พีมูฟร้อง กมธ.พัฒนาการเมือง ตรวจสอบการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูก พ.ร.บ.อุทยาน

พีมูฟร้อง กมธ.พัฒนาการเมือง ตรวจสอบการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูก พ.ร.บ.อุทยาน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

วานนี้ (6 ส.ค. 63) ที่รัฐสภา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ พีมูฟ) ได้ยื่นหนังสือต่อ นายปฏิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ขอให้ตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง จากเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

เนื่องจากสัดส่วนของผู้เข้าร่วมเวทีโดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในกำกับของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมทุกกลุ่ม ในส่วนระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นมีการกำหนดระยะเวลาเพียง 1 วัน ในขณะที่มีร่างกฎหมายลำดับรอง จำนวน 24 ร่าง ซึ่งมีรายละเอียดและความคิดเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น อีกทั้ง มีข้อสังเกตว่า การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นไม่เป็นกลาง ผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้มีความเห็นที่สอดคล้องกับร่างกฎหมายถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น

นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า นอกจากกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.อุทยานฯ แล้ว ในส่วนของกฎหมายอุทยานฯ ซึ่งมีการออกกฎหมายในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ได้นำเนื้อหาในกฎหมายฉบับประชาชน ที่ได้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 1 หมื่นรายชื่อเข้ามาพิจารณาด้วย ภาคประชาชนได้เรียกร้องให้ยุติการพิจารณากฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ส่งผลให้พี่น้องจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศกำลังถูกดำเนินคดี เพราะฉะนั้นจะต้องอาศัยกรรมาธิการช่วยแก้ไขปัญหา เพราะลำพังภาคประชาชนต่อสู้กับหน่วยงานรัฐกับโครงการต่างๆ ไม่ไหว

ด้านนายธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ สมาชิกพีมูฟ กล่าวว่า ในหลายพื้นที่ตัวแทนพีมูฟได้พยายามมีส่วนร่วมในการอธิบายถึงเหตุและผลที่ชุมชนอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานฯ แต่เสียงของเรากลับไปไม่ถึงรัฐบาล อยากให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เป็นธรรมจริงๆ ต้องฝากทางสภาฯ ช่วยผลักดันเรื่องนี้

นางนิตยา ม่วงกลาง ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สมาชิกพีมูฟ กล่าวว่า ชาวบ้านที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ไม่มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายอุทยานฯ กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม ในตอนนี้กำลังมีการออกกฎหมายลูก ถ้ากฎหมายลูกมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อพวกเราที่ทำมาหากินและอยู่อาศัยตรงนั้น

สำหรับเนื้อหาในหนังสือระบุ ดังนี้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562 โดยมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 180 วันคือวันที่ 25 พ.ย. 2562 โดยที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ตั้งข้อสังเกตที่เป็นข้อกังวลถึงกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด เนื่องจากมีการผลักดันการร่าง พ.ร.บ. โดยที่เสนอผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ร่วมถึงภาคประชานชนได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับประชาชนเข้าชื่อ โดยได้ร่วมรวมรายชื่อตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมากกว่า 10,000 รายชื่อ แต่เนื้อหาและร่างที่ประชาชนเข้าชื่อกลับไม่ถูกนำไปพิจารณา รวมถึงเดินหน้าผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จนมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งนำมาสู่ข้อกังวลชองชุมชนที่อยู่กับป่าที่จะได้รับผละกระทบจากกฎหมายที่ไม่มีส่วนร่วมฉบับนี้

หลังจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้แล้ว มีการกำหนดให้จัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปปรับแก้ในเนื้อหาและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย

โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา มีเวทีการประชุมรับฟังความเห็น ร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ  พ.ศ. 2562 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย  โดยแจ้งว่ามีการเชิญผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากทั่วประเทศประมาณ 400 คน โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ได้รับการประสานให้เข้าร่วม 5 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

แม้จะมีการประสานขอเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนไปยังผู้จัด เพื่อให้ให้ตัวแทนประเด็นและตัวแทนภูมิภาคที่พีมูฟมีเครือข่ายที่ทำงานและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้เข้าร่วม แต่กลับไม่ได้มีการเพิ่มสัดส่วนเพิ่มจาก 5 คนได้ นำไปสู่ข้อสงสัยถึงนิยามของการเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ว่ามีกรอบคิดและหลักการพิจารณาอย่างไร

เนื่องจากในวันที่จัดเวทีพบว่า ตัวแทนที่เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่เป็น ข้าราชการในกำกับของกรมอุทยานฯ เครือข่ายภาคีที่ทำงานร่วมกับกรมอุทยานฯ ซึ่งหากเทียบเป็นสัดส่วนกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ  พ.ศ. 2562 แล้วภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยถูกเชิญเข้าร่วมไม่เกิน ร้อยละ 10 จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่อยู่ในพื้นทับซ้อนกับการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีและภาคประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการร่างกฎหมายลำดับรองฉบับนี้ อีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีครั้งนี้

จึงเป็นคำถามถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ไม่ควรนำไปประกอบการพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายลำดับรอง ควรมีผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ครอบคลุมทุกกลุ่มและหลากหลายมากกว่านี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคประชาชน

นอกจากสัดส่วนของผู้เข้าร่วมแล้ว ประเด็นเวลาและเนื้อหาในการรับฟังความเห็นเป็นอีกประเด็นที่มีข้อกังวลจากภาคประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการรับฟังร่างกฎหมายลำดับรองถึง 24 ร่างซึ่งในแต่ละร่างมีรายละเอียดและความคิดเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น แต่ทางผู้จัดกลับกำหนดเวลาในการรับฟังเพียง 1 วันซึ่งไม่สอดคล้องกับเนื้อหาและคำกล่าวอ้างว่าต้องการรับฟังความเห็น ซึ่งหากเป็นเวทีรับฟังความเห็นไม่ควรมีการรวบรัด ตัดประเด็นหรือการปิดกั้นความคิดเห็นด้วยข้ออ้างด้านเวลาเกิดขึ้นในกระบวนการรับฟัง

กระบวนการในรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ มีข้อสังเกตถึงความเป็นกลางของการรับฟังความเห็นในเวทีมากน้อยเพียงใด ผู้ดำเนินการรับฟังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายฉบับนี้ในขั้นตอนใดบ้างหรือไม่อย่างไร รวมถึงในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าใช้ความเห็นส่วนตัวในการออกความคิดเห็นชี้นำเวทีเอง

แทนที่จะเป็นการรับฟังอย่างเป็นกลางและรับฟังความเห็นที่แตกต่าง แต่กลับสรุปความเห็นของผู้ดำเนินการรับฟังว่าเป็นข้อเท็จจริงเอง เช่น ประเด็นการเลี้ยงสัตว์ การกล่าวว่าการเลี้ยงวัว ควายของพี่น้องชาติพันธุ์คือการทำลายป่า ทั้งที่พี่น้องยืนยันว่าเป็นวิธีการดำรงชีพตามวิถีวัฒนธรรม

นอกจากนี้ประเด็นที่การรับฟังครั้งนี้เป็นที่ตั้งคำถามว่า ผู้ดำเนินการได้เปิดรับฟังความเห็นที่เป็นกลางหรือไม่ เนื่องจาก ไม่มีการกำหนดเวลาของการแสดงความเห็นในแต่ละประเด็นให้เป็นที่ตกลงของที่ประชุม ไม่มีการกำหนดลำดับในการแสดงความคิดเห็น โดยประธานในที่ประชุม ใช้อำนาจโดยไม่มีหลักการที่อธิบายได้ถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันในการแสดงความคิดของผู้เข้าร่วม

ตัวอย่างเช่น มีผู้เข้าร่วมบางคนได้โอกาสในการแสดงความเห็น มากกว่า 2 ครั้งหรือบางคน 3-4 ครั้งโดยไม่ได้จำกัดเวลา แต่กับภาคประชาชนที่มีไม่ได้มีความเห็นพ้องกับร่างกฎหมายลำดับรอง กลับถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น โดยบางคนยกมือตั้งแต่ช่วงเช้าแต่ไม่ได้ถูกเรียกให้แสดงความเห็น จนมีการประท้วงถึงความไม่เป็นกลางของประธานผู้ดำเนินการ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นกลางและส่อไปในทางการปิดกั้นความคิดเห็น ที่ไม่ควรเกิดขึ้นเวทีที่กล่าวอ้างว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น

นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่สำคัญที่ไม่ควรเกิดขึ้นในเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ว่าจะเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือเวทีใดใด คือการแสดงความคิดเห็นที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง โดยในเวทีมีการแสดงความเห็นเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ต่อพี่น้องชาติพันธุ์อย่างชัดเจน แม้มีการโต้แย้งและเสนอให้ผู้แสดงความเห็นได้หยุดพูดจากล่าวร้าย และให้ถอนคำพูด แต่ประธานกลับไม่ได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ รวมถึงปล่อยให้มีการหยามเหยียดเพื่อนมนุษย์เกิดขึ้นอีกครั้งโดยไม่ได้จัดการอะไร เสมือนว่าเห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ควบคุมการเสนอความเห็นที่ละเมิดสิทธิพี่น้องชาติพันธ์ ไม่ได้มีตักเตือนหรือเสนอให้ถอนคำพูดตามข้อเสนอจากผู้ทักท้วง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีข้อกังวลถึงมาตรฐานของเวทีหรือกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยหากนิ่งเฉยต่อพฤติกรรมและปล่อยให้กระบวนการรับฟังความเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่ได้เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมถึงการละเลยในการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ผ่านไปโดยไม่มีข้อโต้แย้งนั้น นิยามของคำว่าการรับฟังความคิดเห็นในสังคมไทยจะยิ่งถูกบีบรัดให้แคบและบิดเบี้ยวออกไปจากหลักการที่ควรจะเป็น เพราะเสียงของประชาชนต้องเป็นเสียงที่ถูกได้ยินและนำไปปฏิบัติ ตามหลักการและแนวทางของประชาธิปไตย

ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีข้อเสนอถึงกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเรียกผู้จัดเวทีรับฟังความเห็นร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาชี้แจงประเด็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้นโดยมีตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตัวแทนนักสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายเข้าร่วมรับฟังและซักถาม

และให้ทางผู้จัดเวทีรับฟังความเห็นร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เสนอแนวทางในการดำเนินการเวทีรับฟังความเห็น ร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ขึ้นใหม่ ที่มีความเป็นธรรมและครอบคลุม เนื้อหา เวลาที่เหมาะสม และต้องมีการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ