10 ปี มติ ครม.กับความท้าท้ายของกฎหมายชาติพันธุ์

10 ปี มติ ครม.กับความท้าท้ายของกฎหมายชาติพันธุ์

ในโอกาส “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” 9 สิงหาคม ที่สหประชาชาติกำหนดขึ้น เพื่อเตือนใจว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่ต้องการดำรงเอกลักษณ์และวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของตนเอง แต่กลับถูกผลักไสให้กลายไปเป็นคนชายขอบ ได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ของสังคม กับประเด็นสิทธิในวิถีชีวิตและการจัดการฐานทรัพยากรที่พูดถึงกันมายาวนานในสังคมไทย ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป

ผ่านมา 10 ปีแล้ว สำหรับมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง แต่ก็มีพื้นที่ประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษไปเพียง 13 ชุมชน และเป็นการประกาศโดยภาคประชนเอง เพื่อให้เห็นรูปธรรมการสร้างความเท่าเทียมและการให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชัดเจนขึ้น การผลักดันกฎหมายจึงเป็นโจทย์สำคัญ

นักข่าวพลมือง C-Site วันพฤหัสบดีที่ 6 ส.ค. 2563 ตอน “สัปดาห์แห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์” ร่วมพูดคุยกับผู้ผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

  • ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
  • อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

00000

Q ทบทวนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อะไรคืออุปสรรค์ในการรับรองสิทธิตามมติ ครม.ปี 2553

ศักดิ์ดา แสนมี่ : ในมุมของพวกเรา พยายามที่จะทบทวนและได้เรียนรู้จากการดำเนินการต่าง ๆ ตามมติ ครม. 10 ปี ให้หลังนี้อุปสรรคสำคัญ ผมคิดว่าว่าจะเป็นเรื่องการยอมรับตัว มติ ครม. การที่จะส่งเสริมสิทธิของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง รวมไปถึงชาวเลทางภาคใต้ คือ การยอมรับของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่กำหนดให้ต้องทำหน้าที่ในการนำแนวนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร และการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องไปส่งเสริมการปฏิบัติตามแนวนโยบายนี้ยังไม่มีพลัง เป็นปัญหาอุปสรรคเบื้องต้นที่ทำให้ไม่เป็นไปตามความคาดหมายของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและชาวเล อันนี้คืออันแรก

อย่างที่สอง ผมคิดว่าส่วนสำคัญคือในเรื่องความเข้าใจของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและชาวเลเองส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนพี่น้องกะเหรี่ยงที่มีความกว้างขวางในเรื่องของพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ การกระจายตัว เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่ต่อมติ ครม.ที่นำไปสู่การปฎิบัติ อันนี้ผมคิดว่ายังจะต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้าใจ เพราะตามมติ ครม.ส่วนหนึ่งเป็นการปฎิบัติตามวิถีของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงอยู่แล้ว

ผมคิดว่าความเข้าใจในเรื่องมติ ครม.เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐเอง และพี่น้องชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงก็ยังต้องมีเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน

Q การขับเคลื่อนมติ ครม. ที่ไม่ได้ผล นำไปสู่การผลักดันกหมายเพื่อการรับรองสิทธิ ตอนนี้เรามีกฎหมายอะไรที่ผลักดันกันอยู่บ้าง

ศักดิ์ดา แสนมี่: ขอเริ่มจากฉบับที่ขบวนชนเผาพื้นเมืองของเราได้ริเริ่มยกร่าง คือ (ร่าง) พ.ร.บ.สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาเพื่อให้เกิดความชัดเจน เชื่อมโยงความหมายของชนเผ่าพื้นเมืองที่ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์ ในตอนนั้นที่เสนอให้กับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อจะช่วยกันทำให้มันสมบูรณ์ ในที่สุดก็เสนอเป็นชื่อ (ร่าง) พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กฎหมายตัวนี้สาระหลักของมันอยู่ที่การให้เกิดกฎหมายที่เข้ามาส่งเสริมการจัดการตนเอง สนับสนุนกลไกการจัดการตนเองของชนเผ่าพื้นเมืองโดยตรง

อีกตัวหนึ่งก็คือ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ อันนี้เป็นตัวที่ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดัน แต่ว่าต้นทางก็เป็นการเชื่อมโยงกับ มติ ครม. ปี 2553 ของพี่น้องชาวเลและกะเหรี่ยงที่มีนโยบายอยู่ แต่การนำไปสู่การปฏิบัติ 10 ปีมาแล้วยังไม่บรรลุผล เราอยากจะยกระดับให้มันเป็นกฎหมายในระดับพ.ร.บ. ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจึงเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันโดยความร่วมมือของภาคีต่าง ๆ

เท่าที่ทราบตัวนี้หวังให้เป็นกฎหมายที่เข้าไปส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองให้กับพี่น้องเรา โดยเป็นบทบาทของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานสนับสนุนที่จะมาส่งเสริมสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง

Q ร่างกฎหมายตัวที่ 3 คือ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ตัวนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ เข้าไปมีส่วนร่วม

ศักดิ์ดา แสนมี่: ใช่ๆ ตัวนี้ อนุกรรมาธิการด้านชาติพันธุ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ แลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ผลักดัน มีการยกร่างลงไปในรายมาตรา อยู่ระหว่างการยกร่างกันอยู่ อันนี้ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับตัวที่ 2 แต่ว่าเป็นการผลักดันในการริเริ่มโดยกลไกของกรรมาธิการ รัฐสภา

Q ในความเป็นจริงมันจำเป็นต้องมีถึง 3 ฉบับเลยไหม หรือหัวใจสำคัญจริงๆ อยู่ที่ตรงไหน

ศักดิ์ดา แสนมี่: สิ่งสำคัญผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการจะทำให้มีเครื่องมือสำคัญที่ไปส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งถามว่าควรจะทั้ง 3 ฉบับไหม? โดยหลักผมคิดว่าถ้าสามารถที่จะผลักดันให้มันเกิดได้ อย่างน้อยสัก 2 ฉบับ คือฉบับที่เป็นกฎหมายมาส่งเสริมบทบาทของรัฐและหน่วยงานที่เข้าไปสนับสนุน อีกฉบับ คือ กฎหมายที่มาสนับสนุนการจัดการตนเองของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง หรือสนับสนุนกลไกตัวสภาชนเผ่าพื้นเมืองโดยตรง อันนี้ก็เป็นกฎหมายที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา รวมถึงการพัฒนาตัวเองในตัวฐานวิถีวัฒนธรรมที่ชัดเจนขึ้น

แต่ถ้าถามว่ากฎหมายในทางปฏิบัติจริง ๆ สุดท้ายคงจะนำไปสู่ความเชื่อมโยง หรือหลอมให้เป็นกฎหมายฉบับเดียว เราก็หวังว่าเจตนาสำคัญคงจะเพื่อให้เกิดการปกป้อง คุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

Q สำหรับ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเข้าไปมีส่วนช่วย ร่างฉบับนี้มีไฮไลทสำคัญให้สิทธิเรื่องอะไร สำคัญอย่างไร และจะช่วยเปลี่ยนแปลง สิ่งที่มติ ครม.ไม่เคยทำได้ ได้อย่างไรบ้าง

อภินันท์ ธรรมเสนา: ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นพัฒนาการมาจากมติ ครม. 2 มิ.ย. 2553 และ 3 ส.ค. 2553 ซึ่งเป็นมติ ครม. ที่ผลักดันเรื่องของชาวเลและกะเหรี่ยง แต่ว่าตัวของ พ.ร.บ.นี้ มีหลักการสำคัญ 2 หลักการด้วยกัน 1.หลักการของการส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ หมายความว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือสิทธิโดยธรรมชาติที่จะต้องมีมนุษย์เกิดมาจะต้องมีสิทธิทางวัฒนธรรม

2.คือเราใช้หลักการที่เรียกว่าการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากเราพิจารณาเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและมีความอ่อนไหว ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเป็นพิเศษที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ นี่เป็นหัวใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้

เมื่อมี 2 หลักการอย่างนี้ เราก็มี สาระสำคัญอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 1.ถ้ามองในแง่ของการส่งเสริม เราสนใจ 2 เรื่อง ประเด็นแรก การส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีสิทธิอยู่หลายส่วนที่เราเอามาจากหลักการของต่างประเทศด้วย เช่น สิทธิของการที่จะไม่ถูกเลือกปฎิบัติผ่านทางเชื้อชาติ อันนี้ก็เป็นอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติของสหประชาชาติที่ไทยเราไปร่างสัญญากับต่างประเทศไว้ ประเด็นที่สอง สิทธิที่จะดำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อันนี้ก็เป็นสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 70 ที่ว่า รัฐควรส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทุกชนิด อันนี้ก็เป็นหลักการเรื่องการส่งเสริมเรื่องสิทธิ

2.เรื่องการส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความสามารถในการบริหารจัดการตัวเองได้ เพราะฉะนั้นกลไกที่คุณศักดาได้เล่าไปในเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ก็จะมาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญส่วนหนึ่งของในกฎหมายฉบับนี้ ก็คือจะมีหลักว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการตัวเองในรูปแบบของสภากลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง อันนี้คือในเรื่องของการส่งเสริม

3.ในส่วนเรื่องของการคุ้มครอง เราก็พัฒนารูปแบบของการคุ้มครองจากกรณีของการทดลองทำใน ครม. คือกรณีของพื้นที่เขตวัฒธรรมพิเศษ ซึ่งปัจจุบันนี้มีการประกาศไปแล้ว 12 พื้นที่ แล้วก็เมื่อเร็ว ๆ นี้เราเพิ่งประกาศเจตนารมณ์ว่าจะผลักดัน จ.แม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ เพราะฉะนั้นมันก็จะมีรูปธรรมให้เห็นว่าสามารถทำได้ และจะใช้เป็นกรอบสำคัญในการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เขามีพื้นที่เพื่อที่จะจัดการตัวเองได้ และมีความสามารถที่จะใช้ศักยภาพ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการจัดการตัวเองได้ และเป็นการรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลและสามารถอยู่ได้ในบริบทโลกสมัยใหม่ด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามจะส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

Q กหมายนี้จะไปอยู่ภายใต้กระทรวงอะไร และจะคลอดเมื่อไหร่

อภินันท์ ธรรมเสนา: ตามแผน กฎหมายฉบับนี้ถูกบัญญัติไว้อยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศและสังคม โดยระบุว่าศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในนามของกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วมันจะไปอยู่ในการผลักดันของรัฐบาลชุดนี้ที่อยากให้เป็นกฎหมายเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เสร็จตามแผนการปฏิรูปประเทศ

เพราะฉะนั้นตามไทมไลน์ของการทำกฎหมายฉบับนี้ จะต้องมีกฎหมายภายในปี 2565 ซึ่งเราก็วางว่าขั้นแรกต้องมีการระดมความคิดเห็น จริงๆ ที่ผ่านมาเราก็มีการระดมความคิดเห็น ทบทวนกฎหมายทั้งในไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์เอามาเป็นต้นร่าง แล้วเราก็ร่างกรอบมาระดับหนึ่ง และที่ผ่านมาเราก็ได้มีการระดมความคิดเห็น ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำเอาความคิดเห็นต่าง ๆ เหล่านั้นมาร่างเป็นกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้

เรามีการประชุมทีมกฎหมาย มีนักกฎหมาย ก็อยากจะให้เสร็จใน ต.ค.นี้ เมื่อเสร็จแล้วเราก็จะเอาตัวกฎหมายที่เป็นร่างสมบูรณ์นี้มาลองทำประชาพิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ และภาคประชาชนให้เสร็จภายในเดือน ก.พ. 2564 โดยใน 4 เดือน (พ.ย. – ก.พ. 2564) ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ให้เสร็จ แล้วหลังจากนั้นก็จะเข้า ครม. โดยที่กระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นผู้นำเสนอเข้าไป เพราะเป็นกระทรวงที่รับผิดชอบ แล้วหลังจากนั้นจะมีกระบวนการตามขั้นตอนการเสนอกฎหมาย คาดว่าจะมีการนำเข้าเสนอเข้าสภาฯ ในเดือน พ.ค. 2564

ลักษณะพิเศษของกฎหมายฉบับนี้ คือ เป็นกฎหมายที่อยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะฉะนั้นการพิจารณาจะพิจารณาร่วม 2 สภาพร้อมกัน คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งก็จะลดทอนขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายไป ไม่ต้องผ่าน ส.ส.ก่อนแล้วไป ส.ว. อันนี้เป็นกรอบของการจะมีกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะมีกรอบชัดเจน แต่ข้อท้าทายของกฎหมายฉบับนี้ก็ยังมีมากอยู่ ซึ่งก็ต้องขอแรงผลักดันจากทั้งของเครือข่ายและประชาชน

Q หากกฎหมายคลอดได้จริง ภาพของการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองจะหมดไปได้จริงไหม และกฎหมายสำคัญกับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างไร

ศักดิ์ดา แสนมี่: ถ้าเป็นกฎหมายที่มีกระบวนการจัดทำอย่างมีส่วนร่วม และตรงตามเจตนารมณ์ที่มีการยกร่างขึ้นมา ผมคิดว่ากฎหมายเหล่านี้จะทำหน้าที่ คือ 1.เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยซึ่งจะเทียบเท่ากับนานาประเทศที่ให้ความสำคัญกับวิถีชนเผ่าพื้นเมือง

2.กฎหมายจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ปัญหา รวมไปถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ ในระดับของการปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้มากมาย รวมไปถึงเรื่องของการจัดการตนเอง อันนี้ก็เป็นส่วนช่วยให้เกิดกลไกลการแก้ปัญหาของตัวเอง รวมไปถึงการพัฒนาตัวเองในกรอบทิศทางเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นไปตามหลักการสากล

ผมเชื่อว่าถ้ากฎหมายนี้เกิดขึ้นได้จริง ตัวรัฐบาลจะเป็นกลไกที่ได้ทำงานให้กฎหมายส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้โดยตรง

10 ปี มติครม.กับความท้าท้ายกฎหมายกลุ่มชาติพันธุ์ (6 ส.ค. 63)

ผ่านมา10 ปีแล้ว สำหรับมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง แต่ก็มีพื้นที่ประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ และเป็นการประกาศโดยภาคประชนเอง เพื่อให้เห็นรูปธรรมการสร้างความเท่าเทียมและการให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชัดเจนขึ้น วันนี้นักข่าวพลเมือง C-site พูดคุยกับ ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (6 ส.ค. 63)#CSite #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2020
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (6 ส.ค. 63)

ข้อมูลของสหประชาชาติประเมินว่า มีชนเผ่าพื้นเมือง ประมาณ 370 ล้านคน ใน 90 ประเทศทั่วโลก คนเหล่านี้พูดภาษาต่างกัน มีอยู่ราวๆ 7,000 ภาษา และอยู่ในต่างวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์การแต่งกายไม่เหมือนกัน ประเทศไทยเอง มีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า62 กลุ่ม กว่า 6 ล้านคน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ อย่างเช่น ชาวปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง ม้ง อาข่า /ชาติพันธุ์ลาว ภูไท /มอญ โซ่ง และยังมีชาวเล รวมทั้งกลุ่มมันนิ ซาไก เป็นต้น (6 ส.ค. 63)#CSite #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2020
รำแม่มดความเชื่อและวิถีเขมรถิ่นไทย (6 ส.ค. 63)

ภาคอีสานซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวาง แม้ “กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว” จะเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ข้อมูลจากศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าดินแดนที่ราบสูง มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ อย่างน้อย 13 กลุ่ม อย่างแถบชายแดนไทย-กัมพูชา ก็มีกลุ่ม “ชาติพันธุ์เขมร” ที่บ้านจองกอ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เวลานี้ยังใช้ภาษาพูด และมีวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น เช่น “การรำแม่มด” ตามความเชื่อใช้เป็นเครื่องมือดูแลรักษาลูกหลาน ปัจจุบันมีการบันทึกส่งต่อทั้งทางปฏิบัติและผ่านงานวิจัย (6 ส.ค. 63)#CSite #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2020
เขตวัฒนธรรมพิเศษ (6 ส.ค. 63)

แท้จริงเราเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน แต่บนความเชื่อและฐานวัฒนธรรมที่แตกต่างทำให้คนเหล่านี้ซึ่งมีวิถีไม่เป็นไปตามขนบของสังคมใหญ่ถูกมองเป็นอื่น และถึงวันนี้หลายคนยังถูกริดรอนสิทธิ 10 ปี ที่แล้ว เรามีมติ ครม. 2 เรื่องว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 53 และ มติ ครม.แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 3 ส.ค.53 ก่อนหน้านี้มีการปักหมุดใน C-site ถึงพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงและชาวเล ประกาศรับรองไปแล้ว ผ่านความร่วมมือของชุมชน ภาครัฐและส่วนต่างๆ13 ชุมชน(6 ส.ค. 63)#CSite #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2020
แม่ฮ่องสอน เตรียมประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ (6 ส.ค. 63)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมามีการเตรียมประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการให้สิทธิกับประชาชน คุณพชร คำชำนาญ ลงพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอ ต.ห้วยปูลิง จ.แม่ฮ่องสอน พาไปดูรูปธรรมในการจัดการทรัพยากรตามภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านป่าอนุรักษ์และไร่หมุนเวียน (6 ส.ค. 63)#CSite #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2020

00000

ทั้งหมดนี้ คือกระบวนการการเดินหน้า หลัง 10 ปีที่ผ่านมาของการมีมติ ครม. ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จในเชิงปฏิบัติ กฎหมายจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย แต่นอกเหนือจากกฎหมาย การยอมรับและเข้าใจของสังคมต่อความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันนี่อาจเป็นหัวใจสำคัญ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ