“เดินหน้าการฟื้นฟู” กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ร้อง กมธ.ที่ดินฯ แก้ 4 ปมเหมืองทองเลย

“เดินหน้าการฟื้นฟู” กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ร้อง กมธ.ที่ดินฯ แก้ 4 ปมเหมืองทองเลย

ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นหนังสือ กมธ.ที่ดินฯ 4 ข้อ ติดตามการฟื้นฟูเหมืองทองเลย ย้ำการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านมูลนิธิบูรณะนิเวศจี้แก้ปมสัญญาทาสทุ่งคาฮาเบอร์

ในความเคลื่อนไหวรอบล่าสุด ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ

5 ส.ค. 2563 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กว่า 20 คนเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง “การฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด” เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย คือพื้นที่ตั้งของเหมืองทองที่กลืนกินภูเขาไปเป็นลูกๆ นับตั้งแต่บริษัทเอกชนเริ่มเข้าไปดำเนินกิจการในพื้นที่เมื่อปี 2549 ก็เริ่มส่งผลกระทบกับเพื่อนบ้านคือคนชุมชน ทั้งเสียงดังและฝุ่นละอองจากการระเบิดภูเขา และการพบว่าแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของชุมชนปนเปื้อนด้วยสารพิษจำพวกไซยาไนด์ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และแมงกานีส อีกทั้งยังมีการตรวจพบสารพิษปนเปื้อนอยู่ในกระแสเลือดของชาวบ้านเกินค่ามาตรฐาน นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่

การปิดเหมืองทอง เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ชนะอย่างเด็ดขาดในคดีฟ้องบริษัททุ่งคำ จำกัด ข้อหากระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คดี โดยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2561 ศาลได้พิพากษาให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการทำเหมืองทองคำที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชาวบ้าน 149 ราย รายละ 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง

และสำคัญคือการให้บริษัทฯ แก้ไขฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมืองทองคำด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ จนกว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจะกลับมาสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานที่ราชการกำหนด โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำฉบับภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบคิดริเริ่มในการเชิญชวนภาคประชาชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาปรึกษาหารือและร่วมผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาให้ได้ในอนาคต

ในขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้พยายามจัดทำแผนและเสนอแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนบริเวณในและรอบเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แต่กลับละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

ร้อง 4 ข้อ กมธ.ที่ดินฯ แก้ปัญหาฟื้นฟูเหมืองทอง

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวถึงการมายื่นหนังสือครั้งนี้ว่า ต้องการให้การฟื้นฟูเกิดขึ้นจริงอย่างเร่งด่วน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงขอให้ กมธ.ที่ดินฯ มีการตรวจสอบและติดตามการแก้ไขปัญหา 4 ข้อ คือ

1.       ขอให้ตรวจสอบสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเสนอความเห็นให้ยกเลิกสัญญา พร้อมทั้งเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

2.       ขอให้แผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดขอบเขตการฟื้นฟู โดยเน้นแผนฟื้นฟูของภาคประชาชนเป็นหลัก ที่ครอบคลุมมิติสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

3.       ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอำนวยการเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

4.       ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ในระหว่างที่ยังรอการฟื้นฟู เช่น ปัญหาสันเขื่อนกักเก็บกากแร่ทรุดตัว ปัญหาการรั่วไหลสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่หรือบริเวณอื่น ๆ ของเหมืองที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถล่ม รวมถึงการสำรวจการกระจายตัวของสารไซยาไนด์และสารโลหะหนัก ในพื้นที่เกษตรกรรม และที่อาศัยของชุมชน โดยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับรู้และดำเนินการในทุกขั้นตอนการแก้ไขปัญหา

มูลนิธิบูรณะนิเวศ จี้แก้ปมสัญญาทาส

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึง “สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ” ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกรมทรัพยากรธรณี ทำกับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัดว่า เป็นสัญญาที่ไม่มีจุดสิ้นสุด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเป็น “สัญญาทาส” คือหากบริษัทเอกชนไม่ยกเลิก สิทธิ์ก็จะยังคงอยู่ แม้ว่าบริษัทลูกผู้ประกอบกิจการ คือ บริษัท ทุ่งคำ จำกัดจะถูกคำพิพากษาให้ล้มละลายไปแล้ว ชาวบ้านจึงเดินทางมาพึ่ง กมธ.ที่ดิน เพื่อแก้ปมปัญหานี้

เมื่อย้อนไปดูข้อมูล มีการตั้งข้อสังเกตุว่า สัญญาดังกล่าวไม่ได้พูดแค่เรื่อง “สิทธิตามประทานบัตร” เพื่อขอทำเหมืองแร่ตามมาตรา 65 พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เท่านั้น แต่ยังพูดถึง “สิทธิตามอาชญาบัตร” เพื่อขอสำรวจแร่ด้วย และยังพูดถึงสิทธิการจับจองพื้นที่แปลงใหญ่มากขนาดมากกว่า 3 แสนไร่ เพื่อจับจองเอาไว้ให้เจ้าของ

ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวมอบอภิสิทธิให้แก่เจ้าของสัญญาเป็นผู้มีสิทธิขาดแต่เพียงผู้เดียวให้ได้สิทธิตามอาชญาบัตรและประทานบัตร โดยไม่มีอายุขัย ซึ่งหากมองในแง่ผลประโยชน์ อาจไม่ใช้เรื่องง่ายที่บริษัทเอกชนจะยอมยกเลิกเพิกถอนสัญญา

ในการยื่นหนังสือ เพ็ญโฉมยังกล่าวด้วยว่า 14 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้ปล่อยให้ชาวบ้านต้องต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นและต้องลุกขึ้นมาต่อสู้คดี จนสุดท้ายเหมืองทองต้องเข้าสู่กระบวนการของการฟื้นฟูแล้ว ก็ไม่ควรทำผิดอีกด้วยการมองข้ามการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูโดยประชาชน

สภาผู้แทนราษฎร เตรียมตั้ง กมธ.แก้ปัญหาเหมืองแร่

ด้านอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับหนังสือจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ  โดยระบุจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะ กมธ.เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนั้น ประธาน กมธ.ที่ดินฯ ให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 6 ส.ค. 2563 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการพูดคุยถึงการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาการแก้ไขปัญหาการออกประทานบัตรเหมืองแร่ เหมืองหิน และผลกระทบที่ได้จากเหมืองแร่และเหมืองหิน ซึ่งเป็นการตอบรับต่อปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน

สรุปความเป็นมาและสถานการณ์ปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

กรณีเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

การทำเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย เริ่มต้นจากนโยบายส่งเสริมการขยายตัวอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ของรัฐบาลไทย ที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ทองคำหลายพื้นที่ในประเทศไทย และในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มเติมให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาญาบัตรสำรวจแร่ อาญาบัตรผูกขาด และอาญาบัตรพิเศษ (สำหรับทำเหมืองแร่ถ้าพบว่ามีแร่ทองคำคุ้มค่าต่อการลงทุน) รวมถึงการออกประทานบัตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และจังหวัดใกล้เคียง

ต่อมา บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัททุ่งคำ จำกัด ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยยื่นคำขออาชญาบัตรทั้งหมด 340,000 ไร่ และยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่ที่สำรวจพบแร่ทองคำ 30,000 กว่าไร่ หรือ 112 แปลง แปลงละ 300 ไร่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 รัฐบาลได้ลงนามทำสัญญาตกลงกับบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และบริษัททุ่งคำ จำกัด

ต่อมาในปี 2536 บริษัททุ่งคำ จำกัด ขออนุญาตกรมป่าไม้เข้าใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ และในปี 2538 บริษัททุ่งคำได้ยื่นคำขอประทานบัตร รวมทั้งยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการในปี 2541 ต่อมาในปี 2545-2546 บริษัททุ่งคำได้รับใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำจากกระทรวงอุตสาหกรรมระยะเวลา 25 ปี จำนวน 6 แปลง บนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย บริษัททุ่งคำ จำกัด เริ่มเปิดพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำช่วงแรกบนภูทับฟ้าในปี 2545 และได้ดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549

หลังจากเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้เปิดดำเนินการได้เพียงไม่นาน ก็ปรากฏมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมือง และขอให้มีการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมของเหมืองแร่ทองคำ เช่นการเปิดหน้าดินตามขุมเหมืองต่าง ๆ เพื่อนำสินแร่มาสกัดทองคำ อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้โลหะหนักและสารอันตรายต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นปริมาณมากเนื่องจากเป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ แพร่กระจายออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในปริมาณและอัตราที่เร็วกว่าการแพร่กระจายตามธรรมชาติ ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งน้ำซึมน้ำซับซึ่งเป็นต้นธารของลำน้ำสายหลักของชุมชน และเป็นพื้นที่แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของประชาชนในพื้นที่ 6 หมู่บ้านซึ่งอยู่ท้ายน้ำใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย มาเป็นเวลานาน

ข้อเรียกร้องและข้อวิตกของประชาชนรอบเหมืองทอง ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าตรวจสอบการปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อม เช่นในช่วงปี 2547-2549 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ที่ 9 อุดรธานี ตรวจพบปริมาณสารไซยาไนด์และแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน ต่อมาในปี 2551 กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เก็บตัวอย่างน้ำผิวดินและตะกอนดินในลำน้ำสายหลักของชุมชน ได้แก่ ห้วยเหล็ก ตรวจพบสารหนู ตะกั่ว และแมงกานีส ในห้วยผูกตรวจพบสารแมงกานีส และในห้วยฮวยพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบแคดเมียมปนเปื้อนเกินมาตรฐานในน้ำประปาบาดาลของหมู่บ้านรอบเหมืองอีกด้วย

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 สาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.เลย) ได้ออกประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย อีกทั้งประกาศห้ามประชาชนบริโภคหอยขมจากลำห้วยต่าง ๆ เนื่องจากผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดย คพ. และ กพร. ในเดือนมิถุนายน 2551 นั้น พบว่ามีสารหนูในน้ำห้วยเหล็ก เขตพื้นที่บ้านกกสะทอน หมู่ 2 พบสารแมงกานีสในลำห้วยผุก เขตพื้นที่บ้านนาหนองบง หมู่ 3 และพบสารแคดเมียมในระบบประปาบาดาลบ้านนาหนองบง (คุ้มน้อย) โดยสารเหล่านี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำดังกล่าวสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน หลังประกาศของสาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้านนาหนองบงได้ออกประกาศห้ามประชาชนใช้น้ำโดยเด็ดขาด เว้นแต่การอาบและถูบ้านเท่านั้น พร้อมกับมีหนังสือแจ้งให้นายก อบต.เขาหลวง จัดหางบประมาณ ย้ายประปาหมู่บ้าน โดยขุดเจาะบ่อบาดาลแห่งใหม่ และซื้อเครื่องกรองสารเคมีในประปา อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้านรอบบริเวณเหมืองทองคำตัดสินใจซื้อน้ำเพื่อนำมาอุปโภคบริโภคมาโดยตลอด

ต่อมาในช่วงกลางปี 2553 ได้มีการเก็บตัวอย่างเลือดของประชาชน 6 หมู่บ้าน จำนวน 725 คน วิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจหาสารไซยาไนด์ สารปรอท และสารตะกั่ว พบว่าประชาชนร้อยละ 6.6 มีปริมาณสารปรอทเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด 35 ไมโครกรัมต่อลิตร (องค์การอนามัยโลกระบุ ไม่มีระดับของสารปรอทใด ๆ ในร่างกายที่ถือว่าปลอดภัย) ขณะที่ ประชาชนร้อยละ 17 มีปริมาณสารไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐานที่ 0.2 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร การเก็บตัวอย่างเลือดชาวบ้านใน 6 หมู่บ้าน[1] จำนวน 725 คน พบสารโลหะหนักในเลือด โดยเฉพาะปรอท พบปนเปื้อนในเลือดของทุกคน โดย 38 คน มีค่าเกินมาตรฐาน บางรายพบว่าสูงเกินมาตรฐานถึง 43 เท่า และพบว่ามีสารปรอทเกินค่ามาตรฐานในเด็กอีกด้วย นอกจากนี้ พบมีไซยาไนด์ในเลือด จำนวน 348 คน โดย 84 คนมีค่าเกินมาตรฐาน (ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างตรวจไม่ได้ 23 คน) จากกลุ่มตัวอย่างมีเพียง 103 คนที่ไม่พบไซยาไนด์ในเลือด ขณะเดียวกันยังพบสารตะกั่วในเลือดของทุกคน[2] โดยคาดว่าสารพิษเหล่านั้นมาจากการรับสารตกค้างในน้ำ ในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านบางคนเกิดผดผื่น มีปัญหาผิวหนัง มีสัตว์เลี้ยงตาย ทั้งปลา ไก่ รวมทั้งสุนัข      

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2553 คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐสภาได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเก็บตัวอย่างแหล่งน้ำสาธารณะรอบเหมือง บ่อน้ำบาดาลรอบเหมืองและบริเวณภายในเหมือง ตามสถานีตามมาตรการของ EIA 23 สถานี โดยส่งให้กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบรายละเอียดดังนี้

  • ลำห้วยเหล็กมีค่าสารหนูสูงเกินค่ามาตรฐาน
  • บ่อน้ำบาดาลและบ่อน้ำตื้น บางบ่อมีแคดเมียม ตะกั่ว และแมงกานีส
  • บ่อกักเก็บกากแร่ภายในบริษัท ทั้งส่วนตะกอนข้นและน้ำใส ไม่เป็นไปตามตามเกณฑ์มาตรฐาน มีค่าไซยาไนด์
  • บ่อสังเกตการณ์ของบริษัททั้งต้นน้ำและท้ายน้ำ มีตะกั่วไม่เป็นไปตามตามเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน แต่บางครั้งก็มีค่าแมงกานีส นิกเกิล หรือค่าไซยาไนด์ ไม่เป็นไปตามตามเกณฑ์มาตรฐาน
  • ดินตะกอนในลำห้วยเหล็กมีค่าสารหนูเพิ่มขึ้นค่อนสูงเมื่อเทียบกับบริเวณต้นน้ำ และท้ายน้ำ ห่างออกไปมีค่าสารหนูมีค่าลดลง

ปี 2554 มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาตรวจสอบเมล็ดข้าว แล้วแจ้งว่ามีสารพิษในเมล็ดข้าว ทำให้ชาวบ้านไม่กล้ากินข้าวบริเวณริมห้วยเหล็ก ผลผลิตข้าวเริ่มน้อยลงมาก และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสัตว์น้ำและพืชอาหารเพื่อตรวจหาสารหนูจำนวน 17 ตัวอย่าง พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานจำนวน 1 ตัวอย่าง คือ ปู ซึ่งศาลากลางจังหวัดเลยได้ให้ผู้ใหญ่บ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ ประกาศห้ามรับประทานปูจากลำห้วยเหล็ก ต่อมาในปี 2557 สาธารณสุขจังหวัดเลย ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษติดตามคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีร่องรอยโรคของพิษสารหนู ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว 21 ราย โดยเป็นผลมาจากการเฝ้าระวังด้านสุขภาพของ โรงพยาบาลวังสะพุง และกรมอนามัย ระบุถึงความสัมพันธ์ของการปนเปื้อนและสภาวะสุขภาพของประชาชนในตำบลเขาหลวงซึ่งมีประชาชนจำนวน 3,351 คน จาก 780 หลังคาเรือน ใน 6 หมู่บ้าน

สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจากคณะวิจัยโดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตรวจพบการปนเปื้อนสารหนูสูงขึ้นมากกว่าต้นน้ำห้วยฮวยและห้วยผุก ส่งผลให้การใช้น้ำจากลำห้วยไปทำการเกษตรทำให้เกิดการปนเปื้อนสารหนูในพื้นที่เกษตรกรรมด้วย ซึ่งอาจนำมาสู่การปนเปื้อนสารหนูสู่ห่วงโซ่อาหาร อันนำมาสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพ การปนเปื้อนสารหนูมีความเข้มข้นสูงมากในตะกอน สูงถึง 2,584 มก. ต่อ กก. ในตะกอนแดงบริเวณห้วยเหล็ก และ 277 มก. ต่อ กก. ในตะกอนแดงบริเวณนาดินดำ ทั้ง 2 บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดการแพร่กระจายของสารหนูสู่ที่ระบบนิเวศแหล่งน้ำและพื้นที่เกษตรกรรมข้างเคียง

ในขณะที่งานวิจัยโดย Assawincharoenkij et al (2017) รายงานว่าบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองดังกล่าวกักเก็บกากแร่ที่มีสารหนูปนเปื้อนสูงถึง 2,870 มก. ต่อ กก. และเป็นหางแร่สีแดง (Gossan และ Oxidized Skarn Ore) บริเวณด้านล่างของบ่อ ซึ่งพบการปนเปื้อนสารหนูใกล้เคียงกับตะกอนสีแดงในห้วยเหล็ก ทั้งนี้การรั่วไหลของน้ำเหมืองจากผนังบ่อกักเก็บกากแร่ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารหนูและไซยาไนด์  นอกจากนี้ ยังพบการปนเปื้อนสารหนูความเข้มข้นสูงในดินถมที่ชุมชนได้จากเหมืองสูงถึง 2353 มก. ต่อ กก. ในขณะที่ดินเดิมของชุมชนนั้นมีสารหนูปนเปื้อนตามธรรมชาติเพียง 4.92 มก. ต่อ กก. ซึ่งการสร้างที่อยู่อาศัยบนดินถมปนเปื้อนสารหนูนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับสัมผัสสารหนูผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง การหายใจ การปนเปื้อนสารหนูผ่านพืชผักที่ปลูกในดินถมปนเปื้อนดังกล่าว และที่สำคัญงานวิจัยนี้ยังได้พบการปนเปื้อนสารหนูในห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลา ปู หอย โดยพบการปนเปื้อนสารหนูอันตรายเกินค่าที่ยอมรับได้ ในเนื้อ พุง เหงือก ไส้ ตับ ไต ของปลาชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาไหล ปลายี่สก อวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่จับมาจากห้วยเหล็ก รวมถึงการปนเปื้อนสารหนูในพืชผักและข้าว พบว่าข้าวที่ปลูกบริเวณห้วยลิ้นควายและห้วยเหล็กปนเปื้อนสารหนูเกิน 2 มก.ต่อ กก. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ในงานวิจัยดังกล่าว ยังมีการประเมินค่าความเสี่ยงโรคมะเร็ง Excess Cancer Risk (ECR) จากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเพื่อจะตอบคำถามว่าหากประชาชน (ผู้ใหญ่) บริโภคข้าว ผัก และ ปลา จากห้วยเหล็กเป็นประจำทุกวันจะเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังสีเข้มขึ้น hyperpigmentation หนังด้านแข็ง keratosis นั้น สูงเกินค่าที่ยอมรับได้ถึง 65.5 เท่า ส่วนโอกาสการเกิดมะเร็งปอด ตับ ไต ม้าม กระเพาะปัสสาวะ นั้นสูงถึง 2.95×10-2 โดยความเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากการบริโภคผักปนเปื้อนสารหนู

นอกจากการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อาหาร ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพ เกิดความเจ็บป่วยของผู้คนแล้ว การปนเปื้อนทางสังคม การเมือง และอำนาจจากการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ที่สะท้อนให้เห็นผ่านสภาพความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความบิดเบี้ยวของกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่นกฎหมายแร่ ที่มีข้อห้ามการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำ ในขณะที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย มีการดำเนินการและมีโรงงานแต่งแร่อยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้เห็นว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดมาตรการในการป้องกันปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ในขณะที่ด้านกลไกการรับมือและป้องกันความเสี่ยงในชีวิตและสุขภาพก็ไม่อาจจะป้องกันหรือปกป้องประชาชนได้ นอกจากนี้ ปัญหาการปนเปื้อน ความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยยังสะท้อนปัญหาความโปร่งใส อำนาจเหนือกฎหมาย เห็นได้จากการทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ การบังคับ ตลอดจนการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้ง รวม 27 คดีที่เกิดจากความขัดแย้งและการต่อสู้ใช้สิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะเรื่องเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งได้จารึกถึงความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 165 คน ได้ยื่นฟ้อง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ (คดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561 นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 165 คน เป็นโจทก์ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นจำเลย) โดยในคดีนี้ศาลจังหวัดเลยได้มีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม โดยในคำพิพากษาระบุว่าการปนเปื้อนมลพิษเกิดขึ้นจากกรรมวิธีการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้อง และเห็นว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 กำหนดให้โจทก์ร่วมกันใช้สิทธิชุมชนในการบำรุงดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ จึงใช้สิทธิฟ้องให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติได้ และโจทก์มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี จำเลยในฐานะผู้ก่อมลพิษจึงมีหน้าที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จึงพิพากษาให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยให้กลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนด ทั้งน้ำและดิน โดยให้โจทก์มีส่วนร่วมในการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

ภายหลังคำพิพากษา หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้พยายามเสนอแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนในพื้นที่จังหวัดเลย แต่ละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เห็นได้จากการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนของหน่วยงานนั้นแตกต่างจากที่ประชาชนในพื้นที่ปนเปื้อนร่วมกันกำหนดขึ้น ในแผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชนในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย (รายละเอียดในเอกสารแนบที่ 3) ซึ่งให้ความหมายเรื่องการฟื้นฟูว่าเป็นกระบวนความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อที่จะช่วยจัดการให้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่ถูกทำลาย และปนเปื้อนมลพิษให้ฟื้นคือสภาพที่สามารถทำหน้าที่บริการด้านนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และปลอดภัย ประชาชนสามารถพึ่งพิงใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ดีของประชาชน โดยเสริมสร้างให้ประชาชนเห็นคุณค่าของธรรมชาติร่วมกัน รวมทั้งการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกล่วงละเมิดในระหว่างการดำเนินการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูเพื่อ “คนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีความหลากหลายของอยู่ของกิน หนี้สินลด หมดความขัดแย้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูชุมชน”

ทั้งนี้ เมื่อแต่ละหน่วยงานต่างจัดทำแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนเหมืองแร่ทองคำของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายอันนำไปสู่การกำหนดวัตถุประสงค์ของกระบวนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำนั้นก็เพื่อจะช่วยให้กระบวนการฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้  จึงทำให้เห็นเค้าแววของการคัดแย้งเรื่องการฟื้นฟูการปนเปื้อนเหมืองทองคำดังกล่าว เพราะการสื่อสารความหมายและสาระสำคัญของการฟื้นฟูให้ประชาชนมีความเข้าใจ ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูที่กล่าวมานี้จะนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจในการดำเนินการฟื้นฟูและการสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ด้วยความคาดหวังว่ากระบวนการฟื้นฟูที่เกิดขึ้นจะมีความหมายและผลที่จะได้จากการฟื้นฟูที่สำคัญที่สุดคือความเป็นธรรมที่จะก่อให้เกิดสุขภาวะทีดีของประชาชนและระบบนิเวศ คุณค่าทางสังคมและความเป็นมนุษย์ ด้วยส่วนผสมของความรู้และปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  สุขภาพ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์ การเมือง อย่างสมดุลและให้ผลที่มีประสิทธิภาพ


[1] โครงการศึกษาวิจัย “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนผู้อาศัยรอบเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ปีงบประมาณ 2552” โดยได้มีการเจาะเลือดประชาชนรอบเหมืองทองคำ ระหว่างวันที่ 5-6, 19 – 21 มิถุนายน 2553 โดยสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย ร่วมกับโรงพยาบาลวังสะพุง ส่งตรวจหาสารไซยาไนด์ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีและส่งตรวจหาสารโลหะหนัก (ปรอทและตะกั่ว) ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

[2] ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. คนกับเหมือง: อนาคตเมืองเลย. กรุงเทพฯ : บริษัทแปลนพริ้นติ้ง จำกัด. กรุงเทพฯ, 2554.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ