ เพราะทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์เราต้องมองก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรามองสถานการณ์ไปทางหนึ่งเราก็จะจัดการไปทางหนึ่ง  เช่น บางหน่วยงานตีความแคบว่าท้าทายรัฐ หรือใครมาให้เงิน เป็นต้น  เพราะฉะนั้นสิ่งที่สื่อจะช่วยได้คือชักชวนให้มองภาพที่กว้างขึ้น

แล้วคนที่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ควรใคร่ครวญต่อเรื่องนี้อย่างไร?

หลายคนที่ผมคุยด้วย เขาก็คุยเรื่องนี้แต่เขายังไม่รู้ว่าจะสรุปอย่างไร   บางคนเหมือนจะคิดแบบเดียวกันแต่พอลงในรายละเอียดแล้วต่างกันเลย หลายคนที่ยังไม่มีข้อมูลก็สมควรที่จะได้ความคิดที่เป็นทางเลือก   เพื่อทบทวนตัวเอง ส่วนตัวผมการที่ไปวางทุกอย่างไว้เป็นconcept ผมรู้สึกว่าไม่ใช่   

อย่างเช่น  เรื่องสิทธิ  หากมองว่าเขากำลังแสดงสิทธิ์ แต่ก็มีมุมมองที่ว่าสิทธิจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ มันไปเป็นภาษาแบบนั้น พอไปภาษาแบบนั้นมันก็ต่างแล้ว กับเรื่องข้อดีของการแสดงออก ที่ไม่ได้อยู่บนฐานสิทธิหรืออะไร  ก็จะมาแตะกันว่าสิทธิอยู่บนขอบเขตไหม มันกลายเป็นเรื่องอีกแบบหนึ่ง  มันนำไปสู่ทางตันหมด ทางตันในที่นี้คือไม่ขยับ   

ผมคิดว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันใหญ่กว่านั้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับสังคมไทย เป็นของใหม่ การประท้วงไม่ใช่ของใหม่ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นของใหม่    จุดยืนของเราคือไม่ต้องยกกรอบมาจับ  ต้องหาฐานใหม่ในการที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่สิทธิที่เกิดในกรอบ เพราะเขาไม่สนใจเรื่องกรอบ ต้องมองกว้างกว่านั้น.

ชมคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่เพจนักข่าวเมือง

🔺อนาคตของประเทศหมายความว่า เราต้องการคนแบบไหน ?🔺เยาวชนมีจิตสำนึกออกมาพูดเรื่องถูกผิด เรามองเห็นข้อดีต่อประเทศหรือไม่ ? …

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ