แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) เรื่อง ขอให้เคารพในสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และเปิดพื้นที่พิจารณาข้อเสนอของนักศึกษาในเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทนทั้ง 10 ข้อ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งให้กับสังคมไทย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “สถาบันพระมหากษัตริย์” ได้ถูกนำไปกล่าวอ้างเพื่อหวังสร้างประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ อย่างแพร่หลาย ทั้งในทางบวกและทางลบ อันส่งผลกระทบที่สร้างความเสื่อมเสียแก่สถานะของสถาบันฯ อย่างไม่เคยมีมาก่อน จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง และเป็นที่มาของการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ในที่สุด
มีข้อเท็จจริงว่า การดำรงอยู่ในอำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบันได้อาศัยสถานการณ์ดังกล่าว สร้างความชอบธรรมให้กับตนเองและพวกพ้อง โดยทำให้สังคมเข้าใจว่าการเข้าทำรัฐประหารนั้น กระทำไปเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ และรักษาไว้ซึ่งความสุขสงบของประชาชนในประเทศ จึงได้กระทำการทุกวิถีทางเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้ โดยอาศัยกลไกบ้านเมืองที่พวกตนพยายามสร้างขึ้นอย่างเป็นขบวนการ ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องกลุ่มต่างๆ อย่างแยบยล และได้ใช้โอกาสนี้เข้าไปจัดระบบเพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ ภายใต้การเน้นย้ำถึง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ผิดแผกไปจากเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยรัชกาลก่อนหน้านี้ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้ ได้กลายเป็นข้อคลางแคลงใจของประชาชนต่อเจตนาเบื้องลึกของรัฐบาล
นอกจากนี้แล้ว ยังมีความไม่พึงพอใจในการบริหารงานราชการของรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ยุค คสช. ที่มีการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขต โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือพิเศษ (มาตรา 44) เข้ากระทำการแทรกแซงระบบหรือกลไกปกติของบ้านเมือง ด้วยหวังที่จะควบคุมสังคมการเมืองให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ และในระหว่างนี้รัฐบาลยังมีการข่มขู่คุกคามการออกมาแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองของประชาชนทั่วไปอย่างหนัก ซึ่งในจำนวนนี้มีการใช้มาตรา 112 กับกลุ่มดังกล่าว จนเกิดเหตุการณ์อุ้มหายขึ้นในยุคนี้ด้วย
อีกทั้ง ตลอดการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ทั้งสองสมัย ได้มีการสร้างนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกภูมิภาค และยิ่งไปกว่านั้น คือ ความถดถอยของระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองของนักเรียนนักศึกษาเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มส่งกระแสอย่างรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องทำความเข้าใจและควรรับฟังอย่างมีสติ ทั้งนี้ ในการแสดงออกเหล่านั้นถือเป็นสิทธิเสรีภาพโดยชอบภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีความห่วงกังวลในท่าทีของการแสดงออกเหล่านั้นที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการจาบจ้วงสถาบันฯก็ตาม หากต้องยอมรับว่า การแสดงออกนั้นล้วนดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ที่รัฐบาลพยายามสร้างเงื่อนไขปิดกั้นไว้ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับอย่างมีนัยสำคัญ
เพื่อหาทางออกให้กับสังคมการเมืองสามารถดำเนินไปได้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาองค์กรเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์กรสำคัญที่อยู่ในระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ร่วมดำเนินการ ดังนี้
1. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสงบและปราศจากอาวุธ และหยุดการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ
2. ร่วมกันสร้างหรือเปิดพื้นที่การพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ และพื้นที่การสื่อสารสาธารณะเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงของปัญหาสังคมและการเมืองที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตรงประเด็นและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ อันจะเป็นทางออกและป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง และร่วมกันสร้างระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างแท้จริง
3. ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของนักศึกษาทั้ง 10 ข้อ ถือเป็นเหตุผลที่รัฐบาลและรัฐสภาต้องรับฟัง และนำเข้าสู่การพิจารณาตามกลไกทางการเมืองในระบบรัฐสภาอย่างเป็นทางการ เพื่อหาข้อสรุปสู่การแก้ไขและสร้างสมดุลทางสังคมการเมืองที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป
ข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนเจตนาที่ต้องการเห็นทางออกของสังคมประชาธิปไตยของประเทศที่กำลังตีบตันและมีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงขจัดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเราเชื่อว่าจำเป็นต้องมีพื้นที่กลางเพื่อการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์อันเป็นข้อเท็จจริงในปัจจุบันโดยตั้งอยู่บนฐานของการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของประเทศที่จะไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือสร้างอำนาจให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะต้องดำรงอยู่ร่วมกับสังคมประชาธิปไตยอย่างมีดุลยภาพด้วยความสง่างาม
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) กรณีการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน
วันที่ 14 สิงหาคม 2563
แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) กรณีการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน
10 สิงหาคม 2563
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน ข้อความดังกล่าวคือถ่อยคำที่ระบุไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้พันธกรณีตามกติกาสากล “ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” ซึ่งมีการรับรองเสรีภาพในการแสดงออกเอาไว้ใน ข้อที่ 19
ต่อสถานการณ์การจัดเวทีชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” โดยมีการปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้มีการปราศรัยที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยแบบเปิดเผยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา การปราศรัยบนเวทีได้มีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและรักษาสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กป.อพช.อีสาน มีความเห็นว่าข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การแสดงออกในครั้งนี้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายบนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นข้อเสนอของผู้ชุมนุมจึงไม่ควรถูกกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพราะไม่มีการปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ในทางกลับกันถ้อยความเหล่านั้นเป็นข้อเสนอที่ตรงไปตรงมาและมีเจตนาที่จะรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงถือเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตชนและยังอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
กป.อพช.อีสาน จึงขอแสดงจุดยืนเพื่อฝ่าวิกฤติสังคมและการเมืองไทย ดังนี้
(1)สนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสุจริตชนในประเด็นการแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อยกระดับสร้างสังคมประชาธิปไตยร่วมกัน
(2)ขอเรียกร้องให้ภาคประชาสังคมภาคประชาชนทั้งหลายได้ประกาศตนสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเปิดกว้างความคิดเห็นทางการเมืองอันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมประชาธิปไตย
(3)ร่วมกันประณามกลุ่มคนที่พยายามบิดเบือนชี้นำว่าความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นการจาบจ้วงหยาบคายและร่วมประณามกลุ่มคนที่พยายามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม
เราจะร่วมกันแข็งขืนไม่ยอมให้ความจริงดังกล่าวถูกลดทอนคุณค่าและผลักดันให้คนหนุ่มสาวกลายเป็นเพียงผู้มีความคิดเห็นที่ก้าวร้าวหรือป้ายสีว่าถูกผู้อื่นชักใยอยู่เบื้องหลัง เราจงร่วมกันเปิดพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีการวิเคราะห์ถกเถียงได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศและสร้างความมั่นคงให้กับประชาธิปไตยในสังคมไทยร่วมกัน
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
13 สิงหาคม 2563