5 องค์กรทางกฎหมาย ออกแถลงการณ์จับตาการใช้อำนาจรัฐ-เสรีภาพการชุมนุม

5 องค์กรทางกฎหมาย ออกแถลงการณ์จับตาการใช้อำนาจรัฐ-เสรีภาพการชุมนุม

5 องค์กรทางกฎหมาย ออกแถลงการณ์จับตาการใช้อำนาจของรัฐบาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ในกรณีการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น

 15 สิงหาคม 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association)  พร้อมด้วยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (THAI LAWYERS FOR HUMANRIGHT)  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAWTHAI Foundation)  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culturel 4. Foundation)มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)  ร่วมกันออกแถลงการณ์ ระบุ 3 ข้อเรียกร้องสำคัญไปยังรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

โดยอ้างถึงกรณีการจัดกิจกรรมชุมนุมแสดงออกของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางทั่วประเทศ อาทิ

กลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1. ประกาศยุบสภา 2. รัฐหยุดคุกคามประชาชน 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด จัดกิจกรรม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563

และกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้

แต่ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านกลับปรากฏข่าวเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการข่มขู่คุกคามนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ติดตามเยี่ยมบ้าน, ติดตามไปที่หอพัก, การควบคุมตัว ปรับทัศนคติ, การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ปราศรัยในกิจกรรมชุมนุม เช่นกรณีนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ที่มีการออกหมายจับโดยไม่ออกหมายเรียก หรือกรณีที่มีข่าวจะมีการควบคุมตัวนักศึกษาที่ขึ้นปราศรัยจากบริเวณที่พัก นับรวมได้อย่างน้อย 78 กรณี

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในฐานะองค์กรทางกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้กฎหมายบนพื้นฐานการเคารพหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย เห็นว่ากิจกรรมชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่เกิดขึ้นเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และมาตรา 44 และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องเคารพและปฏิบัติตาม และเป็นหลักการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน อันเป็นวิถีทางปกติในสังคมประชาธิปไตย

โดยเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและคุ้มครองดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ชุมนุมและสาธารณชนทั่วไปเพื่อให้การใช้เสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นสามารถเกิดขึ้นได้จริงโดยปราศจากความรุนแรงและการข่มขู่คุกคาม และรัฐต้องเลือกใช้วิธีการควบคุมดูแลที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด

โดยในกรณีหากจำเป็นต้องมีการควบคุมตัวและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา สิทธิที่จะมีทนายความและพบญาติ สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวกรวดเร็วและเป็นธรรม และสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนทุกคนด้วย

การที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการหรือมีพฤติการณ์ข่มขู่คุกคามนักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง เป็นการลดทอนขัดขวางการมีส่วนร่วมสร้างประชาธิปไตยของประชาชน ละเมิดสิทธิพลเมืองและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

1.รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องรับรองและคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของประชาชนทุกกลุ่ม ยุติการใช้อำนาจและกระบวนการยุติธรรมข่มขู่คุกคามนักเรียน นักศึกษา และประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ในทุกรูปแบบโดยทันที

2.รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ต้องร่วมกันทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัย และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความเป็นธรรมโดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

3.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่สิทธิมนุษยชนที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์จะติดตามเฝ้าระวังการใช้อำนาจของรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ต่อผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด และจะไม่ยอมให้มีการใช้อำนาจกระทำละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นอีก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ