สภาพชุมชนริมคลองเปรมประชากรก่อนและหลังการพัฒนา
จากวิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554 รัฐบาลจึงมีแผนการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมคลองในคลองสายหลักของกรุงเทพฯ และก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ-ป้องกันน้ำท่วม เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรกในปี 2559 และคลองเปรมประชากรเริ่มในปี 2562 ที่ผ่านมา
คลองลาดพร้าวต้นแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง
คลองลาดพร้าวมีความยาวทั้งหมดประมาณ 22 กิโลเมตร เริ่มจากคลองสอง เขตสายไหม ลงมาบรรจบกับคลองแสนแสบที่อุโมงค์เขื่อนระบายน้ำพระราม 9 เขตวังทองหลาง มีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองทั้งหมด 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน เป็นที่ดินราชพัสดุ อยู่ในพื้นที่ 7 เขต คือ สายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน จตุจักร ห้วยขวาง และวังทองหลาง โดยรัฐบาลมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองทั้ง 50 ชุมชน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559
ส่วนกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลอง ป้องกันน้ำท่วม ระยะทางทั้ง 2 ฝั่ง ประมาณ 45 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น สำนักงานเขต กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมธนารักษ์ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ
ธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร กล่าวว่า หลักการสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง คือ หากชุมชนใดมีพื้นที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ สามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ เปลี่ยนสถานะจากชุมชนรุกล้ำลำคลองเป็นผู้เช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี
โดยกรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน (ตั้งแต่ 1.50-3 บาท/ตารางวา/เดือน) และชาวชุมชนจะต้องรื้อย้ายบ้านเดิมเพื่อปรับผังชุมชนใหม่ เพื่อให้ทุกคนอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ โดยได้รับสิทธิในที่ดินเท่ากันทุกครอบครัว หากชุมชนใดเหลือพื้นที่ไม่พอ จะต้องจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่ไม่ไกลจากเดิมเพื่อปลูกสร้างบ้าน
ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง (บางส่วน) สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านและซื้อที่ดิน (กรณีอยู่อาศัยที่เดิมไม่ได้) รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ชุมชนบริหารจัดการเอง ตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช. โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ เช่น ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน วางผังชุมชน จัดสรรพื้นที่ใช้สอย ร่วมกันออกแบบบ้าน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน ฯลฯ
“การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง จะใช้แนวทางการทำงานตามโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งมี 9 ขั้นตอน เช่น การสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการ การทบทวนข้อมูลครัวเรือน การรับรองสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการ การจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์ การรังวัดที่ดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ การออกแบบวางผังการขออนุมัติโครงการและงบประมาณจาก พอช. โดยชุมชนจะต้องรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อสร้างบ้านและบริหารโครงการ” ธนัชแจงกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย
ส่วนงบประมาณที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่ แบ่งเป็น 1.การปรับปรุงสาธารณูปโภค อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท 2.งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 400,000 บาท ผ่อนชำระ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4%
บ้านใหม่ในคลองลาดพร้าว สร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 หลัง
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 นำร่องที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์ (ตรงข้ามตลาดสะพานใหม่) ซอยพหลโยธิน 54 เขตสายไหม ก่อสร้างเสร็จในช่วงต้นปี 2560 รวมทั้งหมด 65 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X6 ตารางเมตร ในจำนวนนี้เป็นบ้านกลางชั้นเดียวที่ชาวชุมชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสฐานะยากจนอยู่ฟรี 1 หลัง
อวยชัย สุขประเสริฐ ผู้นำชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์ กล่าวว่า จากสภาพเดิมเป็นชุมชนแออัด บ้านไม้เก่าๆ ผุพัง เพราะสร้างและอยู่กันมานานกว่า 50-60 ปี สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม มีทางเดินเป็นสะพานไม้โย้เย้ มีขยะอยู่ในคลอง น้ำก็ดำเน่าเหม็น ตอนแรกที่จะทำโครงการชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้ คิดว่ากรรมการคงจะโกงกิน
แต่เมื่อมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน มีรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.ในขณะนั้น) มาเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรก ชาวบ้านจึงเริ่มเชื่อถือ เมื่อสร้างเสร็จ 10-20 หลังแรก ชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ติดกันจึงทำตามบ้าง
“โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อลูกหลาน จะได้มีที่ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพ แวดล้อมที่ดี เมื่อสร้างเสร็จทำให้ชุมชนมีสภาพดีขึ้นมาก มีทางเดินเลียบคลอง ปลูกต้นไม้และผักสวนครัวริมคลอง มีลานออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น มีถังบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน เรื่องการจัดการขยะ สร้างอาชีพ ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นกว่าเดิม” อวยชัยบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์ และชุมชนต่างๆ ที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว เป็นสถานที่ศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง มีคณะดูงานจากต่างประเทศและในประเทศมาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี
จากชุมชนแรกในคลองลาดพร้าวที่ขยับบ้านออกจากแนวคลอง ขณะนี้ พอช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว 35 ชุมชน รวม 3,353 ครัวเรือน โดยสร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 หลัง จากเป้าหมายทั้งหมด 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน
บ้านที่สร้างเสร็จแล้วในคลองลาดพร้าว (ช่วงเขตสายไหม ตรงข้ามกองทัพอากาศ)
เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเปรมฯ 6,386 ครัวเรือน
ส่วนการพัฒนาและฟื้นฟูคลองเปรมประชากร ซึ่งมีปัญหาน้ำเน่าเสีย การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางลำคลองเหมือนกับคลองลาดพร้าวนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 เห็นชอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยให้หน่วยงานต่างๆ นำแผนไปปฏิบัติการ
ธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ชุมชนในคลองเปรมฯ มีทั้งหมด 32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และอีก 6 หมู่บ้านในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน โดย พอช.จะใช้แนวทางดำเนินงานและสนับสนุนชุมชนเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว เริ่มดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักรเป็นชุมชนแรก โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรกเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา
“ขณะนี้ชุมชนประชาร่วมใจ 2 สร้างบ้านเสร็จแล้ว เฟสแรกจำนวน 20 ครัวเรือน จากทั้งหมด 193 ครัวเรือน โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เดินทางมามอบทะเบียนบ้านให้แก่ชาวชุมชนที่สร้างบ้านเสร็จ 20 หลังแรก ส่วนที่เหลืออีก 173 หลัง ตามแผนงานจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และจะทยอยสร้างในชุมชนอื่นๆ ต่อไป” ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าว
ส่วนแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการ ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว เช่น บ้านแถวชั้นเดียว ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 290,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี
ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถือเป็นชุมชนแห่งแรกในคลองเปรมประชากรที่ชาวชุมชนร่วมใจกันรื้อบ้านออกจากแนวคลองเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ โดยก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพภาคที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเขตต่างๆ และหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันจัดเวทีประชุมสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนเพื่อให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมทั้งหมด 32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และ 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน
แผนพัฒนาคลองเปรมทั้งระบบ
คลองเปรมประชากรมีความยาวทั้งหมด 50 กิโลเมตรเศษ เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพฯ-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา มีการปลูกสร้างบ้านรุกล้ำคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้คลองตื้นเขิน การระบายน้ำไม่คล่องตัว ชุมชนริมคลองส่วนใหญ่มีสภาพแออัด สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม มีปัญหาขยะและน้ำเน่าเสีย
แผนพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบจะใช้ระยะเวลา 9 ปี (พ.ศ.2562-2570) เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระยะเร่งด่วน ปี 2562 – 2565 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,448 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมฯ ทั้งระบบ ตั้งแต่กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา โดย กทม. จะก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำจากถนนเทศบาลสงเคราะห์–สุดเขต กทม. ระยะทางทั้ง 2 ฝั่งประมาณ 27.20 กิโลเมตร (ขณะนี้ก่อสร้างเขื่อนฯ ช่วงแรกในเขตดอนเมือง ระยะทาง 580 เมตรเสร็จแล้ว)
กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมฯ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จากคลองรังสิต–คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร และขุดลอกคลองในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง เช่น สร้างพื้นที่สีเขียว ตลาดนัดริมคลอง พัฒนาเส้นทางจักรยานเลียบคลอง เชื่อมเส้นทางคมนาคมทั้งทางรถไฟและรถไฟฟ้า และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง เป็นการพัฒนาคลองเปรมประชากรทั้งระบบ..!!